หลายคนตั้งข้อสังเกตว่า นับตั้งแต่เปิดศักราช พ.ศ.2566 เป็นต้นมา มีความพยายามก่อเหตุรุนแรงของกลุ่มกองกำลังติดอาวุธในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มากขึ้น
จะว่าไปความพยายามปรากฏเด่นชัดตั้งแต่คืนส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ นับจากนั้นเหตุรุนแรงก็เกิดถี่ขึ้น แม้จะไม่ร้ายแรงอะไรมาก แต่สะท้อนถึงเจตนาและความมุ่งหมายที่ดำรงอยู่ เสมือนหนึ่งมีแรงกระตุ้นบางอย่าง
ไม่แน่ชัดว่าเป็นความบังเอิญหรือจงใจ เพราะเหตุการณ์ความไม่สงบที่เพิ่มความถี่ขึ้น เป็นช่วงเวลาใกล้เคียงกับที่มาเลเซีย ประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียง มีรัฐบาลชุดใหม่ ภายใต้การนำของ นายอันวาร์ อิบราฮิม ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่ามีความสนใจปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้มากเป็นพิเศษ
ขณะเดียวกันก็มีการเปลี่ยนตัวผู้อำนวยความสะดวก จากอดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ตันศรี ราฮิม) เป็นอดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ตันศรี ซุลกีฟลี)
“ทีมข่าวอิศรา” รวบรวมเหตุรุนแรงรายวันที่เกิดขึ้นถี่ยิบมาให้ดูกันชัดๆ
เวลา 18.45 น.วันที่ 31 ธ.ค.65 คนร้ายใช้อาวุธปืนลอบยิงหลังฐานปฏิบัติการ ร้อย ทพ.3011 ตั้งอยู่ที่บ้านบาเจาะ หมู่ 2 ต.บันนังสตา อ.บันนังสตา จ.ยะลา แต่ไม่มีผู้ใดได้รับบาดเจ็บ
เวลา 23.00 น. วันที่ 31 ธ.ค.65 คนร้ายใช้อาวุธปืนลอบยิงฐานชุดคุ้มครองตำบลตะโละ ตั้งอยู่ในพื้นที่ บ้านเปาะซูแม หมู่ 2 ต.ตะโละ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี ไม่มีผู้ใดได้รับบาดเจ็บ
คืนส่งท้ายปีเก่า วันที่ 31 ธ.ค.65 ต่อเนื่องเช้าของปีใหม่ วันที่ 1 ม.ค.66 มีเหตุก่อกวน 6 จุดในพื้นที่ จ.ปัตตานี ประกอบด้วย
1.คนร้ายลอบวางเพลิงเผายางรถยนต์ และพ่นสีเปรย์ ข้อความ PATANI MERDEKA บนถนนสาย 418 พื้นที่บ้านทุ่งโพธิ์ หมู่ 5 ต.ลิปะสะโง อ.หนองจิก
2.คนร้ายเผายางรถยนต์ บนถนนสาย 4061 ท้องที่บ้านท่าข้าม หมู่ 1 ต.ท่าข้าม อ.ปะนาเระ
3.คนร้ายลอบวางเพลิงเผาด่านตรวจ ในพื้นที่บ้านลางา หมู่ 2 ต.ลางา อ.มายอ ทำให้ด่านตรวจได้รับความเสียหาย
4.คนร้ายลอบวางเพลิงเผายางรถยนต์ บริเวณถนนสาย 42 (นราธิวาส-ปัตตานี) ในพื้นที่ บ้านปาลัส หมู่ 5 ต.ลางา อ.มายอ
