การก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีมาเลเซียคนใหม่ของ อันวาร์ อิบราฮิม ไม่เพียงเป็นการผ่าทางตันทางการเมือง ทำให้การเมืองมาเลย์เดินต่อไปได้ หลังจากผลการเลือกตั้งไม่สามารถชี้ขาดผู้ชนะได้เท่านั้น
แต่การมีนายกฯที่ชื่อ อันวาร์ อิบราฮิม ยังส่งผลต่อประเทศไทยอย่างลึกซึ้งด้วย ในฐานะเพื่อนบ้านใกล้ชิด มีชายแดนติดกัน และเป็นเพื่อนสมาชิกอาเซียนด้วยกัน
โดยเฉพาะพรมแดนไทยด้านที่ติดกับมาเลเซีย เป็นด้านที่มีปัญหาความไม่สงบ เพียงด้านเดียวของประเทศ คือด้านที่เป็นปลายด้ามขวานทองของไทย
ดร.ชัยวัฒน์ มีสัณฐาน รองคณบดีคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญประเทศมาเลเซีย วิเคราะห์แง่มุมเหล่านี้เอาไว้อย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะการมองการเมืองมาเลเซีย แล้วเหลียวกลับมามองการเมืองไทย มีอะไรที่เหมือนหรือแตกต่างกันบ้าง...เป็นประเด็นที่น่าติดตาม
@@ มุมมองต่อ อันวาร์ อิบราฮิม หลายคนมองว่าเขาเป็นฝ่ายค้าน แล้วผงาดมาเป็นผู้นำรัฐบาล
อย่างแรก อันวาร์อาจจะอยู่ฝ่ายค้าน (ก่อนหน้านี้เคยเป็นผู้นำฝ่ายค้าน) แต่สิ่งที่เราลืมไม่ได้คือ อันวาร์เคยเป็นถึงรองนายกรัฐมนตรีมาก่อน เป็นนักการเมืองฝ่ายรัฐบาลมาก่อน ในช่วงก่อนจะมีปัญหากับ มหาเธร์ โมฮัมหมัด (อดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย 2 สมัย) เขาเคยถูกวางตัวให้เป็นผู้ถืออำนาจต่อจากมหาเธร์ แต่ด้วยความขัดแย้งมันจึงทำให้เขาต้องระหกระเหินไป ก็เลยมองว่าไม่น่าจะมีปัญหากับการขึ้นมาเป็นผู้นำสูงสุด เป็นนายกรัฐมนตรีของอันวาร์
@@ การเมืองมาเลเซียออกมาแบบนี้ ถือว่าอัมโนลดอิทธิพลลงหรือไม่?
ความเป็นอัมโนต้องบอกว่ามันไม่ได้หายไปไหน เราต้องมองให้ขาดว่าการเมืองมาเลเซียเป็นการเมืองแบบเชื้อชาติ เนื่องจากว่าคนเลือกก็จะเลือกตามเชื้อชาติของตัวเอง แล้วมันฝังรากลึกอยู่ในสังคมมาเลเซียมาอย่างยาวนาน
ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นมันเกิดขึ้นจากการที่คนมลายูแยกออกไปเป็นก๊วนต่างๆ เมื่อก่อนมันอยู่กับอัมโนทั้งหมดเกือบจะ 100% แต่ปัจจุบัน...อันนี้มุ้งของอันวาร์ มีมุ้งของมูห์ยิดดิน (มูห์ยิดดิน ยัสซิน อดีตนายกฯมาเลเซีย) ซึ่งแตกออกไป แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการฟอร์มรัฐบาลขึ้นมาในครั้งนี้ เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า “อัมโน” ภายใต้ปีกของ BN (แนวร่วมแห่งชาติ) เป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้รัฐบาลมีความมั่นคง ดังนั้นเมื่อตัวเองเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้รัฐบาลมีความมั่นคง ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า อัมโน ก็ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่จะกดดัน อันวาร์ ในการทำงานได้
@@ นายกฯมาเลเซียชื่อ อันวาร์ ส่งผลอะไรต่อปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยหรือไม่?
