ควันหลงจากศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวหา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ในประเด็น “สปายแวร์สอดแนมประชาชน” ที่ชื่อ “เพกาซัส” กลายเป็นหัวข้อวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง
โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ให้ความสำคัญกับ “ความเป็นส่วนตัว” ในระดับที่เป็นปัจจัยสำคัญในการดำเนินชีวิต
ข้อกล่าวหาของ ส.ส.ก้าวไกล ถือว่าร้ายแรง เพราะให้ข้อมูลสปายแวร์ “เพกาซัส” ว่าไม่ต่างอะไรกับอาวุธสงครามทางไซเบอร์ที่มีประสิทธิภาพสูง พร้อมฟันธงเปรี้ยงว่า หน่วยงานความมั่นคงจัดซื้อมาโดยใช้เงินภาษีประชาชน แต่กลับนำมาใช้สอดแนมนักวิชาการ และนักกิจกรรมทางการเมืองฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล รวมถึงกลุ่มที่เป็นพันธมิตรกับพรรคก้าวไกล ตลอดจนคนในพรรคด้วย
อนุมานได้ว่านี่ไม่ใช่การใช้ “สปายแวร์” ในภารกิจแกะรอยโทรศัพท์มือถือของผู้ค้ายาเสพติดอย่างที่เคยอ้างกันในอดีตอีกแล้ว
เรื่องเหล่านี้แม้จะดูแล้วใกล้ตัวประชาชนอย่างมาก แต่ประชาชนกลับมีข้อมูลและความเข้าใจน้อยมาก
สำนักข่าวอิศรา ได้ขอฟังทัศนะของ อ.พันธ์ศักดิ์ อาภาขจร ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการสื่อสาร ซึ่งอาจารย์ก็ได้เขียนบทความส่งมาให้เผยแพร่ นำเสนอ โดยเป็นบทความเชิงให้ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการสอดแนมโดยใช้ “สปายแวร์” ซึ่งไปๆ มาๆ การพยายามระแวดระวังหรือแฉโพยการล้วงตับจากหน่วยงานภาครัฐ หรือฝ่ายความมั่นคง อาจน้อยไปด้วยซ้ำในโลกกว้างของการจารกรรมและสอดแนม
1.การสอดแนม เกิดขี้นทุกยุคทุกสมัย และใช้เทคโนโลยี รวมถึงวิธีการที่ปรับเปลี่ยนไปตามการพัฒนาของเทคโนโลยี
2.การสอดแนมกระทำกันทั้งในระดับประเทศ ระดับองค์กร และระดับบุคคล โดยมีตั้งแต่การติดอุปกรณ์สอดแนมที่เรียกว่า Backdoor มากับอุปกรณ์ที่สั่งซื้อ หรือใช้ซอฟแวร์เพื่อการสอดแนม เป็นต้น
3.ปัจจุบันการสอดแนมที่เคยเกิดขึ้นจากการใช้อำนาจของภาครัฐ เปลี่ยนไปสู่การสอดแนมจากการเก็บข้อมูลของบริษัทโซเชียลมีเดียต่างๆ และบริษัทเหล่านี้มีข้อมูลมากกว่าภาครัฐของทุกประเทศในโลก
4.ธุรกิจการจารกรรมทางไซเบอร์ (Cyber espionage operation ) เป็นธุรกิจที่มีมูลค่ามหาศาลและใช้เทคโนโลยีชั้นสูง หลายประเทศที่ไม่มีศักยภาพเพียงพอในการสอดแนม จึงมักพึ่งพาเครื่องมือจากบริษัทผู้ผลิตในบางประเทศ เช่น NSO Group ของอิสราเอล เจ้าของ Spy ware ชื่อ Pegasus และผู้จำหน่าย Spy ware อื่นๆ เช่น Gamma Group (เยอรมัน UK) Hacking Team (อีตาลี) VasTech (แอฟริกาใต้) Cyberbit (อิสราเอล) เป็นต้น
5.อุปกรณ์ประเภทโทรศัพท์มือถือและอินเทอร์เน็ตเป็นอุปกรณ์ที่มีความอ่อนไหวต่อการถูกติดตามและสอดแนมมากที่สุด จึงมีความเป็นไปได้ที่จะถูกแฮ็กหรือสอดแนมด้วยวัตถุประสงค์ต่างๆ ได้ตลอดเวลา
6.จากข้อมูลที่เผยแพร่จากผู้เชี่ยวชาญด้านไซเบอร์ : การสอดแนมแทบจะเป็นเรื่องปกติที่กระทำกันในหลายประเทศ แม้ว่าประเทศนั้นๆ จะอ้างว่ามีความเป็นประชาธิปไตยมากเพียงใดก็ตาม แต่ส่วนใหญ่มักจะอ้างถึงการสอดแนมเพื่อความมั่นคง และเน้นการป้องกันการก่อการร้าย
7.การป้องกันการสอดแนมเป็นเรื่องที่กระทำได้ยาก เพราะเมื่อใดก็ตามที่ใครคนใดคนหนึ่งเข้าไปอยู่ในโลกไซเบอร์ ก็มีโอกาสถูกสอดแนมได้ทั้งสิ้น ไม่ว่าอุปกรณ์นั้นจะมีความปลอดภัยต่อการป้องกันความปลอดภัยของข้อมูลที่ดีเพียงใดก็ตาม สิ่งที่ผู้ผลิตอุปกรณ์โทรศัพท์บางยี่ห้อสามารถจะทำได้คือการออกคำเตือนไปยังผู้ใช้ว่าอุปกรณ์ที่ใช้นั้นมีความเสี่ยงต่อการถูกสอดแนมจาก Spyware ดังเช่นบริษัท Apple ซึ่งมักส่งคำเตือนไปยังผู้ใช้อุปกรณ์เป็นประจำ
8.การถูกสอดแนมด้วย Spyware บนเครื่องโทรศัพท์มือถือนั้น จึงมีความเป็นไปได้ แต่จะเป็นการสอดแนมจากฝ่ายใดหรือบุคคลใดเป็นเรื่องที่ยากที่จะพิสูจน์ เพราะการสอดแนมเป็นเรื่องที่มีความซับซ้อน มีกลไกในการป้องกันการตรวจสอบและส่วนใหญ่ เป็นความลับในเรื่องความมั่นคง
การมีข่าวเรื่อง Spyware ถูกนำมาใช้ในหลายต่อหลายประเทศนั้น เป็นข่าวและรายงานมาตลอดหลายปีที่ผ่านมา ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด และยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าใครคือผู้ปฏิบัติการดังกล่าว เพราะอุปกรณ์เหล่านี้มีจำหน่ายทั่วโลก
------------------------
ภาพประกอบ ขอบคุณกราฟฟิกในการอภิปรายของคุณพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล