กระบวนการตรวจสอบข้อครหาต่างๆ ที่เกี่ยวกับ “สิบตำรวจโทหญิง” ทำร้ายร่างกาย “อดีตทหารหญิงยศสิบโท” เริ่มต้นขึ้นแล้ว ทั้งจากคณะกรรมการจริยธรรมของวุฒิสภา และคณะกรรมาธิการชุดต่างๆ ของสภาผู้แทนราษฎร
ปมสงสัยส่วนใหญ่พุ่งเป้าไปที่ช่องทางและวิธีการเข้ารับราชการของทั้งสองคน ว่าใช้ระบบอุปถัมภ์ เส้นสายของผู้หลักผู้ใหญ่ในแวดวงราชการ และฝ่ายนิติบัญญัติ โดยเฉพาะสมาชิกวุฒิสภาบางคนหรือไม่ การดำรงตำแหน่งในคณะกรรมาธิการชุดต่างๆ ของวุฒิสภา มาจากเหตุผลความเหมาะสมข้อใด
โดยเฉพาะการตั้ง “สิบตำรวจโทหญิง” เป็น “ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์” ของคณะกรรมาธิการการกฎหมาย กระบวนการยุติธรรม และกิจการตำรวจ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วาระของสภา ปี 2557-2562) ซึ่งกรรมาธิการเต็มไปด้วยนายตำรวจยศ “พลตำรวจเอก” มีอดีต ผบ.ตร.หลายคน รวมถึงอดีตอัยการสูงสุดด้วย แต่กลับมี “ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์” เป็นตำรวจหน้าใหม่ ยศ “สิบตำรวจโท” เท่านั้น
ขณะที่ “สิบตำรวจโทหญิง” คนเดียวกัน ยังเป็น “ที่ปรึกษากิตติศักดิ์” ของคณะกรรมาธิการบางคณะ ของวุฒิสภาชุดปัจจุบัน ซึ่งมีกรรมาธิการบางคนเป็นคนเดียวกันกับคณะกรรมาธิการการกฎหมายฯ ในยุคสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
อย่างไรก็ดี ประเด็นการตรวจสอบเกือบทั้งหมดพุ่งไปที่เรื่องนี้ ส่วนประเด็นการลงไปช่วยราชการที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ได้รับสิทธิประโยชน์ทั้งเบี้ยเลี้ยง เบี้ยเสี่ยงภัย แต่ไม่ได้ลงไปปฏิบัติงานจริง กลับเงียบหายไป หลังจากหน่วยงาน ทั้ง กอ.รมน.ส่วนกลาง และ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า พยายามยืนยันตรงกันว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องเฉพาะตัวของ “สิบตำรวจโทหญิง” การขอช่วยราชการเป็นไปตามขั้นตอนที่สมัครมาจากหน่วยต้นสังกัด (กองบัญชาการตำรวจสันติบาล) แต่สุดท้ายเมื่อ “สิบตำรวจโทหญิง” ต้องคดีอาญา จึงถือว่าขาดคุณสมบัติ ส่งกลับต้นสังกัดเรียบร้อย และเรียกเงินที่ได้รับตามสิทธิพิเศษราวๆ 1.1 แสนบาทคืน
ส่วนเรื่อง “บัญชีผี” ซึ่งหมายถึงการบรรจุข้าราชการลงไปปฏิบัติหน้าที่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามกรอบอัตรากำลังของ กอ.รมน.ภาค 4 แบบเต็มจำนวน แต่ส่วนหนึ่งกลับไม่ได้ลงไปปฏิบัติงานจริงนั้น เรื่องนี้ทางฝั่งวุฒิสภาไม่ได้พูดถึง แม้จะมีเสียงเรียกร้องจากหลายฝ่าย ทั้งกำลังพลในพื้นที่เอง และคนระดับอดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ สมช. (พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร) ก็ตาม
@@ กมธ. ป.ป.ช. ลุย “บัญชีผี” รื้อโครงสร้างบิดเบี้ยว
ล่าสุดดูจะเหลือเพียงคณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร (กมธ. ป.ป.ช.) ที่ยังประกาศเดินหน้าตรวจสอบเรื่อง “บัญชีผี” ต่อไป
วันจันทร์ที่ 5 ก.ย.65 นายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะโฆษก กมธ. ป.ป.ช. กล่าวว่า วันที่ 8 ก.ย. ทาง กมธ. ป.ป.ช. จะเชิญ “สิบโทหญิง” อดีตทหารรับใช้ของ “สิบตำรวจโทหญิง” พร้อมด้วยทนายความ และ นายกัณฐัศว์ พงศ์ไพบูลย์เวชย์ หรือ “กัน จอมพลัง” เข้ามาชี้แจง จากนั้นจะทยอยให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องประมาณ 20 รายชื่อเข้าชี้แจงต่อเนื่องทุกสัปดาห์
ทั้งนี้ยืนยันว่า กมธ. ป.ป.ช. ได้เรียกเอกสารจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะเรื่องการฝากเข้ารับราชการตำรวจ และเข้ารับราชการทหาร การนำตัวไปเป็นทหารรับใช้ และเรื่อง “บัญชีผี” ที่มีชื่อไปทำงานที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า แต่ตัวไม่ไปปฏิบัติหน้าที่จริง ว่ามีจำนวนเท่าไหร่กันแน่ และมีชื่อใครบ้าง เพื่อแก้ไขระบบโครงสร้างของประเทศในระยะยาวต่อไป
นายธีรัจชัย กล่าวด้วยว่า เรื่องการนำทหารไปรับใช้ ถือเป็นเรื่องที่มีรากมายาวนาน แต่การที่ “สิบตำรวจโทหญิง” นำตัว “สิบโทหญิง” ไปรับใช้ได้ ก็เป็นเรื่องแปลก อีกทั้งประเทศที่พัฒนาแล้วจะไม่มีการทำแบบนี้ ฉะนั้นต้องพยายามรื้อโครงสร้างที่บิดเบี้ยวไม่ชอบธรรมนี้ออกมาให้ได้
@@ นิด้าโพลเผยคนชายแดนใต้เชื่อ “บัญชีผี” มีจริง
ด้านศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “บัญชีผีหน่วยงานภาครัฐใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้” โดยสำรวจระหว่างวันที่ 30 ส.ค.65 - 1 ก.ย.65 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป และมีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส กระจายทุกระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,102 หน่วยตัวอย่าง
ผลสำรวจที่สำคัญ พบว่า จากข่าวเจ้าหน้าที่รัฐจำนวนหนึ่งมีชื่อปฏิบัติงานใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ไม่มีตัวตนเข้ามาทำหน้าที่จริงในหน่วยงานนั้นๆ (บัญชีผีหน่วยงานภาครัฐ)
ร้อยละ 40.29 ระบุว่า เชื่อว่าเกิดขึ้นจริง
ร้อยละ 25.95 ระบุว่า ค่อนข้างเชื่อว่าเกิดขึ้นจริง
ร้อยละ 19.33 ระบุว่า ไม่เชื่อเลย
ร้อยละ 14.07 ระบุว่า ไม่ค่อยเชื่อว่าเกิดขึ้นจริง
ร้อยละ 0.36 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า จากผลสำรวจในประเด็นนี้ สะท้อนว่า กลุ่มตัวอย่างที่มีแนวโน้มเชื่อข่าวนี้มีมากกว่าร้อยละ 65 เลยทีเดียว
ประเด็นต่อมา ความรู้สึกของประชาชนต่อข่าว “บัญชีผีหน่วยงานภาครัฐ” เฉพาะตัวอย่างที่ระบุว่า เชื่อว่าเกิดขึ้นจริง ค่อนข้างเชื่อว่าเกิดขึ้นจริง และไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ (จำนวน 734 หน่วยตัวอย่าง)
ร้อยละ 43.32 ระบุว่า อาจจะมีผลประโยชน์แอบแฝงอยู่
ร้อยละ 41.55 ระบุว่า ไม่เป็นธรรมกับเจ้าหน้าที่รัฐผู้ที่ปฏิบัติงานจริงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
ร้อยละ 30.65 ระบุว่า เป็นการย้ายแค่ชื่อเข้ามาเอาตำแหน่ง เพื่อการเติบโตทางราชการในวันหน้า
ร้อยละ 30.38 ระบุว่า เป็นการใช้เส้นสายทางราชการ/การเมือง
ร้อยละ 27.38 ระบุว่า เป็นเรื่องปกติ ในระบบราชการไทย
ร้อยละ 17.57 ระบุว่า ผู้บริหารในส่วนกลางไม่ใส่ใจดูแลแก้ปัญหาบัญชีผีหน่วยงานภาครัฐใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
ร้อยละ 14.85 ระบุว่า เป็นการอาศัยช่องว่างทางกฎระเบียบในระบบราชการ
ร้อยละ 1.91 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
@@ อึ้ง! เกือบครึ่งเชื่อแก้ไขไม่ได้
ท้ายที่สุด เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อการแก้ไขปัญหาบัญชีผีหน่วยงานภาครัฐใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เฉพาะตัวอย่างที่ระบุว่า เชื่อว่าเกิดขึ้นจริง ค่อนข้างเชื่อว่าเกิดขึ้นจริง และไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ (จำนวน 734 หน่วยตัวอย่าง)
ร้อยละ 57.08 ระบุว่า จะสามารถแก้ไขปัญหาได้ เพราะ หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีความเข้มงวดในการตรวจสอบอย่างจริงจัง และมีบทลงโทษที่รุนแรงสำหรับคนที่กระทำผิดก็จะสามารถแก้ไขปัญหาได้
ร้อยละ 40.74 ระบุว่า ไม่มีทางแก้ไขปัญหาได้ เพราะเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มานานจนกลายเป็นเรื่องปกติ มีเรื่องของอำนาจ ผลประโยชน์และเส้นสายเข้ามาเกี่ยวข้องจึงเป็นปัญหาที่แก้ไขได้ยาก
ร้อยละ 2.18 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