“สิ่งที่เห็น อาจไม่ใช่สิ่งที่เป็น” คือคำเตือนจากกูรูความมั่นคง เวลามองหลายๆ ปัญหาที่มีความซับซ้อน โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับความขัดแย้ง การเผชิญหน้า และการท้าทายอำนาจ
หากมองมิติภายในประเทศ ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของบ้านเรา ก็ต้องใช้ประโยคนี้คอยเตือนใจเวลามองสถานการณ์ในบริบทไฟใต้
ยิ่งมองในมิติการเมืองระหว่างประเทศ ยิ่งลึกลับ ซับซ้อน ซ่อนเงื่อนยิ่งกว่า
และต้องเตือนตัวเองไว้เสมอว่า เหตุผลที่แท้จริงของทุกจังหวะก้าวของมหาอำนาจ ล้วนมีผลประโยชน์มหาศาลอำพรางอยู่ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
ประเด็นร้อนว่าด้วยเรื่องประธานสภาของอเมริกันเดินทางเยือนไต้หวันก็เช่นกัน...
งานนี้มันไม่ใช่แค่การกระตุกหนวดมังกร!
กฤษฎา บุญเรือง นักวิชาการอิสระ และอาจารย์พิเศษหลายมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา วิเคราะห์เบื้องหลังวิกฤตการณ์ไต้หวันเอาไว้อย่างน่าสนใจ
@@ “ไต้หวันกับความมั่นคงของอเมริกาและจีน”
ภูมิศาสตร์การเมืองในเอเชียสัปดาห์นี้ คงไม่มีประเด็นใดที่น่าตื่นเต้นมากกว่ากรณีไต้หวัน
ประธานสภาผู้แทนของสหรัฐอเมริกา Nancy Pelosi พร้อมคณะแวะไปเยี่ยมไต้หวัน ท่ามกลางความดีใจของชาวไต้หวัน แต่ขณะเดียวกันมีการประท้วงอย่างรุนแรงจากรัฐบาลจีนและชาวจีน
หลังจากที่คณะนักการเมืองอเมริกันเดินทางต่อไปเกาหลีใต้ จีนใช้มาตรการตอบโต้ด้วยการซ้อมรบ นำยุทโธปกรณ์ทันสมัยและอาวุธจริงแสดงแสนยานุภาพบริเวณทะเลรอบไต้หวัน และนี่เป็นครั้งแรกที่ปฏิบัติการใกล้ชายฝั่งทางภาคตะวันออกของเกาะฟอร์มูซา จึงดูเหมือนการปิดล้อมตัดขาดไต้หวันจากโลกภายนอก และกดดันเพิ่มเติมโดยระงับการส่งออกและนำเข้าสินค้ายุทธศาสตร์บางอย่าง
กองทัพเรือสหรัฐฯเพิ่มความพร้อม เตรียมช่วยเหลือกองทัพไต้หวัน และออกมาเตือนจีน จึงทำให้บรรยากาศตึงเครียด ถึงขั้นเกรงว่าจะเป็นสงครามในภูมิภาค หรือลามเป็นสงครามโลก
การแถลงเป็นทางการจากฝ่ายอเมริกันนั้น ย้ำเรื่องความสัมพันธ์ของสองประเทศ สนับสนุนและปกป้องประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน กฎระเบียบการค้าระหว่างประเทศ สิทธิในการปกครองตนเองของไต้หวัน ฯลฯ ส่วนจีนแสดงความไม่พอใจ กล่าวหาว่าอเมริกาเข้ามาก้าวก่ายอธิปไตย เพราะไต้หวันคือส่วนหนึ่งของจีน
วิกฤติไต้หวันครั้งนี้ นับว่าเป็นจุดตกต่ำที่สุดของความสัมพันธ์ระหว่างอเมริกาและจีน
ทำไมไต้หวันจึงมีความสำคัญสูง ถึงขั้นที่สองมหาอำนาจต้องมาประเชิญหน้ากัน
คำตอบไม่ได้อยู่ที่ภูมิรัฐศาสตร์ แต่อยู่ที่ความอยู่รอดทางเศรษฐกิจ สิ่งเดียวที่ทำให้อเมริกาและจีนทุ่มเทกลยุทธ์ทุกอย่าง พลาดพลั้งไม่ได้นั้นคือ semiconductor
semiconductor เป็นหัวใจของเศรษฐกิจยุคใหม่ที่ต้องใช้การคำนวณ สมองกล ปัญญาประดิษฐ์ อุปกรณ์ดิจิตอลแทบทุกอย่างในชีวิตประจำวันจะขาดสิ่งนี้ไม่ได้ ตั้งแต่เครื่องใช้ไฟฟ้า โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ รถยนต์ จนถึงเครื่องบินขับไล่
ไต้หวันเป็นที่ตั้งของบริษัท Taiwan Semiconductor Manufacturing Company (TSMC) ผู้ผลิตที่สำคัญที่สุดในโลก มีมาตรฐานสูงแทบเป็นการผูกขาด บริษัทชั้นนำในโลกซื้อ 63% จากไต้หวัน และที่สำคัญคือ 90% ของสินค้าที่มีการพัฒนาทางเทคโนโลยีและมูลค่าสูง ต้องใช้จากTSMC (เกาหลีใต้ผลิต 18%, จีน 6%, และประเทศอื่นๆ 13%)
APPLE ซึ่งเป็นบริษัทซึ่งมีมูลค่าสูงที่สุดในโลก และเป็นเจ้าของผู้ผลิต iPhone และ MacBook เป็นลูกค้าสำคัญที่สุด เพราะใช้ semiconductor จากบริษัท TSMC เท่านั้น รายได้ของ TSMC 25% มาจาก APPLE นอกจากนั้น QUALCOMM, Nvidia และอีกประมาณ 500 บริษัทในอเมริกาต้องพึ่งพา semiconductor จาก TSMC
สหรัฐอเมริกาปัจจุบันไม่สามารถผลิต semiconductor ขนาด 5nm ได้ หากชิ้นส่วนนี้โดนระงับ เศรษฐกิจของอเมริกาจะหยุดชะงักและพังทันที ความขาดแคลน semiconductor ทำให้กระทบขั้นตอนการผลิตรถยนต์ 13 ล้านคันในปี ค.ศ.2021
กระแสการเมืองของอเมริกาเปลี่ยน อเมริกาเริ่มรู้ตัวว่ามีความเสี่ยงสูงเกินไป หากยังต้องพึ่งพา semiconductor จากต่างประเทศ โดยเฉพาะเอเชีย และในกรณีนี้เป็นไต้หวัน ซึ่งหมายถึงล่อแหลมกับจีน
อเมริกาจึงตัดสินใจเร่งด่วน เริ่มทยอยย้ายฐานการผลิตเข้ามาในประเทศ เริ่มที่ประสานงานกับ TSMC นำเทคโนโลยีพิมพ์เดียวกัน มาทำโรงงานในรัฐอริโซนา โดยลงทุน 12,000 ล้านเหรียญ ซึ่งจะสามารถผลิต semiconductor 5nm ได้ในปี 2024
จีนมีความสามารถในการผลิต semiconductor แต่ไม่สามารถจะทำคุณภาพระดับที่ไต้หวันทำได้ ที่ทำได้เป็นขนาดและสมรรถนะด้อยกว่าไต้หวัน แม้จะมีการเร่งพัฒนาโดยการทุ่มทุนทรัพยากรการเงินและทรัพยากรมนุษย์ทุกอย่าง ก็ยังทำไม่ได้ เพราะความซับซ้อนของขั้นตอนการค้นคว้าวิจัยและผลิต จะต้องใช้เวลาอีกนานกว่าจะตามทัน จีนจึงจำเป็นต้องนำเข้า semiconductor คุณภาพสูงจากไต้หวัน
บริษัทสำคัญของจีนเป็นจำนวนมากต้องปิดกิจการในช่วงโควิด สาเหตุหนึ่งคือป้องกันการระบาด แต่การที่โรงงานในไต้หวันต้องปิดกิจการช่วงนั้นเพราะโควิดเช่นกัน ทำให้เกิดความขาดแคลน semiconductor เมื่อไม่มีชิ้นส่วนนี้ โรงงานในจีนก็ทำสินค้าไม่ได้ สินค้าของจีนนอกจากใช้ภายในประเทศแล้ว ส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าส่งออก วิกฤติทางเศรษฐกิจภายในจีนเป็นอันตรายต่อความมั่นคง
การมาเยี่ยมของประธาน Pelosi ครั้งนี้จึงเห็นได้ชัดว่าอเมริกามีเจตนาแฝง นอกเหนือจากคำพูดที่สวยงามเรื่องภูมิรัฐศาสตร์และสิทธิมนุษยชนแล้ว การประชุมกับผู้นำไต้หวัน ซึ่งรวมทั้งผู้นำของบริษัท TSMC เป็นการให้ความมั่นใจและอุ่นใจว่าอเมริกาจะยืนอยู่เคียงข้างปกป้องไต้หวัน ซึ่งเป็นนัยว่าปกป้องอุตสาหกรรม semiconductor นั่นเอง
การแสดงออกของจีนเรื่องภูมิรัฐศาสตร์และการทหารนั้น เป็นการสื่อสารให้กับชาวจีนและพันธมิตรของจีนทั่วโลก ย้ำถึงศักดิ์ศรีและอธิปไตย แม้จีนเองรู้ว่าเจตนาที่แท้จริงของอเมริกาคือการปกป้อง semiconductor ในไต้หวัน แต่จีนเองก็ไม่สามารถจะเผยท่าทีเรื่องนี้ต่อสาธารณะเช่นกัน
ทั้งจีนและอเมริกาอยู่ในภาวะต้องจำยอม เลี่ยงการพูดเรื่องประเด็นที่แท้จริง คือทั้งสองต้องพึ่งพาไต้หวัน สองยักษ์ใหญ่กำลังซื้อเวลา หาทางพึ่งตนเองเรื่องนี้ให้ได้
แม้เราไม่ควรประมาท แต่มั่นใจว่าสงครามไม่เกิดขึ้นแน่
เดือนตุลาคมนี้ประธานาธิบดีจีนเตรียมรับตำแหน่งเป็นครั้งที่สาม เพราะฉะนั้นจะมีสงครามกับไต้หวันหรืออเมริกาไม่ได้
เดือนพฤศจิกายนนี้อเมริกาจะมีการเลือกตั้งกลางเทอม สภาผู้แทนและวุฒิสภาอาจมีการเปลี่ยนเสียงข้างมากซึ่งพรรคเดโมแครตควบคุมอยู่ หากพรรครีพับลิกันได้ที่นั่งเพิ่มอีก 5 ตำแหน่ง ประธานสภาก็จะเปลี่ยนไป หากรีพับลิกันได้ที่นั่งวุฒิสมาชิกเพิ่มอีก 1 ที่ เสียงข้างมากในวุฒิสภาจะเปลี่ยนไป ทำเนียบขาวจะทำงานลำบาก และการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐในปี 2024 จะมีผลกระทบ
ประธานาธิบดี Tsai Ing-wen และรัฐสภาแห่งไต้หวัน ก็จะมีการเลือกตั้งในปี ค.ศ.2024 เช่นกัน พลังสนับสนุนจากอเมริกาต่อไต้หวันครั้งนี้ก็อาจจะมีผลในการเพิ่มคะแนนนิยม
semiconductor คือเกราะป้องกันไต้หวันในปัจจุบัน อนาคตเป็นสิ่งไม่แน่ จับตามองการเดินหมากของอเมริกา จีน และไต้หวัน หลังจากเดือนพฤศจิกายนนี้โดยใกล้ชิด