กระแสวิจารณ์จากสังคมที่เรียกร้องให้ตรวจสอบการเข้ารับราชการของ “ส.ต.ท.หญิง” ว่าช่องทางพิเศษ เป็นเด็กฝากเด็กเส้นของใครหรือไม่, ถูกส่งไปช่วยราชการที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้อย่างไร ทั้งที่ไม่ได้ลงไปทำงานจริง แต่ได้รับสิทธิพิเศษเต็มร้อย
และยังไปเป็นที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ของคณะกรรมาธิการการกฎหมาย กระบวนการยุติธรรม และกิจการตำรวจ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งมีตำรวจชั้นนายพลนั่งกันเต็มคณะ แถมยังมีข่าวว่าเป็นผู้ชำนาญการณ์ประจำตัวของสมาชิกวุฒิสภาท่านหนึ่งอีกด้วยนั้น
เรื่องนี้แม้จะมีความคืบหน้า เพราะมีการ “เปิดตัว-เปิดหน้า” ผู้เกี่ยวข้องทั้งโดยตรงและโดยอ้อมบางส่วนแล้วก็ตาม แต่ในทางความเป็นจริงค่อนข้างยากที่จะพิสูจน์ข้อเท็จจริงว่า เรื่องราวทั้งหมดมีความไม่โปร่งใส หรือใช้อิทธิพลเส้นสายในการฝากคนเข้าระบบราชการ รวมทั้งฝ่ายนิติบัญญัติอย่างวุฒิสภากันแน่ เหตุผลก็คือ
1.ข้อกล่าวหาในเชิงความสัมพันธ์พิเศษระหว่างบุคคล แม้แต่สัมพันธ์เชิงชู้สาวนอกสมรส ที่เรียกว่า “เป็นกิ๊ก” หรือ “เพื่อนสนิท” เป็นเรื่องที่ตรวจสอบยืนยันได้ยาก เนื่องจากเป็นพฤติกรรมเฉพาะบุคคล และไม่ได้มีผลผูกพันตามกฎหมาย ตราบเท่าที่ไม่ใช่การล่อลวง หรือพรากผู้เยาว์ แต่เป็นเรื่องของศีลธรรม จรรยา และความเหมาะสมมากกว่า
2.การฝากคนเข้ารับราชการทุกกรณี ถ้าไม่มีการเรียกเงิน จ่ายเงินกันโจ๋งครึ่ม มักจะเอาผิดไม่ได้ โดยเฉพาะกรณี “เด็กนาย” ที่ผู้บังคับบัญชาระดับสูงฝากเอง เนื่องจากจะมีการไปออกระเบียบ หรือแก้ไขระเบียบ เพิ่มข้อยกเว้นสารพัด เพื่อรองรับการเข้ารับราชการของ “เด็กนาย” ที่ต้องการจะช่วยเหลือเป็นกรณีพิเศษ ทำให้การเข้ารับราชการนั้น ถูกกฎหมาย ถูกกฎระเบียบ แต่ไม่เป็นธรรมกับบุคคลอื่น
3.การไปช่วยราชการ ปฏิบัติราชการสนามที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และรับเงินเพิ่มพิเศษ เบี้ยเลี้ยง เบี้ยเสี่ยงภัย หรือวันทวีคูณ หน่วยงานปลายทางก็อ้างได้ว่าเป็นการส่งกำลังพลมาจากต้นทาง ขณะที่หน่วยงานต้นทางก็อ้างความเหมาะสมได้สารพัดอย่างเช่นกัน และเมื่อมีข้อสงสัย หรือปมปัญหา ก็ทำทีเป็นตั้งกรรมการสอบ และเรียกสิทธิพิเศษต่างๆ คืน โดยกระบวนการตรวจสอบจะใช้เวลานานจนสุดท้ายเรื่องเงียบไปเอง
ฉะนั้นกระบวนการตรวจสอบเรื่องนี้ จึงเป็นกระบวนการทางสังคมมากกว่า เมื่อใดที่กระแสความสนใจของสังคมจางลง ทุกอย่างจะเงียบหายเข้ากลีบเมฆ เนื่องจากทุกขั้นตอนถูกกฎหมาย เพียงแต่ไม่เหมาะสม และมักจะมีแพะออกมารับผิดในเบื้องต้นแทนแทบทุกกรณี
