หลายคนคงเคยได้ยินคำว่า “ปันจักสีลัต” (Pencak Silat) ซึ่งเป็นกีฬาประเภทหนึ่งที่มีการแข่งขันกันในมหกรรมกีฬาของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ ซีเกมส์
“ปันจักสีลัต” เป็นศิลปะการป้องกันตัวของคนเชื้อสายมลายู เป็นการต่อสู้ด้วยมือเปล่า เท้าเปล่า เน้นให้เห็นลีลาการเคลื่อนไหวที่สวยงาม ถูกบรรจุในกีฬาซีเกมส์ครั้งแรก ในซีเกมส์ครั้งที่ 14 ที่อินโดนีเซียเป็นเจ้าภาพ และปัจจุบันปี 2565 เป็นซีเกมส์ครั้งที่ 31 แล้ว
“ผู้รู้” เกี่ยวกับศิลปะการป้องกันตัวของคนมลายู ซึ่งคนเชื้อสายนี้อาศัยอยู่ในอินโดนีเซีย มาเลเซีย และดินแดนทางตอนใต้ของไทย เล่าว่า ต้นรากจริงๆ ของกีฬาประเภทนี้ คือ “สีลัต”
ในบ้านเรา ที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็มีสำนักที่เปิดสอนและฝึกปรือ “สีลัต” นั่นก็คือ “สำนักสีลัตฮารีเมา” ซึ่งเป็น “สีลัต” แขนงหนึ่งของ “สีลัตมลายู”
“สีลัต” มาจากคำว่า ศีล ศิลปะ และศิลา คนที่เรียน “สีลัต” ต้องจำศีล เช่น มุสลิมต้องปฏิบัติตามรุก่น (หลักปฏิบัติ) 5 ประการ คือ เป็นเสน่ห์ (ศิลปะ) ยึดมั่นต่อพระเจ้า การฝึกฝน การมีครู และขัดเกลาจิตใจ นี่คือแก่นแท้ของ “สีลัต” ศิลปะการต่อสู้ของชาวมลายูทั่วเอเซียอาคเนย์ มีการแต่งกาย การร่ายรำที่มีความหมายเชิงลึก เชื่อมโยงกับศาสนา ขัดเกลาจิตใจเฉกเช่นมวยไทยของชาวไทย และกังฟูของชาวจีน
@@ “สีลัต” จากไทย ไร้เงินไปร่วมแข่งขัน
“สีลัต” มีการแข่งขันกันด้วย โดยในวันที่ 11 ก.ย.นี้ จะมีการแข่งขันระดับนานาชาติ ที่รัฐเปอร์ลิส ประเทศมาเลเซีย และ “สำนักสีลัตฮารีเมาปาตานี” ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ได้ส่งตัวแทนเข้าแข่งขันด้วย แต่พวกเขาไม่มีค่าเดินทาง ค่าที่พัก ตลอดจนค่าอาหารระหว่างไปร่วมการแข่งขัน เพราะไม่เคยมีหน่วยงานรัฐแห่งใดสนับสนุน ทำให้ตอนแรกมีแนวโน้มอาจต้องสละสิทธิ์ ไม่สามารถเดินทางไปโชว์ความสามารถของ “สีลัต” จากเด็กแลเยาวชนไทยได้
สำนักสีลัตฮารีเมาปาตานี ได้พยายามเปิดรับบริจาค แต่ก็ยังไม่ได้รับการสนับสนุนมากพอ ยังดีที่มี “ผู้ใหญ่ใจดี” จากกรุงเทพฯได้ทราบข่าว และร่วมบริจาคเงินสนับสนุนอย่างเพียงพอ จนสามารถเดินทางไปแข่งขันในฐานะตัวแทนจากประเทศไทย และจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้
@@ ผู้ใหญ่ใจดีจากเมืองหลวงช่วยบริจาค
ผู้ใหญ่ใจดีที่ร่วมสนับสนุนในครั้งนี้ คือ พญ.สุรางคณา เตชะไพฑูรย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเด็กสมิติเวช คลินิกเด็กสุขภาพดี และครอบครัว โดยคุณหมอเคยบริจาคเงิน สิ่งของ ช่วยเหลือเด็กกำพร้าและผู้ด้อยโอกาสในพื้นที่เป็นระยะ ผ่านทาง “กลุ่มร่วมด้วยช่วยกันชายแดนใต้”
มะซัมรี จูฑังคะ ครูฝึกขั้นสูง สำนักสีลัตฮารีเมาปาตานี กล่าวว่า ขอขอบคุณ พญ.สุรางคณา และครอบครัว ที่ให้การสนับสนุน สืบเนื่องจาก “สำนักสิลัตฮารีเมาปาตานี” เป็นองค์กรเอกชน ไม่มีรายได้ หลัก จึงมีความจำเป็นต้องขอแรงเชียร์จากทุกท่าน บริจาคค่าเดินทาง ค่าที่พัก และค่าอาหารให้กับสมาชิกที่จะไปร่วมแข่งขันสีลัตระดับนานาชาติ โดยมีผู้ได้รับเชิญเข่าวร่วมแข่งขันทั้งหมด 10 ทีมด้วยกัน
@@ รู้จัก “สีลัตฮารีเมาปาตานี”
“สีลัตฮารีเมาปาตานี” มีชื่อเต็มๆ ว่า “สำนักสีลัตฮารีเมาปาตานีเพื่อสุขภาวะชุมชน” มีที่ทำการอยู่ใน ต.ตะลุโบะ อ.เมือง จ.ปัตตานี ขับเคลื่อนเรื่องวัฒนธรรม การแต่งกายมลายู และ “สีลัต” ซึ่งเป็นศิลปะป้องกันตัวของชาวมลายูมาตั้งแต่ในอดีต มีการแต่งกายที่เป็นอัตลักษณ์ มีการเหน็บกริช การใช้อาวุธ โดยสำนักสีลัตฮารีเมาปาตานีฯ ได้ฝึกฝนเยาวชนที่สนใจ มีเครือข่าย 5 เครือข่าย คือ หนองจิก ตะลุโบะ สายบุรี (ปัตตานี) ยะหา และสะเตง (ยะลา)
มะซัมรี จูฑังคะ ครูฝึกขั้นสูงแห่ง “สำนักสีลัตฮารีเมาปาตานีฯ” เล่าว่า เรามีหลักสูตรการสอน เพื่อสร้างนักสีลัตที่ดี สำนักฯ รับสมัครเยาวชนอายุ 6 ปีขึ้นไป ค่าสมัคร 100 บาท ค่าเสื้อ 150 บาท เก็บค่าเรียนครั้งละ 10 บาท
สำนักฯ มีรายได้จากการขายเสื้อ พวงกุญแจ กระเป๋า ธนู กริช เสื้อผ้ามลายู เป็นการยืนด้วยลำแข้งของตัวเอง ไม่ต้องรอเงินงบประมาณหรือจากแหล่งทุน และใช้โรงเรียนตาดีกาที่ตะลุโบะเป็นสถานที่เรียน มีลานฝึก ห้องพัก กำหนดว่าในแต่ละวันจะเรียนขั้นไหน เด็กมาเรียนตอนหลังเลิกเรียนปกติและวันหยุด โดยมีพ่อแม่ผู้ปกครองส่งเสริมและรับส่ง
“5 ปีที่สอนมา มีเด็กจบไปพันกว่าคน เราพยายามสร้างคน เมื่อเขาเชิญไปแสดงตามงานต่างๆ ถ้าเป็นงานกุศล ตาดีกา เมื่อเขาถามค่าใช้จ่าย ก็บอกว่าขอค่าน้ำมันรถก็พอ เพราะการไปแสดงคือหน้าที่ที่เราต้องไปเผยแพร่ เราทำด้วยอุดมการณ์ ไม่ได้มองเรื่องค่าตอบแทนเป็นหลัก เราได้ไปเผยแพร่ ไปรู้จักคนอื่นๆ สีลัตมีผู้หญิงฝึกด้วย 30 คน”
“เด็กๆ ของสีลัตฮารีเมาปาตานี ผมการันตี 100 เปอร์เซ็นต์ว่าไม่ยุ่งเกี่ยวกับอบายมุขและสิ่งเสพติด เราสอดแทรกการขัดเกลาจิตใจและศาสนาเพื่อไม่ให้เด็กก้าวร้าวหรือรังแกผู้อื่น สีลัตเป็นศาสตร์ที่ทำให้เราเข้าใจตนเอง” มะซัมรีบอกถึงเป้าหมายของการเรียนและฝึกสีลัต