5.คนร้ายลอบวางเพลิงเผายางรถยนต์ บนถนนสาย 4157 ในพื้นที่บ้านราวอ หมู่ 1 ต.ดอน อ.ปะนาเระ
6.คนร้ายลอบวางเพลิงเผายางรถยนต์ในพื้นที่บ้านนอก หมู่ 3 ต.บ้านนอก อ.ปะนาเระ
เวลา 09.00 น.วันที่ 2 ม.ค.66 พบวัตถุต้องสงสัยคล้ายระเบิดข้างทาง บริเวณถนนที่คนร้ายพ่นสีเขียนข้อความ PATANI MERDEKA บริเวณถนนระหว่างบ้านควนหรัน หมู่ 10 - บ้านนาจวก หมู่ 6 ต.ท่าม่วง อ.เทพา จ.สงขลา
เวลา 15.40 .วันที่ 3 ม.ค.66 พบวัตถุต้องสงสัยบริเวณพื้นที่รอยต่อระหว่างบ้านลำไพล หมู่ 1 - บ้านควนหลุด หมู่ 6 ต.ลำไพล อ.เทพา จ.สงขลา เป็นถังดับเพลิงสีส้มผูกติดกับเสาไฟฟ้าแรงสูง 3 ลูก และตั้งอยู่ใกล้เคียงกันอีก 1 ลูก รวมเป็น 4 ลูก
เวลา 17.00 น.วันที่ 4 ม.ค.66 พบวัตถุต้องสงสัยเป็นระเบิดแสวงเครื่องบรรจุในถังดับเพลิง ผูกติดกับเสาไฟฟ้าแรงสูง 2 จุด ในพื้นที่บ้านกาแลสะนอ หมู่ 3 ต.คลองใหม่ อ.ยะรัง จ.ปัตตานี
1.เสาไฟฟ้าต้นที่ 1 หมายเลข 28/2 พบร่องรอยการระเบิดขาของเสาไฟฟ้า จำนวน 2 ขา และพบระเบิดแสวงเครื่องอีก 1 ลูก ถูกมัดอยู่ที่ขาเสาไฟฟ้าที่ยังไม่ระเบิด
2.เสาไฟฟ้าต้นที่ 2 หมายเลข 28/3 พบระเบิดแสวงเครื่องจำนวน 4 ลูก พร้อมแผงวงจรผูกติดกับเสาไฟฟ้าทั้ง 4 ขา ผูกขาละ 1 ลูก แต่ระเบิดยังไม่ทำงาน
เวลา 08.05 น.วันที่ 11 ม.ค.66 เกิดเหตุคนร้ายลอบวางระเบิดและยิงซ้ำ เจ้าหน้าที่ อส.ชุดคุ้มครองตำบลศรีสาคร เหตุเกิดบนถนนสายบ้านไอร์แยง หมู่ 3 ต.ศรีสาคร อ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส ทำให้เจ้าหน้าที่เสียชีวิต 1 นาย คือ อส.ฮัมดี มะกาแซะ อายุ 32 ปี และบาดเจ็บ 2 นาย คือ จ.ส.อ.มะนายี สาเมาะ อายุ 38 ปี และ อส.สูดิง ดอเลาะ อายุ 49 ปี
เวลา 15.10 น. วันที่ 11 ม.ค.66 เกิดเหตุคนร้ายยิงชาวบ้านหาของป่า ในพื้นที่บ้านปาเร๊ะลูโล๊ะ หมู่ 9 ต.มะรือโบออก อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส ได้รับบาดเจ็บ 1 ราย คือ นายสมบูรณ์ ชินนะบดี
เวลา 09.00 น. วันที่ 20 ม.ค.66 เจ้าหน้าฝ่ายความมั่นคงเข้าบังคับใช้กฎหมายกับกองกำลังติดอาวุธ จนเกิดการยิงปะทะกัน เหตุเกิดที่บนเทือกเขาเมาะแต หลังหมู่บ้านดาฮง หมู่ 4 ต.เชิงคีรี อ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส ส่งผลให้กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงเสียชีวิต 3 ราย
