มีเหตุรุนแรงอีกครั้งที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นเหตุลอบวางระเบิดครั้งรุนแรงที่ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเสียชีวิต และได้รับบาดเจ็บหลายนาย
โดยนายตำรวจที่พลีชีพมียศสูงถึง “พันตำรวจตรี” เป็นสารวัตรสืบสวนสอบสวน สภ.บันนังสตา จ.ยะลา ซึ่งในอำเภอเดียวกันนี้ ผู้ก่อความไม่สงบได้คร่าชีวิตนายตำรวจ และนายทหารระดับสูงไปแล้วหลายนาย ตลอด 19 ปีไฟใต้ที่ผ่านมา
@@ แผนประทุษกรรม ลวงเผา ดักโจมตีซ้ำ
เหตุระเบิดที่เกิดขึ้นช่วงก่อนเที่ยงวันศุกร์ที่ 17 ก.พ.66 จริงๆ แล้วเป็นการวางแผนมาอย่างแยบยลของฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบ แม้เจ้าหน้าที่จะเข้าที่เกิดเหตุในช่วงสายใกล้เที่ยง แต่ก็ยังไม่พ้นการโจมตีของคนร้าย
ไล่เรียงเหตุการณ์ เริ่มตั้งแต่คืนก่อนหน้า วันพฤหัสฯที่ 16 ก.พ. มีเหตุวางเพลิงเผารถบดถนน รถที่เป็นเครื่องจักรกลหนัก ใช้สร้างถนน โดยเกิดเหตุถึง 2 อำเภอ
อำเภอแรกคือ บันนังสตา...
เวลา 20.20 น. เกิดเหตุเผารถบดถนนของ บริษัทยะลาไฮเวย์ เส้นทางศรีบางลาง จำนวน 2 จุด คือ
- บริเวณบ้านสนามบิน หมู่ 1 ต.เขื่อนบางลาง รถบดถนน 2 คันได้รับความเสียหาย
- บริเวณบ้านบือซู หมู่ 6 ต.บันนังสตา รถตักล้อยาง 1 คัน ได้รับความเสียหาย
อีกอำเภอหนึ่ง คือ อ.ธารโต ซึ่งอยู่ติดกัน (บันนังสตา ธารโต เบตง เป็นพื้นที่ต่อเนื่องกัน)
รถที่ถูกเผาเป็นรถของหน่วยทหารช่าง นพค.42 (หน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 42) ได้รับความเสียหาย จำนวน 3 คัน มีทั้งรถเกรดถนน และรถบดถนน
ข้อสังเกตที่น่าสนใจก็คือ รถแต่ละคันที่ถูกเผาไม่ได้รับความเสียหายมาก แต่ด้วยหน้าที่ความรับผิดชอบ ทำให้ตำรวจต้องไปตรวจที่เกิดเหตุทุกจุด
แต่เจ้าหน้าที่ก็ทราบดีว่าอาจมีการดักซุ่มโจมตี จึงไม่ได้ไปหลังเกิดเหตุทันที (ตรวจสอบแล้วว่าไม่มีประชาชนเดือดร้อน) จึงเลือกไปวันรุ่งขึ้น
เคสที่บันนังสตา เจ้าหน้าที่ไปช่วงสาย ใกล้เที่ยง เพราะคาดการณ์ได้ว่าคนร้ายเผารถไม่ได้เสียหายมาก น่าจะต้องการลวงเจ้าหน้าที่แล้วโจมตี และก็เกิดขึ้นจริงๆ แม้จะผ่านห้วงเวลาเหตุการณ์เผารถบดถนนนานกว่า 15 ชั่วโมงแล้วก็ตาม
@@ 19 ปีไฟใต้ “ทหาร-ตำรวจ” ชั้นนายพันพลีชีพแล้ว 12 นาย
นายตำรวจที่เสียชีวิตจากเหตุรุนแรงครั้งนี้ คือ พ.ต.ต.ประสาน คงประสิทธิ์ สารวัตรสืบสวนสอบสวน (สว.สส.) สภ.บันนังสตา
พ.ต.ต.ประสาน นับเป็นเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ “ชั้นนายพัน” อีก 1 นายที่ต้องสังเวยชีวิตให้กับสถานการณ์ไฟใต้ ก่อนหน้านี้ หากนับตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา (วันเสียงปืนแตก 4 ม.ค.2547 ปล้นปืน 413 กระบอกจากค่ายทหารในนราธิวาส) มีทหาร ตำรวจ ชั้นนายพันพลีชีพไปแล้ว 11 นาย
26 ส.ค.49 พ.อ.สุทธิศักดิ์ ประเสริฐศรี ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจยะลา (ผบ.ฉก.ยะลา) เสียชีวิตจากเหตุลอบวางระเบิดในพื้นที่หมู่ 4 บ้านบันนังกูแว ต.บันนังสตา อ.บันนังสตา จ.ยะลา
14 ก.พ.50 พ.ต.ต.ประชา ช่วยดี พนักงานสอบสวน สภ.ต.บ้านโสร่ง จ.ปัตตานี เสียชีวิต จากเหตุคนร้ายลอบยิงขณะเดินทางกลับบ้านพักตำรวจ ที่หมู่ 3 ต.เขาตูม อ.ยะรัง จ.ปัตตานี โดยลูกสาวได้รับบาดเจ็บด้วย
9 พ.ค.50 พ.ต.วีรพล แย้มอำพล นายทหารจากกองพันปฏิบัติการจิตวิทยา หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษลพบุรี ปฏิบัติหน้าที่สังกัดหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส 38 เสียชีวิตพร้อมกับลูกน้องรวม 7 นาย จากเหตุลอบวางระเบิดแล้วเข้ามาจ่อยิงซ้ำในพื้นที่บ้านลาแป หมู่ 4 ต.บองอ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส
18 มิ.ย.51 พ.ต.ท.นรัตน์ เทพเฉลิม รองผู้กำกับการ สภ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี เสียชีวิตจากเหตุลอบวางระเบิดที่บริเณบริเวณถนนสายเขาดิน-ท่าธง หมู่ 2 ต.ปากู อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี มีลูกน้องเสียชีวิตด้วย 1 นาย บาดเจ็บอีก 5 นาย
12 ก.พ.52 พ.ต.ท.ยุทธการ เปลี่ยนโพธิ์ รองผู้กำกับการ งานป้องกันและปราบปราม (รอง ผกก.ป.) สภ.หนองจิก จ.ปัตตานี เสียชีวิตพร้อมลูกน้อง 3 นาย จากเหตุลอบวางระเบิดบนถนนสายชนบท ในพื้นที่หมู่ 2 บ้านปรัง ต.ท่ากำชำ อ.หนองจิก ขณะปฏิบัติหน้าที่ รปภ.ครู
17 ก.ค.52 พ.ต.พันธ์ศักดิ์ ทองสุข รองผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจยะลา เสียชีวิตจากเหตุลอบวางระเบิดบริเวณข้างสนามกีฬากลาง อ.ยะหา เทศบาลตำบลยะหา อ.ยะหา จ.ยะลา ขณะกำลังออกไปตรวจสอบเหตุระเบิด
12 มี.ค.53 พ.ต.อ.สมเพียร เอกสมญา ผู้กำกับการ สภ.บันนังสตา เสียชีวิตจากเหตุลอบวางระเบิดและซุ่มยิง ในพื้นที่หมู่ 2 บ้านทับช้าง ต.ตลิ่งชัน อ.บันนังสตา จ.ยะลา เหตุเกิดขณะ พ.ต.อ.สมเพียร พร้อมลูกน้อง ออกไปติดตามข่าวความเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ โดยภายหลังจากที่เสียชีวิต ได้รับพระราชทานยศเป็น “พลตำรวจเอก”
15 มี.ค.56 พ.ต.ท.จักรกฤษณ์ วงศ์พรหมเมศร์ รอง ผกก.ป.สภ.รือเสาะ จ.นราธิวาส เสียชีวิตจากเหตุลอบวางระเบิดที่บริเวณสะพานข้ามคลองบ้านปราลี หมู่ 10 ต.รือเสาะ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส ขณะเดินทางกลับจากร่วมงานมอบวุฒิบัตรให้เด็กเรียนที่โรงเรียนบ้านรือเสาะ
22 มิ.ย.56 พ.ต.อิทธิพล คำมงคล ผู้ช่วยหัวหน้ากองกิจการพลเรือน ศูนย์สันติสุข เสียชีวิต จากเหตุคนร้ายลอบวางระเบิดบริเวณทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 43 ท้องที่บ้านมะพร้าวต้นเดียว ต.บ่อทอง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ขณะเดินทางกลับจากการประชุมที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ค่ายสิรินธร
