พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ ผู้ช่วย ผบ.ทบ. และอดีตแม่ทัพภาคที่ 4 เปิดใจครั้งแรกหลังพักรักษาตัวครบ 90 วัน ออกจากโรงพยาบาลมาทำงานปกติ หลังเกิดเหตุเฮลิคอปเตอร์ลงจอดฉุกเฉินที่ อ.เทพา จ.สงขลา เมื่อ 15 ก.ค.65
“บิ๊กเกรียง” เล่าย้อนถึง “งานหิน” แก้ปัญหาไฟใต้ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะเหตุการณ์ปิดล้อม ปะทะ วิสามัญฯ นับครั้งไม่ถ้วน แม้ด้านหนึ่งจะเป็นผลงานเด่น และฝ่ายความมั่นคงเรียกปฏิบัติการนี้ว่า “การบังคับใช้กฎหมาย” แต่อีกด้านก็ถูกตั้งคำถามเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน และการไม่ยึดมั่นสันติวิธีด้วยเช่นกัน
มุมมองของอดีตแม่ทัพในเรื่องนี้เป็นอย่างไร ติดตามได้ในสัมภาษณ์เปิดใจครั้งนี้
@@ การแก้ปัญหาไฟใต้ 2 ปีที่ดำรงตำแหน่งแม่ทัพ คิดว่าก้าวหน้าอย่างไรบ้าง?
ผมคงประเมินตัวผมเองไม่ได้มากขนาดนั้น แต่ถ้าให้ประเมินตัวผมเอง ผมก็คิดว่ามีความก้าวหน้าในการทำงานตามนโยบายของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในยุทธศาสตร์ 20 ปี
ประเด็นที่สำคัญคือความต่อเนื่องของนโยบาย โดยเฉพาะการน้อมนำยุทธศาสตร์พระราชทาน “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” และที่เราดำเนินการมาในห้วง 2 ปี ผมเปิดโอกาสให้พี่น้องประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม เข้ามามีบทบาทในการแก้ไขปัญหาเพิ่มมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการเปิดเวที ไม่ว่าจะเป็นเวทีสภาสันติสุขตำบล นำมาสู่เวทีประชาธิปไตยตำบล คณะที่ปรึกษาของคณะพูดคุยฯ (คณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้) ที่เราเปิดโอกาสให้กลุ่มเห็นต่างและกลุ่มภาคประชาสังคมต่างๆ พี่น้องประชาชนทั้งพุทธมุสลิม 8-9 กลุ่มได้มีโอกาสในการแสดงความคิดเห็น ได้มีโอกาสในการรับรู้ในนโยบายของรัฐที่จะต้องนำไปสู่การปฏิบัติ ได้มีโอกาสในการสะท้อนความต้องการของพี่น้องประชาชน
สำหรับความก้าวหน้าหรือความสำเร็จในการแก้ไขปัญหา ในมุมมองของผมเองในห้วง 2 ปีที่ผ่านมาเรามีสถานการณ์เพิ่มขึ้นก็คือสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งเราจะต้องช่วยรัฐบาล ช่วยพี่น้องประชาชนในการป้องกันแก้ไขปัญหาโควิดนั้นด้วย เพราะฉะนั้นการกระทำดังกล่าวควบคู่กันไป เราได้รับความร่วมมือจากพี่น้องประชาชน เราก็เห็นว่าพี่น้องประชาชนประสบพบกับสิ่งที่ดีๆ การปราบปรามยับยั้งที่จะช่วยกัน ไม่ว่าจะตามแนวชายแดน การเข้าออกระหว่างไทย-มาเลเซียก็แล้วแต่ การใช้ชีวิตแบบ New Normal เราก็ได้รับความร่วมมือจากพี่น้องประชาชนไปถึงระดับรากหญ้า ระดับตำบล โดยเฉพาะอาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน หรือ อสม.ที่เข้าไปเราก็มีส่วนร่วมในการดำเนินการ
ประเด็นใดก็แล้วแต่ที่พี่น้องประชาชนมีความต้องการจะให้รัฐบาลทำ จะให้เราทำ ก็จะผ่านมาทางเวทีประชาธิปไตยตำบล ซึ่งมีการประชุมกันเป็นประจำผ่านคณะที่ปรึกษา ที่เราเรียกว่า สล.3 เป็นช่องทางอีกหลายช่องทางที่เปิดโอกาสให้พี่น้องประชาชนได้มีโอกาสมีส่วนร่วม ไม่ว่าจะเป็นการแสดงความคิดเห็น การเปิดเวที หรือการดำเนินกิจกรรม
