ท่ามกลางกระแสตรวจสอบและวิจารณ์เรื่อง “บัญชีผี” ซึ่งหมายถึงกำลังพลลงพื้นที่ปฏิบัติราชการสนามที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่กลับไม่ได้สิทธิพิเศษ เพราะโดน “เด็กนาย” เบียดแย่งเอาไป มีแต่ชื่อรับเงิน รับเบี้ยเลี้ยงก้อนใหญ่ แต่ไม่ได้ไปปฏิบัติหน้าที่จริง
ต้นสายปลายเหตุของกระแสวิจารณ์เรื่องนี้ มาจากกรณี “สิบตำรวจโทหญิง” ซึ่งอ้างว่ามีผู้หลักผู้ใหญ่เป็นแบ็ค ฝากเข้ารับราชการ และลงไปช่วยราชการชายแดนใต้ โดยตัวไม่ต้องลงไปจริงๆ แต่กลับมีหลักฐานไปทำหน้าที่เป็นนักวิชาการ หรือผู้ชำนาญการประจำตัวท่าน ส.ว. (สมาชิกวุฒิสภา)
การตรวจสอบเรื่องนี้ยังค้างอยู่ในคณะกรรมาธิการหลายชุด รวมทั้งคณะกรรมการจริยธรรม วุฒิสภา ซึ่งยังไม่คืบหน้าเท่าที่ควร แต่ล่าสุดมีเรื่องร้องเรียนใหม่ปรากฏขึ้นมาอีกเรื่อง เป็นนายตำรวจระดับ “รองผู้กำกับการ” (รอง ผกก.) อ้างว่าอยู่ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้นานถึง 11 ปี เคยโดนระเบิดได้รับบาดเจ็บสาหัสด้วย แต่แล้วจู่ๆ เขาก็โดนย้ายออกนอกพื้นที่โดยเจ้าตัวไม่ยินยอมพร้อมใจ จึงทำให้เสียสิทธิวันทวีคูณ และสิทธิพิเศษอื่นๆ ในการเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่ง
ข้าราชการตำรวจรายนี้ คือ พ.ต.ท.สมใจ เมืองหมิ้น ปัจจุบันเป็นรอง ผกก.สภ.ท่าปลา จ.อุตรดิตถ์ เคยปฏิบัติราชการในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งแต่ปี 2549 -2560 ระยะเวลารวมประมาณ 11 ปี
โดยในช่วงที่ พ.ต.ท.สมใจ เป็นสารวัตรปราบปราม (สวป.) ที่ สภ.ระแงะ จ.นราธิวาส (ระหว่างปี 2549 ถึงต้นปี 2554) เคยถูกคนร้ายลอบวางระเบิดและกราดยิงใส่รถกระบะสายตรวจ ขณะออกปฏิบัติหน้าที่เมื่อปี 2553 จนได้รับบาดเจ็บสาหัส ครั้งนั้น พ.ต.ท.สมใจ เกือบเอาชีวิตไม่รอด ขณะที่การปฏิบัติงานก็มีความทุ่มเท และได้รับการยอมรับมาโดยตลอด เคยได้รับรางวัล “คนดีศรีนรา” จากผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส เมื่อปี 2552 ทั้งยังเคยได้รับพระราชทานรางวัล Police Award ในปี 2554 อีกด้วย
เจ้าตัวเปิดใจเล่าย้อนเหตุการณ์ในอดีตกับทีมข่าวว่า ในวันแม่ปี 2553 ผู้ชายคนหนึ่งปรารถนาจะไปกราบเท้าแม่ แต่ก็ไม่มีโอกาส เพราะต้องปฏิบัติหน้าที่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และประสบเหตุระเบิดบาดเจ็บสาหัส จึงต้องให้ลูกชายทั้งสองไปกราบปู่กับย่าแทน
@@ ลุยฟ้องศาลปกครองชนะคดีแต่ยังไม่มีเยียวยา
พ.ต.ท.สมใจ เล่าต่อว่า หลังจากรักษาตัวจนกลับมาทำงานได้ตามปกติ ก็ปฏิบัติหน้าที่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อมาจนถึงปี 2560 สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้มีคำสั่งย้ายออกนอกพื้นที่ จนทำให้ขาดสิทธิประโยชน์เรื่องวันทวีคูณ ทั้งที่เขาควรจะได้รับสิทธิจากการเสี่ยงภัย เพื่อนำไปคำนวณระยะเวลาการครองตำแหน่งและลำดับอาวุโสในการแต่งตั้งขึ้นสู่ตำแหน่งระดับสูง จึงตัดสินใจฟ้องคดีต่อศาลปกครอง และชนะคดีในศาลชั้นต้น แต่ยังไม่มีการเยียวยาใดๆ จึงเข้าร้องเรียนคณะกรรมาธิการการตำรวจ สภาผู้แทนราษฎร เพื่อหวังว่าตัวเองจะได้รับความเป็นธรรม
