ผู้ตรวจ สธ.เซ็นคำสั่งย้าย “นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ” พ้น ผอ.รพ.จะนะ ไปเป็น ผอ.รพ.สะบ้าย้อย จังหวัดเดียวกัน เจ้าตัวเผยตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลไม่มีวาระต้องย้าย หวังเกษียณที่จะนะ คาดปมสั่งย้าย เหตุท้วงปม “กัญชาเสรี - บริหารจัดการวัคซีนโควิดเหลว” พบมีการวางแผนเปลี่ยนระเบียบใหม่แค่ 2 วันก่อนคำสั่งโผล่ เดินหน้าฟ้องศาลปกครอง - เอาผิด ม.157 ด้านพรรคประชาชาติ จี้แจงเหตุย้าย ขณะที่ชาวบ้านเตรียมเคลื่อนไหวคัดค้าน
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 26 ม.ค.66 มีรายงานว่า นายแพทย์สวัสดิ์ อภิวัจนีวงค์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข ปฏิบัติราชการแทนปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้ลงนามในคำสั่งย้าย นายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ และประธานชมรมแพทย์ชนบท ให้ไปดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลสะบ้าย้อย จ.สงขลา โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ลงนาม คือ วันที่ 25 ม.ค.66 เป็นต้นไป
โดยก่อนหน้านี้ ก็มีข่าวออกว่า จะมีการโยกย้ายนายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ประธานชมรมแพทย์ชนบท จึงทำให้ประชาชนในพื้นที่ได้ออกมาให้กำลังใจเป็นจำนวนมาก เนื่องจากมองว่า เป็นการถูกย้ายโดยฝ่ายการเมือง จากกรณีที่นายแพทย์สุภัทร ไปให้ข่าวที่ตรงกันข้ามกับนโยบายกัญชา ในขณะเดียวกันมีบางฝ่ายมองว่า การย้ายครั้งนี้เป็นการหมุนเวียนการทำงาน โดย นายแพทย์สุภัทร มีความชำนาญในการบริหารจัดการโรงพยาบาลจะนะ จึงให้หมุนเวียนให้ไปบริหารโรงพยาบาลสะบ้าย้อย เพื่อให้มีการพัฒนามากยิ่งขึ้น
@@ ผอ.รพ.ไม่มีวาระต้องย้าย หวังเกษียณที่จะนะ
ด้าน นายแทพย์สุภัทร กล่าวเปิดใจหลังทราบคำสั่งว่า “ผมรับราชการมาตั้งแต่ปี 2538 มาเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ ตั้งแต่ปี 2542 มีแพทย์เพียง 3 คนอยู่หลายปี ผมสนุกกับงาน เป็นทั้ง ผอ.และหมอ ตรวจคนไข้ อยู่เวร ออกชุมชน สอนนักศึกษา บริหารโรงพยาบาล ร่วมกิจกรรมชุมชนทั้งการคัดค้านโครงการนิคมอุตสาหกรรมหรือกิจกรรมสร้างสรรค์มากมาย ผมผูกพันกลายเป็นส่วนหนึ่งของจะนะ อายุราชการที่เหลืออีก 7 ปีก็คิดจะเกษียณที่จะนะ”
“สธ.ได้วางระบบไว้ว่า ตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชน และแพทย์สามารถขึ้นได้ถึงระดับวิชาการเชี่ยวชาญ ซึ่งไม่ใช่ตำแหน่งบริหาร จึงไม่มีวาระที่ต้องย้าย ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชนจำนวนมากรวมทั้งผมจึงเลือกทำงานจนเกษียณโดยไม่ขอย้าย ทำให้งานสาธารณสุขในชนบทเกาะติดพื้นที่พัฒนาได้ต่อเนื่อง”
@@ คาด “ท้วงกัญชาเสรี -บริหารจัดการวัคซีนโควิด” ปมสั่งย้าย
