จากปัญหายาเสพติดและความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสังคมไทย โดยเฉพาะโศกนาฏกรรมใหญ่ 2 ครั้งหลังสุด คือ ที่โคราช และหนองบัวลำภู ทั้งยังมีข่าวร้ายรายวันสืบเนื่องจาก 2 ปัญหานี้จนสังคมแทบจะชาชิน
ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ทุกฝ่ายต้องย้อนกลับไปดูว่าที่ผ่านมารัฐบาลมีนโยบาย แนวทาง กลไก จัดการและแก้ไขปัญหายาเสพติดและความรุนแรงที่เกิดขึ้นอย่างไร มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผลจริงหรือไม่ เหตุใดปัญหาจึงยิ่งรุนแรง บานปลาย และกลายเป็นความสูญเสียขนาดใหญ่ในลักษณะ “สังหารหมู่” ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นในบ้านเรามาก่อน
ดร.นิชานท์ สิงหพุทธางกูร อาจารย์สำนักวิชานวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เขียนบทความวิพากษ์แนวทางการจัดการปัญหาพร้อมข้อเสนอแนะ...
ที่ผ่านมา สังคมไทยมีการรับมือปัญหาดังกล่าวหลากหลายรูปแบบ ทั้งการปราบปราม ป้องกัน และดูแลผู้เสพยาเสพติด อาทิ สมัยรัฐบาลทักษิณ มีการใช้นโยบายที่ต้องการยุติปัญหายาเสพติดในระยะเวลาอันสั้น ด้วยการปราบปรามผู้ค้ายาเสพติดอย่างรุนแรง, สมัยรัฐบาลอภิสิทธ์ ให้ความสำคัญกับการรับมือกับปัญหา โดยเน้นไปยังการปรับโครงสร้างของระบบของราชการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ให้มีอำนาจในการดำเนินการครอบคุลมทั้งระดับส่วนกลาง ระดับภูมิภาค และระดับจังหวัด
สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เน้นให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนทัศนะการมองผู้เสพเป็นผู้ป่วยที่ต้องได้รับการดูแลจากสังคม
ส่วนในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ มีแนวทางแก้ไขปัญหา มองผู้เสพเป็นผู้ป่วยเช่นเดียวกัน แต่มีการแก้กฎหมายให้ผู้เสพเข้าถึงการรักษาหรือบำบัดในโรงพยาบาลของรัฐได้มากขึ้น รวมถึงส่งเสริมพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้เสพภายหลังได้รับการบำบัด ด้วยการช่วยหาอาชีพ พัฒนาทักษะ และเพิ่มโอกาสทางการศึกษา
นอกจากนี้ ล่าสุดหลังเกิดโศกนาฏกรรมที่หนองบัวลำภู รัฐบาลยังให้ความสำคัญกับการรับมือปัญหาในระดับชุมชนมากขึ้น โดยได้มีการมอบแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดของกระทรวงมหาดไทยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ไปปฏิบัติ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงพัฒนาการในด้านนโยบายและการรับมือปัญหายาเสพติดของสังคมไทยที่ดีขึ้นเป็นลำดับ
โดยเฉพาะแนวทางในการจัดตั้ง “ศูนย์ฟื้นฟูชุมชน” หรือ “ศูนย์ฟื้นฟูสภาพสังคม” ในระดับชุมชน ที่กระทรวงมหาดไทยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นส่วนสำคัญในการรับมือ จัดการ และแก้ไขปัญหายาเสพติดตามแนวทางของแต่ละชุมชน เพราะเชื่อว่าชุมชนมีศักยภาพและเป็นหน่วยทางสังคมที่อยู่ใกล้ชิดกับปัญหานี้มากที่สุด ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการปรับการมองปัญหาของรัฐบาลที่มองเพียงบนลงล่าง สู่การมองจากล่างขึ้นบนมากขึ้น ซึ่งในอดีตไม่ได้เน้นการปรับโครงสร้างด้านล่างมากนัก ส่งผลให้ปัญหายังคงวนเวียนอยู่เหมือนเดิม
เช่น ผู้ที่เคยติดยาเสพติดแล้ว เมื่อเข้าสู่กระบวนการบำบัดยาเสพติดของรัฐแล้ว กลับมาอยู่ในชุมชน ผู้ที่ผ่านการบำบัดจำนวนมากกลับมาติดยาเสพติดอีก กลายเป็นโจทย์ใหญ่ที่รัฐบาลและหน่วยงานภาครัฐต้องคลี่คลาย
ปัญหานี้มีที่มาจากหลายปัจจัย ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็น “ปัญหาใจกลาง” และ “ปัจจัยแวดล้อม” ที่ทำให้กระบวนการแก้ปัญหายาเสพติดไม่ประสบความสำเร็จตั้งแต่รากถึงโคนถึงยอด เช่น
1. ชุมชนยังมีการยอมรับผู้ที่หายจากอาการติดยาเสพติดน้อย
2. ในชุมชนยังมีผู้ที่ติดยาเสพติดอยู่ ซึ่งส่งผลต่อการกลับมาติดซ้ำใหม่ของผู้เสพยาที่ได้รับการบำบัดแล้ว
