“บิ๊กป้อม” วิดีโอคอนเฟอเรนซ์ เปิดงานรับฟังความคิดเห็นภาคประชาสังคมร่วมพัฒนาชายแดนภาคใต้ หวังความร่วมมือช่วยเปลี่ยนแปลงและพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนในทุกมิติ ส่วนสถานการณ์น้ำท่วมยังสุ่มเสี่ยง เรือประมงนราธิวาสจอดสนิทหวั่นมรสุม
วันเสาร์ที่ 12 พ.ย.65 ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) จัดกิจกรรมประชุมเชิงปฏิบัติการ รับฟังความคิดเห็นการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่หอประชุมเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา อ.เมือง จ. ยะลา โดยมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวเปิดกิจกรรมผ่านระบบ zoom meeting และมี พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. เป็นผู้กล่าวรายงาน โดยมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมทั้งส่วนราชการ สถาบันการศึกษา ภาคประชาสังคม และภาคประชาชนเข้าร่วมอย่างคึกคักพร้อมเพรียง
พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า รัฐบาลตระหนักดีว่าการมีส่วนร่วมของประชาชนต่อการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเรื่องที่จะต้องสนับสนุนและอำนวยความสะดวก เพื่อให้เป็นภาคีการทำงานร่วมกับรัฐบาลและส่วนราชการในการสร้างประโยชน์และความสุขให้กับประชาชน ซึ่งผลสรุปจากการประชุมในวันนี้ จะได้นำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ กพต. ในวันที่ 19 ธ.ค.นี้ต่อไป
“หวังเป็นอย่างยิ่งว่าโครงการนี้จะช่วยเปลี่ยนแปลงพลิกฟื้นและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในทุกมิติ โดยอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เป็นการเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงานที่จะทำให้องค์กรภาคประชาชน และภาคประชาสังคม มีความเข้มแข็งตามวิถีทางประชาธิปไตยที่มุ่งหวังให้เกิดการทำงานโดยประชาชนเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง ขอให้ทุกท่านระดมความเห็นกันอย่างเต็มที่ เพื่อนำไปเป็นข้อเสนอให้ ศอ.บต. เสนอต่อ กพต. และคณะรัฐมนตรี เพื่อนำไปเป็นข้อมูลในการตัดสินใจให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อไป” พล.อ.ประวิตร กล่าว
ด้าน พล.ร.ต.สมเกียรติ กล่าวว่า สำหรับกิจกรรมประชุมเชิงปฏิบัติการรับฟังความคิดเห็นการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ครั้งนี้ เกิดขึ้นเนื่องจากรัฐบาล และ กพต.ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการร่วมกันแก้ไขปัญหาและพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะการดำเนินงานขององค์กรภาคประชาสังคม ซึ่งมีส่วนสำคัญอย่างมากต่อการทำงานในพื้นที่ช่วยหนุนเสริมการทำงานของภาครัฐ และมีบทบาทสำคัญในฐานะที่เป็น “โซ่ข้อกลาง” ระหว่างรัฐและประชาชนได้เป็นอย่างดี
“กพต. จึงได้สั่งการให้ ศอ.บต. หาวิธีการและแนวทางปฏิบัติที่เป็นการสนับสนุนการทำงานขององค์กรภาคประชาสังคมให้เกิดผลเป็นรูปธรรมและเกิดประโยชน์ต่อจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้มากที่สุด จึงเป็นที่มาของการจัดกิจกรรมรับฟังความคิดเห็นและรับข้อเสนอแผนงานโครงการจากองค์กรภาคประชาสังคม โดยกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้แทนจากภาคประชาสังคม ภาคประชาชน ส่วนราชการ และสถาบันการศึกษาในพื้นที่มากกว่า 300 องค์กร รวมกว่า 600 คน”
เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวด้วยว่า การกำหนดกรอบแผนการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนต่อการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในระยะที่ 4 ปี 2567 – 2570 ศอ.บต.มุ่งเน้นที่จะส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน ยกระดับคุณภาพชีวิต ลดความเหลื่อมล้ำ เสริมสร้างความเข้าใจแก่ทุกภาคส่วนในการบริหารจัดการภาครัฐ ตลอดจนการสร้างความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่นภายใต้วิถีสังคมพหุวัฒนธรรมอย่างยั่งยืน กำหนดกรอบแนวทางการขับเคลื่อนงานร่วมกันระหว่างองค์กรภาคประชาสังคมและหน่วยงานภาครัฐอย่างเป็นเป็นระบบ เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายและแนวทางการแก้ไขปัญหาและพัฒนาให้เกิดผลสัมฤทธิ์สูงสุด เพื่อนำความสันติสุขมาสู่พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้โดยเร็ว หลังจากการประชุมวันนี้ ศอ.บต. จะได้รวบรวมทำเป็นแผนและเสนอต่อที่ประชุม กพต. ต่อไป
@@ มรสุมเข้านราฯ เรือประมงเล็กจอดนิ่งกว่า 500 ลำ
ด้านสถานการณ์ฝนตกและอุทกภัยระลอกแรกในพื้นที่ 13 อำเภอของ จ.นราธิวาส วันเสาร์ที่ 12 พ.ย.65 สถานีอุตุนิยมวิทยานราธิวาส รายงานสภาพอากาศ มีเมฆมากกับมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ส่วนปริมาณน้ำฝนมากที่สุด 63.8 มิลลิเมตร ที่ อ.รือเสาะ
ขณะเดียวกันสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำสายหลัก 3 สาย ล้นตลิ่งแล้วจำนวน 2 สาย คือ ลุ่มน้ำบางนรา สูงกว่าตลิ่ง 1.12 เมตร และลุ่มน้ำโก-ลกสูงกว่าตลิ่ง 0.11 เมตร ส่วนลุ่มน้ำสายบุรีอยู่ในช่วงเฝ้าระวัง
บรรยากาศบริเวณชายหาดนราทัศน์ แหล่งท่องเที่ยวชื่อดังของจังหวัด พบว่า คลื่นสูงประมาณ 2-3 เมตร ลมกรรโชกแรง ทำให้ร้านค้าซึ่งเป็นเพิงไม้ถูกลมพัดเสียหายบางส่วน โดยมีนักท่องเที่ยวน้อยมาก ส่งผลให้ร้านอาหารต่างๆ ริมชายหาดเงียบเหงา ไม่มีลูกค้าเลย ส่วนเรือประมงขนาดเล็กจอดเทียบท่าประมาณกว่า 500 ลำเพื่อดูสถานการณ์ เนื่องจากเกรงว่าหากนำเรือออกจากฝั่ง จะเกิดอันตรายได้
ขณะที่รายงานสถานการณ์อุทกภัย จ.นราธิวาส มีพื้นที่ประสบอุทกภัย จำนวน 3 อำเภอ 7 ตำบล 25 หมู่บ้าน 1 เขตเทศบาล มีผู้ได้รับผลกระทบ 1,037 ครัวเรือน จำนวน 3,519 คน ผลกระทบด้านการเกษตร พืชสวนเสียหาย 51 ไร่ พืชไร่ 99 ไร่ ด้านปศุสัตว์ จำนวน 34 ตัว