เพาซี ยะซิง, รอฮานะ สิเดะ และ ณดา ยะซิง หรือ “น้องนาดา” เป็นครอบครัวผู้ผลิตสื่ออิสระ “กลุ่ม MOJO ชายแดนใต้” ที่เป็นหนึ่งในตัวอย่างที่ยืนยันว่า อาชีพสื่อมวลชนยังไม่ตายไปเพราะกระแส disruption หรือการบ่าท่วมของข้อมูลข่าวสารในโซเชียลมีเดีย หากนำเสนอข่าวสารอย่างมีสาระ สร้างสรรค์ และรับผิดชอบต่อสังคม
“กลุ่ม MOJO ชายแดนใต้” สร้างสื่อและสื่อสารด้วยมือถือ พลังการสื่อสารอยู่ในมือคุณ ทั้ง Mobile Journalism (MOJO) และเพจมารีมาย พวกเขาทำงานสื่อสร้างสรรค์ด้วยการนำเสนอเรื่องราวในพื้นที่ชายแดนใต้ผ่านช่องทางหลากหลายมานานหลายปี ปรับตัวปรับการทำงานทันทุกสถานการณ์ มีผลงานเป็นที่ยอมรับของพื้นที่และสังคม
เพาซี คลุกคลีงานด้านสื่อสารมานาน เมื่อรอฮานะตัดสินใจลาออกจากงานประจำมาช่วยงานของเพาซี ทำให้ทั้งคู่มีเวลาให้กับครอบครัวและทำงานควบคู่กันไปอย่างสมดุล
จนเมื่อลูกสาวคนเดียวของพวกเขา “นาดา” เริ่มสนใจและร่วมทำงาน ทำให้ครอบครัวนี้กลายเป็น “ครอบครัวสื่อ” ที่สามารถผลิตงานสร้างสรรค์จากพื้นที่ได้อย่างมีคุณภาพ ทำงานกับหลากหลายองค์กร
“งานของเพจ บายดีหม้าย เป็นงานที่ไม่ได้รู้จักกัน หากทีมงานเชื่อถือเราและให้การสนับสนุน เป็นการสื่อสารผ่านโซเชียลฯ เล่าเรื่องราวอะไรก็ได้ ครอบคลุมหลายมิติในพื้นที่ ทั้งภาพและคอนเทนท์ มีแอดมินดู เราทำมาจนทุกวันนี้ก็ 6 ปีแล้ว 1 คอนเทนท์ใช้ภาพ 7-8 ภาพ กับอีก 1 คลิปต่อเดือน ส่วนเพจกลุ่ม MOJO ชายแดนใต้ เริ่มจากคนทำสื่อทำโครงการลงพื้นที่สอนชาวบ้าน ให้ความรู้ เครื่องมือ พื้นที่กลางให้ชุมชน สอนเชิงเทคนิคในเรื่องการสื่อสาร ใช้มือถือเป็นหลัก ทำมา 5 ปี รับงานผลิตทั่วไป และวิทยากรสอนทำสื่อ ปัจจุบัน MOJO ชายแดนใต้ ได้จดทะเบียนเป็นกลุ่มกิจการเพื่อสังคม ” เพาซี เล่าถึงความเป็นมาเกี่ยวกับงานของตัวเขาและครอบครัว
“สิ่งที่ทำให้เราอยู่ได้คือ การทำงานเป็นครอบครัว ผม ภรรยา ลูกสาว เราทำงานด้วยกัน ลูกสาวก็มีเพจของเขา เป็นผลพวงมาจากการทำรายการเด็กมารีมาย ได้สื่อสารไป ตอนนั้นเขาเรียน ป.3 ตอนนี้อยู่ ม.1 เขาเริ่มสนใจละครสอนสังคมและเรื่องอาหาร อยากจะทำคอนเทนท์แบบนี้ เราไปทำอย่างอื่นไม่เป็น ต้องทำงานร่วมกัน ต่างคนต่างมีประสบการณ์ ความถนัดคนละแบบ ภรรยาจะเป็นคนจัดการกอง ประสานงาน ทำบท ผมทำงานถ่ายภาพและตัดต่อ รวมทีมเฉพาะกิจในแต่ละรายการ คนไหนถนัดมีศักยภาพด้านไหนมาร่วมกัน” เพาซี เล่า
เมื่อพวกเขาเป็น “ครอบครัวสื่อ” ทำให้ “บ้าน” จึงเป็นส่วนหนึ่งของที่ทำงานของครอบครัวนี้ เนื้องานกับชีวิตไปด้วยกัน
“ประหยัดต้นทุน ตื่นมาก็ทำงานได้เลย เป็นชีวิตประจำวัน แก้งาน คิดงาน เตรียมงาน กับออกนอกบ้านไปถ่ายงานเป็นอาทิตย์ ไปทั้งครอบครัวและเป็นกลุ่มไปทำงาน แล้วกลับมาอยู่บ้าน มีแพลตฟอร์ม มีช่องทางในการส่งงานส่งรายการ บางทีกลับมาแก้งาน จัดการชีวิตง่ายขึ้นเมื่ออยู่บ้านและด้วยเทคโนโลยี” เพาซี บอกถึงวิธีการทำงาน และกิจวัตรของ “ครอบครัวสื่อ”