5 ต.ค.56 พ.ต.ท.อติพัฒน์ สุพรรณวิวัฒน์ สว.กปพ.บก.สส.ภาค 3 ช่วยราชการศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศชต.) เสียชีวิตจากเหตุยิงปะทะกับกองกำลังติดอาวุธในพื้นที่บ้านสะแนะ หมู่ 1 ต.เรียง อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส ส่วนคนร้ายถูกวิสามัญฆาตกรรมเสียชีวิต 4 ราย
10 ก.ค.57 พ.ต.อ.อดินันท์ อิสมาแอล รอง ผกก.ป.สภ.กรงปินัง จ.ยะลา เสียชีวิตจากเหตุการณ์กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบซุ่มโจมตีด้วยอาวุธปืนที่บริเวณบ้านลาดู หมู่ 1 ต.ปุโรง อ.กรงปินัง จ.ยะลา ขณะเดินทางพร้อมลูกน้องไปร่วมพิธีละหมาดที่มัสยิดในพื้นที่ ต.สะเอะ อ.กรงปินัง
รวม 11 นาย แยกเป็นตำรวจ 7 นาย ทหาร 4 นาย หากนับรวม พ.ต.ต.ประสาน ที่โดนซุ่มโจมตีจนเสียชีวิตล่าสุด จะมีทหาร ตำรวจ ยศนายพันเสียชีวิตไปแล้ว 12 นาย เป็นตำรวจ 8 นาย ทหาร 4 นาย ยศสูงสุดที่เคยเสียชีวิต คือ “พันเอก” และ “พันตำรวจเอก”
@@ ฮ.ตกที่เบตง สูญเสียครั้งใหญ่
นอกจากนั้นยังมีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนปี 2547 ที่มีนายตำรวจระดับผู้กำกับการต้องสังเวยชีวิต รวมทั้งความสูญเสียครั้งใหญ่จากเหตุเฮลิคอปเตอร์ตกในพื้นที่ อ.เบตง จ.ยะลา ในภารกิจดับไฟใต้ด้วย
28 ส.ค.46 พ.ต.อ.มานิตย์ รัตนวิน ผู้กำกับการ สภ.เมืองปัตตานี และ พ.ต.ท.มนตรี มูลพินิจ รองผู้กำกับการ สภ.เมืองปัตตานี เสียชีวิตจากเหตุการณ์ปิดล้อมยิงวิสามัญฯ นายมาหามะ แมเราะ ขจก.มูจาฮีดีน (ขบวนการโจรก่อการร้าย)ในพื้นที่หมู่ 1 บ้านสุไหงปาแน ต.บานา อ.เมือง จ.ปัตตานี
6 ส.ค.51 พ.อ.วันชัย พ่วงขุมทรัพย์ รองผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจปัตตานี, น.อ.ธีระพงษ์ ศิกษมัต รอง ผบ.กกล. ฉก.9 ทอ., น.อ.กมล จัลวรรณา เสธฯ กกล. ฉก.9 ทอ., น.ท.ชัยวัฒน์ บุญยฤทธิ์ รองเสธฯ กกล.ฉก.9 ทอ. เสียชีวิตพร้อมนักบินและเจ้าหน้าที่ทหารอีก 6 นาย จากเหตุเฮลิคอปเตอร์ตกในพื้นที่ อ.เบตง จ.ยะลา ขณะเดินทางจาก จ.ปัตตานี ไปร่วมประชุมแก้ไขปัญหาความไม่สงบของ กอ.รมน.ภาค 4 ที่ อ.เบตง
@@ บันนังสตากลืนชีวิต “หมวดตี้-ผู้กองแคน”
อ.บันนังสตา จ.ยะลา เป็นอำเภอหนึ่งใน 33 อำเภอของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เกิดเหตุรุนแรงและก่อความสูญเสียขนาดใหญ่จำนวนไม่น้อย
ข้าราชการระดับสูงหลายนายต้องมาจบชีวิตที่นี่
จากข้อมูลที่ “ทีมข่าวอิศรา” รวบรวมมา จะพบว่าทหาร ตำรวจ ระดับ “พันเอก-พันตำรวจเอก” ล้วนเสียชีวิตที่ อ.บันนังสตา ก็คือ พ.อ.สุทธิศักดิ์ ประเสริฐศรี ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจยะลา จากเหตุลอบวางระเบิดในพื้นที่หมู่ 4 บ้านบันนังกูแว ต.บันนังสตา เมื่อ 26 ส.ค.49 ถือเป็นนายทหารยศสูงที่สุด ตำแหน่งสูงที่สุดที่เคยพลีชีพในเหตุการณ์ไฟใต้
