“อุ๊งอิ๊งค์” แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย พร้อมด้วย “เสี่ยเต้น” ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ผอ.ครอบครัวเพื่อไทย เปิดแคมเปญลงใต้ครั้งแรก “แหลงจริง ทำได้ คนใต้หรอยแรง”
-เป็นการลงใต้ครั้งแรกของเพื่อไทยยุค “อุ๊งอิ๊งค์” เป็นหัวหน้าครอบครัว
-เหตุผลสำคัญเป็นการ “ตีจุดแข็งของคู่แข่ง” โดยเฉพาะ “บิ๊กตู่” และ “เสริมแกร่งจุดอ่อนของตนเอง”
-จริงๆ พรรคไทยรักไทยไม่ใช่เคยมี ส.ส.ใต้แค่ นายกฤษ สีฟ้า เมื่อปี 2548 ด้วยเหตุผลเรื่องผลงานด้านจิตอาสาช่วงสึนามิเท่านั้น แต่ไทยรักไทยเคยมี ส.ส.ที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้มาบ้าง ทั้งชนะเลือกตั้งซ่อม และดูด ส.ส.กลุ่มวาดะห์ จากพรรคความหวังใหม่ เข้าร่วมพรรคไทยรักไทย (จึงอาจมองว่าไม่ใช่ “เนื้อแท้”)
-แต่ ส.ส.ชายแดนใต้ก็มลายหายไปหมดในการเลือกตั้งเมื่อปี 2548 จากเอฟเฟกต์ของเหตุการณ์กรือเซะ ตากใบ ที่ทำให้คนมุสลิมมลายูปฏิเสธ “ทักษิณ” และพรรคไทยรักไทย เหลือเพียง ส.ส.ภาคใต้ตอนบนที่พังงา คือ นายกฤษ สีฟ้า และเป็น ส.ส.หนึ่งเดียวของไทยรักไทยในภาคใต้ เมื่อปี 2548
-ต่อมาในการเลือกตั้งปี 2550 นายซูการ์โน มะทา น้องชายของ วันมูหะมัดนอร์ มะทา ก็เคยปักธงได้ที่ยะลา ในสีเสื้อพรรคพลังประชาชน พรรคใหม่ของไทยรักไทยหลังถูกยุบ และซูการ์โน ก็เป็น ส.ส.ภาคใต้หนึ่งเดียวของพรรคในการเลือกตั้งปีนั้น
-จากนั้นพรรคทักษิณก็ไม่เคยได้ ส.ส.ใต้อีกเลย ทั้งในการเลือกตั้งปี 2554 และ 2562 ในชื่อพรรคเพื่อไทย
-แต่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ กลุ่มวาดะห์ได้ไปจับมือกับ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง อดีตเลขาธิการ ศอ.บต. ตั้งพรรคใหม่ชื่อ “พรรคประชาชาติ” และกวาด ส.ส.ไปได้ถึง 6 คน จาก 11 คนในการเลือกตั้งปี 2562 เป็นแชมป์ชายแดนใต้ เบียดประชาธิปัตย์คู่แข่งตลอดกาลตกขอบ (เหลือ ส.ส.แค่คนเดียว) โดยมีพรรคพลังประชารัฐตามมาห่างๆ 3 ที่นั่ง
-การเลือกตั้งปี 2566 แต่เดิมพรรคเพื่อไทยจะไม่ส่ง ส.ส.ที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อหลีกทางให้พรรคประชาชาติ ภายใต้การนำของ วันมูหะมัดนอร์ มะทา และ พ.ต.อ.ทวี ซึ่งเป็นขั้วการเมืองฝ่ายเดียวกัน แต่ภายหลังเนื่องจากความกังวลว่าจะไม่แลนด์สไลด์ ทำให้ต้องเก็บทุกเม็ด จัดหนักทุกคะแนน จึงเปลี่ยนใจส่งครบทุกเขต อย่างน้อยก็หวังคะแนนปาร์ตี้ลิสต์
-แต่เป้าหมายของเพื่อไทย โดยเฉพาะ ส.ส.เขต จะมุ่งไปที่ภาคใต้ตอนกลาง เนื่องจากภาคใต้ตอนล่าง โดยเฉพาะสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ใช้พรรคประชาชาติไปสู้แทน เพราะสุดท้ายทุกเก้าอี้ ส.ส.ก็ไหลมารวมกันเพื่อตั้งรัฐบาลอยู่ดี (อย่างในวันที่ 11 ธ.ค. งานลงพื้นที่ของ “อุ๊งอิ๊งค์” ที่นครศรีธรรมราช พ.ต.อ.ทวี ก็จะเดินทางไปปรากฏตัวด้วย)
-พื้นที่ภาคใต้เฉพาะที่เป็นจังหวัดใหญ่ และประชาธิปัตย์แชมป์เก่าถูกเจาะยางในการเลือกตั้งปี 2562 มีอยู่ 2 จังหวัด
หนึ่งคือ สงขลา โดนไป 5 ที่นั่งจาก 8 ที่นั่ง (พลังประชารัฐ 4 ภูมิใจไทย 1 ประชาธิปัตย์เหลือแค่ 3)
