สถานการณ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ตลอดปี 65 ที่ผ่านมา ยังคงมีเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันก็มีความรุนแรงที่ฝ่ายรัฐมีส่วนเกี่ยวข้องด้วย นั่นก็คือเหตุการณ์ปิดล้อม ยิงปะทะ และวิสามัญฆาตกรรมผู้ต้องหาคดีความมั่นคง และผู้ต้องสงสัยก่อเหตุรุนแรง
มาตรการ “ปิดล้อม-ตรวจค้น” และนำไปสู่การยิงปะทะ ฝ่ายความมั่นคงยืนยันว่าเป็นการบังคับใช้กฎหมายต่อผู้ก่อเหตุรุนแรง ซึ่งไม่ยอมมอบตัวแต่โดยดี ทั้งๆ ที่เปิดโอกาสให้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ซ้ำยังมีการยิงตอบโต้ ทำให้ฝ่ายเจ้าหน้าที่ต้องป้องกันตัว
แม้ว่าฝ่ายเจ้าหน้าที่จะย้ำว่า ได้ใช้มาตรการตามหลักสากล คือใช้มาตรการจากเบาไปหาหนัก ทั้งยังมีการนำผู้นำศาสนาและผู้นำชุมชน รวมไปถึงญาติและคนในครอบครัวของผู้ก่อเหตุรุนแรงมาร่วมเจรจาเกลี้ยกล่อมให้มอบตัว แต่การบังคับใช้กฎหมายของฝ่ายความมั่นคงที่ว่านี้ เกือบทุกครั้งต้องจบลงด้วยการบาดเจ็บและเสียชีวิตของทั้งฝ่ายเจ้าหน้าที่ และฝ่ายผู้ก่อเหตุรุนแรงเอง
แน่นอนว่าฟากฝังครอบครัวผู้สูญเสียย่อมไม่พอใจ ขณะที่นักสิทธิมนุษยชนก็มองว่า มาตรการลักษณะนี้ ฝ่ายรัฐยังใช้ความอดทนอดกลั้นน้อยเกินไป และยังไม่ได้แสดงให้เห็นถึงการยึดมั่นสันติวิธีมากพอ แต่ฝ่ายความมั่นคงก็โต้แย้งว่า จำเป็นต้องรักษาชีวิตกำลังพล ซึ่งมีคุณค่าและความสำคัญเท่ากับทุกๆ ชีวิตเช่นกัน
เรื่องนี้กลายเป็นความเห็นที่สวนทางกันอยู่ แต่ฝ่ายสันติวิธีและนักสิทธิมนุษยชนก็เชื่อว่า หากรัฐยังปล่อยให้เกิดวงจรนี้ต่อไป จะไม่สามารถหยุดยั้งความรุนแรงได้ เพราะจะกลายเป็นแรงกระตุ้นให้มีนักรบหน้าใหม่เข้าสู่วงจรความรุนแรงไม่มีวันจบ เพื่อแก้แค้นตอบโต้ และสร้างความเกลียดชัง
นี่คือโจทย์ใหญ่ไฟใต้อีกโจทย์หนึ่งของปี 2566 ซึ่งวันที่ 4 ม.ค.ที่จะถึงนี้ เป็นวาระครบรอบ 19 ปีไฟใต้ 19 ปีเหตุการณ์ปล้นปืนครั้งใหญ่ที่ค่ายปิเหล็ง อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส ซึ่งเป็นเสมือน “วันเสียงปืนแตก” หรือจุดเริ่มต้นของไฟใต้รอบปัจจุบันที่ยังไม่ดับมอดลงเสียที
@@ เปิดสถิติวิสามัญฯปี 65 - ปะทะ 11 ครั้ง ดับ 18 ศพ
“ทีมข่าวอิศรา” ได้รวบรวมเหตุการณ์วิสามัญฆาตกรรมผู้ก่อเหตุรุนแรงในรอบปี 2565 พบว่า เกิดเหตุวิสามัญฆาตกรรมขึ้นทั้งหมด 11 เหตุการณ์ แยกตามพื้นที่เป็น จ.ปัตตานี 3 เหตุการณ์ จ.ยะลา 2 เหตุการณ์ จ.นราธิวาส 4 เหตุการณ์ และ จ.สงขลา 2 เหตุการณ์ ทำให้มีผู้ก่อเหตุรุนแรงเสียชีวิตรวมทั้งหมด 18 ราย ตามรายละเอียดดังต่อไปนี้