ผมมองว่าอันวาร์ ถ้าเทียบในบรรดาผู้นำของมาเลเซียที่ผ่านมา ต้องบอกว่าเขาเองมาจากสายเอ็นจีโอ มาจากสายผู้นำเยาวชน และทำงานร่วมกับนักกิจกรรม โดยเฉพาะหน่วยงานต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ในประเด็นการขับเคลื่อนสันติภาพ และประเด็นทางสังคมต่างๆ
การที่ อันวาร์ ได้ขึ้นมาเป็นผู้นำ ผมมองว่ามีความเป็นไปได้ค่อนข้างสูงที่ประเด็นสามจังหวัดชายแดนภาคใต้จะถูกทำให้เป็นประเด็นที่มีความสำคัญกับมาเลเซีย แต่น่าจะเป็นช่วงหลังจากที่เขาได้เซ็ตอัพปัญหาภายในประเทศ ตั้งคณะรัฐมนตรีจนเขารันไปได้แล้วในระดับหนึ่ง
สิ่งหนึ่งที่เราต้องไม่ลืมว่าเขาจะต้องให้ความสำคัญกับปัญหาเศรษฐกิจ รวมทั้งปัญหาการเมืองภายในที่มีมาอย่างยาวนาน เพราะฉะนั้นถ้าเขาสามารถที่เซ็ตอัพตรงนั้นได้แล้ว ผมเชื่อว่าอันวาร์จะกลับมาให้ความสำคัญกับปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ผมมองว่าเป็นผลดีทั้งสองฝั่งมากกว่า ทั้งเป็นผลดีต่อคนปาตานี และเป็นผลดีของประเทศไทยด้วย ถ้าเราใช้โอกาสนี้ในการผลักดัน และเข้าไปพูดคุยเจรจา
แต่มีประเด็นหนึ่งที่ค่อนข้างจะ sensitive (อ่อนไหว) มาก แต่ต้องใส่เครื่องหมายดอกจันไว้ ก็คือความใกล้ชิดของคนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เขามีความใกล้ชิดกับทางกลันตัน มีความใกล้ชิดกับตรังกานูค่อนข้างมาก และมีคนจำนวนหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า เขาให้การสนับสนุนฝั่งที่อยู่ตรงข้ามกับอันวาร์ ก็คือ “พรรคปาส” ฉะนั้นคงต้องจับตามองว่าแต่ละฝ่ายจะวางท่าทีอย่างไร ทั้งพรรคปาส และอันวาร์
@@ หลายคนมองการเมืองมาเลเซีย แล้วย้อนมองมาที่การเมืองไทยว่าการเลือกตั้งครั้งใหญ่ จะเกิดบรรยากาศแบบเดียวกันนี้หรือไม่?
รูปแบบการเมืองมาเลเซียค่อนข้างจะต่างกันกับไทยอย่างมาก เนื่องจาก
1.คนที่เป็นนายกรัฐมนตรี จะต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก่อน
และ 2.มีการรวมตัวของพรรคซึ่งเป็นแนวร่วมทางการเมือง ซึ่งต่างจากบ้านเรา คือไม่ใช่แค่กลุ่มก๊วนอย่างบ้านเรา คือ BN, PS, PN พวกนี้ คนไทยมักจะเข้าใจว่ามันคือพรรคการเมือง แต่ในความเป็นจริงมันไม่ใช่ มันคือ “แนวร่วมทางการเมือง” ที่มีพรรคย่อยๆ อยู่ใต้นั้น รูปแบบมันต่างกันตั้งแต่แรกแล้ว
ที่สำคัญ การเมืองของเราเป็นการเมืองที่อิงอยู่กับตัวบุคคล อิงอยู่กับพรรคการเมือง อิงอยู่กับตัวผู้นำ ใครคนใดคนหนึ่งเลือกคนนั้นแต่สนับสนุนคนนี้ เลือกพรรคนี้สนับสนุนคนนั้น แต่ที่มาเลเซียมันไม่ใช่ มาเลเซียมันเป็นการเมืองที่มีพื้นฐานอยู่บนชาติพันธุ์ มีพื้นฐานอยู่บนเชื้อชาติ เพราะฉะนั้นจึงแตกต่างกับไทย แม้ว่าตัวผู้นำ ตัวคนที่นำเสนอจะมีบทบาทมาก แต่ในภาพรวมแทบจะไม่ได้ส่งผลอย่างใดเลย
