กรมทรัพย์สินทางปัญญาขึ้นทะเบียน “ทุเรียนสะเด็ดน้ำยะลา” เป็นสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ตัวใหม่ของจังหวัด เผยเป็นทุเรียนที่ปลูกบนพื้นที่ภูเขา มีคุณภาพ ปลอดสารเคมี ราคาสูงกิโลกรัมละ 190 บาท สร้างรายได้ให้เกษตรกรยะลามากถึง 2,800 ล้านบาทต่อปี
“ทุเรียนสะเด็ดน้ำยะลา” เป็นการนำทุเรียนสายพันธุ์ต่างๆ ของจังหวัดยะลาไปปลูกในพื้นที่ตามไหล่เขา สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางตั้งแต่ 100 เมตรขึ้นไป ซึ่งเป็นแหล่งบ่มเพาะทุเรียนคุณภาพ ปลอดสารเคมี ทำให้ทุเรียนมีความโดดเด่นด้วยรสชาติหวานมัน มีกลิ่นเฉพาะตัว เนื้อเเห้งละเอียด เส้นใยน้อย และเนื้อมีสีเหลืองอ่อนหรือเข้มตามแต่ละสายพันธุ์ที่ปลูก
ได้แก่ พันธุ์ก้านยาว พันธุ์ชะนี พันธุ์พวงมณี พันธุ์มูซังคิง และพันธุ์หนามดำ หรือ “โอฉี่” โดยสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ในช่วงเดือน ก.ค.-ก.ย.ของทุกปี
จากความเข้มแข็งของกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ได้ร่วมกันพัฒนาคุณภาพสินค้าและบรรจุภัณฑ์ เพิ่มมูลค่าสินค้าให้กับ “ทุเรียนสะเด็ดน้ำยะลา” ทำให้ได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคในต่างประเทศ โดยเฉพาะจีนและมาเลเซียได้อย่างดี
นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมทรัพย์สินทางปัญญาประกาศให้ “ทุเรียนสะเด็ดน้ำยะลา” เป็นสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ของจังหวัดยะลา ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการส่งออกผลไม้ไทยสู่ตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศจีนเเละมาเลเซีย สร้างความเข้มเเข็งให้เศรษฐกิจชุมชนไทย กระจายรายได้สู่เกษตรกรรายย่อย เนื่องด้วยรสชาติและกลิ่นอันเป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร ทำให้ทุเรียนสะเด็ดน้ำยะลามีราคาสูงถึง 190 บาทต่อกิโลกรัม สร้างรายได้ให้จังหวัดยะลาได้มากถึง 2,800 ล้านบาทต่อปี
ทั้งนี้ “ทุเรียนสะเด็ดน้ำยะลา” สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ในช่วงเดือน ก.ค.ถึง ก.ย.ของทุกปี เป็นอีกหนึ่งแหล่งรายได้สำคัญของยะลาถัดจาก “กล้วยหินบันนังสตา” ที่ได้ขึ้นทะเบียน GI ไปก่อนหน้านี้
ก่อนหน้านี้ จังหวัดยะลาพร้อมด้วยส่วนราชการที่เกี่ยวข้องต่างๆ และเครือข่ายเกษตรกร ได้ร่วมกันกำหนดหนึ่งในยุทธศาสตร์จังหวัดยะลา คือ ยะลาเมืองทุเรียน (Yala Durian City) กำหนดเป้าหมายให้ จ.ยะลา เป็นเมืองทุเรียนแห่งภาคใต้ตอนล่าง โดยมีแนวทางการส่งเสริมและพัฒนาการผลิตทุเรียนแบบครบวงจร ซึ่งจังหวัดยะลาเป็นแหล่งปลูกทุเรียน และมีปริมาณผลผลิตมากที่สุดในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง และเป็นแหล่งปลูกทุเรียนพันธุ์หมอนทองที่มีคุณภาพ