@@ สายตาหวาดระแวงจากฝ่ายความมั่นคง
เขายอมรับว่า ช่วงแรกๆ ถูกสุ่มตรวจจากฝ่ายความมั่นคง เมื่อเข้าไปตรวจ เด็กๆ ที่มาสมัครเรียนก็กลัว ตอนนั้นไม่ได้ฝึก กำลังพักผ่อน ได้พูดคุยกับเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบก็พยายามทำความเข้าใจ
“เจ้าหน้าที่บอกว่าต้องดูแลให้เกิดความมั่นคง ปลอดภัย เขาชวนผมไปพูดคุย ผมก็ได้ทำความเข้าใจทั้งกับเจ้าหน้าที่ และผู้นำในพื้นที่ 5 ปีที่ผ่านมาก็ไม่มีอีก หากจะมาก็ไม่ระแวงเพราะเราไม่ได้ทำอะไรผิด เราไปแสดงไกลๆ กลับมาผ่านด่าน ถูกเรียกตรวจก็ไม่กลัว การฝึกเยาวชนทำให้อาจถูกมองว่าเป็นการฝึกกองกำลังหรือเปล่า ถ้าเจ้าหน้าที่สงสัยมาตรวจสอบได้ เราไม่เคยมีคดี ไม่มีหมายจับอะไร เราทำทุกอย่างเปิดเผย”
@ คำมั่น-สืบสานเจตนารมณ์บรรพบุรุษ
สำหรับเส้นทางการเรียนรู้และฝึกปรือ “สีลัต” ของมะซัมรีนั้น สืบทอดมาแบบรุ่นสู่รุ่น ถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของคนมลายูอย่างแท้จริง
“ผมเรียนสีลัตมาจากปู่ตอนอายุประมาณ 6 ขวบ ตอนนั้นปู่อายุ 50 กว่า ตอนนี้ท่านเสียชีวิตแล้ว ผมเรียนกุรอ่าน หลังละหมาดอีซา (ละหมาดเวลากลางคืน) ก็ว่าง จึงเรียนสีลัตกับปู่ทุกคืน แรกๆ ก็ไม่ชอบ ผมเป็นเด็กอ่อนแอ เพื่อนชอบรังแก อยากดูแลตัวเองได้ ชอบดูหนังบู๊แอคชั่น จึงตั้งใจเรียน ได้รู้จักตัวเอง มีเพื่อนเรียนด้วยกัน พอโตก็แยกย้ายไปตามวิถีของตนเอง ส่วนผมต่อยอดด้านนี้”
“ปู่บอกว่าชีวิตคนเรา เราต้องเป็นนักเรียนจนวันตาย เรียนเพื่อเผยแพร่ต่อไป สีลัตทำให้เรารู้จักตัวตนและรู้จักพระเจ้า ได้รู้จักว่าเราเกิดมาเพื่ออะไร จะไปไหน จนมาเลเซียเปิดสอบเพื่อเป็นครูสีลัตเมื่อ 7 ปีที่แล้ว ผมไปสอบผ่านเป็นครูระดับนานาชาติที่มาเลย์ ทางมาเลเซียขอให้ผมสอนที่โน่น ให้เงินเดือนสูง ผมบอกว่าขอกลับ แม้ว่าจะมีรายได้น้อยกว่าการมีอาชีพในมาเลย์ แต่ผมมาสืบสานเจตนารมณ์ของปู่ที่บ้านเกิด”
@@ จากศิลปะ สู่การแข่งขัน
มะซัมรี บอกว่า สีลัตมีหลายแขนง และแตกต่างจากปันจักสีลัต
“สีลัตมลายูมีเยอะมาก เช่น สีลัตกายู สีลัตฮารีเมา มีท่าไหว้ครู ซึ่งไม่เหมือนของชาวพุทธ ความเชื่ออยู่ที่เราว่าเราจะตั้งภาคีกับพระเจ้ามั้ย หรือเราจะอยู่ในขอบเขต อยู่ที่เรา ไม่ได้อยู่ที่สีลัต ไหว้ครูมลายูกับพุทธนี่แตกต่างกัน เราก้มกราบไม่ได้ เพียงยกมือพนมระหว่างอก ไม่ก้มหัว อาวุธในการแสดงเป็นเหล็กจริง แต่ไม่มีความแหลมคม กันพลาด มีการเรียนเทคนิคการแสดง มีหลายศาสตร์ ส่วนปันจักสีลัตเป็นเกมเพื่อการแข่งขัน นำบางกระบวนท่ามาแข่งขัน”