ประชาชนเองก็มีการแข่งขันค่อนข้างสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มคนมลายูเอง มันเกิดปรากฏการณ์ “สึนามิมลายู” คนเบื่อที่จะเลือกพรรคเดิม ก็คือ “อัมโน” แล้วก็ไหลไปพรรคของ มูห์ยิดดิน ไหลไปที่พรรคของ อันวาร์
อันวาร์เอง คนมลายูที่เคยสนับสนุนอันวาร์ ก็แยกออกไปเป็นกลุ่มอื่นๆ ด้วย เพราะฉะนั้นความตื่นตัวมีสูง ในขณะที่คนจีน ก็ยังมีแนวโน้มที่จะเลือกพรรคของคนจีนอยู่เช่นเดิม
การเมืองในมาเลเซียรอบนี้ต้องบอกว่ามันไม่เหมือนกับเมื่อปี 2018 เนื่องจากปี 2018 มันมีปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น ซึ่งมันเป็นประเด็นใหญ่มากๆ แล้วมันเป็นการต่อสู้กับผู้มีอำนาจในขณะนั้น ก็คือ นาจิบ ราซัค และผลออกมาก็คือการเมืองครั้งนั้น การเลือกตั้งครั้งนั้น คนหลั่งไหลกันออกมาเพื่อที่จะไม่เอานายกรัฐมนตรี (นายนาจิบ ราซัค)
แต่การเลือกตั้งครั้งนี้มันต่างกัน เพราะฉะนั้นศัตรูของศัตรูคือ “มิตร” เพราะครั้งนั้นทุกคนต้องการจะเอา นาจิบ ออก แต่ว่าครั้งนี้ทุกคนอยากจะเป็นนายกฯ เมื่อทุกคนอยากจะเป็นนายกฯ มิตรที่อยู่ด้วยกัน มันก็แยกออกเป็นฝั่งฝ่าย แล้วก็มีการโจมตี การใช้วาทกรรมที่ทำร้ายอีกฝักฝ่าย ซึ่งมันก็ใกล้เคียงกันกับในวิถีทางการเมืองบ้านเรา อย่างชนิดที่ว่าร่วมกันไม่ได้
แต่อย่างไรก็ตาม พอเวลาผลมันปรากฏออกมาก็พบว่า ที่คิดว่ามันจะเป็นไปไม่ได้ มันก็เป็นไปได้ เนื่องจากว่าสามารถจะดีลกันได้ ส่วนที่คิดว่ามันเป็นไปได้ มันกลับเป็นไปไม่ได้ เพราะว่าครั้งนี้หวยที่เขาคาดกันไว้ คิดว่าน่าจะเป็น มูห์ยิดดิน แต่ดันมาออกเป็น อันวาร์ ซึ่ง มูห์ยิดดิน ไม่พอใจค่อนข้างมาก
การเมืองของไทยเรา เรายังมีเงื่อนไขอีกหลายเงื่อนไข ส่วนของมาเลเซีย สุดท้ายตัวชี้วัดจริงๆ คือการเลือกตั้งที่จะชี้ผลว่าใช่หรือไม่ใช่ หรืออยากให้ใครเป็นนายกฯ แต่ของไทยมันจะมีเงื่อนไขอย่างอื่นที่เราทราบกันดี ไม่ว่าจะเป็น ส.ว. แล้วมันจะมีเงื่อนไขที่ซับซ้อนลงไป ไม่ว่าจะเป็นศาลรัฐธรรมนูญ หรือประเด็นที่จะเกิดขึ้นหลังจากการเลือกตั้งอีก ซึ่งเราไว้ใจในส่วนตรงนั้นไม่ได้
ในขณะที่มาเลเซีย ตรงนี้เราสามารถที่จะไว้ใจในส่วนของการเลือกตั้งค่อนข้างจะได้ เพราะว่าเขาเลือกตั้งแล้วผลออกมาอย่างไร และสุดท้ายมันก็ดำเนินไปตามนั้น