@@ สะท้อนปัญหา “เด็กนาย” ลงใต้แต่ชื่อ
พ.ต.ท.สมใจ ยังสะท้อนให้ทีมข่าวฟัง เกี่ยวกับเรื่องระบบอุปภัมภ์ ทั้งการนำชื่อ “เด็กนาย” ทั้งหลายมาใส่ว่าปฏิบัติหน้าที่ช่วยราชการพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อหวังสิทธิประโยชน์ต่างๆ ล่าสุด ก็เป็นกรณี “สิบตำรวจโทหญิง” ที่เป็นข่าวครึกโครม หรือแม่แต่การทำ “บัญชีผี” ไม่มีกำลังพลจริง จนเกิดช่องโหว่ในการ รปภ.พื้นที่
รองผกก.สมใจ บอกว่า เรื่องบัญชีผี ตนไม่ทราบ แต่เรื่อง “เด็กนาย” นั้นมีจริง และมีมานานแล้ว เรื่องนี้คนที่ผิดไม่ใช่ “สิบตำรวจโทหญิง” แต่เป็นเรื่องของระบบอุปถัมภ์ที่ฝังรากลึกมานานมากกว่า
นายตำรวจกระดูกเหล็ก ทิ้งท้ายกับทีมข่าวว่า ตนจะเดินหน้าเรียกร้องความเป็นธรรมในเรื่องสิทธิประโยชน์ “วันทวีคูณ” ที่สมควรได้รับให้ถึงที่สุด เพราะตนตั้งใจปฏิบัติหน้าที่เพื่อชาติบ้านเมืองมาโดยตลอด และปีหน้าก็จะเกษียณอายุราชการแล้ว
@@ รู้จัก “วันทวีคูณ” โบนัสชีวิตข้าราชการ
หลายคนได้อ่านเรื่องราวของ พ.ต.ท.สมใจ หรืออาจจะเคยได้ยินข่าวเกี่ยวกับ “วันทวีคูณ” แล้วอาจสงสัยว่าหมายถึงอะไร และทำไมจึงมีความสำคัญกับข้าราชการทหาร ตำรวจ “ทีมข่าวอิศรา”มีคำตอบ
“วันทวีคูณ” หมายถึง “การนับเวลาราชการทวีคูณ” เช่น รับราชการ 1 ปี นับเป็น 2 ปี ข้าราชการที่จะได้รับ ต้องปฏิบัติราชการสนามในพื้นที่สู้รบ หรือพื้นที่ประกาศกฎอัยการศึก ซึ่งรวมถึงการปฏิบัติราชการในช่วงที่คณะรัฐประหารประกาศกฎอัยการศึกด้วย
“วันทวีคูณ” ไม่ได้มีเฉพาะตำรวจ ทหาร แต่มีข้าราชการหน่วยอื่นด้วย แม้แต่ครูก็ยังมีการนับ “วันทวีคูณ”
สาเหตุที่ “วันทวีคูณ” มีความสำคัญกับข้าราชการ ก็เพราะจะมีผลต่อการคำนวณบำเหน็จบำนาญช่วงที่เกษียณอายุราชการ
เช่น บำนาญของข้าราชการทหาร จะมีสูตรคำนวณ ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น เงินเดือนเดือนสุดท้าย คูณด้วยจำนวนปีที่รับราชการจริง แล้วหารด้วย 50
โดยปกติ บุคคลจะบรรจุเข้ารับราชการ เมื่อเรียนจบปริญญาตรี อายุ 22 ปี รับราชการถึงเกษียณ อายุ 60 ปี ก็จะมีอายุราชการ 38 ปี แต่ถ้าเป็นทหาร ตำรวจ จะนับอายุราชการตั้งแต่เป็นนักเรียนเตรียมทหาร อาจมีอายุราชการสูงสุดถึง 42-45 ปีเลยทีเดียว
แต่เมื่อตัวหารเป็น 50 ก็จะทำให้เงินบำนาญที่รับเป็นรายเดือน ได้น้อยกว่าเงินเดือนเดือนสุดท้ายเสมอ
เหตุนี้เอง ถ้าใครมี “วันทวีคูณ” ก็จะช่วยให้เงินบำนาญที่รับรายเดือนสูงขึ้น ถึงขั้นอาจจะได้รับเงินบำนาญในอัตราเท่ากับเงินเดือนเดือนสุดท้าย กรณีมีวันทวีคูณมากจนอายุราชการรวมแล้วถึง 50 ปี
นอกจากนั้น การนับเวลาราชการทวีคูณ ยังส่งผลต่อการแต่งตั้งเลื่อนขั้น เลื่อนตำแหน่งในบางหน่วยด้วย เช่น ตำรวจ ที่จะมีระยะเวลาการครองยศ ครองตำแหน่ง ตาม กฎ ก.ตร. เช่น จากผู้กำกับการ ขึ้นรองผู้การ ต้องครองยศ ครองตำแหน่งอย่างน้อย 4 ปี แต่ถ้านับอายุราชการทวีคูณ ก็จะเหลือแค่ 2 ปี ก็มีสิทธิ์ขึ้นรองผู้การแล้ว อย่างนี้เป็นต้น ทำให้สามารถชิงขึ้นตำแหน่งที่สูงกว่าได้ก่อนเพื่อนข้าราชการในระนาบเดียวกัน ส่งผลต่อโอกาสในการขึ้นตำแหน่งใหญ่ต่อไปจนถึง ผบ.ตร.เลยทีเดียว
@@ จับตาย้ายข้าม บช.-ข้ามภาคหรือไม่...ใครผิดกันแน่?