เวลา 21.00 น.วันที่ 20 ม.ค.66 เกิดเหตุคนร้ายขว้างระเบิดแสวงเครื่องแบบไปป์บอมบ์บริเวณหลังเมรุเผาศพ วัดราษฎร์สโมสร หมู่ 2 ต.รือเสาะ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส ไม่มีผู้ใดได้รับบาดเจ็บ
เวลา 01.30 น.วันที่ 22 ม.ค.66 เกิดเหตุระเบิดบริเวณประตูระบายน้ำภายในสวนศรีเมือง ต.สะเตง อ.เมือง จ.ยะลา มีผู้ได้รับบาดเจ็บสาหัส 1 ราย ซึ่งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบทราบว่า ผู้บาดเจ็บรายดังกล่าว เป็นคนร้ายที่กำลังจะก่อเหตุระเบิดเพื่อสร้างสถานการณ์ แต่เกิดพลาดระเบิดขึ้นจนตัวเองได้รับบาดเจ็บ
เวลา 20.15 น.วันที่ 24 ม.ค.66 เกิดเหตุคนร้ายขับรถจักรยานยนต์ขว้างระเบิดแสวงเครื่องแบบไปป์บอมบ์ใส่จุดตรวจบ้านโต๊ะ ซึ่งเป็นที่ตั้งของฐานปฏิบัติการ กองร้อยทหารพรานที่ 4216 แรงระเบิดทำให้เจ้าหน้าที่อาสาสมัครทหารพรานบาดเจ็บ 1 นาย
ระยะเวลาไม่ถึง 1 เดือน เกิดเหตุรุนแรง 12 เหตุการณ์ (นับเป็นเหตุการณ์ ไม่ได้นับจำนวนจุดเกิดเหตุ ซึ่งมากกว่านั้น) เฉลี่ยราวๆ 2 วันครั้ง
เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ให้ข้อมูลว่า หลายๆ เหตุการณ์ ผู้ก่อเหตุเป็น “กลุ่มหน้าขาว” ซึ่งหมายถึงผู้ก่อเหตุรุนแรงรุ่นใหม่ที่ยังไม่มีประวัติทางคดี และไม่มีหมายจับ
สะท้อนว่ามีความเคลื่อนไหวของฝ่ายกองกำลัง ฝึกคนฝึกอาวุธออกมาก่อเหตุตลอดเวลา และน่าจะมากขึ้นในระยะนี้
พล.ท.ศานติ ศกุนตนาค แม่ทัพภาคที่ 4 ก็ยอมรับกับสถานการณ์และข้อสันนิษฐานที่ว่านี้ด้วยเช่นกัน
“เรายังไม่ได้ระบุชัดเจนว่ากลุ่มที่ก่อเหตุเป็นกลุ่มไหน สิ่งสำคัญคือความปลอดภัยของประชาชน ได้แจ้งให้ทุกหน่วยให้ทราบแล้วว่าต้องดูแลให้ดี โดยเฉพาะพื้นที่เขตเมือง ส่วนมาตรการที่สกัดกั้นวัตถุระเบิดที่มาจากประเทศเพื่อนบ้าน เรามีการสกัดกั้นตลอดเวลา พื้นที่ตากใบ และสุไหงโก-ลก (อำเภอชายแดนของ จ.นราธิวาส) โดยเฉพาะเส้นทางธรรมชาติ พยายามไม่ให้นำสิ่งของผิดกฎหมายเข้ามา แต่พื้นที่เหล่านี้ส่วนใหญ่คนที่ข้ามไปข้ามมาจะไม่ข้ามช่องทางที่ถูกต้อง แต่ใช้ช่องทางธรรมชาติ จึงต้องพยายายามทำให้ประชาชนไปใช้ช่องทางช่องปกติ”
ส่วนข้อสังเกตของบางฝ่ายที่มองว่าสถานการณ์คุกรุ่น สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในมาเลเซียนั้น แม่ทัพภาคที่ 4 ไม่ยืนยัน
