จากเหตุการณ์ จ.ส.อ.ยงยุทธ มังกรกิม เสมียนวิทยาลัยการทัพบก ลั่นกระสุนสังหารเพื่อนร่วมงาน 2 ศพ บาดเจ็บอีก 1 นาย
ต่อมาภรรยาและลูกๆ นำแฟ้มเอกสารตารางนัดของแพทย์มายืนยันกับพนักงานสอบสวน สน.ดุสิต ว่า จ.ส.อ.ยงยุทธ มีปัญหาทางสมอง
สอดรับกับคำให้สัมภาษณ์ของ พล.ต.บุรินทร์ ทองประไพ ผู้อำนวยการสำนักพระธรรมนูญทหารบก ที่ระบุสาเหตุว่า จ.ส.อ.ยงยุทธ มีความน้อยใจ จากการทำงานไม่ได้ประสิทธิภาพเต็มที่ เนื่องจากมีอาการทางสมองที่เคยประสบอุบัติเหตุจนต้องผ่าตัดสมองเมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว ที่ผ่านมามาทำงานบ้าง ไม่ทำงานบ้าง ผู้บังคับบัญชาจึงให้รับผิดชอบงานที่ไม่หนักมาก แต่ก็มีอาการข้างเคียงตามมา คือ อารมณ์หงุดหงิด ฉุนเฉียวง่าย
ที่ผ่านมา จ.ส.อ.ยงยุทธ ไม่เคยมีเรื่องทะเลาะกับเพื่อนร่วมงาน แต่พบว่าก่อนหน้านี้เคยใช้กำลังทำร้ายคนในครอบครัว ส่วนงานที่รับผิดชอบไม่มีความจำเป็นจะต้องพกพาอาวุธปืน จึงไม่มีใครทราบว่าผู้ก่อเหตุพกปืนมาทำงานอย่างไร
สำหรับข้ออ้างเรื่องมีปัญหาทางจิต อาจเป็นประโยชน์ต่อ จ.ส.อ.ยงยุทธ เมื่อถึงขั้นตอนการพิจารณาคดีในศาลทหาร อย่างไรก็ตาม กองทัพต้องตอบคำถามสังคมด้วยว่า เมื่อรู้ว่ากำลังพลมีปัญหาเรื่องสภาพจิตใจ หรือมีความผิดปกติทางสมองที่มีผลต่อพฤติกรรม เหตุใดจึงยังให้ทำงานในหน่วย หรือพกอาวุธติดตัว
และประเด็นสำคัญที่สุดคือ ตลอดมากองทัพให้ความสำคัญเรื่องปัญหาสุขภาพจิตกำลังพลมากน้อยเพียงใด
@@ “ความเครียดสะสม” ต้นเหตุการใช้ความรุนแรง
พญ.เพชรดาว โต๊ะมีนา ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย ในฐานะผู้มีประสบการณ์ทำงานเรื่องสุขภาพจิตของทหารในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ เล่าให้ฟังว่า เหตุการณ์สะเทือนขวัญครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดขึ้นในประเทศไทยที่ทหาร ตำรวจ ก่อเหตุอาชญากรรม โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากความเครียดสะสม
อย่างกรณีที่เป็นข่าวใหญ่ที่ จ.นครราชสีมา เมื่อเดือน ก.พ.63 ทหารขโมยรถฮัมวีขับออกมาจากหน่วย กราดยิงประชาชนแล้วเข้าไปหลบในห้างสรรพสินค้าเทอร์มินอล 21 โศกนาฏกรรมครั้งนั้นส่งผลให้ผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บหลายสิบคน เวลาผ่านไป 2 ปี ยังไม่เห็นสัญญาณล้อมคอกจากกองทัพ หรือหน่วยงานต้นสังกัด ดังนั้นเหตุการณ์ลักษณะนี้จึงเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก
หมอเพชรดาว เล่าต่ออีกว่า เจ้าหน้าที่รัฐโดยเฉพาะทหาร ตำรวจ ส่วนใหญ่มีอาวุธปืนอยู่ในมือ หากมีปัญหาด้านจิตใจอาจก่ออันตรายต่อสังคมได้ง่าย อย่างในจังหวัดชายแดนใต้ กำลังพลส่วนใหญ่ถูกส่งมาจากนอกพื้นที่ ฉะนั้นต้องมีการประเมินสภาพจิตทั้งก่อนประจำการ ขณะประจำการ และหลังประจำการ เพื่อลดความเสี่ยงต่อคนรอบข้าง ทั้งนี้เพื่อนร่วมงานมีบทบาทสำคัญในการเฝ้าสังเกตอาการ หรือความผิดปกติ
@@ หลักนิยม “ท.ทหารอดทน” ต้นตอความเครียด