“การทำงานมีการแข่งขันสูงในกระบวนการจัดหาข้อมูล หาพื้นที่แปลงเป็นคอนเทนท์ สิ่งที่อยากทำต้องมีความรู้เป็นพื้นฐาน มีชุดข้อมูล อย่างทำรายการเด็ก แต่ไม่รู้พื้นฐานจิตใจของสารคดีเด็ก หัวใจของรายการคืออะไร ถ้าเราไม่รู้ตรงนี้ก็ตั้งต้นไม่ได้” เพาซี พูดถึงความท้าทายของงานที่ทำ
พร้อมยกตัวอย่าง รายการ “มารีมาย มาเล่นกันเถอะ”
“เป็นรายการเด็กบวกวัฒนธรรม เพื่อให้เด็กดู มีความสนุก ชุดข้อมูลการเล่าเรื่องควรใส่กี่เปอร์เซ็นต์ ความสนุกสูงนิดหนึ่ง ต้องบาลานซ์ให้ดี เทคนิคแบ่งเป็นซีเควนซ์ 2-3 ส่วน การเล่า เปิดตัวละคร ประเด็น ดีไซน์ให้แตกต่าง มีตัวอย่างแรงบันดาลใจ เราเคยทำรายการ Culture Spy Kids สายลับสืบวัฒนธรรม อย่างทุ่งแสงตะวันก็เล่าเรื่องอีกแบบ เราก็ทำให้แตกต่าง มีองค์ความรู้ให้เด็ก การถอดบทเรียน ทัศนคติของเด็ก ให้เด็กดูจริงๆ ต้องเข้าใจจิตวิทยาเด็ก ศาสตร์แต่ละศาสตร์ไม่เหมือนกัน”
ขณะที่ รอฮานะ กล่าวเสริมว่า โชคดีที่ครอบครัวของเธอเป็นเหมือน โปรดักชั่น เฮาส์ เล็กๆ ในพื้นที่ ทำให้ได้รับโอกาสมากกว่าในการให้เสนอมุมมองของตัวเองที่คนอื่นมองไม่เห็น
“ความเป็นตัวตนของเรา เป็นช่องทางที่เราทำได้ เราสื่อสารตัวเอง เราเสนอจะทำทั่วประเทศ พี่คนหนึ่งบอกว่าทำในมิติตัวเองในการเปิดพื้นที่ที่เราเชื่อว่ารู้สึก แล้วก็ใช่ เมื่อคนพื้นที่ทำและเข้าใจพื้นที่ ไม่เหมือนคนนอกพื้นที่มาทำ ในมิติการพูดคุย ความไว้วางใจ สีหน้า ทำรายการเด็กๆ ต้องไว้ใจ ดูจากสายตาเขาออก สายตาสามารถสื่อทุกอย่าง เขาเห็นว่าสายตาเด็กในพื้นที่เราบริสุทธิ์จริงๆ พอออนแอร์ไป ก็ได้รับการตอบรับจากเด็กๆ ดีมาก เราทุ่มเทให้เป็นแบบนี้ ตั้งแต่การทำเดโม รายงาน ปรุงแต่งมาเป็นแบบนี้ พี่ๆ ไทยพีบีเอส (สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส)) สอนเราเยอะ ใช้ต้นทุนที่มีที่ดีที่สุด คุณภาพและปริมาณต้องควบคู่กัน และในปีนั้น อัลลอฮ์พระผู้เป็นเจ้าให้โอกาสกับพวกเราได้ไปเยือน ทำอุมเราะฮ์ที่นครมักกะฮ์ด้วยงบนี้ นาดาก็ได้ไปด้วย มันสมบูรณ์แบบสวยงามในการทำงานที่ไปจบตรงนั้น”
เพาซี เล่าเพิ่มถึงน้องนาดา กับโอกาสของการเป็นผู้ถ่ายทอดเรื่องราวในมุมของเด็กท้องถิ่นจากปลายด้ามขวาน
“ทางสำนักรายการไทยพีบีเอสบอกว่า เป็นรายแรกที่เป็นรายการเด็กท้องถิ่น เมื่อก่อนให้เด็กเป็นตัวหลัก เขาบอกต้องมีคนเดินเรื่อง ไม่รู้จะเอาใคร เขาบอกเอาน้องนาดาก็ได้ การเล่าเรื่องจะขยับได้ จึงเป็นรายการแรกที่พิธีกรเด็กคลุมฮิญาบ เป็นโมเดลที่ไทยพีบีเอสจะเป็นช่องทางให้ภูมิภาคอื่น ให้คนได้เห็นความหลากหลายของประเทศ การเปิดใจยอมรับ มีคอมเมนท์ให้กำลังใจมาหลากหลาย แต่มีเชิงบวกมามากกว่า เช่น พี่นาดามาทำอะไรที่ กทม. มีแฟนคลับใน กทม.