“นิพนธ์” ขอว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ชายแดนใต้ของประชาธิปัตย์ หนุนประชาชนสร้างเศรษฐกิจท้องถิ่นให้สอดคล้องตลาดร้านต้มยำกุ้งมาเลย์ หวังสร้างราย 3 หมื่นล้านต่อปี พร้อมรับปากช่วยเหลืออำนวยความสะดวกด้านเอกสารการทำงาน พร้อมส่งเสริมชีวิตความเป็นอยู่ของเครือข่ายร้านต้มยำ
นายนิพนธ์ บุญญามณี รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมว่าที่ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ของพรรคในจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า จากการเดินทางไปเยี่ยมเครือข่ายร้านต้มยำกุ้งในประเทศมาเลเซีย ซึ่งมีจำนวนกว่า 5,000 ร้าน และสามารถสร้างยอดขายโดยรวมได้กว่าปีละกว่า 200,000 ล้านบาท ซึ่งจากการหารือร่วมกันพบว่า วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตอาหารไปจำหน่ายกว่า 50% เป็นวัตถุดิบที่นำเข้าจากเมืองไทย ซึ่งมีมูลค่ารวมกว่า 30,000 ล้านบาทต่อปี
“ผมจึงขอให้ผู้สมัครของพรรคทุกเขตในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้หารือกับประชาชนในแต่ละพื้นที่ว่า หากมีท่านใดสนใจที่จะปรับพื้นที่การผลิต ทั้งพืชไร่ พืชสวน และปศุสัตว์ พรรคจะให้การสนับสนุน โดยจะขอให้กรมวิชาการเกษตรช่วยให้ข้อเสนอแนะในการปรับพื้นที่ให้เหมาะสมแต่ละด้าน และจะดำเนินการให้กระทรวงพาณิชย์จับคู่ธุรกิจกับผู้ประกอบการในประเทศมาเลเชีย ตามแนวทาง ‘เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด’ ซึ่งเชื่อว่าเราจะสามารถสร้างผลประกอบการให้กับประชาชนในพื้นที่ได้ปีละ 30,000 ล้านบาท”
นายนิพนธ์ กล่าวต่อว่า ด้วยทฤษฎี Local economic การสร้างเศรษฐกิจท้องถิ่นให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด จะสามารถเปลี่ยนพื้นที่ภาคใต้ให้มีความสำคัญในด้านความมั่นคงทางอาหาร ทั้งผลผลิตเพื่อสนับสนุนร้านต้มยำกุ้ง และการสร้างอาหารด้านต่างๆ เพื่อผู้บริโภคทั่วไป และอาหารฮาลาลเพื่อจำหน่ายให้กับตลาดมุสลิมทั่วโลก ซึ่งมีมูลค่าหลายล้านล้านต่อปี ที่จะสามารถสร้างชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีให้กับพี่น้องประชาชนในภาคใต้ได้แน่นอน
@@ รับปัญหากลุ่มต้มยำกุ้ง “พาสปอร์ต - ใบอนุญาตทำงาน”
โอกาสนี้ นายนิพนธ์ ยังได้เปิดเผยถึงผลการหารือร่วมกันกับประธานชมรม Ukhuwah นายโจฮารี บิน อาหมัด (Johari Bin Ahmad) และกลุ่มเครือข่ายร้านอาหารต้มยำกุ้งในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย หลังจากเดินทางไปเยี่ยมเยียนและพบปะ ระหว่างวันที่ 2-5 ธ.ค.65 ว่า ปัจจุบันการมาทำงานในประเทศมาเลเซียของกลุ่มคนไทยนั้น มีปัญหาหลายอย่างที่ต้องการให้รัฐบาลไทยเข้ามาช่วยเหลือแก้ไขอย่างเร่งด่วน เนื่องจากส่งผลกระทบโดยตรงต่อการทำงานและการใช้ชีวิตของกลุ่มคนไทยที่ไปทำงาน
โดยทางกลุ่มฯได้ร้องขอให้ช่วยเหลือในเรื่องต่างๆ ดังนี้
- การแจ้งเกิด-แจ้งตายที่ปัจจุบันมีรายละเอียดและขั้นตอนการทํางานที่ยุ่งยาก และหลายขั้นตอน
- การอํานวยความสะดวกในการออกใบขับขี่รถยนต์และรถจักรยานยนต์ในประเทศมาเลเซีย
- การอำนวยความสะดวกในการออกหนังสือเดินทาง (Passport) ให้กับคนไทยที่เดินทางมาทํางาน ให้สามารถต่ออายุ/ทำใหม่ได้ที่สถานทูตฯ
- การกำหนดรายละเอียดการออกใบอนุญาตให้เข้ามาทํางานในประเทศมาเลเซีย (Work Permit) โดยกำหนดประเภทแรงงาน/ราคา
- การส่งเสริมกิจกรรมการแข่งขันกีฬาและกิจกรรมเชื่อมความสัมพันธ์ของคนไทยที่เดินทางมาทํางานในประเทศมาเลเซีย
- การจัดหาครูผู้สอนและสื่อการเรียนการสอนภาษาไทยให้กับเด็กที่ครอบครัวพามาพักอาศัย หรือที่แม่คนไทยคลอดในประเทศมาเลเซียด้วย ซึ่งปัจจุบันเด็กที่เดินทางมากับผู้ปกครองนั้น ไม่สามารถสื่อสารและใช้ภาษาไทยได้
นายนิพนธ์ กล่าวด้วยว่า การร้องขอความช่วยเหลือดังกล่าวนั้นเป็นสิ่งที่ต้องเร่งแก้ไข เพราะกลุ่มคนที่ร้องขอมาก็ถือเป็นคนไทยเช่นเดียวกัน จากรายละเอียดต่างๆ โดยส่วนตัวคิดว่า บางอย่างสามารถดำเนินการได้ทันที อย่างการจัดกิจกรรมกีฬาเพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ ก็ถือเป็นเรื่องที่ดีที่ทำให้คนไทยในต่างแดนได้รู้จักกันมากขึ้น สามารถช่วยเหลือซึ่งกันและกันได้ในเรื่องต่างๆ
ส่วนในเรื่องพาสปอร์ตและใบอนุญาตการทำงานต้องมีการประสานกับกระทรวงต่างประเทศและทางการมาเลเซียต่อไป ซึ่งจะรับไปดำเนินการต่อ รวมทั้งประเด็นอื่นๆ ตามที่กลุ่มฯได้ร้องขอมา ซึ่งต้องถือว่ากลุ่มคนเหล่านี้ได้ทำรายได้เข้าประเทศและหล่อเลี้ยงระบบเศรษฐกิจของจังหวัดชายแดนใต้ของเราส่วนหนึ่งด้วย