3. ชุมชนไม่มีโครงสร้างในการรับมือปัญหายาเสพติดที่เป็นระบบ และมีลักษณะในเชิงรับมากกว่าเชิงรุก ซึ่งเน้นการเฝ้าระวังเป็นสำคัญ แต่ไม่มีกระบวนการทางสังคมและเศรษฐกิจในชุมชนเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนที่ได้รับการบำบัดแล้ว หรือมีความเสี่ยงในการเข้าสู่ยาเสพติด
และ 4. ชุมชนมีบุคลากรไม่เพียงพอต่อการรับมือปัญหายาเสพติด ทั้งคนในชุมชนและคนของภาครัฐที่ทำงานร่วมกับชุมชน
นอกจากนั้น การจัดตั้ง “ศูนย์ฟื้นฟูชุมชน” ผ่านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งให้ชุมชนเป็นผู้รับมือปัญหายาเสพติดในทิศทางของแต่ละชุมชนเอง อาจมีข้อท้าทายบางประการ
ข้อแรก รัฐควรมีแผนงานและกลไกเบื้องต้นมอบให้ชุมชนด้วย นอกจากให้แนวทางกว้างๆ มาเป็นข้อๆ รวมถึงขั้นตอนและการจัดสรรงบประมาณและบุคลากรในการให้ความรู้ หรืออบรมให้สอดคล้องกับงานของชุมชนนั้นๆ เพื่อช่วยให้ชุมชนสามารถออกแบบ สร้างแนวทาง รับมือ จัดการและแก้ไขปัญหายาเสพติดร่วมกับหน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบได้อย่างเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพสูงสุด
ข้อที่สอง หากให้ความสำคัญที่ชุมชนเป็นสำคัญด้วยมีการจัดตั้ง “ศูนย์ฟื้นฟูชุมชน” ควรมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาสังคมและคุณภาพชีวิตของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เข้าไปเป็นหน่วยงานสำคัญในการผลักดัน ขับเคลื่อน และดำเนินการแนวทางนี้ ร่วมกับกระทรวงยุติธรรม กระทรวงสาธารณสุข และ ป.ป.ส. ด้วย
ข้อสาม แม้รัฐบาลเน้นเรื่องความคล่องตัวในการใช้งบประมาณ เช่น ถ้าเกิดว่าองค์กรปกครองท้องถิ่นใดที่ไม่ได้ตั้งงบหรือไม่มีงบ ให้ไปของบจากหน่วยงานอื่นได้ ซึ่งแน่นอนชี้ให้เห็นว่าต้องการให้ความสำคัญกับแนวทางนี้ แต่ก็ชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลควรให้มีการตั้งงบประมาณประจำปีให้กับองค์กรปกครองท้องถิ่นอย่างเท่าเทียมกันในการรับมือ จัดการ และแก้ไขปัญหานี้ เพื่อให้แนวทางดังกล่าวนี้ไม่ขาดตอน มีความต่อเนื่องและสามารถนำไปสู่การแก้ไขปัญหานี้ได้
ดังนั้น เพื่อให้แนวทางดังกล่าวเป็นรูปธรรมมากขึ้น จึงเสนอแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดภายใต้แนวความคิดฟื้นฟูชุมชน ให้มีแบบแผนและยุทธ์ศาสตร์ ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่
1. การจัดการปัญหาในระยะสั้น เช่น จัดตั้งศูนย์คัดกรองเพื่อคัดกรองและประเมินการติดยาเสพติดและพฤติกรรมใช้ความรุนแรง ให้มีการบำบัด ส่งรักษาผู้ที่ติดยาเสพติดและหาอาชีพที่เหมาะสมให้กับผู้ได้รับการบำบัดแล้ว หรือผู้ที่มีความเสี่ยงในชุมชน อำเภอและจังหวัดนั้นๆ
2. การจัดการปัญหาในระยะกลาง เช่น มีสภาชุมชนเพื่อรับฟัง สร้างกระบวนการเปิดใจกับปัญหาของผู้ที่ติดยาเสพติด รวมถึงการลดการใช้ความรุนแรงภายในชุมชนและแก้ไขปัญหาความขัดแย้งต่างๆ ที่นำมาสู่การเข้าสู่ยาเสพติดและการใช้ความรุนแรงในชุมชน
3. การจัดการปัญหาในระยะยาว เช่น สนับสนุนงบประมาณและบุคลากรที่มาจากชุมชนในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดโดยเฉพาะอย่างต่อเนื่อง และมีความร่วมมือกับหน่วยงานหรือองค์กรของต่างประเทศในการจัดการปัญหายาเสพติด อาทิ มีการจัดอบรมผลิตบุคลากรจากชุมชนการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างเป็นระบบ
อีกทั้งรัฐบาลควรส่งเสริมให้ชุมชนมีการจัดตั้ง “ชุมชนรับมือความขัดแย้ง ความรุนแรง และปัญหายาเสพติด” โดยมีทั้งระดับหมู่บ้าน, ตำบล, อำเภอ และจังหวัด โดยอาจจะมีชุมชนตัวอย่างเพื่อให้อีกชุมชนหนึ่งมาศึกษาดูงาน แล้วนำไปปรับใช้กับชุมชนตัวเองได้
สุดท้ายแล้ว รัฐบาลควรมีแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดที่เริ่มจากภาคชุมชนเป็นหลัก เพื่อให้สังคมนี้สามรถรับมือปัญหายาเสพติดและความรุนแรงได้อย่างยั่งยืน