“ไฟใต้” รอบปัจจุบันที่ใช้เหตุการณ์ปล้นปืนครั้งใหญ่จากค่ายปิเหล็ง เมื่อวันที่ 4 ม.ค.47 เป็นหมุดหมายนับหนึ่งนั้น ดำเนินมานานถึง 19 ปีเต็มแล้ว
“ไฟใต้” รอบนี้ รัฐไทยยังไม่สามารถดับได้สำเร็จ หนำซ้ำยังมีพลวัตที่น่าศึกษา
แม้รัฐไทยจะกุมความได้เปรียบของสถานการณ์เอาไว้ได้ในระดับที่น่าพึงพอใจ เพราะสถิติเหตุรุนแรงลดต่ำลงในระดับที่กิจกรรมต่างๆ ในพื้นที่สามารถทำได้อย่างเกือบปกติ 100% แต่ที่น่าแปลกใจคือความพยายามในการก่อเหตุรุนแรงไม่ได้ลดลง
พูดง่ายๆ คือ ความตั้งใจยังมีอย่างต่อเนื่อง แต่ปัจจัยเกื้อหนุนอาจจะถูกลิดรอนจนทำตามที่ตั้งใจไม่ได้ทุกครั้ง
ขณะเดียวกันรูปแบบการต่อสู้ก็ปรับเปลี่ยนไปในลักษณะมีพัฒนาการ ไม่ได้ยุติเงียบหายไปนานหลายๆ ปีแล้วกลับมาปะทุขึ้นใหม่เหมือนไฟใต้รอบก่อนๆ
รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร นักวิชาการด้านความมั่นคงชื่อดังซึ่งเกาะติดสถานการณ์ไฟใต้มาเนิ่นนาน และทำวิจัยหลายฉบับเกี่ยวกับไฟใต้ในระยะ 5 ปีหลัง มองเห็นความเป็นมาและเป็นไป พร้อมกระตุกเตือนให้ทุกฝ่ายหันมารับมือกับ “ความปกติใหม่” หรือ new normal ของไฟใต้
ปัจจุบัน อาจารย์เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย โครงการ "แนวความคิดในการต่อต้านความรุนแรงแบบสุดโต่งกับการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย : ที่มา ปัญหา และข้อเสนอแนะ" โดยทุนอุดหนุนการวิจัยและนวัตกรรมของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ
“20 ปีที่ผ่านมาภาคใต้ได้เข้าสู่สถานการณ์ใหม่ จริงๆ ก็คือ new normal ตั้งแต่ 20 ปีที่แล้ว เพียงแต่ตอนนั้นเราไม่ได้ใช้ศัพท์คำนี้ ภาคใต้มีสถานการณ์ใหม่ สภาวะแวดล้อมใหม่ชัดเจนตั้งแต่ 20 ปีที่ผ่านมา ตอนนี้ข้อถกเถียงตรงนั้นเป็นอันยุติเกือบหมดแล้ว เพราะว่าก่อนหน้านั้นเกิดข้อถกเถียงเยอะมาก นำไปสู่ความคิดเห็นที่แตกต่างกันในเรื่องการบริหารจัดการปัญหา ว่าจะต้องมี ศอ.บต. (ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้) หรือไม่อย่างไร ควรจะมีกองกำลังของฝ่ายความมั่นคงตรงนั้นหรือไม่อย่างไร ควรจะมีการเปิดพื้นที่ทางการเมืองอย่างไร บทบาทประชาสังคมก็น้อย”
อาจารย์ปณิธาน เล่าย้อนอดีตว่า ลงพื้นที่มานานตั้งแต่ไฟใต้รอบนี้เริ่มปะทุ และมองเห็นความเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน เป็นทหารยศพันโท
“พวกผมพูดเรื่องพวกนี้มานานเกือบ 20 ปีแล้ว ผมเดินทางลงพื้นที่ต่อเนื่อง ไปบรรยายให้กับหน่วยงานความมั่นคง ตอนนั้นจำได้ดีว่า ท่านพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็เป็นพันตรี พันโทประยุทธ์ ตอนนั้น ท่านอดุลย์ แสงสิงแก้ว เป็นผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 ที่ยะลา (ต่อมาเป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์) วันที่ผมไปบรรยาย ระเบิดลงทั่วยะลา ก็ต้องหยุดบรรยายชั่วคราวเพื่อให้เขาไปแก้ปัญหา นั่งรอจนสถานการณ์คลี่คลาย พอช่วงบ่ายๆ ก็มาบรรยายต่อในเรื่องสถานการณ์ภาคใต้เปลี่ยนไป”
