กลายเป็นประเด็นโต้เถียงกันทั้งในพื้นที่ความคิดเกี่ยวกับปัญหาชายแดนภาคใต้ และพื้นที่ทางการเมือง สำหรับ “การ์ดเกม” ที่ชื่อว่า Patani Colonial Territory
“การ์ดเกม” หรือ “เกมไพ่” ที่ว่านี้ ได้รับการประชาสัมพันธ์เผยแพร่เชิญชวนให้ผู้สนใจร่วมเล่นมาระยะหนึ่งแล้ว โดยมีการนำเนื้อหาเกี่ยวกับ “ประวัติศาสตร์บาดแผล” ของคนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือที่เรียกว่า “คนปัตตานี” หรือ “คนปาตานี” มาใส่ในการ์ดเกม โดยเฉพาะเรื่องเชลยศึกปัตตานีที่ถูกทารุณด้วยการเจาะเอ็นร้อยหวาย
“การ์ดเกม” นี้ได้รับการเผยแพร่ในสื่อสังคมออนไลน์ และจัดกิจกรรมดึงเยาวชนเข้ามาเล่นเกม กระทั่งกลายเป็นประเด็นขึ้นมาเพราะหลายฝ่ายมองวางเป็นการบิดเบือนข้อมูลทางประวัติศาสตร์ และเป็นประเด็นอ่อนไหวทางความมั่นคง
ที่มาของเกมไพ่ การ์ดเกม “Patani Colonial Territory” เป็นบอร์ดเกมที่ผลิตจากกลุ่ม ‘hachiluk (จะจีลุ) ร่วมกับสำนักพิมพ์ KOPI และได้รับทุนสนับสนุนโดย Common School มูลนิธิคณะก้าวหน้า โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งต่อประวัติศาสตร์ของอาณาจักรปัตตานีไม่ให้หายไป
สำหรับ “คณะก้าวหน้า” มีแกนนำสำคัญเป็นอดีตแกนนำพรรคอนาคตใหม่ พรรคการเมืองที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบไปจากกรณีเงินกู้โดยมิชอบด้วยกฎหมาย ปัจจุบันเคลื่อนไหวทางการเมืองในทิศทางสอดคล้องกับพรรคก้าวไกล ซึ่งเป็นพรรคใหม่ของอดีต ส.ส.อนาคตใหม่หลังจากพรรคเดิมถูกยุบ
@@ “ไทยภักดี” จี้ มท.ตรวจสอบมูลนิธิคณะก้าวหน้า หนุนบอร์ดเกมปาตานี
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 28 พ.ย.65 พรรคไทยภักดี นำโดย นายสุขสันต์ แสงศรี โฆษกพรรค ได้เข้ายื่นหนังสือต่อปลัดกระทรวงมหาดไทย ขอให้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีมูลนิธิคณะก้าวหน้าให้การสนับสนุนบอร์ดเกมที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ปาตานี
การเคลื่อนไหวนี้สืบเนื่องมาจากแกนนำพรรคไทยภักดีออกมาตั้งข้อสังเกตถึง “บอร์ดเกม” ซึ่งมีการเผยแพร่ชักชวนกันเล่นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมตั้งคำถามว่าฝ่ายความมั่นคงทำอะไรกันอยู่
นายสุขสันต์ กล่าวว่า ตนได้รับมอบหมายจาก นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม หัวหน้าพรรคไทยภักดี มายื่นหนังสือต่อปลัดกระทรวงมหาดไทย เพื่อตรวจสอบในประเด็นดังกล่าว จากที่มีสื่อออนไลน์เพจเฟซบุ๊ค Urban Creature ได้นำเสนอบอร์ดเกมที่มีชื่อว่า "Patani Colonial Territory" ซึ่งเป็นเกมสำหรับเยาวชนที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ปาตานี โดยได้ให้รายละเอียดว่าได้รับการสนับสนุนจาก สำนักพิมพ์ KOPI และได้รับทุนสนับสนุนจาก Common School มูลนิธิคณะก้าวหน้า จึงขอให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงดังนี้
