ความคืบหน้าเหตุระเบิดและวางเพลิง “ปั๊มน้ำมัน” และ “ร้านสะดวกซื้อ” รวมถึงเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ อย่างน้อย 17 จุด ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อกลางดึกวันที่ 16 ส.ค. ต่อเนื่อง 17 ส.ค.65
หลังเกิดเหตุ 1 วัน เจ้าหน้าที่เริ่มได้ภาพจากกล้องโทรทัศน์วงจรปิดที่ยังคงหลงเหลือ ไม่ถูกทำลายเพราะเพลิงหรือระเบิด
ภาพจากกล้องที่พบ เป็นภาพการวางระเบิดรถบรรทุกที่จอดอยู่ใกล้หัวจ่ายน้ำมัน ที่ปั๊มน้ำมันใกล้แยกดอนยาง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ซึ่งมีปากคำของผู้เห็นเหตุการณ์ว่า คนร้ายไม่ได้ประสงค์ต่อชีวิต แต่ต้องการก่อเหตุเพื่อทำลายภาพลักษณ์ทางเศรษฐกิจ จึงไล่คนออกจากพื้นที่ ก่อนวางระเบิด และจุดระเบิดจนเกิดเพลิงลุกไหม้อย่างน่ากลัว
@@ มือบึ้มโชว์อาร์ม BRN เข้ากล้อง ขณะลอบวางระเบิด
“ทีมข่าวอิศรา” พบภาพเพิ่มเติมจากเพจเฟซบุ๊กที่ใช้นามว่า Aku Patani ซึ่งดูลักษณะการโพสต์ และเนื้อหาที่นำเสนอแล้ว น่าจะเป็นฝ่ายที่สนับสนุน บีอาร์เอ็น
เพจเฟซบุ๊กที่ว่านี้นำภาพที่ได้จากกล้องวงจรปิด มาแคปให้เห็นเครื่องแต่งกายชัดๆ ของคนที่ไปลอบวางระเบิด และวางเพลิง โดยอ้างว่าที่เสื้อ ซึ่งคล้ายเสื้อทหาร มีการติดอาร์ม เป็นรูปธงสัญลักษณของบีอาร์เอ็น
เพจเฟซบุ๊กนี้ยังให้ข้อมูลว่า ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 19 ปีที่มีการใส่ชุด และติด “เครื่องหมายบอกฝ่าย” ถือเป็นการประกาศจุดยืนที่ชัดเจนมากขึ้นหลังการเจรจาสันติภาพครั้งที่ 5 (หมายถึงการพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ เมื่อวันที่ 1-2 ส.ค.ที่ผ่านมา) ไม่บรรลุผล เนื่องจากรัฐบาลไม่เคยให้ความสำคัญการเจรจาพูดคุย
เพจนี้ยังอ้างว่าการโชว์เครื่องแบบ และเครื่องหมายสัญลักษณ์ / ทำให้ประชาชนมีความหวังมากขึ้น เพราะที่ผ่านมา ประชาชนบางส่วนยังไม่เชื่อว่า บีอาร์เอ็น มีจริงหรือเปล่า
ส่วนอีกเพจหนึ่ง ชื่อ ปิตุภูมิ หรือ Voice of Fatherland ซึ่งเป็นเพจที่สนับสนุนฝ่ายความมั่นคง ได้นำภาพการเคลื่อนไหวของกลุ่มที่ออกลอบวางระเบิดมาแสดงให้เห็นชัดๆ ว่ามีการแต่งกายคล้ายทหาร ติดฮาร์มเป็นธงชาติรัฐอิสลามปาตานี ทั้งนำกระเป๋าบรรจุระเบิดเข้าไปในร้านสะดวกซื้อ และขาออกก็ยังนำถังดับเพลิงออกมาด้วย คาดว่านำไปประกอบระเบิดครั้งต่อไป
ข้อมูลหลักฐานเหล่านี้ ทั้งที่มาจากการ “เพจไอโอ” ของฝ่ายตนเอง และฝ่ายตรงข้าม สอดรับกับข้อมูลที่ “ทีมข่าวอิศรา” รายงานไปก่อนหน้านี้ว่า เหตุระเบิดและวางเพลิงปั๊มน้ำมัน ร้านสะดวกซื้อ 17 จุดเป็นอย่างน้อย เป็นการกระทำของ “กลุ่มบีอาร์เอ็น” โดยข้อมูลที่ได้มา เป็นการพุ่งเป้าไปที่การกดดันให้รัฐบาลไทยรับเงื่อนไขของบีอาร์เอ็นบนโต๊ะพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ โดยเฉพาะการลดปฏิบัติการทางทหารของฝ่ายความมั่นคงไทย ซึ่งก็ตรงกับเพจไอโอหนุนบีอาร์เอ็นที่นำภาพชุดทหารติดอาร์มบีอาร์เอ็นมาเปิดเผย
@@ เพจ BRN อ้างระเบิดต้านทุนใหญ่ - รัฐโต้อวตาร
อีกหนึ่งความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ คือ เพจ BRN ซึ่งเป็นเพจเดียวกับที่เคยออกมาเตือนไม่ให้ชาวบ้านไทยพุทธเข้าไปล่าสัตว์ในพื้นที่มุสลิม ได้ออกมาโพสต์ภาพโลโก้ “บิ๊กซี” กับ “เซเว่น อีเลฟเว่น” พร้อมเขียนเนื้อหาแสดงความเสียใจกับผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ที่กองกำลัง BRN โจมตีสัญลักษณ์ของอำนาจทุนนิยมรัฐไทยที่เข้ามาทำลายระบบเศรษฐกิจชุมชน
การจั่วหัว ใช้ภาพ และตั้งประเด็นแบบนี้ ก็เท่ากับว่า บีอาร์เอ็นยอมรับผ่านเพจนี้ ซึ่งอ้างตัวเป็นบีอาร์เอ็น ว่า พวกเขาเป็นผู้ก่อเหตุระเบิดและวางเพลิงร้านสะดวกซื้อ ปั๊มน้ำมัน กว่า 17 แห่ง เมื่อกลางดึกของวันที่ 16 ส.ค.ต่อเนื่อง 17 ส.ค.
เนื้อหาในส่วนอื่นสรุปได้แบบนี้
-การโจมตีที่เกิดขึ้น เพื่อทำลายอำนาจทุนนิยมที่กำลังระบาดอย่างหนักในปาตานี (หมายถึงสามจังหวัดชายแดนภาคใต้)
-อำนาจทุนนิยมที่ว่านี้ เป็นกลุ่มอำนาจรายเดียวที่กำลังจะทำลายระบบเศรษฐกิจของชุมชน ทำให้ร้านค้าชุมชนเป็นจำนวนมากที่ต้องปิดตัวลง
-ร้านสะดวกซื้อยังหลอกลวงผู้บริโภคด้วยวิธีการต่างๆ ซึ่งในมุมมองของเพจบีอาร์เอ็นมองว่าเป็นเรื่องเลวร้าย
เช่น แตกย่อยสาขาเพื่อเบียดเบียนผู้ซื้อแฟรนไชส์, ตั้งร้านให้ใกล้กันแล้วใช้โปรโมชั่นที่ดีกว่า ทำให้ผู้ซื้อแฟรนไชส์ต้องปิดตัว, จำหน่ายสินค้าในราคาแพง มีการยกตัวอย่างราคาน้ำตาลทราย ราคาจริงกิโลกรัมละ 45 บาท แต่แยกถุงย่อยขาย รวมแล้วราคาน้ำตาลทราย 1 กิโลกรัม กลายเป็น 60 บาท และลงท้ายว่าการกระทำทั้งหมดมีรัฐบาลและกองทัพไทยอยู่เบื้องหลัง
จากคำประกาศที่ออกมาผ่านเพจบีอาร์เอ็น ซึ่งกลายเป็นการลอบวางระเบิดเพื่อต่อต้านทุนใหญ่รุกหนักในพื้นที่ชายแดนใต้ โดยไม่ได้พูดถึงการต่อรองหรือกดดันโต๊ะพูดคุยเพื่อสันติสุข
“ทีมข่าวอิศรา” ได้สอบถามเรื่องนี้ไปยัง พล.ต.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ รองแม่ทัพน้อยที่ 4 และผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (รอง ผอ.รมน.ภาค 4 สน.) พล.ต.ปราโมทย์ ตอบเอาไว้แบบนี้
“เป็นเพจอวตารครับ ไม่สามารถระบุความมีตัวตนและความรับผิดชอบได้ครับ”
นี่คือคำยืนยันจาก พล.ต.ปราโมทย์ คือไม่ให้ราคาหรือความสำคัญกับเพจนี้เลย
@@ “อังคณา” กังขาทุนใหญ่รุกรานทุนท้องถิ่น
แม้ทาง กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ไม่ให้น้ำหนักข้อมูลจากเพจบีอาร์เอ็น เพราะมองว่าเป็นเพจผี เพจอวตาร แต่กลับมีหลายฝ่ายทั้งในและนอกพื้นที่ สนับสนุนข้อมูลของบีอาร์เอ็น
อังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ซึ่งเคยทำงานด้านสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ชายแดนใต้มานานนับสิบปี บอกกับ “ทีมข่าวอิศรา” ว่า การก่อเหตุครั้งนี้มีลักษณะเหมือนต่อต้านทุนค้าปลีกรายใหญ่ของประเทศ ซึ่งการขยายไลน์ธุรกิจอย่างมาก ย่อมกระทบกับกลุ่มทุนในพื้นที่ ซึ่งพยายามสร้างฐานธุรกิจขึ้นมาเช่นกัน ทั้งศูนย์การค้า, มอลล์, ร้านอาหาร, ร้านสะดวกซื้อ แต่กลับถูกร้านของกลุ่มทุนใหญ่ตัดราคาหรือไม่
@@ เปิดข้อมูลย้อนหลัง “เซเว่นฯ” เคยโดนระเบิดปี 57
จากการเก็บข้อมูลของ “ทีมข่าวอิศรา” พบว่า ร้านสะดวกซื้อ เซเว่นอีเลฟเว่น เคยถูกลอบวางระเบิดวันเดียวกันหลายๆ แห่งมาแล้ว 1 ครั้ง เมื่อวันที่ 24 พ.ค.57 โดยในวันนั้นมีระเบิดเกิดขึ้นทั่วสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เกือบ 20 จุด และมีอยู่ 5 จุด เป็นระเบิดร้านเซเว่นอิเลฟเว่น จำนวน 5 แห่ง ที่อยู่ในเขตอำเภอเมืองปัตตานีทั้งหมด