“มันเป็นแค่ข่าว ตอนนี้เราก็พยายามเก็บข้อมูล มีข่าวสารอะไรเราพยายามจะพูดคุยกับมาเลเซียตลอดเวลา ทั้งผู้นำและแม่ทัพภาคสนามของเขา ก็พูดคุยกันตลอด เรื่องข้อสงสัยเกี่ยวกับการสนับสนุนหรือไม่ เราไม่มีหลักฐาน ตรงนี้ถ้าพูดไปก็เป็นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แต่ถ้ามีหลักฐานชัดเจน เราก็ต้องชี้แจงให้เขาทราบ เราเฝ้าระวังหมดทุกพื้นที่ เรื่องการเข้าออกของประชาชน และการสนับสนุนต่างๆ ซึ่งตรงนี้ก็ยังไม่มีความชัดเจน ยังพูดอะไรไม่ได้”
พล.ท.ศานติ ย้ำว่า ยังคงให้ความสำคัญกับแนวทางการพูดคุยเพื่อสันติสุข แม้จะมีการเปลี่ยนรัฐบาลมาเลเซีย และเปลี่ยนตัวผู้อำนวยความสะดวกกระบวนการพูดคุยฯ
“ของเราพร้อมอยู่แล้ว การพูดคุยเท่านั้นที่จะทำให้พื้นที่ตรงนี้เกิดความสงบสุข ทุกกลุ่มที่เกี่ยวข้องต้องเข้ามาร่วมประชุมหารือ เราไม่สามารถนำประชาชนเป็นแสนมาคุยได้ แต่ที่นั่งอยู่คือตัวแทนประชาชน กระจายให้ได้ทุกกลุ่ม เราอยากได้ข้อมูลจากทุกท่านที่เป็นข้อมูลที่จะทำให้ภาพรวมสถานการณ์ดีขึ้น ต้องการรับฟังทุกท่าน”
แต่ความเห็นของผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบ ในฐานะลูกสาวเหยื่อความรุนแรงอย่าง คอลีเยาะ หะหลี มองว่าโต๊ะพูดคุยสันติสุขยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร มองในมุมประชาชนแล้วยังรู้สึกว่าไม่คุ้มค่ากับงบประมาณที่เสียไป โดยเฉพาะฝ่ายผู้เห็นต่างจากรัฐที่ร่วมโต๊ะพูดคุยฯ ไม่ชัดเจนว่ามีศักยภาพจริงหรือไม่ หรือทั้งหมดเป็นเพียงละครหลอกประชาชน
“คณะที่ไปคุย ไปคุยกับใคร ทำไมกลับมาถึงมีปัญหาตลอด สงสัยตัวคนที่ไปคุยมีศักยภาพความสามารถที่จะทำให้การพูดคุยมีการพัฒนาดีกว่าเดิมไม่ หรือไปคุยกับตัวประกอบ หรือจับใครขึ้นบนโต๊ะ เล่นละครหลอกประชาชน ละลายทรัพย์แต่ละครั้งที่มีการพูดคุยฯ ทำให้ประชาชนไม่มีความเชื่อมั่นกับคณะพูดคุยฯ หรือเรากำลังให้ราคากับคนกลุ่มนี้มากไปหรือเปล่า เพราะคุยเมื่อไหร่ก็ไม่สามารถควบคุมคนก่อเหตุได้ สุดท้ายคุยทีไร จบกันที่นองเลือด ปะทะ ยิงรายวัน คนเดือดร้อน สตรีเป็นหม้าย เด็กกำพร้ามีจำนวนเพิ่มขึ้น”
“อยากฝากถึงหัวหน้าคณะพูดคุยฯ เราได้พูดคุยหลายโต๊ะแล้ว เสียงบประมาณไม่รู้เท่าไหร่แล้ว ควรเปลี่ยนโครงสร้างและระบบการพูดคุยใหม่เสียที...”
เป็นข้อมูลอีกมุมหนึ่งที่สะท้อนความรู้สึกของคนที่เฝ้ารอความสงบ!