ท่ามกลางสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีความงดงามอีกหลายสิ่งหลายอย่างที่เราค่อนข้างจะไม่ค่อยได้นำเสนอกัน โดนเฉพาะพหุสังคม พหุวัฒนธรรมในสิ่งดีๆ การท่องเที่ยว ในปัจจุบันเราจะเห็นว่ามีพี่น้องประชาชนจากท้องถิ่นอื่นๆ มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ เมื่อเราเปิดประเทศ นักท่องเที่ยวก็หลั่งไหลเข้ามาในพื้นที่เพื่อที่จะเก็บเกี่ยวเอาผลประโยชน์ทางธรรมชาติที่มีความสวยสดงดงาม เป็นอาหารทางจิตใจ ให้เขาเข้ามาท่องเที่ยวกันมากมายเพิ่มเติมขึ้น ทำให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่ได้มีโอกาสทางเศรษฐกิจ ได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
เหล่านี้คือสิ่งที่ผมมองเห็น สะท้อนย้อนกลับจากคำบอกเล่าของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ คิดว่าความสำเร็จตรงนี้ทำให้พี่น้องประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องการป้องกันไวรัสโคโรนา 2019 ในห้วง 2 ปีที่ผ่านมา
@@ ประเด็นของการวิสามัญฆาตกรรม (ปิดล้อม ตรวจค้น ยิงปะทะ) ปรากฏว่าในช่วง 2 ปีที่ผ่านมามีเคสเยอะเหมือนกัน ถูกนักสิทธิฯ ตั้งคำถาม ท่านมองอย่างไร?
ในเรื่องของการวิสามัญฯ มันไม่มีความปรารถนาของเจ้าหน้าที่รัฐเลยครับ เราต้องการสันติสุข เราไม่ต้องการความรุนแรง แต่ว่าในสถานการณ์ที่มันบีบรัดบางห้วงเวลา เราจะเห็นว่าเวลาเรามีเป้าหมาย ป.วิอาญา เป้าหมายทางความมั่นคง เราก็จะมีขั้นตอนในเรื่องของการให้มีการพูดคุยกัน โดยทั่วไปแล้วเราประชาสัมพันธ์ เรามีกลุ่มก้อนต่างๆ ของพี่น้องประชาชนที่ผมบอก ไม่ว่าจะเวทีประชาธิปไตยตำบล หรือว่าคณะที่ปรึกษาต่างๆ หลายคณะด้วยกัน เวลาเราเปิดเวทีให้พี่น้องประชาชนแสดงความคิดเห็น พวกเขาจะประชาสัมพันธ์ไปในเรื่องของการออกมารายงานตัวแสดงตนเพื่อที่จะยุติความรุนแรง เพื่อที่จะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เพื่อที่จะให้โอกาสพี่น้องเหล่านั้นที่เคยใช้ความรุนแรงกลับมาอยู่กับครอบครัว โดยอาศัยกระบวนการทางบ้านเมืองปกติ ทางกฎหมายที่จะให้ความเป็นธรรมต่อเขาเหล่านั้น
หลายกรณีที่เราประสบความสำเร็จ แต่กรณีที่เกิดวิสามัญฯ ขึ้นมา เราก็พยายามอย่างดีที่สุด อดทนอดกลั้น เราก็จะเห็นว่าไม่ว่าจะเป็นการปิดล้อมตรวจค้น เราก็จะมีจากเบาไปสู่หนัก มีการพูดคุยให้ผู้นำหมู่บ้าน ผู้นำชุมชน ผู้นำทางศาสนา ให้พ่อแม่ญาติพี่น้อง ผู้ใหญ่บ้าน กำนันมาช่วยพุดคุยหว่านล้อม ก็หลายเคส หลายกรณีมีความสำเร็จ มีการเดินออกมาแล้วหาแม่ โอบกอดกันอย่างดีใจ น้ำตาหลั่งไหล ก็ไม่เกิดการสูญเสีย
แต่เวลาเราเข้าไปเพื่อที่จะเจรจาให้เขาวางอาวุธออกมามอบตัว กรณีมีการโต้ตอบกลับมาด้วยอาวุธสงคราม เจ้าหน้าที่หลายคนต้องสูญเสียหลายกรณีเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นตรงนี้มันมีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการด้วยสิ่งที่เราไม่อยากให้เกิดขึ้น ไม่มีเจ้าหน้าที่คนใดหรอกครับที่อยากจะให้เกิดการวิสามัญฯ เกิดการสูญเสียขึ้น เราก็อยากจะให้เขาเหล่านั้นได้มีโอกาสได้มาใช้ชีวิตได้อย่างปกติ ถ้าเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเราพยายามที่สุด