1. บอร์ดเกมดังกล่าว มีเนื้อหาสาระที่นำไปสู่ความแตกแยก และนำไปสู่การสร้างกระแส และเกิดแรงกระตุ้นให้เกิดการแบ่งแยกดินแดนหรือไม่
2. ขอให้ตรวจสอบงบการเงินของมูลนิธิคณะก้าวหน้า ซึ่งเป็นผู้ให้การสนับสนุนบอร์ดเกมดังกล่าวว่าเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
3. การสนับสนุนโดยมูลนิธิคณะก้าวในประเด็นนี้ ตามพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ.2499 ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
หากพบว่ามีประเด็นที่ไม่เป็นไปตามกฎหมายแล้ว ขอให้มีการดำเนินการกับผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงมูลนิธิคณะก้าวหน้าตามกฎหมายต่อไป และทางพรรคไทยภักดีก็จะติดตามตรวจสอบในเรื่องนี้ว่าเป็นประโยชน์ต่อสังคมและเยาวชนหรือไม่
@@ ห่วงการ์ดเกมบิดเบือนประวัติศาสตร์ ทำเยาวชนตกเป็นเครื่องมือ
ภายหลังมีการเคลื่อนไหวให้ตรวจสอบ ก็มีท่าทีของหน่วยงานความมั่นคงในพิ้นที่ โดย พล.ต.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (รอง ผอ.รมน.ภาค 4 สน.) กล่าวว่า เกมไพ่ การ์ดเกม ทีชื่อว่า “Patani Colonial Territory” เป็นสิ่งมีน่ากังวลอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวล่าสุดที่ได้ที่มีการนำประวัติศาสตร์เชิงบาดแผลในจังหวัดชายแดนภาคใต้มาผลิตเป็นเกม อย่างเรื่อง "การเจาะเอ็นร้อยหวาย" ซึ่งหากย้อนกลับไปศึกษาประวัติศาสตร์แล้ว จะพบว่าเรื่องเจาะเอ็นร้อยหวาย เป็นเรื่องที่ถูกสร้างแต่งขึ้นมา อย่างในเกมที่ระบุว่า มีการจับคนมลายูเจาะเอ็นร้อยหวายไปขุดคลองแสนแสบนั้น เป็นเรื่องเล่าที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้มาอย่างยาวนาน ในลักษณะเล่าต่อจากรุ่นสู่รุ่น
“ประเด็นนี้ได้มีการศึกษาอย่างละเอียด ทั้งในเชิงการแพทย์และในเชิงประวัติศาสตร์ การขุดคลองแสนแสบ พบว่า ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องการนำคนมลายูที่ตกเป็นเชลยในขณะนั้นไปขุดคลองแสนแสบแต่อย่างใด โดยข้อเท็จจริงในเชิงทางการแพทย์ ไม่มีโอกาสที่จะเป็นไปได้เลยที่หากถูกเจาะเอ็นร้อยหวายแล้วจะสามารถทำงานได้ และในเชิงประวัติศาสตร์ ได้มีนักวิชาการที่ศึกษาวิจัย ระบุไว้ชัดเจนว่า การขุดคลองแสนแสบนั้นเกิดขึ้นในสมัยใดและใช้แรงงานจากที่ใด ซึ่งจากหลักฐานที่ได้บันทึกไว้พบว่า ส่วนใหญ่เป็นแรงงานชาวจีนโพ้นทะเลและคนลาว และยังไม่ปรากฏหลักฐานใดที่บ่งชี้ว่าได้มีการนำเชลยศึกมาเจาะเอ็นร้อยหวาย แล้วนำมาขุดคลองแสนแสบ”
