กลุ่ม Chachiluk เปิดตัวพร้อมจัดแข่งขัน “การ์ดเกมปาตานี” ฝ่ายความมั่นคงนอกเครื่องแบบเข้าสังเกตุการณ์พรึ่บ ขณะที่ผู้จัดงานบอกถูกเจ้าหน้าที่ตีความเชิงลบ มองบิดเบือน ปลุกระดม ด้านบทความนักวิชาการเผย “เจาะเอ็นร้อยหวาย” เรื่องโกหกบิดเบือนประวัติศาสตร์ คำสัมภาษณ์ลูกหลานเชลยปัตตานีเป็นเรื่องแต่งเติม สร้างความเกลียดชัง
วันเสาร์ที่ 3 ธ.ค.65 กลุ่ม Chachiluk (จะจีลุ) คณะผู้จัดทำเกมไพ่ การ์ดเกม “Patani Colonial Territory” นำโดย นายอารีฟีน โสะ อดีตประธานสหพันธ์นิสิตนักศึกษานักเรียนและเยาวชนปาตานี พร้อมด้วยผู้นำกลุ่ม 10 คน ได้จัดกิจกรรมเปิดตัวการ์ดเกมและจัดการแข่งขันประลองการ์ดเกมขึ้นที่ชั้น 3 ของร้านกาแฟ The Hooman ถนนวิภากุล ด้านหน้าวิทยาลัยเทคนิคยะลา อ.เมือง จ.ยะลา ตามที่ประกาศเอาไว้
กิจกรรมเปิดตัวและจัดการแข่งขันครั้งนี้ เกิดขึ้นท่ามกลางกระแสวิจารณ์เรื่อง “การ์ดเกม” ว่ามีการนำประวัติศาสตร์มาบิดเบือนสร้างความแตกแยก เกลียดชัง โดยเฉพาะเรื่องเชลยศึกที่เป็นคนมลายูปัตตานี ถูกเจาะเอ็นร้อยหวาย ใช้แรงงานขุดคลองแสนแสบ ช่วงกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ซึ่งภายหลังมีนักวิชาการและผู้รู้หลายคนออกมายืนยันว่า ไม่มีมูลความจริง ทำให้ฝ่ายความมั่นคงมองว่าเรื่องนี้เป็นประเด็นอ่อนไหว จึงใช้กฎหมายพิเศษเข้าป้องปราม ตรวจค้น กดดันร้านกาแฟที่รับการ์ดเกมไปเปิดเล่นที่ร้านก่อนหน้านี้ในหลายพื้นที่ เช่น อ.บันนังสตา จ.ยะลา อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส
แต่การเปิดตัวและจัดการแข่งขันการ์ดเกมยังคงเดินหน้าตามที่ประกาศไว้ มีกำหนดการลงทะเบียนตั้งแต่เวลา 10.00-14.00 น. โดยเมื่อเวลา 11.00 น.ซึ่งเป็นเวลาเริ่มการแข่งขัน พบว่า มีผู้มาทะเบียนเล่นเกม 13 คน สาเหตุน่ามาจากฝนตก จึงทำให้มีผู้มาร่วมกิจกรรมน้อย
อีกสาเหตุหนึ่งคาดว่าเยาวชนและประชาชนทั่วไปอาจจะไม่กล้าเข้ามาลงทะเบียนเล่นเกม เนื่องจากบริเวณด้านนอกร้านเต็มไปด้วยเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบที่มาเฝ้าสังเกตการณ์ ทั้งยังมีเจ้าหน้าที่ตำรวจบริเวณป้อมปากทางเข้าถนนวิภากุล (ทางที่จะมาจุดจัดกิจกรรม) มีการสแกนทั้งรถและบุคคลที่จะผ่านป้อมเข้าไปอย่างเข็มงวดเป็นพิเศษ