เราเข้าใจในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนต่างๆ ที่ท่านพยายามเตือน ท่านพยายามที่จะให้สติกับเจ้าหน้าที่ อันนี้คือสิ่งที่เราเฆี่ยนตีกัน เจ้าหน้าที่คุณจะต้องไม่ทำอย่างนั้น จะต้องไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน เราก็พยายาม แล้วเราก็จะถ่ายทอดไปสู่ผู้ปฏิบัติหน้าแนว ว่า เฮ้ย! ไม่ได้นะ ไม่ได้นะ ไม่ได้นะ พอเราโดนยิงส่วนกลับมาเราสูญเสีย มันอยู่ในเหตุที่จะต้องมีการดำเนินการ ไม่เช่นนั้นแล้วเรื่องของการบังคับใช้กฎหมายก็ไม่มีประสิทธิภาพ ผมขอย้ำนะว่าไม่มีความปรารถนา ไม่ว่าจะยุคใด สมัยใดก็แล้วแต่ในการที่จะไปวิสามัญฯ
ผมเป็นคนดำเนินการ “โครงการพาคนกลับบ้าน” ตั้งแต่ยุคสมัย พล.อ.อุดมชัย เป็นแม่ทัพ (พล.อ.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ อดีตแม่ทัพภาคที่ 4) 93 คน วันที่ 11 ก.ย.2555 ผมก็เรียกว่า 11 กันยาฯเหมือนกัน 93 คน ผมก็จะเชิญเขาเมื่อครบ 11 กันยาฯ จะเชิญเขามานั่งรวมรับประทานอาหารกัน แล้วก็พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน คุยกันว่าเราจะทำอย่างไรกันดี จะให้พี่น้องของเราบางส่วนบางคนที่ยังไม่ได้ออกมาใช้ชีวิตปกติเช่นเรา ได้มีโอกาสออกมาบ้าง
ส่วนหนึ่งที่เราให้เขาไปในเพื่อนพ้องน้องพี่ที่ออกมารายงานตัวแสดงตนในห้วงแรกก็เข้าไปพูดคุย แล้วก็นำมาสู่การนำคนกลับบ้านมามากมายหลายคนทีเดียว นั่นคือความสำเร็จที่บางครั้งไม่ได้ถูกสื่อออกไป สื่อก็ไม่ได้สนใจ แต่ว่าบางเวลาเฉพาะในเรื่องของการปะทะ ผมก็เข้าใจในเรื่องของการทำข่าวอะไรต่างๆ ก็พยายามที่จะให้เรียนพี่น้องสื่อมวลชนว่า มีโอกาสได้นำเสนอในสิ่งงดงามในจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งมีอยู่เยอะทีเดียว เราก็จะพยายามจนที่สุด
ผมก็นำเรียนท่านแม่ทัพ พล.ท.ศานติ ศกุนตนาค ไปว่า ในเรื่องของสิ่งที่เราจะต้องระมัดระวังก็คือเรื่องที่กรรมการสิทธิมนุษยชนเป็นห่วงอยู่ ก็ต้องน้อมรับและพยายามอย่างถึงที่สุด
@@ ในส่วนของการปิดล้อม เราสามารปิดล้อมได้นานกว่านี้เพื่อที่จะยื้อเวลา ยืนยันว่าเรายึดหลักสันติวิธี หรือว่าในทางยุทธวิธีแล้วทำไม่ได้?
ได้ครับ เราสามารถที่จะปิดล้อมได้นาน อย่างในห้วงหนึ่งเราเคยใช้เวลา 10 กว่าวัน เราพยายามให้เขาได้มีโอกาสในการคิด ได้มีโอกาสในการพูดคุยกับญาติพี่น้อง ให้ญาติพี่น้องที่อยู่ข้างนอกได้มีโอกาสสื่อสารกันให้เขาได้ตัดสินใจในการที่จะมอบอาวุธ แล้วก็เดินออกมาเพื่อกลับสู่อ้อมกอดของครอบครัว อาจจะมีสิ่งที่ติดตามมาก็คือกระบวนการยุติธรรม ซึ่งก็มีขั้นตอนในการให้ความช่วยเหลือ ขั้นตอนในการที่จะดูแลกันอยู่แล้วในส่วนของเจ้าหน้าที่รัฐ
@@ ในส่วนของการวิสามัญฯ ทางทหารมีการทำความเข้าใจกับญาติอย่างไร เพื่อที่จะไม่ให้เข้าสู่วงจรความรุนแรง กลับมาแก้แค้นกันไปกันมา?