ทำให้ในปี 2563 มีพื้นที่ปลูกทุเรียน 73,890 ไร่ พื้นที่ให้ผลผลิตแล้ว 53,621 ไร่ ครัวเรือนผู้ปลูก 25,326 ครัวเรือน ผลผลิตรวม 53,031 ตัน โดยเนื้อที่ปลูกกระจายทั่วทุกพื้นที่ ลักษณะการปลูกข้างบ้าน สวนผสม และปลูกร่วมกับพืชอื่นๆ
ส่วนสภาพการผลิตเชิงการค้าที่เป็นสวนเดี่ยว มีแหล่งปลูกที่สำคัญในพื้นที่ อ.เบตง อ.ธารโต และ อ.บันนังสตา ซึ่งเป็นพื้นที่สูง และภูเขา ท่ามกลางผืนป่าธรรมชาติ หุบเขา สายน้ำ ทะเลสาบบนภูเขา และทะเลหมอก โอบล้อมด้วยผืนป่าฮาลาบาลา
จุดเด่นของ “ทุเรียนสะเด็ดน้ำยะลา” นอกเหนือจากการผลิตตามระบบมาตรฐาน GAP แล้ว เกษตรกรส่วนใหญ่ไม่เน้นการใช้สารเคมี แต่จะเน้นวิถีธรรมชาติในการจัดการสวน เน้นความปลอดภัยจากระดับผู้ผลิตจนถึงผู้บริโภคและใส่ใจสิ่งแวดล้อม ใช้ระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ มีการรวมกลุ่มเกษตรกรเพื่อปรับระบบการผลิตและการจัดการสวนอย่างถูกต้องเหมาะสม ตรงตามปฏิทินการเจริญเติบโตของทุเรียน ลดต้นทุนการผลิตด้วยการจัดการดินและปุ๋ยที่เหมาะสม มีการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินและการผสมปุ๋ยใช้เอง
ด้านประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้ซื้อผลผลิตทางการเกษตร กล่าวว่า วิสาหกิจชุมชนฯจัดตั้งมาหลายปีแล้ว โดยรับซื้อผลผลิตและส่งผลไม้สดไปส่งจำหน่ายกับผู้ส่งออกต่างประเทศ เมื่อจังหวัดยะลาได้ก่อสร้างศูนย์บ่มเพาะธุรกิจการแปรรูปและการตลาดทุเรียนขึ้นมา ทางกลุ่มได้รับอนุมัติให้เข้าใช้ศูนย์ฯ เพื่อดำเนินธุรกิจ แต่จากปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้เกิดปัญหาการรับซื้อและการส่งออกทุเรียน ส่งให้ทุเรียนยะลาราคาตกต่ำในช่วงที่ผลผลิตกำลังถึงระยะเก็บเกี่ยวมากที่สุด และผู้รับซื้อ (ล้ง) หยุดดำเนินการช่วงหนึ่ง รวมทั้งระบบการขนส่งก็หยุดรับส่ง ชาวสวนจึงไม่มีแหล่งรับซื้อ และไม่สามารถกระจายสินค้าได้ ทางกลุ่มฯ จึงได้เข้ารับซื้อผลผลิตช่วงดังกล่าว ทำให้ชาวสวนสามารถจำหน่ายผลผลิตที่ออกมาในช่วงนั้นได้
เจ้าของสวนทุเรียนยะลารายหนึ่ง เผยว่า ทุเรียนสะเด็ดน้ำยะลา แกะง่าย เปลือกบาง เนื้อสวย ปลูกได้ดีบริเวณที่มีสภาพพื้นที่ลาดชันท่ามกลางธรรมชาติ พูดง่ายๆ ดินภูเขา
“ทุเรียนสะเด็ดน้ำยะลาสมชื่อ เป็นของดีของคนชายแดนใต้มานานแล้ว ดีใจที่เป็นแบบนี้ ยะลามีดีกว่าที่คิด มาแล้วจะลืมเลยว่า ที่นี่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบอย่างต่อเนื่องอยู่” เจ้าของสวนทุเรียน กล่าว