แม่ทัพภาค 4 แต่งตั้งคณะทำงานติดตามตรวจสอบกิจกรรมบิดเบือนประวัติศาสตร์ของภาคประชาสังคม รวมทั้งด้านการเมือง “ทหาร-ตำรวจ” พรึ่บ 22 นาย “พล.ต.ไพศาล” นั่งหัวหน้า เปิดช่องดำเนินคดีตามกฎหมาย เผยต้นตอจาก 2 เหตุการณ์สำคัญ “แต่งชุดมลายู-การ์ดเกมปาตานี”
พล.ท.ศานติ ศกุนตนาค แม่ทัพภาคที่ 4 ในฐานะผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 (ผอ.รมน.ภาค 4) ออกคำสั่งกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาคที่ 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ลงวันที่ 9 ม.ค.66 แต่งตั้งคณะทำงานติดตามตรวจสอบกิจกรรมที่มีการบิดเบือนประวัติศาสตร์ของภาคประชาสังคมและด้านการเมือง
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้การติดตามตรวจสอบการจัดกิจกรรมที่มีการบิดเบือนประวัติศาสตร์ของภาคประชาสังคมและด้านการเมือง ในการหาข้อมูล ประเด็นความผิดเพื่อใช้ในการดำเนินคดีตามกฎหมายเป็นไปด้วยความเรียบร้อย และสามารถปฏิบัติภารกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพสมความมุ่งหมายของทางราชการ จึงจัดตั้งคณะทำงานติดตามและตรวจสอบการจัดกิจกรรมต่างๆ ที่มีการบิดเบือนประวัติศาสตร์
โดยคณะทำงานมีทั้งหมด 22 นาย เป็นข้าราชการทหาร 19 นาย และข้าราชการตำรวจ จำนวน 3 นาย ประกอบด้วย พล.ต.ไพศาล หนูสังข์ หัวหน้าคณะทำงาน และมี พล.ต.ต.ปิยวัฒน์ เฉลิมศรี รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9, พล.ต.วัชรวิชย์ ณรงค์พันธุ์ และ พ.อ.อัฑฒเศรษฐ์ เต็มมีศร ทำหน้าที่เป็นรองหัวหน้าคณะทำงาน
และมีคณะทำงาน ได้แก่ พ.อ.ภาสกร บูรณวนิช, พ.อ.คณิต คหบดีกนกกุล, พ.ต.ภูวนาถ ศรีเจริญ, พ.ต.ยงยุทธ์ สำเหร่, พ.อ.เฉลิมชัย สุทธินวล, พ.อ.จิระยุส จันทน์อาภรณ์, พ.อ.อภิเศรษฐ์ คุณารักษ์, พ.อ.เจษฎา ปิยะสุวรรณ, พ.ท.รังสรรค์ นนท์ธีระสวัสดิ์, พ.ท.ธนพล พละศิลปะ, พ.อ.นราธิป จอง, ร.ต.อานุภาพ ศิรินิล, พ.อ.ศรัญญู สังรี, พ.อ.ประธาน ตลับทอง, พ.ต.อ.อันธีร์ ต่ออารี, พ.ต.ต.วงศ์กร ปริมวงศ์ และ พ.ท.หญิงมะลิ พันธ์น้อย ทำหน้าที่เป็นเลขานุการ พ.ต.ชัยยุทธ อินทนะ เป็นผู้ช่วยเลขานุการ
คณะทำงานทั้งหมดมีอำนาจหน้าที่ติดตามและตรวจสอบ ประสานการปฏิบัติกับหน่วยที่เกี่ยวข้อง เพื่อรวบรวมข้อมูลและประเด็นที่เข้าข่ายความผิด เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย กำหนดกรอบแนวทางการปฏิบัติและการใช้เครื่องมือให้ส่วนที่เกี่ยวข้องนำไปดำเนินการ ติดตามกำกับดูแลและประเมินผลการปฏิบัติของหน่วยที่เกี่ยวข้องให้เป็นไปตามแนวทางที่กำหนดและคำแนะนำเพิ่มเติมจากผู้บังคับบัญชา
นอกจากนี้ ยังกำหนดมาตรการควบคุมให้มีการประชุมเดือนละ 1 ครั้ง ทุกสัปดาห์ที่ 3 ของเดือน โดยให้คณะทำงานต้องประชุมเตรียมข้อมูล 1 วันก่อนประชุม รายงานผลให้ ผอ.รมน.ภาค 4 ทราบทุกเดือน และสรุปผลการปฏิบัติตามวงรอบ 1 เดือน 3 เดือน 6 เดือน และ 1 ปี