พล.ต.ปราโมทย์ ยังระบุด้วยว่า กรณีที่เกิดขึ้นเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างในเชิงประวัติศาสตร์ที่ถูกแต่งเรื่องขึ้นมา โดยมีเป้าหมาย เพื่อต้องการปลุกระดมพี่น้องประชาชน นอกจากนี้ ยังพบมีองค์กรบางองค์กรที่ให้การสนับสนุนงบประมาณในการผลิตการ์ดเกม จากการตรวจสอบพบเป็นองค์กรที่เคลื่อนไหวทางการเมือง
“กรณีที่เกิดขึ้น แม่ทัพภาคที่ 4 มีความห่วงใยต่อกลุ่มเยาวชน จึงให้เน้นสร้างความเข้าใจแก่พี่น้องประชาชน ขอความร่วมมือให้สถาบันการศึกษาได้สร้างความเข้าใจในประวัติศาสตร์ที่ถูกต้อง พร้อมฝากไปยังผู้ปกครอง หากในช่วงนี้อาจมีกลุ่มที่หวังผลประโยชน์ทางการเมืองหยิบยกประเด็นปัญหาทางความมั่นคงมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง ขอให้ช่วยกันเฝ้าระมัดระวังด้วย” พล.ต.ปราโมทย์ ระบุ
@@ เปิดข้อมูลเจาะเอ็นร้อยหวายเชลยปาตานี ขัดข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์
วันที่ 30 พ.ย.65 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) เผยแพร่ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการ์ดเกม “Patani Colonial Territory” ระบุว่า ในเรื่องการเจาะเอ็นร้อยหวาย เป็นเรื่องเล่าที่ถูกพูดถึงปากต่อปาก ซึ่งไม่พบเอกสารประวัติศาสตร์ชั้นต้นของสยามและมลายูที่กล่าวถึงเรื่องดังกล่าว แต่พบในงานเขียนที่เขียนขึ้นในภายหลัง โดยจากงานวิจัยพบว่า งานเขียนเก่าแก่ที่สุด คือ หนังสือเรื่อง “ปาตานี: ประวัติศาสตร์และการเมืองในโลกมลายู” ที่เขียนโดย อารีฟีน บินจิ และคณะ ในปี พ.ศ. 2550 ที่ระบุว่า
“พระยากลาโหมนำเชลยมลายูปาตานี 400 คนลงเรือ .... เพื่อไม่ให้ชาวปาตานีกระโดดเรือหนีลงทะเล ทหารสยามจึงใช้วิธีตัดหวายมาร้อยที่เอ็นเหนือส้นเท้าของเชลยเหล่านั้น ผูกพ่วงต่อกันหลาย ๆ คน เชลยที่เป็นหญิง ก็เอาหวายเจาะใบหูผูกพ่วงไว้เช่นเดียวกัน”
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา แม้ว่าสยามจะมีรัฐบรรณาการหลายแห่งแต่ไม่เคยมีปรากฏว่า มีการร้อยเอ็นร้อยหวายกับเชลยศึก อีกทั้งในเชิงการแพทย์ มีงานวิจัยของ นายแพทย์ จิรันดร์ อภินันทน์ ได้ข้อสรุปว่า การเอาคนถูกเอ็นร้อยหวายมาเป็นแรงงานแทบเป็นไปไม่ได้ เนื่องจากการร้อยเอ็นร้อยหวายจะก่อให้เกิดโรคและพยาธิสภาพต่อเอ็นร้อยหวาย ซึ่งจะนำไปสู่อาการปวดเรื้อรัง และสูญเสียการทำงาน เป็นผลให้เกิดความพิการและทุพพลภาพ นอกจากนี้ ยังมีโอกาสสูงในการเกิดการติดเชื้อเข้าไปในเนื้อเยื่อไขมันและถุงน้ำดี ซึ่งอาจลุกลามถึงตัวเอ็นร้อยหวายและกระดูกส้นเท้า
นอกจากนี้ จากคำกล่าวอ้างว่า เชลยปัตตานีถูกร้อยเอ็นร้อยหวายเพื่อมาขุดคลองแสนแสบนั้น เมื่อพิจารณาจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ พบว่า การขุดคลองแสนแสบเกิดขึ้นสมัยรัชกาลที่ 3 (พ.ศ. 2380) โดยรัฐบาลจ้างชาวจีนในอัตราค่าจ้างเส้นละ 70 บาท (1 เส้น ระยะทาง 40 เมตร) ดังที่ปรากฏในบันทึกของเจ้าพระยาบดินเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ซึ่งสอดคล้องกับพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3 โดยเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค)