เราก็ดูแลนะครับ เราก็มีมวลชนของเรากลุ่มหนึ่งที่จะเข้าไปทำความเข้าใจ และก็มีเจ้าหน้าที่ประจำพื้นที่ ที่ผมนำเรียนก็คือ ในห้วงการประชุมสภาประชาธิปไตยตำบล หรือสภาสันติสุขตำบล เราก็ได้มีการชี้แจงเกิดเหตุที่ตรงไหน เราก็จะเข้าไปเปิด ไม่ต้องรอให้ครบเดือน เราก็จะเข้าไปเปิดโอกาส เปิดสภาสันติสุขตำบล เปิดสภาประชาธิปไตยตำบล เพื่อให้พี่น้องเหล่านั้นได้มีโอกาสมาพูดคุยกัน แล้วเราก็ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปเพื่อที่จะทำความเข้าใจ
ในส่วนหนึ่งก็มีพี่น้องมวลชนที่เข้าใจวิธีการปฏิบัติงานได้เป็นตัวเชื่อมระหว่างเรากับผู้สูญเสีย ผู้เสียหายว่าเราจะทำอย่างไรกับเขา ครอบครัวเขาเป็นอย่างไร มีความต้องการในขั้นต้นในเรื่องใดบ้าง ซึ่งจริงๆ เราไม่อยากให้เกิด
ผมเองก็หลายกรณีด้วยกัน แทบทุกกรณี ความสูญเสียส่วนหนึ่งผมต้องเข้าไปดู กระทำโดยที่เราไม่ค่อยได้สื่อสารประชาสัมพันธ์ เพราะมันไม่ใช่เรื่องที่เราจะต้องไปสื่อสารประชาสัมพันธ์ว่า เราไปเยียวยา เราไปดูแล้วอย่างนั้นอย่างนู้น มันเป็นหน้าที่ของเราที่เราจะต้องทำ ให้พี่น้องเหล่านั้นได้เข้าใจ ซึ่งก็เป็นปกติธรรมด ามีบางครอบครัวก็เข้าใจ บางครอบครัวก็ไม่เข้าใจ แต่ที่สำคัญก็จะมีคนเห็นต่างบ้างส่วนก็ปกติธรรมดาในเรื่องของความคิดเห็นที่แตกต่างกันไป พยายามที่จะสกัดกั้นไม่ให้เจ้าหน้าที่รัฐเข้าไป ก็ไม่เป็นไรเราก็ต้องไม่ละความพยายาม ก็จะต้องใช้ความพยายามของเจ้าหน้าที่รัฐ ใช้ความอดทนอดกลั้นในการที่จะเข้าไปเพื่อที่จะเยียวยาเขา
ส่วนพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบ อย่างกรณีที่จะนะ (อ.จะนะ จ.สงขลา) ที่ไปเหยี่ยบกับระเบิดแล้วขาขาด ผมก็ไปดู ไปสร้างบ้านให้เขาใหม่ เพื่อที่จะรองรับเวลาเขากลับมาใช้ชีวิตปกติแล้ว เขาจะใช้นั่งวีลแชร์เพื่อที่จะเข้าไปสู่สถาปัตยกรรมแบบใหม่ เพื่อให้เขาใช้ชีวิตได้ ผมก็นำเงินไปสู่การเยียวยาในส่วนของผมเอง เพื่อนพ้องน้องพี่ที่อยู่นอกวงการ ที่อยู่นอกพี้นที่เขาบอก พี่เกรียง...ผมช่วยด้วยนะ เอาอย่างนี้ไปมอบให้เขา เพื่อให้เขาได้เยียวยา รวมถึงพี่สาวที่เหยียบกับระเบิดในขณะตัดยาง เราก็มาฟื้นฟูท่านเพื่อที่จะให้สามารถที่จะใช้ชีวิต จะให้ท่านได้ใช้ขาเทียมแบบนวัตกรรมใหม่ที่โรงพยาบาลค่ายวชิราวุธของเราที่ จ.นครศรีธรรมราช เขาก็จะรับตัวท่านมาเข้าสู่กระบวนการที่จะฟื้นฟูในขั้นต่อไป
------------------------
ขอบคุณ : เผยแพร่ในรายการตัวจริงสนามข่าว เนชั่นทีวี โดย โชฏิมา จันทร์คง