ที่เป็นพุทธส่งกำลังใจมาให้เสมอ เวลาออนแอร์เขาจะเอาผ้าคลุมมาใส่ว่าเขากำลังดูนาดา แล้วส่งมาทางเพจ ทำให้เรามีพลัง เราเห็นมิติโครงสร้างทางสังคม ได้ทำความเข้าใจว่าในพื้นที่ เราใช้ชีวิตปกติและใช้ภาษาถิ่น ได้เปิดพื้นที่ มีโอกาสเสนอมุมมองของท้องถิ่น บ้านเรามีวัตถุดิบทำสารคดีอีกเยอะมากที่บางคนเอื้อมไม่ถึง เราทำหน้าที่ตรงนี้ได้ดีที่สุด”
ความตั้งใจจริงของครอบครัวยะซิง ทำให้ รายการ “มารีมาย มาเล่นกันเถอะ” ได้รับรางวัลนกฟ้า ประเภทสื่อท้องถิ่น จากโครงการรางวัลเชิดชูเกียรติสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เพื่อรณรงค์ส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ประจำปี พ.ศ.2563 โดย กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ หรือ “โครงการนกฟ้า” เป็นโครงการตามแผนงานของคณะอนุกรรมการเกี่ยวกับการเฝ้าระวังสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ โดยความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายมหาวิทยาลัย 24 แห่งทั่วประเทศ เพื่อรณรงค์ส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ รวมถึงกระตุ้นให้ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อ ผู้ผลิตสื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ มีความภาคภูมิใจ และได้รับการเชิดชูเกียรติ เป็นต้นแบบที่ดีของสังคม และขยายผลให้เกิดสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์อย่างกว้างขวางต่อไป
เพาซี เผยความรู้สึกว่า คิดลึกๆ ตอนทำงานอยากให้รายการนี้ได้สักรางวัล จนเมื่อคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ถามมาว่าจะส่งรายการเข้าประกวดรางวัลนกฟ้าของกองทุนสื่อสร้างสรรค์มั้ย เราก็ตอบรับ เขาจึงส่งรายการนี้ไป เพราะเป็นผลงานของเขา ซึ่งปีนี้เป็นการจัดงานที่ใหญ่ มี 900 กว่าทีมทั่วประเทศส่งงาน ”มารีมาย” ได้รับคัดเลือกจนเป็น 1 ใน 3 ทีมของภาคใต้ เป็นการการันตีว่า “เราทำถูกต้องแล้ว เรามองมิติสื่อท้องถิ่นอีกแบบที่นำเสนอท้องถิ่นบ้านเรา เราเป็นสื่อท้องถิ่นที่สร้างสรรค์และปลอดภัย”
เพาซี ยังบอกถึงการเปิดเมืองปัตตานี เปิดพื้นที่ชายแดนใต้สู่การรับรู้และความเข้าใจของคนไทยทั่วประเทศและสังคมโลก ซึ่งสามารถใช้ศิลปะเป็นใบเบิกทาง
“การเปิดเมืองด้วยศิลปะ การลุกขึ้นมาจัดการตัวเองผ่านงานศิลปะ การจัดโครงสร้างงานสถาปัตย์ คนที่จะทำสามารถทำได้ในมิติที่ตัวเองถนัด อย่างกลุ่มมลายูลิฟวิ่ง ใช้ศาสตร์วิชาชีพเปิดพื้นที่ อีกหลายวิชาชีพมาร่วมกันผลักดัน ทำให้เปิดพื้นที่บ้านเราให้สังคมได้รับรู้เรื่องราวดีๆ อีกมาก เป็นสิ่งที่ต้องทำกันต่อไป”
สื่อสร้างสรรค์และปลอดภัย กับการขยายแง่งามของพื้นที่ คืออีกหนึ่งแรงผลักดันของการสร้างสันติสุขที่ยั่งยืน...