@@ “กองทัพไทย - กอ.รมน.” เข้าชี้แจง กมธ.ทหาร
กระบวนการตรวจสอบเรื่อง “ส.ต.ท.หญิง” ยังคงดำเนินต่อไป แต่ทิศทางดูเหมือนจะมุ่งไปในแนว “จบลงด้วยดี”
การประชุมคณะกรรมาธิการการทหาร (กมธ.ทหาร) สภาผู้แทนราษฎร วันพฤหัสบดีที่ 1 ก.ย.65 มีวาระพิจารณากรณี ส.ต.ท.หญิง กรศศิร์ บัวแย้ม ถูกกล่าวหาว่ากระทำทารุณกรรมลูกจ้างที่เป็นอดีตทหารหญิง โดยมี พล.อ.อ.สุวรรณ ขำทอง รองเสนาธิการทหาร เดินทางมาชี้แจงแทนผู้บัญชาการทหารสูงสุด พร้อมด้วย พล.ท.สุรสรห์ ดรุณสาสน์ เจ้ากรมกำลังพลทหาร กองบัญชาการกองทัพไทย และ พ.อ.สโรช พารอด ผู้อำนวยการกองการจัดการกำลังพล กรมกำลังพล กองบัญชาการกองทัพไทย
นอกจากนั้นยังมีผู้แทนจากกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รนม.ภาค 4 สน.) คือ พล.ต.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ รองผู้อำนวยการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (รอง ผอ.รมน.ภาค 4 สน.) และ พ.ท.วีรศรุตธ์ ประดิษฐสุวรรณ หัวหน้าแผนกนโยบายและแผน กองนโยบายและแผน สำนักอำนวยการข่าวกรอง กอ.รมน.ภาค 4 สน. เข้าชี้แจงเรื่อง ส.ต.ท.หญิง กรศศิร์ ไปช่วยราชการที่ กอ.รมน.ภาค 4 สน.ด้วย
@@ กอ.รมน.แจงเรียกคืนสิทธิประโยชน์ 1.1 แสน
ภายหลังการประชุม นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคไทยศรีวิไลย์ ในฐานะโฆษก กมธ.ทหาร เปิดเผยว่า จากการชี้แจงของทั้ง 2 หน่วยงาน พบว่า ส.ต.ท.หญิง กรศศิร์ เข้ารับราชการปี 2560 (สำนักงานตำรวจแห่งชาติ) ซึ่งมีการตั้งคณะกรรมการสัมภาษณ์ ทาง กมธ.จะต้องขอเรียกเอกสารเพิ่มเติมเป็นบันทึกการสัมภาษณ์
จากนั้นต้นปี 2565 ได้ไปช่วยราชการที่ กอ.รมน.ภาค 4 สน. ประมาณเดือน ก.พ.65 แต่ปัจจุบันออกจากราชการเป็นการชั่วคราว ซึ่ง กอ.รมน.ได้เรียกเงินคืนสิทธิประโยชน์ในส่วนของเบี้ยเสี่ยงภัย และเงินที่เกี่ยวข้องในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ประมาณ 110,000 บาท
ส่วนประเด็นที่ ส.ต.ท.หญิง กรศศิร์ เข้าทำงานจริงหรือไม่นั้น ทาง กอ.รมน.ระบุว่า เป็นการสมัครไปตามเงื่อนไข แต่เมื่อตรวจสอบแล้วไม่ถูกต้องตามเงื่อนไข จึงต้องเรียกคืน
@@ สิบโทหญิงที่ถูกทำร้าย กมธ.วุฒิฯก็ขอตัวช่วยราชการ
สำหรับ ส.ท.หญิง ปัทมา ศิริรัตน์ นายทหารหญิงรับใช้ ที่ออกมาแจ้งความร้องทุกข์ว่าถูกทำร้าย ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องชี้แจงว่า รับราชการครั้งแรกที่โรงเรียนช่างฝีมือทหาร เป็นพนักงานธุรการ จากนั้นกรรมาธิการของวุฒิสภาทำหนังสือเรียกตัวช่วยราชการ ในปี 2562 และ 2563 ต่อเนื่องถึงปัจจุบัน ซึ่งทาง กมธ.ทหาร ได้ขอดูหนังสือเรียกตัวช่วยราชการว่าลักษณะเป็นแบบใด พร้อมขอข้อมูลเพิ่มเติมจากกองบัญชาการกองทัพไทยในการสอบสัมภาษณ์ ส.ท.หญิง ปัทมา ช่วงที่สมัครเข้ารับราชการ ว่ามีผู้สมัครกี่คน สอบกี่คน และด้วยเงื่อนไขใดจึงรับ ส.ท.หญิง ปัทมา เข้ารับราชการ