วันที่ 20 ม.ค.65 เจ้าหน้าที่ปิดล้อมตรวจค้นยิงปะทะกลุ่มก่อเหตุรุนแรง ที่บ้านเลขที่ 41/1 บ้านเขาดิน หมู่ 2 ต.ละหาร อ.สายบุรี จ.ปัตตานี มีผู้ก่อเหตุรุนแรงเสียชีวิต 2 ราย คือ 1.นายรอซาลี เจะเลาะ มีหมายจับ ป.วิอาญา 11 หมาย 2.นายมารวาน มีทอ มีหมายจับ ป.วิอาญา 3 หมาย ส่วนทางฝ่ายเจ้าหน้าที่ถูกยิงได้รับบาดเจ็บ 1 นาย คือ ร.อ.สุริยะ บินญาวัง โดยเหตุการณ์นี้มีการเจรจาให้ผู้ก่อเหตุรุนแรงมอบตัวใ ช้เวลานานกว่า 4 ชั่วโมง แต่ไม่เป็นผล
วันที่ 29 ม.ค.65 เจ้าหน้าที่ปิดล้อมยิงปะทะกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่บ้านบาโงระนะ หมู่ 5 ต.มะรือโบตก อ.ระแงะ จ.นราธิวาส ทำให้ผู้ก่อเหตุรุนแรงเสียชีวิต 2 ราย คือ นายมะตอฮา ยูนุ และนายอับดุลฮากัม อาแว โดยทั้งคู่มีหมายจับ ป.วิอาญา คดีขว้างระเบิดใส่ฐาน ชคต. (ชุดคุ้มครองตำบล) ลุโบะบายะ อ.ยี่งอ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 22 เม.ย.64 ซึ่งทางฝ่ายความมั่นคงได้นำพ่อแม่ของผู้ก่อเหตุมาร่วมเจรจาให้มอบตัว ใช้เวลากว่า 21 ชั่วโมง แต่ก็ไม่เป็นผล
วันที่ 3 ก.พ.65 เจ้าหน้าที่ปิดล้อมตรวจค้นยิงปะทะผู้ก่อเหตุรุนแรง บริเวณมัสยิดโคกเค็ด หมู่ 6 ต.บ้านนา อ.จะนะ จ.สงขลา ผู้ก่อเหตุรุนแรงเสียชีวิต 3 ราย คือ 1.นายสุรินทร์ กาเส็ง มีหมายจับ ป.วิอาญา 6 หมาย 2.นายศรัทธา อาแว มีหมายจับ ป.วิอาญา 9 หมาย 3.นายอดินันท์ ดอเลาะ มีหมายจับ ป.วิอาญา 2 หมายและมีผู้ก่อเหตุรุนแรง 1 รายยอมมอบตัว คือ นายจิรศักดิ์ เพ็งเลาะ มีหมายจับ ป.วิอาญา 8 หมาย โดยเจ้าหน้าที่ใช้เวลาในการปิดล้อมเจรจากว่า 11 ชั่วโมง
วันที่ 5 ก.ค.65 เจ้าหน้าที่ปิดล้อมตรวจค้นยิงปะทะผู้ก่อเหตุรุนแรง บริเวณบ้านหลังหนึ่งในพื้นที่หมู่ 2 ต.คลองมานิง อ.เมือง จ.ปัตตานี มีผู้ก่อเหตุเสียชีวิต 1 ราย คือ นายมะยากี มะลาซิง มีหมายจับ ป.วิอาญา 5 หมาย ซึ่งหนึ่งในนั้นเป็นหมายจับคดีลอบวางระเบิดกรุงเทพฯ เมื่อปี 62 ด้วย
วันที่ 6 ก.ค.65 เจ้าหน้าที่เปิดแผนปฏิบัติการไล่ล่า ยิงปะทะกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงที่เคลื่อนไหวกบดานบนเทือกเขาสาวอฮีเล อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส ส่งผลให้ผู้ก่อเหตุเสียชีวิต 2 ราย คือ 1.นายซุลกิฟลี มะสาแมง มีหมายจับคดีความมั่นคง 3 หมาย เป็นหมายจับคดีลอบวางระเบิดกรุงเทพฯปี 62 ด้วย 2.นายอาแดร์ เจ๊ะมุ มีหมายจับคดีความมั่นคง 2 หมาย
