รัฐบาลเดินหน้าแก้ปัญหาเด็กขาดสารอาหารในจังหวัดชายแดนใต้ ทุ่มงบเกือบ 500 ล้าน สนับสนุนด้านโภชนาการเด็กแรกเกิดถึง 6 ปี กว่า 46,819 ราย ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำในพื้นที่
นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกรรมการผู้แทนพิเศษของรัฐบาลในกาแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เปิดเผยว่า จากการลงพื้นที่กับ พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านพิเทน ต.พิเทน อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี เพื่อพบปะเยี่ยมเยียนแพทย์ พยาบาลและประชาชน รวมถึงติดตามการดำเนินงานแก้ปัญหาสุขภาวะและโภชนาการต่ำในเด็กเล็ก พบว่าเรื่องสุขภาวะในเด็กเป็นปัญหาที่พบมากและรุนแรงกว่าในจังหวัดอื่นมาก มีสาเหตุจากครอบครัวมีรายได้น้อย มีลูกหลายคน ผู้ปกครองไม่มีเวลาดูแล โดยจะส่งผลต่อการเจริญเติบโตของร่างกายและพัฒนาการทางสมอง
ดังนั้นรัฐบาลจึงให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหานี้อย่างมาก ถือเป็นกระดุมเม็ดแรกที่ต้องได้รับการแก้ไข เพื่อลดปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม โดยรัฐบาลได้เดินหน้าแก้ปัญหาการขาดสารอาหารในเด็กเล็กมาอย่างต่อเนื่อง และในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ทาง ศอ.บต.ได้มีการปรับแผนการดำเนินงานและบูรณาการกับหลายหน่วยงานมากขึ้น ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อช่วยเหลือเด็กเล็ก 2 กลุ่มในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีทั้งหมดกว่า 46,819 คน ได้แก่
กลุ่มเด็กแรกเกิด - อายุก่อนครบ 2 ปี จัดเงินช่วยเหลือค่าเลี้ยงดูรายเดือน คนละ 400 บาท
กลุ่มเด็กอายุครบ 2 ปี - ก่อนครบ 6 ปี จัดเงินช่วยเหลือค่าอาหาร รายเดือน คนละ 300 บาท
รวมวงเงินประมาณ 497 ล้านบาท
ทั้งนี้ ในระยะต่อไปทาง ศอ.บต.จะปรับแผนการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยจะเป็นการเน้นการให้การสนับสนุนด้านโภชนาการ ให้หน่วยงานระดับชุมชนใกล้ชิดเด็กเล็กมากที่สุด และจะดูแลเรื่องการจัดหาวิตามินรวม MTV (Multivitamin) การจัดสรรเครื่องมืออุปกรณ์ในการติดตามพัฒนาการของเด็กตามเกณฑ์วัดผลด้านโภชนาการ ตลอดจนสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรในการปฏิบัติงานในชุมชน หมู่บ้าน และจะส่งเสริมทักษะการใช้ภาษาไทยควบคู่ไปด้วย เพื่อให้เด็กเล็กสามารถเข้าถึงและใช้ภาษาไทยในการสื่อสาร ตลอดจนสามารถพัฒนาตนเองได้อย่างเหมาะสม และในวันที่ 7 – 8 ก.ย.65 จะมีการประชุมหาแนวทางการขับเคลื่อนและเพื่อพิจารณาโครงการตามงบประมาณ 500 ล้านบาทต่อไป
นางสาวรัชดา กล่าวด้วยว่า นอกจากการจัดสรรงบประมาณเพื่อดูแลเรื่องอาหารแก่เด็กเล็กแล้ว รัฐบาลยังขับเคลื่อนการแก้ปัญหาสุขภาวะเด็กเล็กทั้งระบบ ให้ความสำคัญกับการป้องกัน เน้นการให้ความรู้เรื่องการวางแผนครอบครัวและการดูแลครรภ์ การดูแลแม่ขณะตั้งครรภ์ ต่อด้วยการสร้างงานสร้างอาชีพให้กับครอบครัว
ขณะเดียวกัน รัฐบาลได้เดินหน้าเรื่องการแก้ปัญหาความยากจน ส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก โดยเฉพาะกลุ่มสตรี เพราะเมื่อครอบครัวมีรายได้ที่มั่นคง ลูกๆ ก็จะได้กินอิ่มด้วย และต้องเป็นอิ่มที่มีสารอาหารครบถ้วน