นอกจากนี้ ส.ท.หญิง ปัทมา ได้ยื่นหนังสือลาออกเมื่อเดือน พ.ค.65 แต่มีการอนุมัติในเดือน ส.ค.65 ซึ่งทาง กมธ.ทหาร ได้ขอหลักฐานเพื่อยืนยันว่า ไม่ได้มีการทำเอกสารย้อนหลัง
@@ เสนอสอบข้อเขียน แทนสอบสัมภาษณ์
ทั้งนี้ กมธ.ทหาร ได้เสนอแนะไปยังกองบัญชาการกองทัพไทยในการบรรจุแต่งตั้งข้าราชการที่จบปริญญาตรี หากเป็นไปได้ขอให้ยกเลิกการสอบสัมภาษณ์ และขอให้เป็นการสอบข้อเขียน คล้ายการสอบเข้าโรงเรียน เพื่อปิดช่องโหว่การฝากคนเข้าทำงาน
นอกจากนี้ กอ.รมน.ชี้แจง ว่าปัจจุบันมีอัตรากำลังจร 54,100 นาย ทั้งทหาร ตำรวจ และพลเรือน ทาง กมธ.จึงให้ไปตรวจสอบว่ามีกี่เปอร์เซ็นต์ที่ปฏิบัติราชการจริง โดย กอ.รมน.บอกว่าต้องใช้เวลาตรวจสอบ
นายมงคลกิตติ์ กล่าวอีกว่า การตรวจสอบวันนี้เป็นเชิงเสนอแนะให้แก้ไขปัญหา ส่วนจะมีการทุจริตหรือไม่ ต้องสอบเพิ่มเติม คือการสอบบรรจุแต่งตั้งในส่วน ส.ต.ท.หญิง.กับส.ท.หญิง ต้องไปตรวจสอบในคณะกรรมการลับ ว่ามีการฝากกันหรือไม่หรือเข้าโดยระเบียบปกติ
@@ เปิดผลสอบ “ส.ต.ท.หญิง” ไร้ผลงาน ส่งกลับ-เรียกเงินคืน
อีกด้านหนึ่ง พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษก กอ.รมน. เปิดเผยผลการสอบสวนกรณี ส.ต.ท.หญิง กรศศิร์ ตำรวจสันติบาล ปฏิบัติหน้าที่ช่วยราชการ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ว่า จากการตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง พบว่าเจ้าตัวมาอยู่สังกัด สำนักอำนวยการข่าวกรอง กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.64 โดยทำเรื่องสมัครขอมาช่วยราชการกับหน่วยดังกล่าว ซึ่ง กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ได้พิจารณาแล้วว่ามีความเหมาะสม จึงได้ดำเนินการขออนุมัติบรรจุไปตามขั้นตอนงานด้านกำลังพลภายใต้ระเบียบข้อปฏิบัติของทางราชการ โดยได้รับมอบหมายภารกิจทางด้านงานข่าว เป็นผู้ประสานการปฏิบัติด้านธุรการในระดับเจ้าหน้าที่ และอำนวยความสะดวกให้กับผู้แทนหน่วยในการปฏิบัติงานนอกพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เกี่ยวกับ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า