ส่วนเหตุระเบิดเซเว่นอิเลฟเว่น ในครั้งอื่นๆ ก่อนหน้านั้น ส่วนใหญ่จะเป็นการก่อเหตุเพียงจุดเดียว ไม่ได้ก่อเหตุพร้อมกันหลายจุด และเป็นการก่อเหตุในลักษณะสร้างความปั่นป่วนมากกว่า
ข้อมูลจากบริษัทซีพีออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหาร เซเว่น อีเลฟเว่น ระบุในขณะนั้นว่า ร้านเซเว่นฯในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ในเวลานั้น) มีราวๆ 100 สาขา จากจำนวนสาขาทั้งประเทศกว่า 7,700 สาขา โดยการเปิดร้านเซเว่นฯ ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เกือบทั้งหมดไม่ได้อยู่ในรูปแฟรนไชส์ แต่เป็นลักษณะ “ซับ แอเรีย ไลเซนส์” หรือ “ให้สิทธิช่วงในอาณาเขต" ซึ่งผู้ได้รับสิทธิในพื้นที่สามจังหวัด คือ บริษัทยะลาศรีสมัย จำกัด
โดยบริษัทยะลาศรีสมัยฯ ก็เคยถูกลอบเผาโกดังในเดือนเมษายน 2557 ด้วย ก่อนจะมีการวางระเบิดเซเว่นฯ 5 จุดในเดือนถัดมา
เป็นที่น่าสังเกตว่า ข้อมูลที่ ซีพีออล์ ระบุว่า ธุรกิจเซเว่นฯในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ อยู่ในรูป "ซับ แอเรีย ไลเซนส์" หรือ "ให้สิทธิช่วงในอาณาเขต" ไม่ได้ขายแฟรนไชส์ เป็นข้อมูลที่ไม่ตรงกับที่เพจบีอาร์เอ็นอ้าง
และจากการตรวจสอบข้อมูลล่าสุดกับ ซีพีออล์ ก็ยังยืนยันว่ารูปแบบการดำเนินธุรกิจเซเว่นฯ ในพื้นที่ชายแดนใต้ ยังอยู่ในรูปแบบเดิม ไม่มีการให้แฟรนไชส์แต่อย่างใด
@@ ที่นี่ที่เดียว! เปิดตัวเลข “บิ๊กซี-เซเว่นฯ” ผุดทั่วชายแดนใต้
จากปี 57 ถึงปี 65 ผ่านมา 8 ปี จากการตรวจสอบข้อมูลล่าสุดวันนี้ ร้านเซเว่นฯ ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีอยู่ราวๆ 200 สาขา บางตำบลมีถึง 3 สาขา โดยสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีทั้งหมด 33 อำเภอเท่านั้น
ขณะเดียวกัน ยังมีอีกหนึ่งแบรนด์ร้านสะดวกซื้อที่กำลังมาแรงมาก คือ “มินิบิ๊กซี” ช่วงไม่กี่ปีมานี้ เปิดแล้วทั้งสิ้น 64 สาขาในสามจังหวัดชายแดนใต้ แยกเป็นยะลา 20 สาขา, ปัตตานี 25 สาขา และนราธิวาส 19 สาขา
เฉพาะอำเภอเมืองปัตตานี มีร้านมินิบิ๊กซี ถึง 12 สาขา สาเหตุที่ขยายสาขาได้เร็ว เพราะมี “บิ๊กซีใหญ่” อยู่ในพื้นที่หลายแห่ง
โดย “บิ๊กซีใหญ่” หรือ บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ เหมือนที่เปิดในกรุงเทพฯ และจังหวัดหัวเมืองใหญ่ๆ มีเปิดที่ชายแดนใต้ 2 แห่ง คือที่ปัตตานี เมื่อปี 2547 มียอดขายสูงติดอันดับประเทศ และที่นราธิวาส เปิดเมื่อปี 2564 ทั้งยังมีแผนเปิดบิ๊กซีใหญ่อีก 1 แห่งที่ตัวเมืองยะลา