นายแพทย์สุภัทร กล่าวถึงสาเหตุที่น่าจะเป็นสาเหตุของคำสั่งย้ายว่า “ในปี 2563 ผมรับภารกิจเป็นประธานชมรมแพทย์ชนบทอีกตำแหน่งหนึ่ง ทำหน้าที่ทักท้วงเสนอแนะเรื่องราวในกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) อาทิ การไม่เห็นด้วยต่อนโยบายกัญชาเสรี การโยกย้ายที่ไม่เป็นธรรม การบริหารจัดการโควิดและวัคซีน การไม่ลงนามงบส่งเสริมป้องกันปี 2566 หรือ การซื้อชุดตรวจ ATK ที่มีข้อสงสัย สิ่งเหล่านี้สร้างความหงุดหงิดต่อใครบางคน จนนำมาสู่คำสั่งให้ย้ายผมให้ได้ก่อนยุบสภา”
“จริงๆ การจะย้ายผมไม่ยากเลย เพียงแค่ปลัดกระทรวงสั่งย้ายตามอำนาจที่ท่านมี (แต่ต้องมีเหตุมีผลด้วยนะ) แต่เพราะตำแหน่งผมเป็นตำแหน่งวิชาการระดับเชี่ยวชาญ ไม่มีเกณฑ์ที่ต้องถูกย้ายตามวาระ เหตุความผิดที่ต้องถูกย้ายก็ไม่มี ผมเองก็ไม่ได้สมัครใจย้าย ปลัดกระทรวงจึงไม่กล้าเซ็นเอง เพราะกลัวผิดกฎหมายอาญา ม. 157 ก็เลยต้องมีการสั่งการให้ผู้ตรวจราชการเป็นคนเซ็น ใครลงนามจะได้เลื่อนชั้นรวดเร็ว เรื่องราวจึงโกลาหล”
@@ วางแผนตั้งคนเซ็น - เปลี่ยนระเบียบใหม่แค่ 2 วัน สั่งย้ายเลย
“7 ธ.ค.65 สธ.ลงนามคำสั่งโยกย้ายผู้ตรวจราชการทั่วประเทศ ผู้ตรวจสวัสดิ์ อภิวัจนีวงค์ ได้ขึ้นที่เขต 4 (สระบุรี) ส่วนเขต 12 ยังเป็นผู้ตรวจสุเทพ เพชรมาก ท่านเดิม ช่วงนั้นมีข่าวผมจะถูกย้ายอีก ทราบว่า ผู้ตรวจสุเทพไม่ยอมลงนาม ด้วยเห็นว่า ไม่มีเหตุให้สั่งย้าย ผลก็คือ วันที่ 11 ม.ค.66 ปลัดกระทรวงมีคำสั่งย้ายผู้ตรวจสุเทพไปอยู่เขตอื่น เอาผู้ตรวจสวัสดิ์ อภิวัจนีวงค์ จากเขต 4 มาเขต 12 ทั้งๆ ที่เพิ่งไปเขต 4 ได้เดือนเดียว คนพร้อมลงนามมีแล้ว”
ผอ.โรงพยาบาลจะนะ กล่าวอีกว่า “แต่ระเบียบการให้อำนาจผู้ตรวจสั่งย้ายผู้อำนวยการเชี่ยวชาญในโรงพยาบาลชุมชนยังไม่ชัดเจน ปลัดกระทรวงสาธารณสุขจึงลงนามในหนังสือหลักเกณฑ์ใหม่ ลงวันที่ 23 ม.ค.66 ให้ผู้ตรวจมีอำนาจย้ายวิชาการเชี่ยวชาญได้ หนังสือยังไม่ถึงหน่วยงานเลย วันที่ 25 ม.ค.66 ถัดไปสองวันก็มีการประชุมคณะกรรมการย่อยพิจารณาย้ายผม และลงนามในคำสั่งย้ายผมไปเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลสะบ้าย้อยทันที”
@@ เดินหน้าฟ้องศาลปกครอง - เอาผิด ม.157
“วันที่ 26 ม.ค.66 คำสั่งย้ายผมหลุดออกมาทางสื่อ โดยที่ผมไม่ได้เห็นก่อน การจะย้าย ผอ.รพ.บ้านนอกสักคน ต้องทำพิรุธเป็นขั้นเป็นตอนเพียงนี้เชียวหรือ ซึ่งเป็นผลดีมากกับผมในการฟ้องศาลปกครองและฟ้องเอาผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และล่าสุดเมื่อวันที่ 27 ม.ค.66 คำสั่งย้ายที่เป็นทางการยังมาไม่ถึงผม ส่วนใครเป็นคนบงการสั่งย้ายผม คิดเอาเอง”
@@ “พรรคประชาชาติ” จี้ รมว.สาธารณสุข ชี้แจงเหตุย้าย
วันที่ 27 ม.ค.66 ทางพรรคประชาชาติ ได้ออกแถลงการณ์ แสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับคำสั่งย้าย นายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ในช่วงที่รัฐบาลมีปัญหา “แปดเปื้อน” โดยระบุว่า สืบเนื่องจากมีคำสั่งย้าย นายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ ให้ย้ายไปยังโรงพยาบาลอื่น หลังจากได้แสดงความคิดเห็นและความห่วงกังวลต่อนโยบายกัญชาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่ไม่เพียงใช้เพื่อการแพทย์เท่านั้น แต่ยังส่งเสริมให้ใช้กัญชาอย่างเสรี ซึ่งเป็นโทษต่อสุขภาพ และเป็นภัยต่อสังคม อีกทั้งได้แสดงทัศนะต่อประเด็นการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และปัญหาในการจัดการเรื่องการฉีดวัคซีนให้ประชาชนด้วย
