ใกล้สิ้นปีงบประมาณเต็มที...
30 กันยายนนี้ จะเป็นอีกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงผู้รับผิดชอบภารกิจดับไฟใต้ในส่วนของงานความมั่นคง
ปฏิเสธไม่ได้ว่าแม้จะมีความพยายามใช้แนวทาง “การเมืองนำการทหาร” แต่ทิศทางดับไฟใต้ของหลายๆ รัฐบาล โดยเฉพาะรัฐบาลชุดนี้ ใช้ “การทหารนำการเมือง”
แม่ทัพภาคที่ 4 ในฐานะผอ.รมน.ภาค 4 คุมกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) อีกที คือคนที่นั่งหัวโต๊ะในระดับพื้นที่ คุมทุกหน่วยงานในภารกิจดับไฟใต้ภายใต้กรอบ “บูรณาการ”
ปีนี้แม่ทัพภาคที่ 4 เปลี่ยนตัวจาก พล.ท.เกรียงไกร ศรีรักษ์ ซึ่งนั่งเก้าอี้มา 2 ปี เป็น พล.ต.ศานติ ศกุนตนาค ว่าที่แม่ทัพภาคที่ 4 คนใหม่
การเปลี่ยนตัวครั้งนี้ถือเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ เนื่องจากปีงบประมาณถัดไป คือปีงบประมาณ พ.ศ.2566 สถานการณ์ไฟใต้จะยืดเยื้อมานานครบ 19 ปี ก้าวขึ้นสู่ปีที่ 20 หากนับจากเหตุการณ์ปล้นปืนจากค่ายปิเหล็ง 413 กระบอก เมื่อวันที่ 4 ม.ค.2547 เป็นหมุดหมายเริ่มต้นนับหนึ่ง
หาก พล.ต.ศานติ (ซึ่งจะขยับยศเป็น พลโท ในวันที่ 1 ต.ค.65) นั่งเก้าอี้นี้ครบ 2 ปีเหมือนแม่ทัพรุ่นพี่ ก็จะคาบเกี่ยวห้วงเวลาไฟใต้ดำเนินมาครบ 2 ทศวรรษ หรือ 20 ปีพอดี
ความท้าทายของแม่ทัพคนใหม่ ก็คือ ไฟใต้จะดับได้หรือยัง และปัญหาอะไรที่ยังคาใจ อยากจะปัดเป่าให้พ้นไปจากดินแดนปลายด้ามขวาน
พล.ต.ศานติ ว่าที่แม่ทัพภาคที่ 4 คนใหม่ กล่าวกับ “ทีมข่าวอิศรา” ถึงความตั้งใจในภารกิจดับไฟใต้ และการสานต่องานจาก “แม่ทัพเกรียง” พล.ท.เกรียงไกร ศรีรักษ์ ที่กำลังจะขยับขึ้นพลเอก เข้าไลน์ 5 เสือ ทบ.
“สถานการณ์ในพื้นที่เริ่มดีขึ้นเป็นลำดับ ตั้งแต่อดีตท่านแม่ทัพภาคที่ 4 เป็นต้นมา เราจะเห็นได้ว่าห้วงที่ผ่านมา การก่อเหตุรุนแรงที่ทำให้เกิดการสูญเสียมากๆ มีน้อยลงหรือแทบไม่มีเลย ส่วนใหญ่เป็นการก่อกวนเพื่อสร้างสถานการณ์ที่ทำให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนเท่านั้น”
เมื่อสถานการณ์ความรุนแรงมีทิศทางที่ดีขึ้น แล้วอะไรคือสิ่งท้าทายของแม่ทัพภาคที่ 4 คนใหม่ พล.ต.ศานติ ตอบว่า คือปัญหายาเสพติด
“ผมว่าปัญหาในภาคใต้นั้น สิ่งที่ท้าทายผมตอนนี้มากที่สุดคือเรื่องที่ประชาชนในพื้นที่ติดยาเสพติดกันมาก แล้วเกิดจิตหลอน เกิดการทำร้ายครอบครัว และทำร้ายทรัพย์สินของประชาชนในพื้นที่ ผมอยากจะแก้ปัญหาประชาชนที่เสพยาเสพติดแล้วเกิดสภาพจิตหลอนและเครียด ตรงนี้ต้องดึงออกมาจากชุมชน แล้วนำมารักษา ซึ่งผมก็ได้คุยกับส่วนราชการอื่นๆ ไว้หมดแล้ว และจะดำเนินการกับผู้ที่เสพยาเสพติดและมีสภาพแบบนี้เป็นลำดับแรก”
แน่นอนว่า ปัญหายาเสพติดไม่ได้คาใจเฉพาะกับว่าที่แม่ทัพภาคที่ 4 แต่ยังคาใจพี่น้องในพื้นที่อีกด้วย
ปัญหาคนติดยา ไม่มีงานทำ เที่ยวขโมยของ ขโมยขี้ยาง หรือทรัพย์สินชาวบ้าน บางคนติดอาวุธ ทำตัวเป็นมาเฟีย อิทธิพลท้องถิ่น มีอยู่มากหมายหลายพื้นที่ และไม่มีหน่วยงานรัฐแห่งไหนจัดการได้
ถ้าแม่ทัพคนใหม่จัดการ ย่อมได้รับเสียงแซ่ซ้อง...
แต่ก็ต้องไม่ลืมว่า สาเหตุที่ยาเสพติดระบาด ท่ามกลางกองกำลังฝ่ายความมั่นคงตรึงเต็มพื้นที่แบบนี้ ย่อมมีช่องโหว่ช่องว่าง และทำให้เกิดคำถามย้อนศรมาที่เจ้าหน้าที่รัฐเอง
ฉะนั้นการแก้ปัญหาก็ต้องไม่ลืมจัดการ “พวกเดียวกันเอง” ไม่ใช่ปล่อยลูบหน้าปะจมูกเหมือนที่ผ่านๆ มา และชาวบ้านก็ต้องรอเพลงรอต่อไป ท่ามกลางยาเสพติดที่ระบาดรายวัน และเป็นภัยใกล้ตัวประชาชนมากขึ้นทุกที
ส่วนแนวทางการทำงานในมิติความมั่นคง เพื่อดับไฟความรุนแรงและการพูดคุยสันติสุข สันติภาพ คงต้องรอฟังคำแถลงในวันส่งมอบหน้าที่...