อาจารย์ปณิธาน เล่าย้อนอดีตว่า สมัยนั้นยังถกเถียงกันหลายเรื่อง โดยเฉพาะขบวนการก่อความไม่สงบ หรือขบวนการแบ่งแยกดินแดนอย่าง บีอาร์เอ็น มีจริงหรือไม่
“ตอนนั้นเริ่มมีความคิดเห็นต่างกันมาก ยังไม่ต้องพูดถึงว่ามี BRN หรือไม่ อย่างไร สถานการณ์ภาคใต้ตอนนั้นมีความเห็นต่างกันมาก กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม กอ.รมน. (กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร) และอีกหลายฝ่าย กอ.รมน.ก็ได้มีการยุบไปส่วนหนึ่ง เพิ่งกลับมาสมัยรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ (พ.ศ.2549-2550) นำเอา กอ.รมน. ศอ.บต. กลับขึ้นมาใหม่ นำ พตท.43 (กองบัญชาการผสมพลเรือน ตำรวจ ทหาร ที่ 43) ยกระดับใหม่ เรื่องพวกนี้ชาวบ้านในพื้นที่คุ้นเคยกันก่อนที่จะมีเหตุการณ์ปล้นปืน เป็นจุดชี้วัดสถานการณ์อย่างชัดเจน”
เทียบกับปัจจุบัน อาจารย์ปณิธาน และคณะผู้ทรงคุณวุฒิได้ร่วมกันจัดทำงานวิจัยที่ชื่อ “ขบวนการจัดตั้งกับความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ : แรงจูงใจการขับเคลื่อนและแนวทางแก้ไข” ซึ่งเป็นผลงานเชิงประจักษ์ที่ไม่ต้องมาถกเถียงกันอีก
“ขณะนี้มีหลักฐานชัดเจนว่า สถานการณ์ในพื้นที่เปลี่ยนไป สภาวะแวดล้อมเปลี่ยนไปมาก พื้นที่เปิดสู่กิจกรรมนานาชาติผ่านทางระบบออนไลน์ ผ่านทางระบบเชื่อมโยงการสื่อสารสมัยใหม่ ทั้งกระบวนการโลกาภิวัตน์ คนรุ่นใหม่ที่มีการศึกษาในพื้นที่ทั้งในและต่างประเทศ พื้นที่ทางการเมืองเปิดกว้างขึ้น การมาลงรับเลือกตั้ง การมาลงคะแนนเสียงคึกคักมากมายในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา อันนี้หมายความว่าคนที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มขบวนการก็เข้ามาร่วมด้วย”
“ตรงนี้ก็เป็นความปกติใหม่ คนรุ่นใหม่ในพื้นที่ต้องการกำหนดอนาคตตนเองมากขึ้น ตอนหลังใช้ศัพท์ ‘กำหนดใจตนเอง’ กลายเป็นความหมาย นัยทางการเมือง ก็กลายเป็นเรื่องการเมือง ที่จริงมันเป็นเรื่องพัฒนาการความเจริญเติบโตในพื้นที่ ถ้าเรามีการรองรับได้ดี มีพื้นที่ให้ มันก็ไม่เกิดปัญหา แล้วก็ไม่ปะทุขึ้นมาแบบนี้ ถ้าเราจัดกองกำลังให้เหมาะสมขึ้น ยืดหยุ่นอ่อนตัวมากขึ้น ทำให้เหมาะสมกับพลวัตใหม่”
“เรื่องพวกนี้ได้นำเสนอทุกรัฐบาล ไม่ว่ารัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ ก็ได้นำเสนอว่า ควรจะปรับเปลี่ยน กอ.รมน.ให้ยืดหยุ่นและทันสมัยขึ้น ขณะนี้ก็ทำกันมากขึ้น ได้นำเสนอว่าควรจะลดความเชื่อมโยงลงจากตะวันออกกลาง ในส่วนที่เป็นพิษเป็นภัย ในส่วนที่มีความรุนแรง...รัฐไทยจำเป็นต้องให้พื้นที่ ขณะเดียวกันขบวนการหลายขบวนการก็ควรจะมาร่วมพูดคุยกันให้เป็นระบบ พยายามแยกตัวออกมาจากจุดที่นิยมความรุนแรง”