อีกทั้งจะเห็นได้ว่า การขุดคลองแสนแสบเกิดขึ้นก่อนการกวาดต้อนเชลยศึกจากปัตตานีขึ้นมาที่กรุงเทพฯ อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการขุดคลองเรียบร้อยแล้ว รัชกาลที่ 3 ได้โปรดให้เชลยที่ถูกกวาดต้อนจากศึกสงครามเข้ามาจับจองที่ทำกิน โดยชาวมลายูปัตตานีและไทยบุรีที่ถูกกวาดต้อนมาให้ตั้งบ้านเรือนบริเวณย่านประตูน้ำ มีนบุรี หนองจอก พระโขนง คลองตัน และมหานาค
กล่าวโดยสรุป คือ การร้อยเอ็นร้อยหวายเพื่อนำเชลยมาขุดคลองแสนแสบ เป็นเพียงเรื่องเล่าที่ขาดแหล่งอ้างอิงจากเอกสารชั้นต้น และบางส่วนขัดกับข้อเท็จจริงจากเอกสารประวัติศาสตร์ชั้นต้น โดยเฉพาะการนำเชลยที่ถูกร้อยเอ็นร้อยหวายมาขุดคลองแสนแสบ เพราะคลองแสนแสบ รัฐบาลได้ว่าจ้างชาวจีน จึงทำให้ในอดีตเรียกว่า “คลองเจ๊ก”
และเมื่อพิจารณาในเชิงการแพทย์จะเห็นได้ว่า การร้อยเอ็นร้อยหวายจะทำให้เกิดการติดเชื้อรุนแรงจนนำไปสู่ความพิการและทุพพลภาพ ซึ่งในแง่นี้จะขัดแย้งกับนโยบายการต้อนเชลยศึกเพื่อใช้แรงงานหรือเติมกำลังคนให้กับราชอาณาจักร
@@ อ้างทำเกมหวังความสนุก ได้ความรู้ประวัติศาสตร์ปาตานี
มีความเห็นอีกด้านจากฝ่ายที่สนับสนุนบอร์เกม โดย นายอารีฟีน โสะ อดีตประธานสหพันธ์นิสิตนักศึกษานักเรียนและเยาวชนปาตานี หรือ เปอร์มัส กล่าวว่า ตนเป็นหนึ่งในกลุ่มที่จัดทำเกมนี้ มีหลักคิดมาจากการละเล่นพื้นบ้านของเด็กๆ ในพื้นที่ปาตานี โดยเหตุผลที่ใช้ชื่อนี้เพราะอยากทำหน้าที่เป็นตัวแทนความสนุกสนานและหวังเป็นสื่อในการเชื่อมต่อผู้คนให้ได้รับรู้เรื่องราวประวัติศาสตร์ รวมถึงนำเสนอเรื่องราวของปาตานีผ่านความสนุกในโลกของบอร์ดเกม ซึ่งจะชวนผู้เล่นมาประลองไหวพริบและกระตุ้นเตือนความทรงจำ ท้าทายให้ทุกคนได้ลองร้อยเรียงลำดับเหตุการณ์การผนวกรวมปาตานีเข้ากับสยาม
โดยเกมนี้จะใช้จำนวนผู้เล่น 3-5 คน กับระยะเวลาเล่นราว 15-30 นาที ในบอร์ดเกมหนึ่งชุดนั้นประกอบด้วย การ์ดเกม 52 ใบ โดยแบ่งออกไปเป็น 4 สี สีละ 13 ใบ และโทเคน 30 ชิ้น ประกอบด้วยโทเคนที่มีตัวเลข 1-5 สีละหนึ่งชุด และโทเคนไม่มีตัวเลข 5 สี บรรจุในถุงผ้าและใบกำกับกติกาการเล่นแบบ 2 กติกา พร้อมกระดานนับคะแนนที่อยู่ในแผ่นเดียวกัน แบ่งเป็นแผ่นหน้าและหลัง
บอร์ดเกม Patani Colonial Territory ผลิตออกมาทั้งหมด 50 ชุด เพราะได้รับงบประมาณจาก มูลนิธิคณะก้าวหน้าประมาณ 20,000 บาท ที่ผ่านมามีการตอบรับดี จนมีการเรียกร้องให้ผลิตขาย วันที่ 3 ธ.ค.นี้ จะมีการเปิดตัวเกมที่ยะลา ก็ยังยืนยันเดินหน้าต่อไป