ทั้ง บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ และ มินิบิ๊กซี ดำเนินงานภายใต้ บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) โดยในเว็บไซต์ของบิ๊กซี ให้ข้อมูลว่า โมเดลธุรกิจของห้างบิ๊กซี และร้านค้า ดำเนินและบริหารงานภายในโดย บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือกลุ่มบีเจซี
ส่วนห้างแบรนด์ท้องถิ่นในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็มีอยู่ไม่น้อยเช่นกัน
จ.ปัตตานี มี ปัตตานีเอเชียนมอลล์, ห้างซุปเปอร์ ดีพาร์ทเมนท์สโตร์, ไดอาน่าปัตตานี และ จี.ปา ซุเปอร์มาร์ท
จ.นราธิวาส มี ซุปเปอร์ 4 นราธิวาส, ดินขาวซุปเปอร์มาร์เก็ต, ซี.ดี.สุไหงโก-ลก ซุปเปอร์มาร์เก็ต และ ไทยเซ็นเตอร์ ซูเปอร์มาร์เก็ต
จ.ยะลา มี โคลีเซียมยะลา, ชุปเปอร์ดีพาร์ทเมนท์สโตร์ ยะลา, ห้างแฟมิลี่ ดีพาร์ทเมนท์สโตร์ และ แฟมิลี่ ไฮเปอร์มาร์ท
จะเห็นได้ว่าจำนวนห้างสรรพสินค้า สวนทางกับสถานการณ์ความไม่สงบ สะท้อนว่าพื้นที่นี้เศรษฐกิจดีพอสมควร มีเงินหมุนเวียนสะพัด และมี “ทุนนอก” ซึ่งส่วนใหญ่เป็น “ทุนมุสลิม” เข้ามาลงทุนในพื้นที่ โดยห้างเหล่านี้ต้องแข่งกับแบรด์ใหญ่ ทุนยักษ์ระดับชาติ
ขณะที่ “โชห่วย” และร้านค้าปลีกทุนท้องถิ่นของชาวบ้านอีกจำนวนมาก ต้องเผชิญกับการขยายตัวของเซเว่นฯ และมินิบิ๊กซี สถานการณ์ ณ ปัจจุบัน คือ ทยอยเจ๊ง
@@ ประธานหอค้ายะลา ชี้ โชห่วยตายสถานเดียว
“ทีมข่าวอิศรา” ได้ขอสัมภาษณ์ นายกันต์พงษ์ ลิ่มกาญจนา ประธานหอการค้าจังหวัดยะลา กรณีที่ BRN ออกแถลงการณ์ผ่านเพจ อ้างปัญหาทุนใหญ่รุกล้ำทำลายทุนท้องถิ่น โดยบอกว่า ยังไม่ทราบ แต่ถ้าดูจากสถานการณ์ของร้านค้าปลีกที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ก็น่าจะมีส่วนจริงตามที่เพจบีอาร์เอ็นระบุ แต่ในฐานะเป็นภาคเอกชน ไม่ขอชี้นำในเรื่องนี้
แต่ความจริงที่เห็นกันก็คือ ร้านสะดวกซื้อแบรนด์ใหญ่เปิดทั่วพื้นที่ชายแดนใต้ โดยเฉพาะใน 3 จังหวัด ซึ่งเป็นเจ้าของเดียวกัน นอกจากเซเว่นฯเปิดแล้ว ยังมีกลุ่มทุนอีกกลุ่มหนึ่ง ก็คือ “บิ๊กซี” ลงมาสู้กับเซเว่นฯ ถามว่าแบบนี้ โชห่วยในพื้นที่จะอยู่ได้อย่างไร มันอยู่ไม่ได้ โดยเฉพาะถ้ามีการขยายอาณาจักรอย่างไม่มีที่สิ้นสุด จึงขอให้ทุนใหญ่ทบทวนแนวทางการทำธุรกิจด้วย
จากการสอบถามเจ้าของร้านโชห่วยหลายๆ แห่งในพื้นที่ สะท้อนปัญหาแบบเดียวกัน โดยบอกว่า ร้านสะดวกซื้อ 2 แบรนด์ดัง เปิดแข่งกัน ปากซอย ท้ายซอย ร้านเล็กๆ จึงสาหัส อยู่ไม่ได้เลย เหตุระเบิดที่เกิดขึ้น ถ้าเกี่ยวกับเรื่องนี้จริง ก็ถือว่าทำให้สังคมเข้าใจปัญหาที่ร้านเล็กๆ ต้องเจอมานาน