“สีลัต” เริ่มเรียนตั้งแต่เด็ก ฉะนั้นการสอนเด็กจึงเป็นเทคนิคที่สำคัญ และส่งผลต่อการเผยแพร่ “สีลัต” ในวงกว้างออกไป
“การเรียนการสอนขั้นแรก ต้องให้ความรู้เรื่องสีลัต ให้มีความรัก ถ้าเด็กไม่รักจะไม่เรียน ขั้นสองคือ สอนไหว้ครู สอนทีละท่าว่าเป็นมาอย่างไร สอนปัดป้อง ก้าวเท้า และการป้องกันตัว สีลัตมี 7 ขั้น เป็นขั้นสายเหมือนเทควันโด มีการทดสอบความแข็งแรงของร่างกาย เทคนิคพื้นฐาน ท่องจำอัลกุรอ่าน ละหมาดญานาซะ ถวายบุญเป็น สอบข้อเขียน ฝึก 6 เดือน แล้วทดสอบจากเบาไปหนัก อยู่ที่ความพร้อมของร่างกาย”
ส่วนการไปแข่งขันระดับนานาชาติที่มาเลเซีย มะซัมรี บอกว่า เราไปในนามตัวแทนทีมชาติไทยจำนวน 10 คน เป็นครั้งแรกที่ไปแข่งขันระดับนี้ แต่ไม่มีงบสนับสนุน ไม่ได้คาดหวังว่าต้องชนะ เพราะมาเลย์เป็นที่หนึ่งด้านนี้ แต่จะทำให้ดีที่สุด จะให้น้องๆ ได้รับประสบการณ์และนำมาพัฒนาสีลัตบ้านเรา”
@@ ผู้ใหญ่ใจดี...สตรีไทยดีเด่น
ดังที่เกริ่นเอาไว้ในตอนแรกว่า การเดินทางไปแข่งขัน “สีลัต” ระดับนานาชาติ เกือบจะกลายเป็นแค่ความฝัน หากไม่ได้รับการช่วยเหลือสนับสนุนจาก “ผู้ใหญ่ใจดี” อย่าง พญ.สุรางคณา เตชะไพฑูรย์ ที่บริจาคเงินผ่านกลุ่มร่วมด้วยช่วยกันชายแดนใต้ และขอให้ทางกลุ่มฯ เป็นสื่อกลางนำงบประมาณไปสนับสนุน “สีลัตฮารีเมาปาตานี”
นางสาวรอกีเยาะ อาบู ประธานกลุ่มร่วมด้วยช่วยกันชายแดนใต้ กล่าวว่า พญ.สุรางคณา และครอบครัวเตชะไพฑูรย์ ได้ช่วยเหลือเด็กและผู้ยากไร้ ด้อยโอกาสในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มาอย่างต่อเนื่อง โดยวันที่ 14 ก.ย.ที่จะถึงนี้ ก็จะมีกิจกรรมของกลุ่มร่วมด้วยช่วยกัน นำอาหารเหลวสำหรับเด็กไปมอบให้ครอบครัวที่ประสบปัญหาความเดือดร้อนจากสถานการณ์ความไม่สงบ โรคระบาด และเศรษฐกิจตกต่ำ
สำหรับ พญ.สุรางคณา เพิ่งได้รับรางวัล สตรีไทยดีเด่นประจำปี 2565 จากสมาคมสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปภัมภ์ ซึ่งเป็นรางวัลที่พิจารณาและประกาศร่วมกับ กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จัดพิธีมอบรางวัลกันเมื่อวันที่ 1 ส.ค.65 ที่ผ่านมา
-------------------------------
หมายเหตุ : ผู้สนใจร่วมสนับสนุน บริจาคได้ที่ บัญชีธนาคารกสิกรไทย เลขที่ 0143915972 นายมะซัมรี จูฑังคะ หรือสามารถติดต่อได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 097-9876044