คำว่า “ทหารผี” หรือ “บัญชีผี” ในบริบทที่เกี่ยวข้องกับกำลังพลซึ่งปฏิบัติราชการสนาม ราชการสงคราม หรือในพื้นที่ประกาศกฎอัยการศึก ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงอีกครั้งหลังเกิดกรณี “สิบตำรวจโทหญิง”
เป็น “สิบตำรวจโทหญิง” ที่ตกเป็นผู้ต้องหาในคดีทำร้ายร่างกายและค้ามนุษย์ “อดีตสิบโทหญิง” ที่อ้างว่าถูกขอตัวมาเป็น “ทหารรับใช้”
ทั้ง “สิบตำรวจโทหญิง” และ “อดีตสิบโทหญิง” ถูกตั้งคำถามถึงกระบวนการรับเข้าเป็นข้าราชการตำรวจและทหาร ว่ามีการใช้ระบบอุปถัมภ์จากสมาชิกสภานิติบัญญัติ และนายทหาร นายตำรวจระดับสูง ผลักดันให้ติดยศ สวมเครื่องแบบหรือไม่
เช่นเดียวกับการลงไปช่วยราชการสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของ “สิบตำรวจโทหญิง” ซึ่งลงไปแต่ชื่อ ตัวไม่ได้ลงไปทำงานจริง เพราะทำหน้าที่เป็นผู้ชำนาญการประจำตัวสมาชิกวุฒิสภาท่านหนึ่งอยู่
เรื่องราวนี้ได้ถูกขุดย้อนไปถึงปัญหา “ทหารผี - บัญชีผี” ที่เคยมีการร้องเรียนกันมาตลอด มีเสียงจากพี่น้องกำลังพลในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้สะท้อนผ่านสื่อมากมาย...
ทว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกองทัพ และ กอ.รมน. (กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร) ยังคงนิ่ง
จริงๆ แล้วปัญหากำลังพลที่ลงไปปฏิบัติราชการสนามที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีเรื่องเล่าขานมาตลอดจากคนในกองทัพเอง
ข้อมูลโดยสังเขปก็คือ “กำลังพลผี” มี 2 แบบ
1.กำลังพลผี ตามที่เป็นข่าว คือมีชื่อลงไปปฏิบัติราชการสนาม โดยเฉพาะสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อรับสิทธิพิเศษ เบี้ยเลี้ยง เบี้ยเสี่ยงภัย วันทวีคูณ เงินเพิ่มพิเศษเพื่อการสู้รบ หรือ พสร. (เดือนละประมาณ 10,000 บาทเป็นอย่างต่ำ ไม่นับสิทธิพิเศษในการเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่ง) แต่ตัวไม่ได้ลงไปปฏิบัติงานจริง
กลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็น “เด็กนาย” คนใกล้ชิดผู้มีอำนาจ ใช้เส้นลงไปเอาเงิน เอาตำแหน่ง และสิทธิพิเศษในการเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่งเหนือกว่ากำลังพลคนอื่น
ผลที่ตามมา คือ ถ้าฝากกันไปเยอะๆ กำลังพลผีมีมาก ก็ไปกินอัตรากำลังพลที่ลงพื้นที่จริง ทำงานจริง ทำให้ไม่มีอัตรารองรับคนทำงาน กลายเป็นว่าคนทำงานจริง ทำฟรี ได้แต่เงินเดือนปกติ ไม่ได้สิทธิพิเศษ ส่วน “กำลังพลผี” รับเต็ม ทั้งเงินเดือนจากต้นสังกัดเดิม และเงินเพิ่มพิเศษอีกสารพัด โดยที่ตัวปลอดภัย ไร้ความเสี่ยง เพราะไม่ได้อยู่ในพื้นที่
คนที่เกี่ยวข้องกับ “กำลังพลผี” รูปแบบนี้ คือผู้บังคับบัญชาระดับสูงของหน่วย ทั้งหน่วยต้นสังกัด และหน่วยรับช่วยราชการ
2.กำลังพลผี ตามหน่วยกำลังต่างๆ เช่น หน่วยเฉพาะกิจ หรือ กองร้อยทหารราบ หรือ หมวดเฉพาะกิจ (มว. - ของตำรวจ) รวมถึง อส. (อาสารักษาดินแดน) ที่ปฏิบัติหน้าที่ลาดตระเวน และปฏิบัติราชการสนามจริงๆ ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
กลุ่มนี้แยกเป็น 2 กลุ่มย่อย
2.1 กำลังพลผีในกองร้อย เช่น 1 กองร้อย มี 150 นาย ใน 1 ผลัดการเข้าปฏิบัติหน้าที่ จะให้ลากลับบ้านได้ 25% เพื่อให้เหลือกำลังพลปฏิบัติภารกิจได้เพียงพอ แต่ ผบ.ร้อย อาจปล่อยให้ลา 50% โดยคนที่ได้สิทธิลา ก็จะไม่ได้รับเบี้ยเลี้ยง ค่าอาหาร (ค่าประกอบเลี้ยง) คิดเหมาต่อหัว เงินส่วนเกินเหล่านั้นก็จะเข้ากระเป๋าผู้บังคับหน่วย
ถ้าเป็นผู้บังคับหน่วยที่นิสัยดี ก็จะนำเงินนั้นมาแบ่งกับกำลังพลที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ เพื่อให้ได้เบี้ยเลี้ยงเพิ่มขึ้น มีอาหารมากขึ้น มีคุณภาพขึ้น (แต่คนดีมีน้อย?)
ผู้บังคับหน่วยที่นิสัยไม่ดี ก็จะนำเงินนั้นเข้ากระเป๋าตัวเอง สร้างความร่ำรวย นอกเหนือจากงบลับที่ถืออยู่แทบทุกหน่วยอยู่แล้ว
ผู้บังคับหน่วยบางคน “ขาเข้า” ไปปฏิบัติราชการสนาม ขับปิคอัพ “ขากลับ” หลังจบภารกิจ 1-2 ปี ขับเบนซ์ บีเอ็มฯ ก็มีไม่น้อย
2.2 กำลังพลผีที่ไม่มีตัวตนอยู่จริงเลย มีแต่ชื่อ หรือมีแต่อัตรา กลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะมีผู้บังคับบัญชาระดับสูงกว่าผู้บังคับหน่วยรู้เห็น เป็นลักษณะของกำลังพลที่ไม่อยากลงไปปฏิบัติหน้าที่เสี่ยง ก็ตกลงกับผู้บังคับบัญชาให้ส่งไปแต่ชื่อ ตัวไม่ได้ไป แล้วนำเงินเพิ่ม เบี้ยเลี้ยง เบี้ยเสี่ยงภัย มาแบ่งกัน หรือยกให้ผู้บังคับบัญชาทั้งหมด (ซึ่งก็จะมีแบ่งสรรกันในกลุ่มผู้บังคับบัญชาที่เกี่ยวข้อง)
กำลังพลผี ทุกรูปแบบ ทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนกำลังพลที่ปฏิบัติหน้าที่จริงในสนาม ทั้งลาดตระเวน สายตรวจ หาข่าว ฯลฯ ทำให้ไม่สามารถป้องกันเหตุร้ายได้ และบางส่วนก็กลายเป็นเป้าหมายของการก่อเหตุเสียเอง
---------------------
ขอบคุณภาพประกอบจากรายการข่าวข้นคนข่าว เนชั่นทีวี