สองคือ นครศรีธรรมราช โดนไป 3 ที่นั่งจาก 8 ที่นั่ง แล้วยังแพ้เลือกตั้งซ่อมให้กับพลังประชารัฐที่เขต 3 เมื่อ 7 มี.ค.2564 อีกด้วย ทำให้เก้าอี้ ส.ส.นครศรีธรรมราช ถูกหารแบ่งกับพลังประชารัฐครึ่งๆ พรรคละ 4 ที่นั่ง ผิดกับสุราษฎร์ธานี จังหวัดใหญ่อีกจังหวัดหนึ่งที่ยังรักษาไว้ได้ทั้งหมด 6 ที่นั่ง (แต่เลือกตั้งครั้งหน้าก็ไม่แน่)
-นี่คือสาเหตุที่เพื่อไทยยุคหัวหน้าครอบครัวชื่อ “อุ๊งอิ๊งค์” เลือกปักธงที่นครศรีธรรมราช เพราะถือเป็นพื้นที่ผันแปรสูง ประชาธิปัตย์ก็อ่อนแรงลง พลังประชารัฐก็เช่นกัน แถมยังมีรวมไทยสร้างชาติ กับภูมิใจไทยเบียดแทรกเข้ามา เมื่อยักษ์ชนยักษ์ ฝั่งอนุรักษ์นิยมและพรรคร่วมรัฐบาลปัจจุบันปะทะกันเอง โอกาสจึงอาจเป็นของพรรคเพื่อไทย ซึ่ง “เสี่ยเต้น” ก็เป็นคน อ.สิชล โดยกำเนิดด้วย
-เลือกตั้งครั้งหน้า ปี 2566 นครศรีธรรมราชเพิ่มเป็น 9 เขต เมื่อแบ่งเขตใหม่ และมีเขตใหม่ ย่อมเป็นโอกาสช่วงชิงของทุกพรรค เนื่องจากไม่มีเจ้าของพื้นที่เดิมที่ชัดเจน
-นักสังเกตการณ์ประเมินว่า การเลือกตั้งในพื้นที่ภาคใต้จะมีการแข่งขันดุเดือดที่สุดในประเทศ เพราะมีพรรคการเมืองคาดหวังให้เป็นพื้นที่เป้าหมายหลายพรรค ทั้งยังเป็นพรรคที่มีฐานเสียงใกล้เคียงกัน มีจุดยืนทางการเมืองคล้ายๆ กัน
นั่นก็คือ ประชาธิปัตย์ในฐานะเจ้าของพื้นที่เดิมที่ประกาศทวงแชมป์คืน ตั้งเป้าไว้ที่ 35-40 เก้าอี้ จาก ส.ส.ทั้งหมดที่เพิ่มขึ้นจาก 50 เก้าอี้ในปี 2562 เป็น 58 เก้าอี้ในการเลือกตั้งครั้งหน้า
พลังประชารัฐ กับภูมิใจไทย ในฐานะผู้ท้าชิงหน้าเก่าเมื่อปี 2562 (เคยได้ 13 ที่นั่ง กับ 8 ที่นั่งตามลำดับ) แต่ครั้งนี้แข็งแกร่งขึ้นโดยเฉพาะภูมิใจไทย จากผลงานด้านโครงสร้างพื้นฐาน ตัดถนน สร้างสะพานหลายโครงการ ถึงขนาดประกาศจะแลนด์สไลด์ฝั่งอันดามัน
นอกจากนั้นยังมีพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่แกนนำส่วนใหญ่แตกตัวจากพรรคประชาธิปัตย์ และขยายฐานจากพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รวมพลัง) เดิม กระทั่งได้ “กลุ่มบ้านใหญ่” และ “นายก อบจ.” หลายจังหวัดไปร่วมงาน เช่น พัทลุง (กลุ่ม นายวิสุทธิ์ธรรมเพชร), สุราษฎร์ธานี (กลุ่มกำนันศักดิ์ พงษ์ศักดิ์ จ่าแก้ว)
ขณะที่พรรคประชาชาติเอง ก็ยังเกาะติดพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างต่อเนื่อง และยังพยายามขยายแนวเขตขึ้นมายังภาคใต้ตอนกลาง เช่น สงขลา, นครศรีธรรมราช โดยใช้ยุทธวิธี “ยิงจุดโทษ” เลือกส่งผู้สมัครเฉพาะเขตที่เน้นได้จริงๆ เท่านั้น
และล่าสุดก็คือพรรคเพื่อไทยที่แสดงท่าทีเอาจริงเอาจัง เปิดตัวว่าที่ผู้สมัครแล้วเกือบครบทุกจังหวัด
-น่าติดตามดูว่า คะแนนเสียงจากภาคใต้จะเป็นฐานอันแข็งแกร่งที่ส่งให้ “บิ๊กตู่” เป็นนายกรัฐมนตรีได้อีก 1 สมัยจริงหรือไม่ หรือประชาธิปัตย์จะฟื้นความนิยมกลับมาได้สำเร็จ
หรือสุดท้ายจะกลายเป็นพื้นที่ “เบี้ยหัวแตก” ที่ไม่มีพรรคใดครอง เพราะแข่งกันเลือดเดือดเหลือเกิน!
------------------
หมายเหตุ : บทความชิ้นนี้ตีพิมพ์ในคอลัมน์โหมโรง นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันจันทร์ที่ 12 ธ.ค.2565