การลงพื้นที่นราธิวาสของ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ไม่มองเป็นประเด็นการเมือง เตรียมการเลือกตั้ง คงไม่ได้
เหตุเพราะนราธิวาสเป็นพื้นที่ฐานเสียงสำคัญในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของพรรคพลังประชารัฐ
เลือกตั้งปี 62 สามจังหวัดชายแดนภาคใต้มี 11 เขต มี ส.ส.ได้ 11 คน พลังประชารัฐได้ 3 คน โดย 2 ใน 3 ได้จากนราธิวาส
ผลการเลือกตั้งปี 62
ปัตตานี 4 เขต => ประชาชาติ 2 ภูมิใจไทย 1 ประชาธิปัตย์ 1
ยะลา 3 เขต => พลังประชารัฐ 1 ประชาชาติ 2
นราธิวาส 4 เขต => พลังประชารัฐ 2 ประชาชาติ 2
รวม 11 เขต => ประชาชาติ 6 พลังประชารัฐ 3 ภูมิใจไทย 1 และประชาธิปัตย์ 1 มี 4 พรรคเท่านั้นที่ได้ ส.ส.
ส่วนการเลือกตั้งครั้งหน้า นราธิวาสมี ส.ส.เพิ่มอีก 1 คน 1 เขต รวมเป็น 5 เขต 5 คน การแบ่งเขตอย่างไม่เป็นทางการ คาดว่าเป็นแบบนี้
เขต 1 อ.เมือง กับ อ.ยี่งอ
เขต 2 อ.ตากใบ อ.สุไหงโก-ลก
เขต 3 อ.ระแงะ อ.เจาะไอร้อง อ.จะแนะ อ.สุคิริน
เขต 4 อ.บาเจาะ อ.รือเสาะ อ.ศรีสาคร
เขต 5 (เขตใหม่) อ.สุไหงปาดี อ.แว้ง และบางส่วนของ อ.สุคิริน หรือ อ.เจาะไอร้อง
จากผลการเลือกตั้งในภาพรวม 3 จังหวัด เมื่อปี 62 หากเจาะลึกรายเขตเฉพาะพื้นที่นราธิวาส จะพบว่าพรรคพลังประชารัฐ กับพรรคประชาชาติ แบ่งกันไปคนละ 2 เขต เมื่อประเมินร่วมกับทิศทางการเมืองและการวางตัวว่าที่ผู้สมัครของพรรคต่างๆ สามารถวิเคราะห์แนวโน้มการเลือกตั้งครั้งหน้าได้แบบนี้
พลังประชารัฐ เขต 1 พื้นที่บ้านใหญ่ "ยาวอหะซัน" โดยเลือกตั้งปี 62 นายวัชระ ยาวอหะซัน ลูกชายของ นายกูเซ็ง ยาวอหะซัน นายก อบจ.นราธิวาส (เป็นนายกผูกขาดมา 4-5 สมัย) ส่งลูกชายลงในนามพลังประชารัฐ ก็ชนะแบบนอนมา
แต่การเลือกตั้งครั้งต่อไป “ทีมยาวอหะซัน” อาจต้องลงแรงหนักขึ้น เพราะพรรคประชาชาติเปิดตัวคนรุ่นใหม่ นายอัฟฟาน หะยียูโซะ ลงสมัครเขต 1 ซึ่งเป็นพื้นที่มหาวิทยาลัย และมีสถานศึกษาหลายแห่ง จึงมีลุ้นทั้งพรรคประชาชาติ และพรรคก้าวไกล
ขณะที่ นายวัชระ ยาวอหะซัน ยังไม่ชัดว่าจะสวมเสื้อพลังประชารัฐต่ออีก 1 สมัยหรือไม่ เนื่องจากมีพรรคสร้างอนาคตไทยมาขายขนมจีบ โดยเมื่อวันที่ 5 มี.ค.65 นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรคสร้างอนาคตไทย เคยลงพื้นที่ และขอหารือกับ นายกฯกูเซ็ง แบบตัวต่อตัวมาแล้ว มีภาพคล้องแขนกันอย่างชื่นมื่น