ขณะที่หนึ่งในเจ้าหน้าทหารที่เข้าสังเกตการณ์ในร้าน The Hooman กล่าวว่า มาในฐานะส่วนตัว มาดื่มกาแฟพูดคุยกัน ถามเรื่องทั่วๆ ไป
ส่วนเจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาลที่มาเฝ้าดูอยู่ห่างๆ พร้อมเก็บข้อมูลเพื่อรายงานต้นสังกัด กล่าวด้วยว่า การเล่นการ์ดเกมไม่ผิดอะไร เมื่อมีประเด็นในเรื่องการบิดเบือนประวัติศาสตร์ ทางเจ้าหน้าที่พร้อมรับรู้ในกิจกรรม ไม่ได้ปิดหรือห้ามอะไร
@@ ถูกเจ้าหน้าที่ตีความเชิงลบ มองบิดเบือน ปลุกระดม
ด้าน นายอารีฟีน โสะ แกนนำคณะผู้จัดงาน หนึ่งในกลุ่ม Chachiluk (จะจีลุ) กล่าวว่า มีบางการ์ดที่เจ้าหน้าที่ไปตีความไปในเชิงลบ ไปขยายความจนผิดวัตถุประสงค์ของกลุ่มพวกตน มองได้ชัดเลยว่าเป็นความจงใจ ไม่หวังดีอยู่แล้ว แต่ถ้าได้เข้ามาคุยกัน มาดูเนื้อหาจริงๆ ก็ไม่มีการบิดเบือนหรือปลุกระดมแบ่งแยกดินแดน สิ่งที่ได้จากการเล่นการ์ดเกมจะรู้ว่า การผนวกดินแดนก่อนหน้านี้เป็นอย่างไร นี่คือสิ่งที่กลุ่มของตนพยายามจะสื่อสาร
“ส่วนคนที่จะเล่นงานเรา เขามีเจตนาคิดไม่ดีมาตั้งแต่ต้น อย่างฝ่ายความมั่นคงก็อ่อนไหวเหลือเกินกับเกมเล็กๆ มีไพ่แค่ 12 ใบ จะสร้างความแตกร้าวในสังคมไทยได้ ทุกคนที่มาเล่นการ์ดเกม ตัดสินใจได้ว่าอะไรผิดอะไรนถูก ตราบใดที่เรามีสิทธิเสรีภาพ ไม่ละเมิดสิทธิคนอื่น ทุกคนก็กระทำได้” นายอารีฟีน ระบุ
เช่นเดียวกับ นายฟิตรี ดิงลูกา หนึ่งในผู้เล่นการ์ดเกม กล่าวว่า เกมชุดนี้เป็นชุดความรู้ประวัติศาสตร์ที่เราไม่เคยได้รับรู้ในชั้นเรียนเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เราก็ไม่สามารถรู้ได้ว่าสิ่งที่เกิดในอดีตจริงเท็จแค่ไหน แต่มันก็มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ก็มาถกเถียงกันได้ จะได้รับรู้ว่าเมื่อมีหลักฐานแล้ว ตกลงถูกหรือผิดอย่างไร
ด้าน นายรักชาติ สุวรรณ เครือข่ายไทยพุทธเพื่อสันติภาพ ซึ่งเข้าร่วมสังเกตการณ์กิจกรรม กล่าวว่า เราจะทำอย่างไรให้มีพื้นที่ถกเถียงในเชิงวิชาการ ดีกว่าจะมาห้ามมาไม่ให้กระทำ แล้วโจมตีกัน เรื่องแบบนี้เป็นปัญหาอย่างหนึ่ง คือจริงๆ เราเรียกร้องพื้นที่กลาง พื้นที่ถกเถียง พื้นที่ปลอดภัย พอการพูดคุยเดินไปได้ระยะหนึ่ง พื้นที่เหล่านี้ก็เกิดขึ้น มันก็กลายเป็นว่าพอจะจัดงานเหล่านี้ก็เกี่ยวข้องกับงานความมั่นคง มันก็เลยแคบลง ถ้าพื้นที่ตรงนี้หาย มันกลายเป็นพื้นที่ของความมั่นคง มันไม่เป็นผลดีต่อการพูดคุยแน่นอน