หมอเพชรดาว ยังบอกเล่าประสบการณ์ทำงานด้านสุขภาพจิตในค่ายทหารว่า ทหารก็เหมือนมนุษย์ปกติ มีอารมณ์ความรู้สึกเหมือนคนทั่วไป แต่ทหารหรือกำลังพลในกองทัพจะถูกอบรมสั่งสอนกันมายาวนาน เรื่องระเบียบวินัย ความอดทน เข้มแข็ง ดังนั้นเมื่อเกิดอาการเศร้า เครียด เสียใจ จะถูกมองว่าอ่อนแอ เรียกว่า “กับดัก ท.ทหาร อดทน” คือพยายามทำทุกอย่างเพื่อรักษาภาพลักษณ์ด้านต่างๆ ไม่ให้สะท้อนออกมาว่า “ท.ทหาร ไม่อดทน”
ยกตัวอย่างว่า ครั้งหนึ่งเคยร่วมทีมจิตแพทย์ไปตรวจสภาพจิตทหารในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปรากฏว่าผู้บังคับกองร้อยสั่งให้ลูกน้องมาเข้าแถวรวมกันทั้งหมด แล้วออกคำสั่งว่า “ใครเครียด ยกมือขึ้น” คำตอบคือ “เงียบ” เพราะในความเป็นจริง คงไม่มีใครกล้ายกมือ หรือบอกความจริงกับผู้บังคับบัญชาว่าตัวเองเครียด มีความวิตกกังวล เพราะกลัวถูกมองว่าเป็นคนอ่อนแอ ไม่เข้มแข็ง
@@แบบประเมินความเครียด
สำหรับการวัดระดับความเครียดนั้น หมอเพชรดาว อธิบายว่า ความเครียดเกิดขึ้นสภาวะกดดันทั้งด้านร่างกาย จิตใจ และพฤติกรรม ส่วนการประเมินความเครียดนั้น สามารถทดสอบด้วยตัวเองได้ง่ายๆ ดังนี้
แบบประเมินความเครียด 5 ข้อ
1.มีปัญหาการนอน นอนไม่หลับ หรือนอนมาก
2.มีสมาธิน้อยลง
3.หงุดหงิด / กระวนกระวาย / ว้าวุ่นใจ
4.รู้สึกเบื่อ เซ็ง
5.ไม่อยากพบปะผู้คน
จากนั้นให้เลือกคำตอบแบบประเมินความเครียด ตามความรู้สึกจริงๆ แต่ละคำตอบจะมีคะแนนระบุไว้ชัดเจน คือ
แทบไม่มี = 0 คะแนน
เป็นบางครั้ง = 1 คะแนน
บ่อยครั้ง = 2 คะแนน
เป็นประจำ = 3 คะแนน
เมื่อตอบครบ 5 ข้อแล้ว นำคะแนนทั้งหมดมารวมกัน เพื่อแปลผลแบบประเมินความเครียด ดังนี้
0-4 คะแนน = เครียดน้อย
5-7 คะแนน = เครียดปานกลาง
8-9 คะแนน = เครียดมาก
10-15 คะแนน = เครียดมากที่สุด
หมายเหตุ : ระดับเครียดมากขึ้นไป (8-9 คะแนน) ถือว่ามีความเสี่ยง
@@ ย้อนอดีตกำลังพลยิงกันเอง
ความพยายามตรวจ “สุขภาพจิตกำลังพล” เกิดขึ้นอย่างเป็นจริงเป็นจังหลังมีทหาร ตำรวจ และกองกำลังอาสาสมัคร ก่อเหตุยิงตัวเอง หรือยิงเพื่อนร่วมงานเสียชีวิตบ่อยครั้งระหว่างปฏิบัติภารกิจที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้
ที่ผ่านมาฝ่ายกองทัพพยายามปิดข่าว เพราะไม่อยากให้เรื่องราวถูกรับรู้ในวงกว้าง แต่จากการเก็บข้อมูลของทีมข่าว พบว่า ช่วงที่สถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่ในภาวะตึงเครียด ราวๆ ปี 2550-2557 เกิดเหตุกำลังพลยิงกันเองหลายเหตุการณ์ต่อปี บางปีพุ่งสูงถึง 10 กรณี
ยกตัวอย่างเหตุใหญ่เมื่อปี 54 วันที่ 14 ก.ย. คือวันนี้ เมื่อ 11 ปีที่แล้ว พลทหารสังกัดหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส 32 ใช้อาวุธปืนเอ็ม 16 ประจำกาย บุกยิงผู้บังคับบัญชาถึงในห้องทำงาน ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 4 ราย บาดเจ็บ 3 ราย และพลทหารที่ก่อเหตุก็ยิงตัวเองเสียชีวิต เหตุเกิดขณะพลทหารกำลังเข้าเวรยามอยู่ที่ฐานปฏิบัติการในพื้นที่ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส
หลังเกิดเหตุมักมีคำอธิบายทำนองว่า เป็นเพราะความเครียดของกำลังพลที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์กดดัน ไม่รู้จะตายวันตายพรุ่ง
@@ หลายสาเหตุผสมโรง