เขต 2 สุไหงโก-ลก และบางส่วนของ อ.ตากใบ เลือกตั้งปี 62 พรรคพลังประชารัฐได้เก้าอี้ ส.ส.จาก นายสัมพันธ์ มะยูโซ๊ะ หรือ “ส.ส.บีลา” ทีมงานของผู้กองธรรมนัส พรหมเผ่า และ นายวิรัช รัตนเศรษฐ์ อดีตประธานวิปรัฐบาล คนใกล้ชิด “บิ๊กป้อม” โดย “ส.ส.บีลา” ได้รับการวางตัวให้เป็นหัวหน้าทีมนราธิวาส กวาดยกจังหวัด ทำกิจกรรมในพื้นที่บ่อยมาก
แต่การเลือกตั้งรอบหน้า “ส.ส.บีลา” เตรียมไปลงสมัคร เขต 5 (เขตใหม่) และต้องเจอ “กระดูกชิ้นใหญ่” เพราะ นายมูหามะรอมือลี อาแซ ประธานชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้านจังหวัดนราธิวาส ซึ่งเคยเป็นหัวคะแนนใหญ่ให้นายสัมพันธ์ เตรียมไปลงสมัครให้พรรคประชาชาติ แข่งกับนายสัมพันธ์โดยตรง
ส่วนเขต 2 “ส.ส.บีลา” เปิดทางให้น้องชาย คือ นายอามินทร์ มะยูโซ๊ะ รองประธานสภา อบจ.นราธิวาส ลงสมัครในนามพลังประชารัฐแทนตนเอง แต่ก็ต้องไปเผชิญหน้ากับ นายเมธี อรุณ นักร้องนำวงลาบานูน ที่เปิดตัวลงสมัครในนามพรรคประชาธิปัตย์ และ นายเจ๊ะซู ตาเหย็บ ว่าที่ผู้สมัครของพรรคประชาชาติ
เขต 3 เดิมเป็นของพรรคประชาชาติ คือ ส.ส.กูเฮง ยาวอหะซัน ลูกชายของ นายกฯกูเซ็ง (เล่นเกมถ่วงดุล ส่งลูกชายกระจายลง 2 พรรค เมื่อปี 62)
เขต 4 เป็นของพรรคประชาชาติเช่นกัน คือ ส.ส.กมลศักดิ์ ลีวาเมาะ ทนายมุสลิม ซึ่งมีบทบาทโดดเด่นในสภา
การเลือกตั้งครั้งต่อไป พรรคประชาชาติลุ้นว่าจะรักษา 2 เขตเดิมเอาไว้ได้ และขยายไปชิงเขต 1 เขตเมือง กับเขตใหม่ คือเขต 5 รวมทั้งเขต 2 ในซีกตากใบ เนื่องจาก พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรค ลงพื้นที่ตากใบถี่มาก
ส่วนภูมิใจไทย ต้องบุกหนักหลังพลาดนโยบายกัญชา โดนต่อต้านจากประชาคมมุสลิม ตอนนี้ชูนโยบายพักหนี้ 3 ปี ไม่เกิน 1 ล้านบาท ติดป้ายพรึ่บทั้ง 3 จังหวัด แต่ปรากฏว่าบางพื้นที่มีการเก็บป้ายเกือบทั้งหมด ไม่แน่ใจว่าไปเหยียบตาปลาใครหรือไม่
ส่วนป้ายต่อต้านนโยบายกัญชาของพรรค ก็มีกลุ่มต้านขึ้นป้ายด้วยเช่นกัน ทั้งต้านนโยบายกัญชา และต้านพรรคภูมิใจไทย
เขต 2 นราธิวาส ภูมิใจไทยเตรียมส่ง นายนัจมุดดีน อูมา อดีต ส.ส.นราธิวาส ซึ่งย้ายมาจากพรรคประชาชาติ เพราะมีปัญหาเรื่องเขตทับซ้อน โดย นายนัจมุดดีน เป็นอดีตแกนนำกลุ่มวาดะห์ มีฐานเสียงพอสมควร
ส่วนประชาธิปัตย์ มีนักร้องนำวงลาบานูน เป็นตัวเปิด สร้างกระแสนำร่องไปก่อนตั้งแต่ 15 ต.ค.64 แต่กระแสหลังเปิดตัวกับพรรคเก่าแก่ มีทั้งสนับสนุนและเสียดายที่เป็นคนรุ่นใหม่แต่ไปเข้าประชาธิปัตย์