ถือเป็นแพทย์ที่มีความสามารถ มีความกล้าหาญในการแสดงทัศนะทางการแพทย์ จนเป็นที่รักยิ่งของประชาชนชาวอำเภอจะนะ
พรรคประชาชาติเห็นว่า คำสั่งดังกล่าว ขัดกับอุดมการณ์และค่านิยมที่ดีงามในการแต่งตั้งข้าราชการในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่พึงเลือกคนที่มีนิสัยซื่อสัตย์ สุจริต สงบเสงี่ยม เยือกเย็น ไม่ใช่การส่งข้าราชการจากพื้นที่อื่นมาปฏิบัติหน้าที่เพื่อลงโทษ เพราะกระทำผิด
พรรคประชาชาติเห็นว่า กัญชาเป็นยาเสพติด เป็นมหันตภัยร้ายต่อสังคม ซึ่งยาเสพติดเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำลายสันติสุขของประชาชน ตามคำกล่าว “ที่ใดมียาเสพติด ที่นั่นไม่มีความสงบสุข และที่ใดสงบสุข ที่นั่นต้องปลอดยาเสพติด”
จึงขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขชี้แจงเหตุผลต่อสาธารณชนถึงเหตุผลการโยกย้ายตามคำสั่งดังกล่าว
@@ ชาวจะนะเตรียมเคลื่อนไหวคัดค้านย้าย “หมอสุภัทร”
นอกจากการเคลื่อนไหวของมวลชนและพรรคการเมืองแล ในโซเซียลมีเดียยังแห่กันวิจารณ์อย่างหนัก โดยส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับคำสั่งย้ายนายแพทย์สุภัทร พร้อมเรียกร้องให้หน่วยที่เกี่ยวข้องออกมาชี้แจง
ในพื้นที่ อ.จะนะ ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 4 ม.ค.66 ได้มีประชาชนในพื้นที่ นำโดยมีกลุ่มพลังมวลชน อ.จะนะ จ.สงขลา นำทีมโดย สมาคมโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาหลายร้อยคน ร่วมกันเดินทางมายังโรงพยาบาลจะนะ เพื่อร่วมกันแสดงออกให้กำลังใจ นายแพทย์สุภัทร หลังมีกระแสข่าวย้ายนายแพทย์สุภัทร ออกนอกพื้นที่ ทั้งที่ไม่ได้มีความผิดใดๆ โดยกลุ่มพลังมวลชนได้นำช่อดอกไม้ อาหารสด มาส่งมอบให้กับนายแพทย์สุภัทร เพื่อเป็นกำลังใจ โดยได้ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันพูดให้กำลังใจ พร้อมเรียกร้องให้หยุดความคิดที่จะย้ายนายแพทย์สุภัทร
น.ส.จันทิมา ชัยบุศดี ตัวแทนเครือข่ายนักรบผ้าถุง อ.จะนะ ระบุว่า ที่ผ่านมานั้นหมอสุภัทร ได้ช่วยเหลือดูแลผู้ป่วยในอำเภอจะนะมาตลอด โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์โควิดที่อำเภอจะนะ มีผู้ป่วยจำนวนมาก แต่หมอสุภัทร ก็ได้ร่วมกันวางแผนดูแลชุมชน ชาวบ้าน โรงเรียนต่างๆ จนสามารถผ่านพ้นวิกฤติไปได้
“ยืนยันว่า เมื่อหมอสุภัทรไม่มีความผิด อีกทั้งชาวบ้านเองก็เรียกร้องให้หมอสุภัทรปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ต่อไป ก็ไม่มีเหตุผลใดที่จะต้องย้ายหมอสุภัทรออกไป และยืนยันหากมีคำสั่งย้าย พลังมวลชนทั้งหมดจะร่วมกันเดินทางไปแสดงพลังหน้ากระทรวงสาธารณสุข”