วันที่ 8 ก.ค.65 เจ้าหน้าที่ได้เข้าปิดล้อมตรวจค้นและยิงปะทะผู้ก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่บ้านไม้แก่น ต.เนินงาม อ.รามัน จ.ยะลา ส่งผลให้ผู้ก่อเหตุรุนแรงเสียชีวิต 2 ราย คือ นายอัลวา สามะเบาะ กับ นายฮำเซาะห์ วาเล๊าะ และยังมีผู้ก่อเหตุที่มอบตัวกับเจ้าหน้าที่อีก 8 ราย โดยสารภาพว่า เป็นสมาชิกกลุ่ม PULO G5 และรับจ้างจากขบวนการค้ายาเสพติดมาสร้างสถานการณ์ในพื้นที่
วันที่ 26 ก.ค.65 เจ้าหน้าที่เข้าปิดล้อมตรวจค้นและยิงปะทะผู้ก่อเหตุรุนแรงบริเวณบ้านเช่าหลังมัรกัสยะลา ต.สะเตงนอก อ.เมือง จ.ยะลา ส่งผลให้ผู้ก่อเหตุรุนแรงเสียชีวิต 2 ราย คือ 1.นายนัสรูลออฮ์ กาเสง มีหมายจับ ป.วิอาญา 1 หมาย 2.นายนิแม ซา มีหมายจับ ป.วิอาญา 1 หมาย
วันที่ 24 ก.ย.65 เจ้าหน้าที่ปิดล้อมยิงปะทะผู้ก่อเหตุรุนแรง บริเวณบ้านหลังหนึ่งในพื้นที่ หมู่ 2 ต.กะลุวอเหนือ อ.เมือง จ.นราธิวาส ส่งผลให้ผู้ก่อเหตุรุนแรงเสียชีวิต 1 ราย คือ นายอับดุลฮากัม เจ๊ะมะ อายุ 33 ปี เป็นชาว ต.กาลิซา อ.ระแงะ จ.นราธิวาส มีหมายจับ ป.วิอาญา จำนวน 3 หมายจับ
วันที่ 25 ต.ค.65 เจ้าหน้าที่ปิดล้อมยิงปะทะผู้ก่อเหตุรุนแรง ที่บ้านหลังหนึ่งในพื้นที่ หมู่ 7 บ้านควนตีหมุน ต.ปากบาง อ.เทพา จ.สงขลา ทำให้ผู้ก่อเหตุรุนแรงเสียชีวิต 1 ราย คือ นายอับดุลย์ สอเหร็ม มีหมายจับคดีความมั่นคง 14 หมายจับ ในเหตุการณ์นี้มีเจ้าหน้าที่ ตชด.ถูกยิงได้รับบาดเจ็บ 2 นาย คือ ส.ต.อ.นำโชค สุวรรณ และ จ.ส.ต.อัมรินทร์ หนูโงน
วันที่ 7 พ.ย.65 เจ้าหน้าที่ปิดล้อมยิงปะทะผู้ก่อเหตุรุนแรง ในพื้นที่หมู่ 7 บ้านดอนรักจะรัง ต.ดอนรัก อ.หนองจิก จ.ปัตตานี มีผู้ก่อเหตุรุนแรงเสียชีวิต 1 ราย คือ นายมะนาเซ ไซร์ดี มีหมายจับคดีความมั่นคง 6 หมายจับ (เป็นหนึ่งในผู้ก่อเหตุระเบิดปั๊มน้ำมันบางจาก ใกล้แยกดอนยาง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 17 ส.ค.65) โดยในการเข้าเจรจา ผู้ก่อเหตุได้ยิงต่อสู้ทำให้ นายเจ๊ะมูหามะยากี เจ๊ะเด็ง ผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่เสียชีวิต และเจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับบาดเจ็บ 2 นาย คือ จ.ส.ต.อนุพล มะลิสุวรรณ และ ส.ต.อ.เจษฎา ธนาวุฒิ
วันที่ 19 พ.ย.65 เจ้าหน้าที่ปิดล้อมยิงปะทะผู้ก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่เชิงเขาบ้านไอร์ราฆอ หมู่ 5 ต.ช้างเผือก อ.จะแนะ จ.นราธิวาส มีผู้ก่อเหตุรุนแรงเสียชีวิต 1 ราย คือ นายฮาซัน อาแว มีหมายจับคดีความมั่นคง 3 หมายจับ ( 2 หมายจับเป็นคดีระเบิดกรุงเทพฯ ปี 62) ทั้งยังมีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ยิงคนหาของป่าและระเบิดรถเจ้าหน้าที่ทหาร ฉก.นราธิวาส เมื่อวันที่ 13 พ.ย.65 ทำให้เจ้าหน้าที่และชาวบ้าน เสียชีวิตและบาดเจ็บอีกด้วย