อีกคนที่คนไทยรู้จักกันดี คือ พล.อ.สมเพียร เอกสมญา อดีตผู้กำกับการ สภ.บันนังสตา ทั้งๆ ที่เป็นผู้กำกับบันนังสตาเอง มีความเชี่ยวชาญพื้นที่อย่างมาก ปฏิบัติราชการมานานหลายปี อยู่ในพื้นที่ชายแดนใต้ตั้งแต่ชั้นประทวน จนชาวบ้านเรียกติดปากว่า “จ่าเพียร” แต่ก็ต้องจบชีวิตจากเหตุระเบิดที่บ้านทับช้าง ต.ตลิ่งชัน อ.บันนังสตา เมื่อ 12 มี.ค.53 วันแรกที่คนเสื้อแดงนัดชุมนุมขับไล่รัฐบาล คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และเป็นเหตุการณ์หนึ่งที่ทำให้เกิดกระแสไม่เอารัฐบาลอภิสิทธิ์ในช่วงนั้น
ยิ่งไปกว่านั้น พื้นที่นี้ยังเคยกลืนชีวิต “ตำรวจพลร่ม” ซึ่งได้รับการฝึกมา และมีความสามารถไม่แพ้ “หน่วยรบพิเศษ” ของทหาร โดยมี “พลร่ม” มาพลีชีพที่บันนังสตาถึง 2 นาย และเป็นข่าวดังไปทั้งประเทศ คือ
เมื่อวันที่ 20 มิ.ย.2551 ร.ต.ต.กฤตติกุล บุญลือ หรือ "หมวดตี้" ผู้บังคับหมวด กองร้อยรบพิเศษ 2 กองกำกับการ 1 กองบังคับการสนับสนุนทางอากาศ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ถูกซุ่มโจมตีจากกองกำลังติดอาวุธจนเสียชีวิต ขณะนำกำลังออกลาดตระเวน บริเวณเนินบ้านสันติ 1 หมู่ 2 ต.เขื่อนบางลาง อ.บันนังสตา
เหตุการณ์นี้เป็นเหตุซ้ำรอยจากที่เคยเกิดขึ้นแล้ว เพราะเมื่อ 29 ก.ย.2550 ร.ต.อ.ธรณิศ ศรีสุข หรือ "ผู้กองแคน" อายุ 30 ปี รองผู้บังคับกองร้อยรบพิเศษ 1 กองกำกับการ 1 กองบังคับการสนับสนุนทางอากาศ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน จากค่ายนเรศวร จ.เพชรบุรี ถูกซุ่มโจมตีจนเสียชีวิต ขณะนำกำลังออกลาดตระเวนบริเวณเนินเนาวรัตน์ บนถนนบ้านสายสุราษฎร์-บ้านภักดี หมู่ 3 ต.เขื่อนบางลาง อ.บังนังสตา เช่นกัน
นี่คือความอันตรายของพื้นที่นี้ และผ่านมาถึง 19 ปีไฟใต้แล้ว แต่พื้นที่ก็ยังอันตรายอยู่เหมือนเดิม
@@ ถิ่นนามะปราง...สวรรค์ของกลุ่มติดอาวุธ
“ทีมข่าวอิศรา” เคยนำเสนอรายงานพิเศษ ชื่อ เอ็กซเรย์บันนังสตา…แดนสนธยากลืนชีวิต “หมวดตี้-ผู้กองแคน-ผู้กำกับฯสมเพียร” บอกเล่าถึงสภาพพื้นที่ และเหตุผลที่กลายเป็น Killing Zone และแดนสวรรค์ของผู้ก่อความไม่สงบ
เนื้อหาบางช่วงบางตอนระบุว่า...อ.บันนังสตาตั้งอยู่ตอนกลางของ จ.ยะลา หากใช้เส้นทางสายหลักจากตัวเมืองยะลา คือทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 410 มุ่งลงใต้เพียง 39 กิโลเมตรก็จะถึงตัวอำเภอ โดยปลายสุดของถนนสายนี้คือ อ.เบตง ใต้สุดแดนสยาม
บันนังสตาแม้จะเป็นอำเภอเล็กๆ แต่ก็มีประวัติศาสตร์ยาวนานไม่น้อย กล่าวคือตั้งขึ้นเมื่อราว พ.ศ.2450 หรือกว่า 100 ปีมาแล้ว เดิมชื่อ “อำเภอบาเจาะ” เป็นเขตการปกครองที่ขึ้นกับเมืองรามัน ตั้งอยู่บริเวณบ้านบาเจาะ หมู่ 2 ต.บาเจาะ ในปัจจุบัน