@@ “ชุดมลายู-การ์ดเกม” ต้นตอตั้งคณะทำงานฯ
เจ้าหน้าที่ทหารในพื้นที่ที่ทราบเรื่องเกี่ยวกับการออกคำสั่งตั้งคณะทำงานชุดนี้ กล่าวว่า คำสั่งนี้น่าจะเอาจริง หลังจากการเมืองก็แรง และตลอดช่วงที่ผ่านมามีการบิดเบือนประวัติศาสตร์อย่างเห็นชัด ทั้งการ์ดเกม เกมไพ่ การรวมตัวแต่งชุดมลายูที่มีการปราศรัยปลุกระดมในเรื่องประวัติศาสตร์
“ก็คงจับตากันจริงจังแน่ เพราะยิ่งการเมืองแรง การทำลายภาพลักษณ์ของภาครัฐก็มีมากขึ้น คิดว่าแม่ทัพน่าตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพราะสิ่งเหล่านี้” เจ้าหน้าที่ทหาร ระบุ
สำหรับเหตุการณ์ที่คาดว่าเป็นสาเหตุในการตั้งคณะทำงาน มีอยู่ 2 เหตุการณ์หลักๆ คือ
1.เหตุการณ์เยาวชนชาย และหญิงมลายูมุสลิม รวมตัวกันแต่งกายด้วยชุดอัตลักษณ์มลายู จำนวนนับหมื่นคน เมื่อเดือน พ.ค.ปีที่แล้ว หลังเทศกาลรายอ โดยเยาวชนชายรวมตัวกันที่หาดวาสุกรี อ.สายบุรี จ.ปัตตานี มีการปราศรัย และโบกธง ซึ่งบางภาพที่บันทึกมาได้พบว่ามีการโบกธงของขบวนการแบ่งแยกดินแดน
การรวมตัวกันของเยาวชนจำนวนมาก โดยมีฝ่ายความมั่นคงแทบไม่รู้ระแคะระคายล่วงหน้า ทำให้เกิดความตึงเครียดขึ้นในหมู่ผู้ปฏิบัติและเจ้าหน้าที่ระดับสูงผู้รับผิดชอบพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีความพยายามค้นหาต้นตอการนัดหมาย และแกนนำ มีการเรียกมาพูดคุยตักเตือน แต่สุดท้ายไม่สามารถดำเนินคดีใดๆ ได้
2.“การ์ดเกม” หรือ “เกมไพ่” ที่ชื่อว่า “Patani Colonial Territory” มีการนำเนื้อหาเกี่ยวกับ “ประวัติศาสตร์บาดแผล” ของคนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือที่เรียกว่า “คนปัตตานี” หรือ “คนปาตานี” มาใส่ในการ์ดเกม โดยเฉพาะเรื่องเชลยศึกปัตตานีที่ถูกทารุณด้วยการเจาะเอ็นร้อยหวาย ซึ่งในเวลาต่อมา ทาง กอ.รมน. และนักประวัติศาสตร์หลายรายออกมายืนยันว่า ประวัติศาสตร์เรื่องเจาะเอ็นร้อยหวาย ไม่เคยเกิดขึ้นจริง แต่กลุ่มคนที่เกี่ยวข้องกับ “การ์ดเกม” ก็ยังนัดเล่นและจัดแข่งขันในพื้นที่ต่อไป
“การ์ดเกม” นี้ได้รับการเผยแพร่ในสื่อสังคมออนไลน์ และจัดกิจกรรมดึงเยาวชนเข้ามาเล่นเกม กระทั่งกลายเป็นประเด็นขึ้นมาเพราะหลายฝ่ายมองวางเป็นการบิดเบือนข้อมูลทางประวัติศาสตร์ และเป็นประเด็นอ่อนไหวทางความมั่นคง
ที่มาของเกมไพ่ การ์ดเกม “Patani Colonial Territory” เป็นบอร์ดเกมที่ผลิตจากกลุ่ม ‘hachiluk (จะจีลุ) ร่วมกับสำนักพิมพ์ KOPI และได้รับทุนสนับสนุนโดย Common School มูลนิธิคณะก้าวหน้า โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งต่อประวัติศาสตร์ของอาณาจักรปัตตานีไม่ให้หายไป
สำหรับ “คณะก้าวหน้า” มีแกนนำสำคัญเป็นอดีตแกนนำพรรคอนาคตใหม่ พรรคการเมืองที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบไปจากกรณีเงินกู้โดยมิชอบด้วยกฎหมาย ปัจจุบันเคลื่อนไหวทางการเมืองในทิศทางสอดคล้องกับพรรคก้าวไกล ซึ่งเป็นพรรคใหม่ของอดีต ส.ส.อนาคตใหม่หลังจากพรรคเดิมถูกยุบ