ผลสะเทือนจากคำวินิจฉัยชี้ขาดของศาลรัฐธรรมนูญด้วยมติเอกฉันท์ที่ว่า คำว่า “ราษฎร” ไม่หมายความรวมถึงผู้ไม่ได้สัญชาติไทย..นั้น ทำให้จำนวน ส.ส.พึงมีของแต่ละจังหวัด เปลี่ยนแปลงไปถึง 8 จังหวัด จาก 77 จังหวัดทั่วประเทศ
ศาลรัฐธรรมนูญอธิบายประเด็นที่เป็นหัวใจของเรื่องนี้เอาไว้ในคำวินิจฉัย วันที่ 3 มี.ค.2566 ว่า การกำหนดจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ที่แต่ละจังหวัดจะพึงมีตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 86 (1) ที่กำหนดให้ใช้จำนวนราษฎรทั้งประเทศตามหลักฐานการทะเบียนราษฎรที่ประกาศในปีสุดท้ายก่อนปีที่มีการเลือกตั้งนั้น คำว่า "ราษฎร" ไม่หมายความรวมถึงผู้ไม่ได้สัญชาติไทย
เป็นคำวินิจฉัยที่สั้นๆ ง่ายๆ ไม่ต้องตีความซ้ำ และไม่เยิ่นเย้อ
โดยคำวินิจฉัยนี้ศาลให้มีผลตั้งแต่วันที่ 3 มี.ค.2566 เป็นต้นไป โดยไม่มีผลย้อนหลังไปถึงการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ผ่านมา
ทั้งหมดถือว่ารอบคอบ รัดกุม เป็นที่ยอมรับตรงกันทุกฝ่าย
ต่อมาช่วงบ่ายวันเดียวกัน คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ได้เรียกประชุมด่วนเพื่อพิจารณาแนวทางการดำเนินการต่อไปเกี่ยวกับการกำหนดจำนวน ส.ส.ที่แต่ละจังหวัดพึงมี
ปรากฏว่าที่ประชุม กกต. พิจารณาเห็นชอบการดำเนินการแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ โดยไม่นำจำนวน "ราษฎรที่ไม่ถือสัญชาติไทย" มาคำนวณ ผลก็คือมี 8 จังหวัดที่เกิดความเปลี่ยนแปลง แบ่งเป็น 4 จังหวัดที่จำนวน ส.ส.ลดลง และอีก 4 จังหวัดมีจำนวน ส.ส.เพิ่มขึ้น
อนึ่ง จำนวนราษฎรสัญชาติไทย ณ วันที่ 31 ธ.ค.2565 จำนวน 65,106,481 คน จำนวนราษฎรสัญชาติไทย 162,766 คนต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 1 คน
สำหรับ 4 จังหวัดมีจำนวน ส.ส. ลดลง ได้แก่
1. จ.ตาก จาก 4 เหลือ 3 ที่นั่ง
2. จ.เชียงราย จาก 8 เหลือ 7 ที่นั่ง
3. จ.เชียงใหม่ จาก 11 เหลือ 10 ที่นั่ง
4. จ.สมุทรสาคร จาก 4 เหลือ 3 นั่ง
จะเห็นได้ว่าภาคเหนือมี ส.ส.พึงมี ลดลงถึง 3 ที่นั่ง
ส่วน 4 จังหวัดจะมี ส.ส.เพิ่มขึ้น ได้แก่
1. จ.อุดรธานี จาก 9 เป็น 10 ที่นั่ง
2. จ.ลพบุรี จาก 4 เป็น 5 ที่นั่ง
3. จ.นครศรีธรรมราช จาก 9 เป็น 10 ที่นั่ง
4. จ.ปัตตานี จาก 4 เป็น 5 ที่นั่ง
โดยภาคใต้มี ส.ส.พึงมี เพิ่มถึง 2 ที่นั่ง
สรุปจำนวน ส.ส.รายภาคได้ดังนี้
ภาคเหนือ เดิม 39 ที่นั่ง ลดเหลือ 36 ที่นั่ง
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เดิม 132 ที่นั่ง เพิ่มเป็น 133 ที่นั่ง
ภาคกลาง 122 ที่นั่งเท่าเดิม
ภาคตะวันออก 29 ที่นั่งเท่าเดิม
ภาคตะวันตก 20 ที่นั่งไม่เปลี่ยนแปลง
และภาคใต้ เดิม 58 ที่นั่ง เพิ่มเป็น 60 ที่นั่ง
เป็นที่น่าสังเกตว่า สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบด้วย จ.ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ในการเลือกตั้งปี 2562 มี ส.ส.รวมกันทั้งสิ้น 11 ที่นั่ง แยกเป็น ยะลา 3 ที่นั่ง ปัตตานี 4 ที่นั่ง และนราธิวาส 4 ที่นั่ง
ต่อมาในการเลือกตั้งปี 2566 ก่อนศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย กกต.กำหนดให้สามจังหวัดชายแดนภาคใต้มี ส.ส.พึงมี รวมกันทั้งสิ้น 12 ที่นั่ง เพิ่มขึ้นจากเดิม 1 ที่นั่ง คือที่ นราธิวาส จาก 4 เป็น 5 เขต
ล่าสุดเมื่อคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญออกมา ทำให้ปัตตานีมี ส.ส.เพิ่มอีก 1 ที่นั่ง กลายเป็น 5 ที่นั่งเท่ากับนราธิวาส ส่งผลให้สามจังหวัดชายแดนภาคใต้มี ส.ส.รวมกันทั้งสิ้น 13 ที่นั่ง