“ทีนี้เราก็ต้องยอมรับว่ามีกลุ่มรุนแรง ในรายงานวิจัยก็ชี้ชัดว่า มีกลุ่มรุนแรงฝังตัวอยู่ในกระบวนการสันติสุข เป็นองค์กรลับ ใช้องค์กรบ้านเราให้เป็นประโยชน์ในการเคลื่อนไหว แต่ในส่วนที่เปิดแล้ว ในส่วนที่มาพูดคุยกับเราก็เป็นความหวัง การสำรวจของทุกสถาบันก็ชี้ชัดว่า กระบวนการพูดคุยสันติสุข จะต้องเดินหน้าต่อ เราก็อยากให้ทุกขบวนการมาร่วมในกระบวนการนี้ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องเดียวที่จะทำให้เกิดสันติสุข เพราะการจัดระเบียบการบริหารราชการแผ่นดินใหม่ การจัดพื้นที่ให้ภาคประชาสังคมใหม่ แล้วมาทำงานร่วมกัน รวมไปถึงการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นในรูปแบบที่เหมาะกับท้องถิ่นตรงนี้ ด้วยเงื่อนไขพิเศษที่ต้องยอมรับกันเรื่องภาษา ศาสนา วัฒนธรรม ก็มีส่วนช่วยให้เกิดสันติสุขได้เช่นกัน”
“แล้วองค์ประกอบความรุนแรงเขาก็ใช้ตรงนี้ ใช้ช่องว่างตรงนี้มาเป็นประโยชน์ในการสร้างความกลัว และนำไปกดดันคน ให้เขาสู้ผ่านขบวนการความรุนแรง แต่โชคดีคนในพื้นที่ไม่นิยมความรุนแรง แต่หวาดกลัวขบวนการเหล่านี้ คนในพื้นที่ส่วนใหญ่ยังต้องการความสงบสุข ยังเชื่อถือกระบวนการเลือกตั้งของรัฐไทย โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ที่มีธรรมาภิบาล เขาก็ยังได้รับความเชื่อถืออยู่”
ช่องว่างที่ อาจารย์ปณิธาน พูดถึง คือจุดที่ต้องช่วยกันอุด เพื่อนำไปสู่สันติสุข
“ช่องว่างที่ถูกนำไปใช้ประโยชน์ ทำให้เกิดความรุนแรงเป็นระยะๆ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้ว เราต้องคุยผ่านคนที่พื้นที่ไว้ใจ นั่งถอดรหัสกับสมาชิกขบวนการ ทั้งที่กำลังจะเข้าไป ที่ออกมาแล้ว และที่กำลังอยู่ในขบวนการ ว่าสาเหตุจริงๆ คืออะไรกันแน่ คนที่ออกเพราะอะไร คนที่จะเข้า เขาเข้าเพราะอะไร และคนที่ยังอยู่เพราะอะไร เราค้นพบหลายอย่างที่เป็นประโยชน์ อยู่ในงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ มันยังมีช่องว่างอีกเยอะที่จะต้องปิดไม่ให้เกิดความรุนแรงขึ้น อัตราการตาย วันหนึ่ง 3-4 คน เหลือไม่เท่าไหร่ เราคุยกับทุกคน แม่ทัพทุกคนเราก็เชิญมาหมด ถอดรหัสทางฝ่ายความมั่นคง แล้วก็จะเห็นช่องว่าง ในอนาคตก็ต้องปิดช่องว่างตรงนี้ ไม่อย่างนั้นขบวนการก็จะทำลายสันติสุขที่เกิดขึ้นแล้ว และพื้นที่ก็จะเดินไปข้างหน้าไม่ได้”
“แต่ช่องว่างที่เกิดขึ้นนี้ก็ต้องมีการถกเถียงในเชิงวิชาการที่เป็นระบบขึ้น คนในพื้นที่เขาสู่ระบบ new normal แล้ว ต้องบริหารจัดการใหม่ เขามีความเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายกันหมดแล้ว ฝ่ายข้าราชการประจำจะต้องรองรับ อันนี้เป็นส่วนหนึ่ง ที่มีผู้ว่าราชการผู้หญิงมุสลิมคนแรก กว่าจะผ่านมาได้ ผู้ว่าฯคนนี้ก็สะบักสะบอมอยู่พอสมควร แต่ก็ยังไม่พอ ต้องทำอีกหลายอย่าง”
“การยกระดับ ศอ.บต.ให้เหมาะสมกับพื้นที่มากขึ้น การถอนกำลังที่ท่านรองนายกฝ่ายความมั่นคงมีเป้าหมายจะถอนกำลัง การพัฒนากองกำลังให้เหมาะสมกับพื้นที่ กองพลทหารราบที่ 15 (พล.ร.15) ที่เหมาะสมขึ้น เตรียมตัวเข้าสู่โลกใหม่ new normal”
นี่คือเสียงเตือนจากนักวิชาการที่คร่ำหวอดกับปัญหาภาคใต้มานาน ไฟใต้แบบ new normal ซึ่งหากรัฐปรับตามไม่ทัน อาจจะทำให้หลุดวงโคจร!