แต่จากการลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลและพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญ พบว่า ความเครียดจากสถานการณ์ความไม่สงบ ไม่น่าจะเป็นสาเหตุเดียวที่ทำให้กำลังพลเลือกใช้ความรุนแรงต่อเพื่อนร่วมอาชีพ หรือฆ่าตัวเอง แต่ยังมีสาเหตุอื่นๆ รวมอยู่ด้วย เช่น
- กฎระเบียบที่เข้มงวดเพื่อควบคุมกำลังพลไม่ให้ผิดพลาดทางยุทธวิธีหลังตกเป็นเป้าโจมตีบ่อยครั้ง เช่น ห้ามรับโทรศัพท์ระหว่างปฏิบัติหน้าที่คุ้มครองครู หรือ รปภ.สถานที่สำคัญ ทำให้กำลังพลเครียด เพราะเวลาคนทางบ้านหรือคนรักโทรหาก็ไม่สามารถรับสายได้ หลายครั้งเป็นกรณีภรรยาคลอดลูก พ่อแม่ป่วย หรือแม้แต่วันเกิดของคนรัก เมื่อไม่ได้รับสายก็ทำให้ทะเลาะกัน เป็นปัญหาตามมา และกลายเป็นความเครียดสะสม
- กฎเหล็กของผู้บังคับบัญชาที่ห้ามกำลังพลคบหากับผู้หญิงในพื้นที่ โดยเฉพาะสาวมุสลิม แต่หลายรายก็มีปฏิสัมพันธ์และรักใคร่ชอบพอกัน เมื่อถูกคำสั่งห้ามก็ต้องหลบๆ ซ่อนๆ ฝ่ายหญิงจะเข้าไปเยี่ยมหรือไปหาที่ฐานปฏิบัติการก็ไม่ได้ ทำให้เกิดความกดดัน
- ทหารแต่ละคนมาจากต่างพื้นที่ ต่างภูมิลำเนาและต่างวัฒนธรรม ทำให้คิดถึงบ้าน ประกอบกับเมื่อเกิดเหตุรุนแรงขึ้น หรืออ่านข่าวทางสื่อต่างๆ แล้วมีการนำมาวิพากษ์วิจารณ์พาดพิงกันไปมา หลายครั้งทำให้เกิดการกระทบกระทั่งจนถึงขั้นทะเลาะวิวาทกัน
- ปัญหาเรื่องเสพยาเสพติด (ที่ติดมาก่อนเข้ากรมกอง) กับอาวุธปืนสูญหาย ส่งผลให้มีความขัดแย้งภายในหน่วย เมื่อผู้บังคับบัญชาตรวจพบก็จะมีการตั้งคณะกรรมการสอบ ทำให้เกิดความเครียดและกลัวถูกลงโทษ
นี่คือกลุ่มปัญหาที่พบในกำลังพลที่ปฏิบัติราชการสนามในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และได้นำมาสู่โครงการ “ตรวจสุขภาพจิตกำลังพล” โดยกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข กระจายไปยังหน่วยอื่นนอกพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย แต่ปัญหาก็ยังไม่หมดไป ด้วยข้อจำกัดต่างๆ
@@ ถอดบทเรียน “ปลดปืนจากมือ”
หากนำเหตุการณ์กำลังพลใช้ความรุนแรงหลายๆ เหตุการณ์มาสรุปบทเรียน จะสามารถแยกกลุ่มปัญหาได้ดังนี้
1.เครียดจากการปฏิบัติหน้าที่ โดยมากเกิดในพื้นที่เสี่ยงภัย หรือพื้นที่ที่มีปัญหาความมั่นคง (ชายแดนทุกด้าน แต่ภาคใต้หนักสุด เพราะคนร้ายใช้วิธีการรบแบบ สงครามก่อการร้าย ลอบโจมตี ไม่ปะทะตรงๆ ทำให้ยิ่งเครียด)
2.เครียดจากปัญหาส่วนตัว เช่น ทะเลาะกับภรรยา ภรรยามีชู้ (เพราะทหาร ตำรวจ เวลาปฏิบัติภารกิจ อาจไม่ได้กลับบ้านเป็นเวลานาน) หรือมีปัญหาหนี้สิน
3.เครียดจากปัญหาภายในหน่วยงาน เช่น ทะเลาะกับผู้บังคับบัญชา แล้วไม่มีทางสู้ (เนื่องจากระบบทหาร เป็นระบบโซตัส มีการลงโทษ และอาจกลั่นแกล้งกันได้) หรือทะเลาะเรื่องผลประโยชน์ อย่างกรณีจ่าคลั่งที่โคราช ซึ่งมีปัญหากับผู้บังคับบัญชาเรื่องเงินกู้ซื้อบ้าน
4.เป็นโรคจิต หวาดระแวง ซึ่งสาเหตุหลักๆ ก็มาจาก 3 ข้อแรก
ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ กองทัพจะล้อมคอกปัญหาที่ว่านี้อย่างไร ซึ่งต้องเริ่มจากการยอมรับปัญหาเสียก่อน ไม่ใช่พยายามปกปิด หรือซุกปัญหาไว้ใต้พรม ที่สำคัญการประเมินสภาวะเครียด หรือภาวะทางจิตไม่ปกติ ต้องทำกันอย่างจริงจัง มีวงรอบชัดเจน