ต่อมาสยามได้ยกเลิกหัวเมืองต่างๆ จึงย้ายอำเภอมาตั้ง ณ ที่แห่งใหม่ และเปลี่ยนชื่อเป็น "บันนังสตา" ซึ่งเป็นภาษามลายูถิ่น แปลว่า "นามะปราง" ปัจจุบันมีคำขวัญประจำอำเภอว่า “ถิ่นนามะปราง บางลางอุทยาน อนุสรณ์สะพานโบราณ คู่บ้านกล้วยหิน”
“บางลางอุทยาน” ก็คืออุทยานแห่งชาติเขื่อนบางลาง เขื่อนหินถมแกนดินเหนียวกั้นแม่น้ำปัตตานี ขนาดใหญ่ที่สุดในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่วน “สะพานโบราณ” น่าจะหมายถึงสะพานเหล็กที่ทหารญี่ปุ่นสร้างข้ามแม่น้ำปัตตานีช่วงเข้าเขต อ.บันนังสตา เมื่อครั้งสงครามโลกครั้งที่ 2 ปัจจุบันเลิกใช้แล้ว เพราะใช้สะพานคอนกรีตที่สร้างขนานอยู่แทน
บันนังสตามีพื้นที่ 629 ตารางกิโลเมตร ทิศเหนือติดต่อกับ อ.ยะหา อ.กรงปินัง และ อ.รามัน จ.ยะลา ทิศตะวันออกจรด อ.รือเสาะ และ อ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส ทิศใต้ติดต่อกับ อ.ธารโต จ.ยะลา และทิศตะวันตกติดต่อกับรัฐเคดาห์ ประเทศมาเลเซีย
ที่ตัวอำเภอบันนังสตา มีสถานที่ราชการตั้งอยู่ติดๆ กัน ทั้งที่ว่าการอำเภอ โรงพัก และโรงเรียน มีสามแยกไม่เล็กไม่ใหญ่ หากหันหน้าไปทางทิศใต้บนทางหลวงหมายเลข 410 เลี้ยวขวาที่สามแยกนี้จะเข้าเขต ต.ปะแต อ.ยะหา จ.ยะลา ซึ่งเป็นถนนสายที่เคยเกิดเหตุคนร้ายในชุดไอ้โม่งบุกยิงคนบนรถตู้สายเบตง-หาดใหญ่ เสียชีวิตถึง 8 ศพ เมื่อวันที่ 14 มี.ค.2550 กลายเป็นข่าวครึกโครมไปทั่วประเทศ
ถนนสายนี้ยังเคยเกิดเหตุรุนแรงอีกนับครั้งไม่ถ้วน ทั้งเหตุยิงปะทะ ลอบวางระเบิดเจ้าหน้าที่ มีข้าราชการและประชาชนผู้บริสุทธิ์ต้องมาสังเวยชีวิตมากมาย
ความน่ากลัวของบันนังสตาตั้งแต่เกิดสถานการณ์ความไม่สงบเมื่อปี 2547 เป็นต้นมา อธิบายได้ง่ายๆ ก็คือเป็นเพียงหนึ่งใน 2 อำเภอของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่แม่ทัพภาคที่ 4 ประกาศ “เคอร์ฟิว” หรือมาตรการห้ามออกนอกเคหะสถานตามเวลาที่กำหนด โดยอีก 1 อำเภอที่ประกาศเคอร์ฟิวพร้อมกันก็คือ อ.ยะหา ที่เกิดเหตุฆ่า 8 ศพบนรถตู้นั่นเอง
สภาพพื้นที่ของ อ.บันนังสตา เป็นที่ราบสลับหุบเขา ส่วนใหญ่เป็นป่าดิบชื้น ป่ายางพารา และสวนผลไม้ แม้จะมีถนนสายใหญ่ตัดผ่านอย่างทางหลวงหมายเลข 410 แต่เมื่อแยกจากถนนสายนี้เข้าไปตามตำบลต่างๆ จะมีถนนสายเล็กๆ คดเคี้ยวไปตามเหลี่ยมเขาและราวป่า คล้ายเส้นโลหิตฝอยมากมายหลายสาย แต่ละสายลัดไปออกได้หลายอำเภอ บางสายลัดข้ามจังหวัดได้เลยทีเดียว
นี่คือสาเหตุหนึ่งที่ทำให้อำเภอแห่งนี้เป็นดั่งสวรรค์ของกลุ่มก่อความไม่สงบ เพราะมีเส้นทางหลายเส้นที่เรียกกันว่า “คิลลิ่ง โซน” (Killing Zone) กล่าวคือเป็นทางโค้งขึ้นเนินเขาสูงข่ม สองข้างทางปกคลุมไปด้วยป่ารก ง่ายต่อการดักซุ่มยิงและลอบวางระเบิดเจ้าหน้าที่ชุดลาดตระเวน
หลังก่อเหตุก็มีเส้นทางให้เลือกหลบหนีได้อย่างสะดวกโยธิน!