แม่ทัพภาค 4 สั่งทุกหน่วยร่วมงานรำลึก พร้อมถอดบทเรียน 18 ปีตากใบ ปล่อยลูกโป่งสีขาว สัญลักษณ์สันติภาพ ผบ.ฉก.นราธิวาส ลั่นต้องยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง ขณะที่ “ก๊ะแยนะ” เผยความในใจครอบครัวเหยื่อ “ไม่ติดใจ แต่ไม่ลืม” ขณะที่อดีต กสม. “อังคณา นีละไพจิตร” กระตุกเตือน การละเมิดสิทธิมนุษยชนยังไม่หยุด “บีอาร์เอ็น” ออกแถลงการณ์ประณามรัฐ ย้อนถึงยุคทักษิณ
เมื่อเวลา 10.30 น.วันอังคารที่ 25 ต.ค.65 ที่ โรงเรียนตาดีกาอิฮซัน บ้านจาเราะ หมู่ 1 ต.ไพรวัน อ.ตากใบ จ.นราธิวาส พล.ต.เฉลิมพร ขำเขียว ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 15 / ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส เป็นผู้แทน พล.ท.ศานติ ศกุนตนาค แม่ทัพภาคที่ 4 / ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 เป็นประธานงานในพิธีรำลึกและทำบุญละหมาดฮายัตอุทิศแด่ผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ตากใบและร่วมจัดงานรำลึกครบรอบ 18 ปี เหตุการณ์ตากใบ ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 25 ต.ค.47
ทั้งนี้ มีญาติผู้ได้รับผลกระทบ พี่น้องชาวอำเภอตากใบ เจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง พร้อมด้วย องค์กรภาครัฐ องค์กรภาคประชาสังคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมกิจกรรม
ภายในงานมีพิธีทำบุญจัดเลี้ยงอาหาร และร่วมประกอบพิธีละหมาดฮายัต เพื่ออุทิศแด่ผู้ล่วงลับ ท่ามกลางสายฝนที่โปรยปราย และกำลังใจจากผู้ที่ไปร่วมงานมอบให้แก่กัน นอกจากนี้ยังมีการพูดคุยกระชับความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับเจ้าหน้าที่ โดยทุกฝ่ายได้นำเหตุการณ์ความสูญเสียดังกล่าวมาเป็นบทเรียนในการแก้ไขปัญหา และหันมาร่วมมือเดินหน้าเพื่อสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นต่อไป
พล.ต.เฉลิมพร กล่าวว่า การมาร่วมกิจกรรมในวันนี้ เป็นการสร้างขวัญ และกำลังใจแก่ญาติผู้เสียชีวิต พร้อมทั้งพี่น้องประชาชนในพื้นที่ อ.ตากใบ ซึ่งเหตุการณ์ที่ผ่านมาถือเป็นบทเรียนที่ทุกฝ่าย ทั้งเจ้าหน้าที่และประชาชนต้องนำมาไตร่ตรอง ทบทวน และนำไปประยุกต์ปฏิบัติให้อยู่ภายใต้ศาสนา มีเหตุและผลบนพื้นฐานของความเป็นจริง
“ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่รัฐจะต้องยึดมั่นเอาประชาชนเป็นศูนย์กลาง พี่น้องประชาชนผู้บริสุทธิ์จะต้องไม่ได้รับความเดือดร้อน ตามนโยบายของแม่ทัพภาคที่ 4 ที่ ที่ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลางเพื่อสร้างความสุข สร้างสันติสุข เพื่อต้องการให้น้องประชาชนทุกศาสนา สามารถอยู่ร่วมกันได้บนพื้นฐานของความหลากหลายทางพหุวัฒนธรรม เจ้าหน้าที่ทุกนายต้องเคารพกฎหมาย เคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ พร้อมเป็นที่พึ่งให้พี่น้องประชาชนในทุกโอกาส” ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส กล่าว
โอกาสนี้ พล.ท.ศานติ ได้สั่งการให้ดูแลความปลอดภัยให้กับชาวบ้าน เพื่อไม่ให้บุคคลที่สามมาก่อกวนให้งานทำบุญมีภาพไม่ดีออกไป เพราะประชาชนต้องการทำบุญ รัฐต้องช่วยส่งเสริม ไม่ต้องการให้งานทำบุญที่ประชาชนตั้งใจ มีภาพที่ไม่ดีมาเกี่ยวข้อง ประชาชน เพราะประชาชนต้องการความสงบและอยู่อย่างสันติ
@@ ไม่ติดใจ แต่ไม่ลืม
ด้านนางแยนะ สะแลแม แกนนำสตรีเหยื่อเหตุการณ์ตากใบ กล่าวว่า วันนี้ทางผู้สูญเสียได้มีการจัดกิจกรรมเหมือนเดิมทุกปี ละหมาดฮายัต ขอดุอาอ์ให้กับผู้สูญเสียและครอบครัว รวมทั้งขอให้บ้านเราเกิดความสงบ เราขอทุกปีให้เกิดความสงบ แม้มันยังไม่สงบ คิดว่าสักวันที่นี้จะเกิดความสงบ
“นอกจากนั้น มีการระดมทุนจัดเลี้ยงอาหาร ปีนี้ทำข้าวหมกเนื้อวัว เพราะชาวบ้านเรียกร้องขอกินข้าวหมกบ้าง ผู้มาร่วมกิจกรรมมีการถอดบทเรียน 18 ปีตากใบ กิจกรรมวันนี้เราจัดขึ้นเพื่อไม่ให้ทุกฝ่ายลืมวันนี้ แม้ทั้งหมดทุกคนไม่ได้ติดใจอะไรแล้ว แต่เราก็ไม่ลืมว่าเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น”
นางแยนะ กล่าวด้วยว่า งานที่จัดขึ้น ฝ่ายรัฐก็ให้การสนับสนุนเหมือนเดิม แม่ทัพคนใหม่สั่งการทุกหน่วยงานให้มาร่วมกิจกรรมและอำนวยความสะดวกทุกด้าน ตั้งแต่เตรียมงานจนถึงเสร็จกิจกรรม เมื่อวานมีการเรียกประชุม มีรองแม่ทัพมาเป็นหัวหน้าในการวางแผนงาน พร้อมมาตรวจพื้นที่ที่จะจัดงาน จบงานวันนี้จะมีการปล่อยลูกโปงสีขาว เพื่อแสดงถึงสันติภาพ เพราะเราต้องการสันติสุข
“แม้กิจกรรมวันนี้ หน่วยระดับพื้นที่ยังกังวลว่าจะมีการชูธงเหมือนเยาวชนสายบุรี ก็ได้บอกเจ้าหน้าที่ระดับพื้นที่ไปว่า ถ้าก๊ะนะ (หมายถึงป้าแยะนะ) จะชูธง ก็จะชูธง ไทย จะไปชูธงอื่นทำไม แม้เจ้าหน้าที่ระดับบน แม่ทัพหรือหน่วยอื่นส่งเสริมให้จัด แต่ระดับล่างก็กังวลเรื่องนี้”
@@ “อังคณา” จี้หยุดละเมิดสิทธิ หยุดเก็บ DNA เด็ก
นางอังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เผยถึงวันครบรอบเหตุการณ์ตากใบว่า ความรู้สึกของคนในพื้นที่ ต่อการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐ คงไม่สามารถลืมไปจากความรู้สึกของประชาชนได้ รวมถึงประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของชาวบ้านที่ยังมีอยู่ เพราะปัจจุบันมีการใช้กำลังปราบปรามมากขึ้น มีการเสียชีวิตปริศนา เป็นการทรมานที่ไม่มีบาดแผลให้เห็น การร้องเรียนในลักษณะนี้ กรรมการสิทธิฯไม่สามารถตรวจสอบพยานหลักฐานได้ ที่ผ่านมาพยายามเรียกร้องให้มีการติดกล้อง CCTV หรือกล้องวงจรปิดในศูนย์ซักถาม แต่ก็ยังไม่เกิดขึ้น 100%
“ทุกวันนี้ฝ่ายความมั่นคงพยายามเก็บ DNA (สารพันธุกรรม) เด็กที่เกิดจากกลุ่มคนเป้าหมายในพื้นที่ ซึ่งมันขัดกับหลักสิทธิมนุษยชนเป็นอย่างมาก เนื่องจากเด็กที่คลอดออกมาไม่รู้เรื่องอะไร การกระทำลักษณะนี้ต้องเป็นประโยชน์สูงสุดกับเด็กเท่านั้น แต่การกระทำแบบนี้จะถือว่าเป็นการตีตราเด็กตั้งแต่เกิด”
@@ บีอาร์เอ็นผสมโรงร่วมประณามรัฐเหตุตากใบ
เมื่อวันที่ 24 ต.ค.65 ทางฝ่ายข้อมูลข่าวสารของขบวนการบีอาร์เอ็น ได้มีการเผยแพร่คลิปวิดีโอผ่าน Youtobe ในชื่อผู้ใช้ว่า “anak patani” เป็นแถลงการณ์เกี่ยวกับวันครบรอบ 18 ปี เหตุการณ์นองเลือดตากใบ เมื่อวันที่ 25 ต.ค.2547
เนื้อหาโดยสรุปกล่าวถึงอ้างความโหดเหี้ยมของรัฐบาลไทยที่ทำร้ายชาวมุสลิมที่กำลังอยู่ในช่วงปฏิบัติศาสนกิจการถือศีลอด ซึ่งขณะนั้นอยู่ใช่วงเดือนรอมฎอน ทั้งที่ชาวบ้านไปชุมนุมกันอย่างสงบที่หน้าสถานีตำรวจตากใบ มีการสังหารอย่างไร้มุนษยธรรม เป็นการละเมิดสิทธิที่ไม่มีวันลืม ที่เกิดขึ้นภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร
ทั้งยังกล่าวย้อนถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันดังกล่าว โดยระบุว่า เป็นประวัติศาสตร์ด้านมืด และคดีก็จะหมดอายุความในอีก 2 ปี จนถึงบัดนี้ผู้ที่ออกคำสั่งในการสังหารและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องก็ยังไม่มีใครรับโทษแม้แต่คนเดียว เป็นอาชญากรมนุษยธรรมที่ควรถูกดำเนินคดีที่ศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) ขอให้สังคมปาตานีต่อสู้ เพื่อให้คดีอาญามนุษยธรรมและการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานนี้ไม่มีวันหมดอายุความตามกฎหมายอาญาของประเทศไทย
พวกเราเชื่อว่า สันติภาพในดินแดนปาตานีไม่อาจจะเกิดขึ้นในเมื่อชาติปาตานียังถูกคุกคาม และไม่มีแนวทางแก้ไขทางการเมืองโดยเปิดพื้นที่ให้แก่ชุมชนปาตานีในการกำหนดชะตากรรมและอนาคตด้วยตนเอง ซึ่งสอดคล้องกับปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน
คำแถลงลงท้ายว่า ปฏิวัติ ปฏิวัติ ปฏิวัติ จนกว่าพวกเราประสบความชัยชนะ
@@ ย้อนเหตุการณ์ตากใบ
สำหรับเหตุการณ์ตากใบ “ศูนย์ข่าวภาคใต้ สำนักข่าวอิศรา” ได้รวบรวมสาระสำคัญและลำดับเหตุการณ์เอาไว้
โดยในช่วงเช้าของวันที่ 25 ต.ค.47 ที่หน้า สภ.ตากใบ จ.นราธิวาส ที่ได้มีชาวบ้านไปรวมตัวชุมนุมกันเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) จำนวน 6 คนที่ถูกทางการจับกุมตัว เพราะปล่อยปละละเลยให้ปืนของทางราชการถูกปล้น ตอนแรกชาวบ้านที่มารวมตัวมีไม่มาก แต่มีการบอกปากต่อปากกันทำให้มีคนไปร่วมมากขึ้นเป็น 1,000 กว่าคน ทำให้เจ้าหน้าที่ทหารต้องเคลื่อนกำลังเข้าปิดล้อมพื้นที่หวั่นเหตุชุลมุน
ในช่วงดังกล่าวได้มีกระสุนปริศนาดังขึ้น ทำให้เจ้าหน้าที่ติดสินใจเข้าสลายการชุมนุม และบังคับให้ผู้ชุมนุมทุกคนหมอบราบลงกับพื้น แยกผู้หญิงออกจากพื้นที่ ส่วนผู้ชุมนุมชายถูกสั่งให้ถอดเสื้อ นำไปมัดมือไพล่หลัง กวาดจับได้กว่า 1,370 คน แล้วลำเลียงขึ้นรถยีเอ็มซีเกือบ 30 คัน โดยจัดเรียงให้นอนคว่ำซ้อนกันเป็นชั้นๆ แล้วเดินทางจากหน้า สภ.ตากใบ ไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เป็นระยะทางกว่า 150 กิโลเมตร ใช้เวลานานกว่า 6 ชั่วโมง
โดยการเรียงซ้อนของผู้ที่ถูกคสบคุมตัวบนรถยีเอ็มซี ที่อยู่ท่ามกลางอากาศร้อนและอยู่ในช่วงเดือนถือศีลอดของพี่น้องมุสลิม ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากถึง 85 คน เป็นการเสียชีวิตขณะลำเลียงขนส่ง 78 คน เสียชีวิตในที่ชุมนุมระหว่างการสลายการชุมนุม 6 คน และไปเสียชีวิตที่โรงพยาบาล 1 คน ส่วนคนที่รอดชีวิตจำนวนหนึ่งกลายเป็นคนพิการ เช่น กล้ามเนื้ออ่อนแรงจากการถูกกดทับเป็นเวลานาน
ส่วนคดีการเสียชีวิตมีการไต่สวนการตายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (กระบวนการก่อนการสอบสวนและส่งฟ้อง) เนื่องจากเป็นการตายระหว่างถูกควบคุมโดยเจ้าหน้าที่ที่กระทำการตามกฎหมาย โดยศาลมีคำสั่งในสำนวนไต่สวนการตายว่า ผู้ชุมนุม 78 คนเสียชีวิตเพราะ "ขาดอากาศหายใจ" โดยยังไม่พบหลักฐานผู้อื่นกระทำให้ตาย ต่อมาพนักงานสอบสวนและอัยการมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง ทำให้คดีสิ้นสุดลง
ในคดีที่ญาติผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับบาดเจ็บยื่นฟ้องเพื่อให้รัฐจ่ายเงินชดเชยเยียวยา คดีจบลงที่การประนีประนอมยอมความ โดยกระทรวงกลาโหมจ่ายค่าสินไหมทดแทนรวม 42 ล้านบาทให้กับญาติผู้เสียหาย 79 ราย ต่อมาศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ในยุคที่ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เป็นเลขาธิการ ได้ประกาศจ่ายเงินเยียวยาผู้เสียหายเพิ่มอีกให้ได้รายละ 7.5 ล้านบาท และผู้บาดเจ็บรายละ 500,000 บาท