การทำความเข้าใจการเมืองมาเลเซีย ต้องทำความเข้าใจภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ แล้วก็ต้องไปดูย้อนหลังของมาเลเซียด้วย เพราะมันมีระบบที่ค่อนข้างจะซับซ้อนไม่เหมือนกับบ้านเรา เพราะฉะนั้นเวลาจะพูดถึงมันค่อนข้างจะเทียบกับประเทศไทยได้ยาก แต่สุดท้ายสิ่งที่คิดว่าน่าจะเทียบกันได้ก็คือในทางการเมืองมันมีการเจรจามีผลประโยชน์ มีเรื่องของอำนาจ ซึ่งถ้าเจรจากันได้ ตกลงกันได้ อย่างที่เขาบอก “ไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวร” เคยด่ากันไว้ขนาดไหน สุดท้ายมาร่วมงานกันได้อยู่ดี นี่คือวิถีทางการเมือง
แต่ทั้งนี้และทั้งนั้น มาเลเซียชี้ให้เราได้เห็นอย่างชัดเจนว่า อำนาจของประชาชนสามารถที่จะล้มผู้นำและพรรคการเมืองที่ปกครองประเทศมากว่า 60 ปีได้ และเพราะการเลือกตั้งนี่แหละ ทำให้คนที่ไม่คิดว่าจะได้ หรืออยู่คนที่อยู่นอกสายตา ถ้าประชาชนสนับสนุน ก็จะกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีได้
แต่รูปแบบทางการเมืองมันก็เปลี่ยนไปจากเดิม ที่พรรคเดียว กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งครองอำนาจ มาเป็นการเมืองในลักษณะที่ใกล้เคียงกับบ้านเรามากขึ้น ก็คือต้องอาศัยพรรคร่วมรัฐบาล และจะมี ดีลเมกเกอร์ มีตัวแปรที่จะทำให้ใครคนหนึ่งได้เป็นพรรครัฐบาล และปัญหาที่จะเกิดขึ้นต่อไป สุดท้ายเลยเมื่อมีตัวแปรสำคัญเข้ามาสร้างความมั่นคง การแบ่งสรรปันส่วนอำนาจก็จะเกิดขึ้น และความมั่นคงในการบริหารที่รัฐบาลมีมาตลอดก่อนหน้านี้ก็จะหายไป
@@ มองการเมืองมาเลเซียแล้ว เราได้เรียนรู้อะไร?
ต้องบอกเลยว่าการเมืองมาเลเซียเป็นหนึ่งในตัวอย่างที่แสดงให้เห็นอำนาจของประชาธิปไตย ต้องยอมรับว่าในช่วงหลังมาเลเซียมีดัชนีชี้วัดความเป็นประชาธิปไตยสูงมากๆ ด้วยการเลือกตั้ง ด้วยอะไรหลายๆ อย่าง แล้วก็อำนาจที่แท้จริงมันอยู่ที่การเลือกตั้งจริงๆ เพราะไม่ว่าปัญหา ในมาเลเซียจะไปถึงไหน มีการทุจริตคอร์รัปชั่น แต่คนที่ออกมาใช้สิทธิใช้เสียง คือคนที่ออกมากำหนดอนาคตของประเทศชาติ นาจิบทุจริต ประชาชนก็ไม่เลือก และสุดท้าย นาจิบ ก็ไปเข้าสู่ห้องขัง ก็ติดคุกไป
ในขณะที่ มหาเธร์ (ดร.มหาเธร์ โมฮัมหมัด อดีตนายกฯ 2 สมัย) ที่สำคัญตัวเองมาตลอดว่ามีคุณูปการต่อประเทศชาติ ยังตัดสินใจลงเลือกตั้ง หมอบอกให้หยุดก็ไม่หยุด แต่สุดท้ายพอลงเลือกตั้ง ประชาชนก็เป็นคนบอกเองว่า คุณปู่...คุณปู่หยุดได้แล้ว กับผลการเลือกตั้งที่ได้มาแค่ 4,000 คะแนน ซึ่งนั่นก็แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าประชาชนสามารถที่จะบอก แล้วสะท้อนภาพความต้องการของตัวเองผ่านการเลือกตั้ง ได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคนหมดศรัทธาในคุณูปการ แต่แค่ต้องการให้คุณูปการหยุดบทบาทตัวเองในทางการเมือง โดยเป็นการบอกผ่านการเลือกตั้ง
----------------------------------
ภาพประกอบจาก Facebook : Anwar Ibrahim , Chaiwat Meesanthan