นายบรรจง นะแส ผู้นำภาคประชาสังคมใน จ.สงขลา กล่าวเสริมด้วยว่า หมอสุภัทร อยู่ในพื้นที่มานาน ดูแลผู้ป่วยและประชาชนด้วยหัวใจ ไม่ใช่แค่ภาระหน้าที่ สำหรับกระแสเรื่องการโยกย้ายที่อาจจะเกิดขึ้นนั้น แทบไม่มีเหตุผลอื่นเลยที่จะโยกย้ายคุณหมออกจากพื้นที่ ยกเว้นเรื่องเดียว คือการไปเป็นก้อนกรวดในรองเท้าของรัฐมนตรี
“ที่ผ่านมา หมอสุภัทร ไม่เคยละเว้นต่อสิ่งที่ไม่ถูกต้องที่กระทำต่อชุมชน หรืองบประมาณแผ่นดิน ซึ่งตอนนี้ทั้งประเทศก็เจอเหตุการณ์ในลักษณะเช่นนี้ ดังนั้นหากจะมีการโยกย้ายหมอสุภัทรแบบเชือดไก่ให้ลิงดู วันนี้ไม่เพียงแต่รัฐมนตรีเท่านั้น แต่นายกรัฐมนตรีเองก็ต้องมีคำตอบให้กับประชาชนเช่นเดียวกัน”
@@ เปิดประวัติหมอสุภัทร จาก นศ.แพทย์ นักกิจกรรม สู่หมอนักพัฒนา
นายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ หรือ “หมอจุ๊ก” อายุ 53 ปี เกิดวันที่ 9 ม.ค.2513 เป็นชาวอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เป็นคนเรียนเก่ง โดยเรียนจบมัธยมศึกษาตอนปลายจากโรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย เอนทรานซ์ติดคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี 2531
ในช่วงที่ยังเรียนแพทย์อยู่ ยังเป็นนักกิจกรรมตัวยง โดยขณะกำลังศึกษาอยู่ชั้นปี 3 เป็นประธานชมรมค่าย สจม. – ค่ายอาสาสมัครที่เข้มข้นที่สุดของมหาวิทยาลัย ต่อมาขณะเรียนอยู่ชั้นปี 4 ได้เป็นนายกองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาฯ และตอนเรียนอยู่ชั้นปี 5 เป็นเลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ซึ่งสู้กับรัฐบาลเผด็จการในช่วง “พฤษภาทมิฬ”
จนในปี 2537 สำเร็จการศึกษาแพทยศาสตรบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (แพทย์จุฬาฯ รุ่น 44)
หลังเรียนจบมาเป็นแพทย์ทำงานประจำที่โรงพยาบาลสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา ในปี 2538 แต่เนื่องจากทั้งโรงพยาบาลมีหมอเพียง 2 คน จึงได้ดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลสะบ้าย้อยพ่วงไปด้วย โดยทำงานอยู่ที่โรงพยาบาลสะบ้าย้อยตั้งแต่ ปี 2538 – 2541
จนในปี 2542 ได้รับการโยกย้ายให้มาเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ จังหวัดสงขลา และอยู่มาจนถึงปัจจุบัน
แม้จะทำงานเป็นแพทย์ ก็ได้เรียนต่อจนสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท สาขาสาธารณสุขศาสตรมหาบัณฑิต จาก Institute of Tropical Medicine, Belgium ในปี 2555 ด้วยความที่เป็นคนที่อุทิศตนในการทำงาน ในการพัฒนาระบบสาธารณสุข เพื่อประชาชนมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ในปี 2560 ได้รับปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาการบริหารและพัฒนาชุมชน จากมหาวิทยาลัยทักษิณ และในปี 2563 ได้รับเลือกเป็นประธานชมรมแพทย์ชนบท จนถึงปัจจุบัน