ความคืบหน้ากรณีสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หรือ ปปง. มีคำสั่งอายัดบัญชีกลุ่มคนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 14 บัญชี ที่เปิดในชื่อบุคคล 11 คน กลายเป็นประเด็นใหญ่ข้ามประเทศ
เพราะจุดเริ่มต้นของเรื่องนี้มาจากสํานักงานปราบปรามยาเสพติดของสหรัฐ หรือ DEA ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในไทย ให้ดําเนินคดี “แก๊งต้มตุ๋น” ที่หลอกลวงชาวอเมริกัน ใช้วิธีคล้าย “แก๊งคอลเซ็นเตอร์” จูงใจคนชราทําธุรกรรมโอนเงินเข้าบัญชี โดยใช้โทรศัพท์แจ้งว่าถูกรางวัลลอตเตอรี่ 100,000 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 36,000,000 บาท แต่จะต้องจ่ายค่าภาษีก่อนจึงจะได้เงินรางวัล
เมื่อเหยื่อหลงเชื่อ จึงโอนเงินไปยังประเทศต่างๆ ได้แก่ ไทย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ศรีลังกา บังกลาเทศ จีน และจาไมกา ตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปัจจุบัน มีผู้หลงเชื่อโอนเงินรายละ 1-10 ล้านบาท มูลค่ารวมประมาณ 82.2 ล้านบาท
โดยบัญชีที่โอนมายังประเทศไทย ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เชื่อว่ามีชาวไทยมุสลิมหลายคนที่ได้รับโอนเงินจากผู้เสียหายกว่า 30 คน มีการตั้งสมมติฐานจากทางสหรัฐว่า เกี่ยวข้องกับขบวนการค้ายาเสพติด หรือกิจกรรมการก่อความไม่สงบหรือไม่
สำหรับบัญชีธนาคารที่ถูกอายัด เป็นบัญชีที่เปิดไว้กับธนาคารต่างๆ ทั้งธนาคารของรัฐและเอกชน โดย 11 บัญชีเป็นสาขาใน จ.ปัตตานี แยกเป็น อ.เมือง 5 ธนาคาร อ.หนองจิก 5 ธนาคาร และ อ.ยะรัง 1 ธนาคาร ส่วนอีก 3 บัญชี เป็นสาขาของธนาคารที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา โดยเปิดบัญชีที่จุดเดียวกัน คือ ห้างบิ๊กซี ปัตตานี แต่ต่างธนาคาร ชื่อเจ้าของบัญชีมีทั้งชื่อเดียวกัน และต่างชื่อ ต่างบุคคล บางบัญชีเปิดร่วมกันหลายบุคคล
หน่วยงานไทยที่ DEA สหรัฐประสานความร่วมมือมา ได้แก่ สํานักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.), สํานักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) กองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) และสํานักงานอัยการสูงสุด
@@ กองปราบแจงคดีอาญาไม่คืบ
“ทีมข่าวอิศรา” ตรวจสอบกับแหล่งข่าวในกองบังคับการปราบปราม ได้ข้อมูลว่า เรื่องนี้เป็นคดีอาญาที่ 26/2561 ของกองกำกับการ 2 กองบังคับการปราบปราม (กก.2 บก.ป.) เรื่อง ฉ้อโกงประชาชน เป็นคดีระหว่างสำนักงาน DEA สหรัฐ ประจำประเทศไทย กับ น.ส.นูริตา หาระ กับพวกผู้ต้องหา ปัจจุบันยังอยู่ระหว่างการสอบสวน
สำหรับ น.ส.นูริตา ไม่มีชื่อเปิดบัญชีรับเงินที่โอนมา คาดว่าในทางการสืบสวนอาจเป็นเบื้องหลังสั่งการทั้งหมด
คดีนี้ ทางสำนักงานปราบปรามยาเสพติดสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย ทำหนังสือร้องทุกข์มาที่ บก.ป. แต่เนื่องจากเป็นคดีที่เป็นการกระทำความผิดนอกราชอาณาจักร ทาง บก.ป. จึงได้ประสานไปทางอัยการสูงสุดร่วมสอบสวน
กระบวนการสอบสวน ได้สอบปากคำ น.ส.เจนนิเฟอร์ ซานเชส เจ้าหน้าที่สืบสวนพิเศษ และอัยการสหรัฐอเมริกา ที่ได้รับมอบหมายให้ร้องทุกข์กล่าวโทษ แต่ น.ส.เจนนิเฟอร์ ซานเชส กลับไม่ได้ให้ปากคำในฐานะผู้กล่าวหา โดยขอให้การในฐานะพยานเท่านั้น เมื่อประสานไปอีกครั้ง ทราบว่าเกษียณ และกลับประเทศไปแล้ว จึงประสานไปขอความร่วมมือระหว่างประเทศ อยู่ระหว่างรอผล
@@ สำนักงาน DEA สหรัฐ ร้องทุกข์ได้หรือไม่
แหล่งข่าวในกองบังคับการปราบปราม ยังบอกอีกว่า การดำเนินคดีนี้มีปัญหาและอุปสรรคหลายประการ โดยเฉพาะเป็นการดำเนินกระบวนการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 8 ผู้ใดกระทำความผิดนอกราชอาณาจักร จะต้องรับโทษภายในราชอาณาจักร มีเงื่อนไขคือ ผู้กระทำความผิดนั้นเป็นคนไทยหรือไม่ และรัฐบาลแห่งประเทศที่ความผิดได้เกิดขึ้น หรือผู้เสียหาย ได้ร้องขอให้ลงโทษหรือไม่
ข้อเท็จจริงที่ยังไม่ชัดเจนคือ หน่วยงานยาเสพติดสหรัฐ ถือว่าเป็นรัฐบาลสหรัฐหรือไม่ และสามารถร้องทุกข์ได้หรือไม่
นอกจากนั้น ในคดีฟอกเงิน ปปง.ยังไม่ได้ร้องทุกข์ในทางอาญา ส่วนคำสั่งอายัดทรัพย์และบัญชีธนาคาร 14 บัญชี วงเงินรวม 1,301,289.71 บาท เป็นการดำเนินการในคดีแพ่งของ ปปง.
@@ สอบสวนกลาง ยันยังไม่โยงก่อความไมสงบ
ส่วนข้อสังสัยว่าเส้นทางเงินอาจเชื่อมโยงกับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบหรือไม่นั้น จากสอบถามนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ในกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ยืนยันว่าคดีนี้ยังไม่มีหลักฐานเชื่อมโยงถึงกลุ่มบุคคลที่เคลื่อนไหวในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ และยังไม่โยงการก่อความไม่สงบ
@@ ไม่โยง “แก๊งคอลเซ็นเตอร์” ในประเทศเพื่อนบ้าน
สอดคล้องกับแหล่งข่าวในชุดพนักงานสอบสวนคดีนี้ ที่บอกว่า พฤติการณ์ของคนร้ายในคดีนี้ ใช้วิธีโทรหลอกเหยื่อให้โอนเงินคล้ายกับ “แก๊งคอลเซ็นเตอร์” ในปัจจุบัน แต่คดีเกิดมาหลายปีแล้ว จึงไม่ใช่แก๊งเดียวกันกับที่ตั้งฐานในประเทศเพื่อนบ้านแล้วใช้คนไทยเปิดบัญชีม้า
ส่วนการสอบสวนปาก น.ส.เจนนิเฟอร์ ซานเชส ที่ได้รับมอบหมายร้องทุกข์ เจ้าตัวขอให้การในฐานะพยานเท่านั้น และปฏิเสธให้การในฐานะผู้กล่าวหา เมื่อกองปราบประสานไปอีกครั้งพบว่าเกษียณราชการแล้ว จึงทำหนังสือไปถึงต้นสังกัดเพื่อขอให้ส่งตัวแทนมาแจ้งข้อกล่าวหา ต่อมาได้รับคำตอบว่ายังไม่สามารถส่งใครมาแทนได้ ดังนั้นในทางอาญาคดีจึงไม่มีความคืบหน้า
สำหรับประเด็นที่ทางการสหรัฐพาดพิงเรื่องเชื่อมโยงกลุ่มก่อการร้าย ขณะนี้ในทางสืบสวนยังไม่มีน้ำหนักเพียง ยกเว้นคดีทางแพ่งที่ ปปง.สั่งอายัดบัญชี 14 รายการ ตามเส้นทางเงินที่โอนมาจากสหรัฐเท่านั้น
@@ พบหนึ่งในเจ้าของบัญชีเคยสมัคร ส.อบต.ที่หนองจิก
ทีมข่าวลงพื้นที่ จ.ปัตตานี เพื่อติดตามตรวจสอบข้อมูลบุคคลที่ถูกอ้างถึงว่า เกี่ยวข้องกับบัญชีเงินฝากธนาคารที่ถูกสำนักงาน ปปง.สั่งอายัด
ทีมข่าวพบข้อมูล นายอาริฟฟิน มามะ ซึ่งมีชื่อเป็นหนึ่งในเจ้าของบัญชีธนาคาร มีภูมิลำเนาอยู่ที่หมู่ 4 ต.ปูโละปูโย อ.หนองจิก จ.ปัตตานี โดยเมื่อวันที่ 22 ต.ค.64 ได้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภา อบต.ปุโละปุโย ด้วย แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง
จากการติดต่อทางโทรศัพท์ตามที่นายอาริฟฟินแจ้งไว้ ไม่สามารถติดต่อได้ และไม่พบบ้านที่ระบุว่าเป็นที่อยู่ที่ติดต่อได้ ส่วนบุคคลอื่นๆ ที่ปรากฏชื่อเป็นเจ้าของบัญชี ตรวจสอบข้อมูลแล้วพบว่าเป็นชาว อ.หนองจิก และ อำเภอเมืองปัตตานี ซึ่งมีข่าวว่าทั้งหมดได้เดินทางเข้าพบเจ้าหน้าที่ ปปง.แล้ว
@@ ตำรวจ ทหาร ยังไม่รู้เรื่อง ขอตรวจสอบข้อมูล
พล.ต.ท.นันทเดช ย้อยนวล ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 กล่าวว่า เพิ่งได้ทราบข้อมูล โดยเบื้องต้นยังไม่ได้รับรายงานจาก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า แต่ถ้าเป็นรูปคดีแล้ว ถึงอย่างไรก็เป็นหน้าที่ของตำรวจ ฉะนั้นต้องขอเวลาตรวจสอบก่อน ส่วนการเฝ้าระวังกลุ่มคนเหล่านี้ อาจจะต้องตรวจสอบว่ามีหมายจับของศาลไทยหรือไม่
ขณะที่ พล.ต.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ รองแม่ทัพน้อยที่ 4 และ รอง ผอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า กล่าวว่า เบื้องต้นยังไม่ทราบเรื่อง ต้องมีการตรวจสอบว่าเกี่ยวข้องคดีอะไร มูลเหตุของการอายัดทรัพย์สิน มีสาเหตุจากอะไรมีใครเกี่ยวข้องบ้าง ต้องมีการตรวจสอบพฤติกรรมว่าเกี่ยวข้องกับการสนับสนุนการก่อการร้ายหรือไม่ อย่างไร