“ก็ต้องถกเถียงกันในเชิงวิชาการ แล้วประวัติศาตร์ในพื้นที่เราก็มีสองความเชื่ออยู่แล้ว บางกลุ่มบอกว่ามีจริง ขณะที่อีกกลุ่มที่เป็นนักวิชาการมาบอกว่ามันไม่ใช่ ไม่มี มันเป็นไปไม่ได้ มันต้องเอามาคุยกัน” นายรักชาติ กล่าว
@@ “เจาะเอ็นร้อยหวาย” เรื่องโกหกบิดเบือนประวัติศาสตร์
มีข้อมูลอีกด้านในเรื่องของประวัติศาสตร์พื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จากบทความ “สยามทารุณเชลยศึกปัตตานีด้วยการเจาะเอ็นร้อยหวาย เรื่องโกหกทางประวัติศาสตร์ ผ่านโฆษณาชวนเชื่อของนักบิดเบือน” ที่เขียนโดย “จีรวุฒิ บุญรัศมี” ถูกเผยแพร่ใน www.luehistory.com ได้อธิบายถึงข้อมูลประวัติศาสตร์สยาม-ปัตตานีที่ถูกบิดเบือน และปรากฎอยู่บนแผ่นการ์ดเกมใบหนึ่ง ว่า “1840 (ปี ค.ศ.) เชลยศึกปัตตานีถูกบังคับให้ขุดคลองแสนแสบที่บางกอก” และมีรูปภาพประกอบเป็นภาพวาดเท้าของเชลยศึกซึ่งถูกเจาะเอ็นร้อยหวายอยู่ด้วย
โดยผู้เขียนบทความระบุตอนหนึ่งว่า หากตีความตามภาพและข้อความที่ปรากฏ ผู้ที่สร้างเกมไพ่การ์ดชุดนี้คงต้องการจะสื่อไปยังผู้เล่น (โดยที่ผู้เล่นไม่ทันตระหนักคิด) หรือชี้นำให้ผู้เล่นเข้าใจว่า “เชลยมลายูที่ขุดคลองแสนแสบในสมัยรัชกาลที่ 3 ถูกสยามเจาะเอ็นร้อยหวาย ร้อยเป็นพวงรวมกันเพื่อไม่ให้หนีไปจากสถานที่ขุดคลองได้” ทำให้ฟังดูราวกับว่าพวกสยามนั้นช่างโหดร้ายทารุณเสียนี่กระไร
ในความเป็นจริงแล้ว เรื่องการขุดคลองแสนแสบกับการเจาะเอ็นร้อยหวายนั้น เป็นคนละเรื่องกัน เพราะคลองแสนแสบเป็นคลองที่ถูกขุดโดยแรงงานชาวจีนโพ้นทะเล และเป็นคลองขุดที่มีมาก่อนที่เชลยศึกจากปัตตานีจะถูกกวาดต้อนมาด้วยซ้ำ จึงเป็นไปไม่ได้ที่เชลยปัตตานีจะเป็นผู้ขุดคลองดังกล่าว เว้นแต่จะเป็นการขุดขยายคลอง ซึ่งก็ยังปราศจากหลักฐานเกี่ยวกับการขุดขยายคลองดังกล่าว ดังนั้น วาทกรรมขุดคลองแสนแสบโดยเชลยศึกปัตตานี จึงเป็นอันว่าจบไป เพราะหาสาระความจริงมายืนยันไม่ได้เลย