@@ ชี้ปมโจมตีการ์ดเกม “บิดเบือน” หวังเล่นงานคณะก้าวหน้า
อดีตประธานเปอร์มัส บอกอีกว่า เรื่องนี้เริ่มจากคณะก้าวหน้าเปิดกองทุนให้คนทำโครงการ ตนก็เลยเสนอโครงการ เพราะทำเกมมีต้นทุนในการผลิต เมื่อได้งบมาประมาณ 20,000 บาท ก็ผลิตได้ 50 ชุด แจกไปเรื่อย
“ก็ประชาสัมพันธ์ไปว่าตอนนี้กำลังทำเกมอยู่ ใครต้องการบาง ก็มีคนมาขอ แล้วก็มีคนวิจารณ์การ์ด เพราะมันเป็นเกมการ์ดเรื่องประวัติศาสตร์ เอาเหตุการณ์สำคัญๆ มาเรียงร้อย ต่อมามีความพยายามบิดเบือนวัตถุประสงค์ว่า คณะก้าวหน้านี่แหละสร้างความเกลียดชัง จนเกิดความรู้สึกต้องการแบ่งแยกดินแดน พรรคไทยภักดีก็ไปยื่นหนังสือตรวจสอบคณะก้าวหน้า ดูจากภาพที่เกิดขึ้นต้องการเล่นงานคณะก้าวหน้า ขณะเดียวกัน คุณธนาธร คุณปิยบุตร (ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และ ปิยบุตร แสงกนกกุล แกนนำคณะก้าวหน้า) เข้าสภา ปลดล็อกกฎหมายท้องถิ่น (เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ หมวด 14 ปกครองส่วนท้องถิ่น) เห็นความเชื่อมโยงกันอยู่ พอเกิดกระแสปั๊บ ก็ไปยึดบอร์ดเกมที่บันนังสตา (จ.ยะลา) อ้างว่าส่อผิดกฎหมาย คนยึดใช้สถานการณ์กึ่งบังคับให้เจ้าตัวยินยอม ยิ่งเพิ่มความกดดันไปอีก แค่เกมขนาดต้องยึดเลยหรือ”
“ตามแผนเมื่อผลิตเสร็จจะแจกจ่าย ก็จะมีการเปิดตัว ทำตามแผนเหมือนเดิม พอเปิดโครงการเสร็จ ก็จะคุยกับคณะก้าวหน้าอีกว่าจะทำอย่างไร คนต้องการเพิ่ม คือตอนนี้เราก็ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการเล่นงานคณะก้าวหน้า การผลิตเกม คณะก้าวหน้าไม่ได้เข้ามาแทรกแซงกระบวนการผลิตเลย วัตถุประสงค์ของเราเพื่ออะไร ก็ไม่ผิดกฎหมายอยู่แล้ว ส่วนเขาจะเล่นคณะก้าวหน้าก็เป็นเรื่องของเขา และในการผลิตก็เป็นโรงพิมพ์ที่เรารู้จัก”
“คิดว่าการเล่นเกมเป็นเสรีภาพของคนที่จะเลือกเล่น เลือกชอบอยู่แล้ว การไปละเมิด การไปทำให้เขาหยุดเล่น และไปยึดสิ่งที่เขาจะเล่น
@@ ตามยึดการ์ดเกมที่ร้านกาแฟบันนังสตา
ขณะที่ความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการ์ดเกม “Patani Colonial Territory” ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ หน่วยข่าวในพื้นที่ระบุว่าช่วงหลายวันที่ผ่านมา พบมีการตรวจยึดชุดเกมการ์ด “Patani Colonial Territory” หลายกรณีด้วยกัน
โดยเมื่อเวลา 17.00 น.วันที่ 28 พ.ย.65 พ.ต.ท.สถาพร เหล่ามูล รองผู้กำกับการ สภ.บันนังสตา จ.ยะลา พร้อมเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหาร เข้าตรวจยึดชุดเกมการ์ด Patani Colonial Territory จากร้านกาแฟ Life Coffee Slow Bar ในตลาดบันนังสตา ซึ่งเป็นร้านของ นายฟุรกอน มะลี