ย้อนกลับไปที่กรณีของ พ.ต.ท.สมใจ ที่ออกมาร้องเรียนเรื่องนี้ ว่าถูกสั่งย้ายพ้นพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีข้อน่าสังเกตคือ
1.การถูกสั่งย้าย เป็นการย้ายโดยชอบหรือไม่ เพราะบางตำแหน่ง ไม่ต้องอาศัยความยินยอมของเจ้าตัว แต่เป็นอำนาจการย้ายของผู้บังคับบัญชา ยกเว้นย้ายข้ามกองบัญชาการ
คำถามก็คือ กรณีนี้เป็นการย้ายข้ามกองบัญชาการด้วยหรือไม่ หรือตอนย้ายครั้งแรก ย้ายจากนราธิวาสไปตำแหน่งอื่นในกองบัญชาการเดียวกัน หรือภาคเดียวกันก่อนหรือไม่ เรื่องนี้จึงต้องรอคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดประกอบด้วย
ทั้งนี้ เมื่อตรวจสอบประวัติการรับราชการของ พ.ต.ท.สมใจ พบว่าตั้งแต่ปี 2549 รับราชการอยู่ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ตลอด ตั้งแต่ สภ.ระแงะ จ.นราธิวาส กองบังคับการสืบสวนสอบสวน ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ และ สภ.หนองจิก จ.ปัตตานี
ต่อมาในปี 2560 ถูกย้ายไปที่ สภ.ศรีบรรพต จ.พัทลุง ซึ่งอยู่ในภาคเดียวกัน และในปีนั้นมีการยุบรวมศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศชต. เข้ากับกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 การย้ายครั้งนี้จึงอาจไม่ใช่การย้ายข้ามกองบัญชาการที่เจ้าตัวต้องยินยอม แต่การย้ายข้ามกองบัญชาการไปที่ จ.อุทัยธานี และอุตรดิตถ์ เกิดขึ้นในปี 2561 และ 2562 ซึ่งไม่ชัดว่าเจ้าตัวยินยอมหรือไม่
2.ถ้าเป็นการสั่งย้ายโดยชอบ ก็น่าจะไม่มีหน่วยงานใดช่วย พ.ต.ท.สมใจ ได้ เพราะเป็นอำนาจการบริหารงานบุคคลของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แต่ถ้าเป็นการสั่งย้ายโดยมิชอบ ก็จะมีประเด็นน่าสนใจตามมาคือ
-เป็นการย้ายเพื่อเปิดทางให้ “เด็กนาย” ลงพื้นที่ รับสิทธิประโยชน์ รวมทั้งวันทวีคูณหรือไม่
-การย้ายข้ามกองบัญชาการ หรือข้ามภาค ระยะหลังมีกฎระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไม่สามารถทำได้ ถ้าเจ้าตัวไม่ยินยอม เพราะจะกระทบการดำรงชีวิตทั้งของตัวข้าราชการตำรวจเองและครอบครัว เนื่องจากต้องย้ายไปที่ไกลๆ จากพื้นที่เดิมที่เคยทำงานมานาน
ถือเป็นปัญหาที่ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ และต้องรอตัวแทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติเข้าชี้แจงเรื่องนี้ต่อคณะกรรมาธิการการตำรวจ สภาผู้แทนราษฎร ต่อไป โดยเรื่องนี้ยังสรุปไม่ได้ว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นฝ่ายผิดหรือไม่