รักษาการนายกฯ นั่งหัวโต๊ะเคาะต่ออายุ “พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ” ชายแดนใต้อีก 3 เดือน ตั้งแต่ 20 ก.ย.- 19 ธ.ค.65 ยกเว้น 8 อำเภอ นับเป็นการขยายเวลาครั้งที่ 69 ตั้งแต่เริ่มบังคับใช้ครั้งแรกเมื่อปี 2548
วันพุธที่ 7 ก.ย.65 ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน ครั้งที่ 3/2565 ผ่านระบบ VTC เพื่อรับทราบผลการปฏิบัติงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีการบังคับใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ)
พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า จากสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ที่ผ่านมา เป็นเหตุให้ประชาชนและเจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต ฉะนั้นเพื่อให้เจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ และพลเรือน สามารถปฏิบัติงานร่วมกันในการควบคุมสถานการณ์และบังคับใช้กฎหมาย ที่ประชุมได้ร่วมพิจารณาและให้ความเห็นชอบขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ในเขตท้องที่ทุกอำเภอในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ยกเว้น อ.ศรีสาคร อ.สุไหงโก-ลก อ.แว้ง อ.สุคิริน จ.นราธิวาส รวมทั้ง อ.ไม้แก่น อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี และ อ.เบตง อ.กาบัง จ.ยะลา ออกไปอีก 3 เดือน ตั้งแต่ 20 ก.ย.- 19 ธ.ค. 65
พล.อ.ประวิตร ได้กำชับในที่ประชุมถึงเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ผ่านมาว่า ขอให้หน่วยงานความมั่นคงเพิ่มความเข้มข้นงานข่าว และทำงานเชิงรุกใกล้ชิดกับภาคประชาชนในพื้นที่ให้มากขึ้น เพื่อป้องกันและลดเหตุรุนแรง พร้อมย้ำนโยบายและความตั้งใจของรัฐบาลในการพัฒนาพื้นที่ เน้นการมีส่วนร่วมควบคู่กับการดูแลเสรีภาพและความปลอดภัยของประชาชน ด้วยการบังคับใช้กฎหมาย ไม่ใช้ความรุนแรงต่อกัน
พร้อมกันนี้ได้ฝากความระลึกถึงและเป็นกำลังใจจากนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถึงเจ้าหน้าที่และครอบครัวที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ทุกคน โดยขอให้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความอดทน อดกลั้น ด้วยความระมัดระวังและไม่ประมาท เพื่อนำความสงบและสันติสุขให้เกิดขึ้นในพื้นที่ให้ได้
สำหรับการขยายเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ครั้งนี้ นับเป็นครั้งที่ 69 แล้ว นับตั้งแต่ประกาศครั้งแรกเมื่อเดือน ก.ค.2548 นับรวมเวลากว่า 17 ปี ท่ามกลางกระแสวิจารณ์และเรียกร้องให้ยกเลิกการใช้กฎหมายพิเศษในพื้นที่ แต่ฝ่ายความมั่นคงก็ยืนยันความจำเป็น เนื่องจากยังมีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้จะมีการพูดคุยเพื่อสันติสุขกับกลุ่มบีอาร์เอ็นแล้วก็ตาม
ที่ผ่านมามีความพยายามยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ บางอำเภอที่มีเหตุรุนแรงเบาบาง แต่ก็ยังไม่เห็นความต่างมากนัก ระหว่างพื้นที่ที่ยกเลิกการประกาศ กับพื้นที่ยังคงประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงอยู่
การนั่งหัวโต๊ะประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉินของ พล.อ.ประวิตร ครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกที่ปฏิบัติหน้าที่รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรีด้วย เนื่องจาก พล.อ.ประยุทธ์ ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว ระหว่างพิจารณาคำร้องกรณีระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครบ 8 ปีตามนัยแห่งรัฐธรรมนูญมาตรา 158 วรรค 4 แล้วหรือยัง