เจ้าหน้าที่แจ้งว่า ตามที่ปรากฏข้อความทางเฟซบุ๊กที่มีผู้ใช้ชื่อว่า Chachiluk Board game ได้โพสต์แจกจ่ายการ์ดเกม “Patani Colonial Territory” ให้ผู้โชคดี ซึ่งปรากฏชื่อร้านกาแฟ Life Coffee Slow Bar เป็นผู้ได้รับการ์ดเกมดังกล่าวด้วย เจ้าหน้าที่จึงมาตรวจสอบและสอบถามถึงเกมดังกล่าว ทำให้นายฟุรกอน ได้นำเกมดังกล่าวพร้อมแผ่นพับคู่มือและเหรียญกระดาษมาแสดงแก่เจ้าหน้าที่ ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้แจ้งให้นายฟุรกอนทราบว่า ข้อความและรูปภาพที่ปราฏในการ์ดเกมแต่ละใบนั้นอาจหมิ่นเหม่ต่อการผิดกฎหมาย จึงขอทำตรวจยึดเพื่อให้พนักงานสอบสวน สภ.บันนังสตาตรวจสอบ
นายฟุรกอน มะลี เจ้าของร้านกาแฟ Life Coffee Slow Bar กล่าวว่า ทีแรกตนจะไม่ให้เจ้าหน้าที่ยึด เพราะไม่คิดว่าเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย เจ้าหน้าที่จึงเชิญให้ไปที่โรงพัก ตนปฏิเสธไปว่าจะไม่ไปถ้าไม่มีทนายไปด้วย จึงได้โทรศัพท์ปรึกษาทนายของศูนย์ทนายความมุสลิมประจำจังหวัดยะลา สุดท้ายทนายแนะนำว่า ให้มอบการ์ดเกมดังกล่าวให้เจ้าหน้าที่ ซึ่งใช้เวลาพูดคุยกันจนถึงเวลาประมาณ 3 ทุ่ม
“ร้านของผมน่าจะเป็นร้านแรกที่ถูกเจ้าหน้าที่เข้ามาตรวจยึดการ์ดเกม โดยเจ้าหน้าที่ถามย้ำถึงการได้มาของเกมและวิธีเล่น ผมก็บอกให้เปิดดูในเพจ จะบอกวิธีเล่นและมีชื่อร้านค้าที่ได้รับเกมนี้กว่า 60 ร้าน ก็ถามว่าผมมีความผิดด้วยหรือ เจ้าหน้าที่บอกว่าถ้าผิดก็คงจะเป็นคนออกเกม เหตุการณ์นี้ทำให้ผมรู้สึกถูกกดดันจากเจ้าหน้าที่อยู่บ้าง” นายฟุรกอน กล่าว
@@ ตรวจร้านกาแฟโก-ลก โพสต์ชวนเล่นการ์ดเกม
ต่อมาวันที่ 30 พ.ย.65 เฟซบุ๊กที่ใช้ชื่อว่า ArfanWattana-Patani ได้โพสต์ภาพในขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจนำกำลังเข้าตรวจสอบการเล่นการ์ดเกม “Patani Colonial Territory” ภายในร้านกาแฟ IDEOLOGI ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส
พร้อมเขียนข้อความระบุว่า “มาจนได้!!! การ์ดเกม Patani Colonial Territory เมื่อนายสั่งมา…ผมก็ต้องทำตามคำสั่ง ชุดสืบ สภ.สุไหงโก-ลก ร่วมกับ ชุดสืบจังหวัดนราธิวาส 3 คันรถ ได้มาทักถามเรื่องการ์ดเกม ผมเลยชวนพี่ๆ เขาเล่นด้วยกันเลย พร้อมสอนวิธีการเล่น พี่ๆ ชุดสืบมาดี พูดดี ผมก็ต้อนรับเขาดี และได้พูดคุยแลกเปลี่ยนถึงอุดมการณ์ทางการเมืองที่กำลังต่อสู้เพื่อเอกราชปาตา นีและผมก็ได้แจงไปเลยว่า ผมอนุญาตให้เล่น แต่ไม่อนุญาตให้ยึดการ์ดเกมน่ะครับ”
สำหรับการเข้าตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ตำรวจ คาดว่า มาจากการที่เพจร้านดังกล่าว ได้มีการโพสต์ภาพการเล่นการ์ดเกม และโพสต์ข้อความเชิงเชิญชวนเล่นการ์ดเกม
-----------------------------------
ภาพประกอบจาก Facebook : Chachiluk Board game, Ideologi, Arifin Soh, ArfanWattana - Patani