สำหรับกรณีที่เชลยมลายูปัตตานีโดนเจาะเอ็นร้อยหวายนั้น อ.สุเนตร ชุตินธรานนท์ แห่งสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ นายแพทย์จิรันดร์ อภินันท์ ได้ทำการศึกษาและจัดทำวิจัยในหัวข้อ “ข้อเท็จจริงเอ็นร้อยหวาย : ประวัติศาสตร์บาดแผลสยาม-ปตานี” (พ.ศ. 2561) ซึ่งเป็นงานวิจัยที่รวบรวมเอาข้อมูลทางประวัติศาสตร์ทั้งจากฝั่งไทย และมลายู ตลอดจนข้อมูลทางการแพทย์เกี่ยวกับกรณีที่เชลยปัตตานีโดนสยามเจาะเอ็นร้อยหวาย รวมทั้งถูกบังคับให้ขุดคลองแสนแสบมาศึกษาและเผยแพร่อย่างเป็นระบบชัดเจน
ทางคณะวิจัยได้พบว่า “ไม่มีหลักฐานร่วมสมัยที่เป็นลายลักษณ์อักษรยืนยันว่ากองทัพสยามได้เจาะเอ็นร้อยหวายกับเชลยปัตตานี” ไม่ว่าจะเป็นครั้งที่ปัตตานีถูกตีแตกในสมัยรัชกาลที่ 1 (พ.ศ. 2329) หรือสมัยกบฏไทรบุรีในสมัยรัชกาลที่ 3 ที่มักมีการเล่าต่อกันมาว่า เชลยศึกปัตตานีถูกเจาะเอ็นร้อยหวายแล้วถูกกวาดต้อนขึ้นมายังกรุงเทพฯ
สรุปว่าการเจาะเอ็นร้อยหวายเชลยศึกปัตตานี “เป็นเพียงเรื่องเล่าอ้างสืบต่อกันมา” และ “ไม่มีหลักฐานที่น่าเชื่อถือ” และเมื่อพิจารณาร่วมกับข้อมูลทางการแพทย์ที่เป็นวิทยาศาสตร์มากกว่า ก็ยิ่งพบความสอดคล้องและตอกย้ำว่า การเจาะเอ็นร้อยหวายนั้นเป็นผลให้เกิด “ความพิการหรือทุพพลภาพ” ซึ่งแน่นอนว่าย่อมไม่เป็นผลดีต่อนโยบายเพิ่มเติมแรงงานและกำลังคนให้แก่ราชอาณาจักร
@@ ลูกหลานเชลยปัตตานียอมรับ “เป็นเรื่องกุขึ้น”
อีกทั้งยังมีข้อมูลที่น่าสนใจว่า มีผู้ให้สัมภาษณ์ซึ่งเป็นลูกหลานของเชลยศึกชาวปัตตานีในกรุงเทพฯ ท่านหนึ่ง ได้ให้ข้อมูลต่อคณะผู้วิจัยตรงๆ ว่า “การเจาะเอ็นร้อยหวายนี้เป็นเรื่องที่กุขึ้น หรือแต่งเติมขึ้น เพื่อให้เกิดความเกลียดชังระหว่างไทยกับมลายู” จึงกล่าวได้ว่า ความเชื่อเช่นนี้ไม่มีความสมเหตุสมผลในทางประวัติศาสตร์ และเป็นเพียง “โฆษณาชวนเชื่อของพวกต่อต้านรัฐ” เท่านั้น
ข้อสรุปของคณะผู้วิจัยชุดนี้ ถือเป็นการสั่นคลอนความเชื่อและวาทกรรมของพวกนักชาตินิยมปัตตานี รวมถึงขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่มักใช้เรื่องเล่าทำนองนี้เพื่อการปลุกปั่นสร้างความเกลียดชังระหว่างคนไทย-มลายูอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน และเป็นข้อมูลที่มีคุณูปการต่อสังคมไทยอย่างยิ่ง ในฐานะหลักฐานทางประวัติศาสตร์ รวมถึงหลักฐานด้านวิทยาศาสตร์ในการสลาย “วาทกรรมที่เป็นพิษเป็นภัยต่อสังคมพหุวัฒนธรรมชายแดนใต้”
-------------------
ภาพประกอบจาก Facebook : Chachiluk Board game , www.luehistory.com