ฮือฮา! โลมาสีชมพูโผล่ทะเลปัตตานีในพื้นที่หลายอำเภอ พบเห็นได้ตลอดทั้งเดือน โดยที่หาดแฆแฆ อ.ปะนาเระ พบเล่นน้ำใกล้ฝั่งมาก สะท้อนถึงความอุดมสมบูรณ์ของทะเลปัตตานี
วันที่ 11 ส.ค.65 ขณะที่เจ้าหน้าที่ประมงปัตตานี กำลังออกตรวจบริเวณปากร่องน้ำปัตตานี ได้พบกับฝูง “โลมาหลังโหนก” หรือ “โลมาสีชมพูและสีดำ” ซึ่งเป็นสัตว์ทะเลหายากและใกล้สูญพันธุ์ กำลังว่ายน้ำเล่นอย่างสนุกสนานในบริเวณดังกล่าว แสดงให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์และทรัพยากรธรรมชาติที่ฟื้นตัวเต็มที่ของทะเลปัตตานี
นายสุไลมาน ดาราโอะ ประธานชมรมประมงพื้นบ้าน ต.ปะนาเระ อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี กล่าวว่า ปลาโลมาเจอบ่อยมากในทะเล ส่วนมากจะเจอตลอดบริเวณทะเลแถว อ.จะนะ จ.สงขลา ยาวมาถึงทะเลปัตตานี อ.ยะหริ่ง อ.ปะนาเระ ยาวไปถึงทะเลนราธิวาส ส่วนมากจะเจอระยะ 3 ไมล์ และหน้าบ้านของชาวบ้าน
นางคอรียะ ตีมุง ชาวบ้านในพื้นที่ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานีกล่าวว่า ปลาโลมา ชาวบ้านเห็นบ่อย เห็นตลอด ชาวประมงที่ อ.ปะนาเระ เห็นตลอด เดือนนี้ ถือว่าชาวบ้านเห็นบ่อยมาก
“ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 15 ก.ค.65 เพจเฟซบุ๊กชื่อ Nisuhaidee Arsawa ได้โพสต์คลิปพบปลาโลมาสีชมพูในทะเล แถวหาดแฆแฆ ต.น้ำบ่อ อ.ปะนาเระ เป็นคลิปที่ถ่ายด้วยมือถือจากบนฝั่ง เด็กที่เล่นน้ำอยู่ต่างดีใจที่ได้เห็นปลาโลมาสีชมพู ซึ่งถือว่าจากคลิปดังกล่าว ปลาโลมาสีชมพูได้เข้ามาเล่นน้ำใกล้ฝั่งมาก”
นางคอรียะ กล่าวอีกว่า ส่วนตัวเคยเจอครั้งหนึ่งแถวปะนาเระ และก็ได้ยินชาวบ้านพูดถึงบ่อยๆ ว่า ได้เจอโลมาสีชมพูที่นี่ มันแสดงให้เห็นได้ชัดว่า ทะเลที่นี่สมบูรณ์มาก ขนาดโลมาสีชมพูยังมาเที่ยวหาดแฆแฆ
สำหรับ “โลมาหลังโหนก” หรืออีกชื่อเรียกว่า “โลมาขาวเทา” “โลมาเผือก” หรือ “โลมาสีชมพู” (Chinese white dolphin, Pacific humpback dolphin, Indo-Pacific humpbacked dolphin) เป็นโลมาชนิดหนึ่งในวงศ์โลมามหาสมุทร อยู่ในสถานะอนุรักษ์ ประเภทมีความเสี่ยงใกล้สูญพันธุ์ (NT) จัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562
โดยสีชมพูของตัวโลมานั้นเกิดมาจากเมื่อโลมามีอายุมาก จะมีสีสว่างขึ้นจนถึงเป็นสีชมพู และสีชมพูนี้ไม่ได้มาจากเซลล์เม็ดสี แต่มาจากสีของหลอดเลือดที่ทำหน้าที่ป้องกันไม่ให้เกิดภาวะที่อุณหภูมิของร่างกายสูงเกินไป การพบเห็นโลมาสีชมพู ยังบ่งบอกถึงความอุดมสมบูรณ์ของท้องทะเลไทย