ต่อมาเมื่อ 18 ส.ค. 65 ส.ต.ท.หญิง กรศศิร์ ได้ถูกแจ้งข้อกล่าวหาในคดีอาญา ซึ่งทาง กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า พบว่าแม้จะเป็นความผิดส่วนบุคคล แต่พฤติกรรมถือว่าขัดกับระเบียบและหลักเกณฑ์ที่ได้กำหนดไว้ จึงออกคำสั่งพ้นหน้าที่เมื่อ 19 ส.ค.65 และส่งตัวกลับต้นสังกัด
ล่าสุด 27 ส.ค.65 คณะกรรมการสอบสวน กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า มีความเห็นว่า ส.ต.ท.หญิง กรศศิร์ ปฏิบัติหน้าที่ไม่เป็นไปตามความสามารถ และไม่มีผลงานตามที่ผู้บังคับบัญชามอบหมายเป็นที่ประจักษ์ จึงยกเลิกให้ปฏิบัติหน้าที่ในสำนักอำนวยการข่าวกรอง กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ตั้งแต่ 1 ต.ค. 64 – 31 ก.ค. 65 พร้อมกับดำเนินการเรียกคืนเงินค่าตอบแทนพิเศษที่เบิกจ่ายไปแล้ว
@@ เปิด 3 กลุ่มผู้ปฏิบัติงาน กอ.รมน. - สิทธิประโยชน์อื้อ
สำหรับผู้ปฏิบัติงานให้กับ กอ.รมน. ในปัจจุบันมีอยู่ 3 ส่วน คือ
1.ผู้ปฏิบัติงานในอัตราประจำ ส่วนใหญ่ปฏิบัติงานอยู่ที่ กอ.รมน.ส่วนกลาง ได้แก่ ข้าราชการพลเรือนประจำ กอ.รมน., พนักงานราชการ กอ.รมน. และลูกจ้างชั่วคราว กอ.รมน.
2.ผู้ปฏิบัติงานที่เป็นไปโดยตำแหน่งตามที่ระบุไว้ในกฎหมาย พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 เช่น นายกรัฐมนตรีเป็น ผอ.รมน., ผู้บัญชาการทหารบกเป็น รอง ผอ.รมน., เสนาธิการทหารบก เป็น เลขาธิการ กอ.รมน., แม่ทัพภาค เป็น ผอ.รมน.ภาค และผู้ว่าราชการจังหวัด เป็น ผอ.รมน.จังหวัด
3.กำลังพลผู้ปฏิบัติงานในอัตราช่วยราชการแบบปีต่อปี ซึ่งจะเป็นกำลังพลส่วนใหญ่ ประกอบด้วย พลเรือน ตำรวจ และทหารทั้ง 3 เหล่าทัพ
ส่วนเรื่องสวัสดิการสิทธิประโยชน์สำหรับข้าราชการที่มาบรรจุในอัตราช่วยราชการที่ กอ.รมน. จะได้รับการนับวันรับราชการเป็นแบบ “วันทวีคูณ” และสำหรับข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติราชการในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะได้รับสิทธิเพิ่มขึ้นในเรื่องของ เบี้ยเลี้ยงสนาม ค่าเสี่ยงภัย และอาจได้รับเงินเพิ่มพิเศษเพื่อการสู้รบ (พสร.) กรณีถ้าอยู่ปฏิบัติงานในพื้นที่ต่อเนื่องเป็นเวลาอย่างน้อย 6 เดือน และมีการลาพักออกนอกพื้นที่ไม่เกิน 15 วัน โดยจะต้องผ่านกระบวนการพิจารณาจากคณะกรรมการกลั่นกรองตรวจสอบก่อน ถึงจะได้รับสิทธิประโยชน์ในส่วนนี้
ทั้งนี้ ยืนยันว่า กอ.รมน. พร้อมตรวจสอบทุกปัญหา เพื่อมุ่งหาข้อเท็จจริงร่วมกับสังคมและให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ซึ่งประชาชนสามารถแจ้งเบาะแสความมั่นคงด้านต่างๆ ผ่านสายตรงความมั่นคง โทร.1374 หรือผ่าน Line id : @1374 ได้ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง