ผ่านไปแล้วสำหรับการลงมติในญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ แม้ฝ่ายค้านจะสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้กับ 90 ปีประชาธิปไตยไทยได้ แต่การอภิปรายหนนี้ก็ได้สร้างรอยร้าวในพรรคร่วมรัฐบาล และเปิดช่องให้พรรคร่วมฯด้วยกัน เล่นงานกันเอง จนอาจส่งผลต่อเสถียรภาพของรัฐบาลในที่สุด
“ทีมข่าวอิศรา” สรุปข้อสังเกตคะแนนโหวต “ศึกซักฟอก” เพื่ออ่านนัยทางการเมือง
1. 11 รัฐมนตรีสอบผ่านทั้งหมด โดยแบ่งคะแนนออกเป็น 3 ระดับ คือ
241-249 - คุณจุรินทร์, คุณสุชาติ, คุณจุติ, พล.อ.อนุพงษ์, คุณนิพนธ์, คุณขัยวุฒิ, คุณสันติ
251-259 - พล.อ.ประยุทธ์ (ยืนหนึ่งเพียงคนเดียว)
260 ขึ้นไป - พล.อ.ประวิตร, คุณอนุทิน, คุณศักดิ์สยาม
รัฐมนตรีที่ได้คะแนนไว้วางใจสูงสุด คือ พล.อ.ประวิตร (268) ต่ำสุด คือ คุณจุรินทร์ (241) โดยที่เสียงเกินกึ่งหนึ่งอยู่ที่ 239 เสียง
-รัฐมนตรีที่ได้คะแนนไม่ไว้วางใจสูงสุด คือ พล.อ.อนุพงษ์ (212) ต่ำสุด พล.อ.ประวิตร (193)
-รัฐมนตรีที่มี ส.ส.งดออกเสียงมากที่สุด คือ คุณจุรินทร์ (23) น้อยที่สุดคือ คุณอนุทิน (3)
2. วิเคราะห์คะแนนแยกพรรค
- รัฐมนตรีจากพรรคพลังประชารัฐ ยกเว้น พล.อ.ประวิตร ได้คะแนนไว้วางใจอยู่ในช่วง 241-249 คะแนน โดย คุณสุชาติ ได้ต่ำสุด (243) ส่วน คุณชัยวุฒิ กับ คุณสันติ ได้เท่ากัน (249)
- รัฐมนตรีจากพรรคภูมิใจไทย ติดกลุ่มได้คะแนนสูงสุด
- รัฐมนตรีจากพรรคประชาธิปัตย์ ติดกลุ่มได้คะแนนไว้วางใจรั้งท้าย โดย คุณจุรินทร์ ต่ำสุด (241) คุณจุติ (244) คุณนิพนธ์ (246)
- “3 ป.” ได้คะแนนไว้วางใจไม่เท่ากัน แถมคะแนนแค่ละคนยังห่างกันมาก โดย พล.อ.อนุพงษ์ ได้ 245 พล.อ.ประยุทธ์ 256 และ พล.อ.ประวิตร 268
3. 6 ส.ส.กลุ่มสมุทรปราการ พรรคพลังประชารัฐ (ส.ส.เขต 5 คน, ปาร์ตี้ลิสต์ 1 คน) โหวตไม่ไว้วางใจ พล.อ.อนุพงษ์ กับ นายสุชาติ
ถอดรหัสได้ว่า เป็นการส่งสัญญาณต้องการให้ปรับ ครม. โดยเฉพาะตำแหน่ง รมว.มหาดไทย ที่มีข่าว ส.ส.ในพรรคต้องการให้เปลี่ยนตัวจาก พล.อ.อนุพงษ์ เป็น พล.อ.ประวิตร
ส.ส.กลุ่มนี้ขึ้นตรง “บิ๊ก ป.” ที่ไม่ใช่ “3 ป.” เป็น “บิ๊ก ป.” ที่อยู่นอกองคาพยพของรัฐบาล แต่มีความใกล้ชิดกับ “บิ๊กป้อม”
หากใครยังจำกันได้ เมื่อครั้งที่มีข่าว “ร้อยเอก ล้ม พลเอก” ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจหนที่แล้ว ซึ่งนัดโหวตกันวันที่ 4 ก.ย.64 หนึ่งในชนวนของการรวมเสียงโหวตล้ม และการเป็นเงื่อนไขเรียกร้อง ก็คือ การเปลี่ยนตัว รมว.มหาดไทย จาก พล.อ.อนุพงษ์ เป็น “บิ๊ก ป.” คนที่ว่านี้ ไม่ใช่ “บิ๊กป้อม” เพราะถ้าล้ม พล.อ.ประยุทธ์ ได้ “บิ๊กป้อม” ก็ต้องเป็นนายกฯรักษาการอยู่แล้ว เรื่องนี้จึงเป็น “เกมซ้อนเกม” ที่ยืดเยื้อกันมาตั้งแต่ปีก่อน
4. 3 ส.ส.ของพรรคชาติไทยพัฒนา โหวตงดออกเสียง คุณจุรินทร์
เรื่องนี้เสี่ยงเกิดความขัดแย้งในพรรคร่วมรัฐบาลตามมา เพราะประชาธิปัตย์ส่งสัญญาณไม่พอใจ และคนใกล้ชิดคุณจุรินทร์ ก็ยอมรับว่า งานนี้คุณจุรินทร์ไม่ยอม
ส่วน ส.ส.ประชาธิปัตย์ไม่แตกแถวมากอย่างที่คาด คนที่โหวตไม่ตรงกับมติพรรคมีเฉพาะ ส.ส.หน้าเดิม และ คุณไชยยศ จิระเมธากร กรณี คุณจุติ เท่านั้น
5. งูเห่าของพรรคภูมิใจไทย ทั้งจากเพื่อไทย ก้าวไกล และเศรษฐกิจไทย โหวตอย่างมีวินัย ลงมติไว้วางใจแบบ “ยิงลูกโดด” เฉพาะ 2 แกนนำภูมิใจไทย ส่วนรัฐมนตรีที่เหลือเลือกงดออกเสียงเป็นส่วนใหญ่
ถอดรหัสได้ว่าพรรคภูมิใจไทยจะเป็นพรรคที่น่ากลัวในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น แม้กระแสจะถูกบ่อนทำลาย แต่ภูมิใจไทยทำการเมืองสไตล์ “บ้านใหญ่” ไม่อิงกระแส และเน้น “ใจถึงใจ”
6. “มาดามเดียร์” วทันยา บุนนาค จากพรรคพลังประชารัฐ “งดออกเสียง” ให้กับ 2 รัฐมนตรี คือ คุณศักดิ์สยาม กับ คุณจุติ
ถือเป็นการโหวตสวนมติพรรคอีกครั้งหนึ่ง แว่วว่าครั้งนี้แม้แต่ผู้ใหญ่ของพรรคขอร้อง “มาดามเดียร์” ยังยืนกรานขอใช้เอกสิทธิ์ จึงคาดการณ์ได้ว่าในการเลือกตั้งหนหน้า พรรคพลังประชารัฐน่าจะไม่มีชื่อ “มาดามเดียร์”
7. “พลังหญิง” ที่จะโหวตเป็นลบกับ คุณชัยวุฒิ จากคำอภิปรายของฝ่ายค้านกรณีเรื่องส่วนตัว “ผัวๆ เมียๆ” ไม่เกิดขึ้นจริง