วิกฤตการณ์ที่ศรีลังกายังไม่จบลง แม้ผู้นำสูงสุดจะถูกมหาชนกดดันขับไล่จนต้องหนีออกประเทศไปแล้วก็ตาม แต่ลวดลายการเมืองก็ยังมีอยู่ และอาจไม่ยอมรามือง่ายๆ
สถานการณ์เลวร้ายที่ศรีลังกา หลายฝ่ายโฟกัสไปที่ปัญหาเศรษฐกิจที่ลุกลามรุนแรงถึงขั้น “ประเทศล้มละลาย” จนหวั่นเกรงว่าจะเกิด “โดมิโน่” ลุกลามไปยังเศรษฐกิจของหลายๆ ประเทศล้มตาม โดยมีไทยพ่วงอยู่ในบัญชีรายชื่อที่น่าเป็นห่วงด้วย
หากย้อนพิจารณาถึงต้นตอวิกฤติที่แท้จริง ย่อมหนีไม่พ้นปัญหาการเมือง ฉะนั้นการมองศรีลังกาผ่านแว่นขยายในบริบทการเมือง จึงถือว่าน่าสนใจไม่แพ้แว่นขยายทางเศรษฐกิจ
ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข นักรัฐศาสตร์ชื่อดังจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขียนบทความเรื่องนี้เอาไว้อย่างแหลมคมและน่าติดตามยิ่ง
@@ ศรีลังกาสปริง ถึง ปักษาไร้รัง
ในที่สุดแล้ว การลุกขึ้นสู้ของประชาชนชาวศรีลังกาจบลงด้วยชัยชนะ และผู้นำเผด็จการแห่งตระกูลราชปักษาที่คุมอำนาจอย่างยาวนานต้องยุติบทบาทลง ด้วยการเดินทางออกนอกประเทศในวันที่ 13 กรกฎาคม จนต้องขอเรียกด้วยสำนวนทางรัฐศาสตร์ว่าเป็น “ศรีลังกาสปริง” หรือเรากำลังเห็น “ฤดูใบไม้ผลิ” ในศรีลังกานั่นเอง
ว่าที่จริงแล้ว สัญญาณของความพ่ายแพ้ใหญ่ของรัฐบาลเริ่มขึ้น เมื่อประชาชนเป็นจำนวนมากได้เปิดการประท้วงใหญ่ตั้งแต่ต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา พร้อมกับเรียกร้องให้ประธานาธิบดีโกตาบายา และนายกรัฐมนตรีมาฮินดา จากตระกูลราชปักษาลาออก รัฐบาลเผด็จการใช้มาตรการตอบโต้การชุมนุมของประชาชนในแบบเดียวกัน คือ การประกาศภาวะฉุกเฉินในต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา แต่ก็ไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้จริง
ในตอนกลางเดือนเมษายนนี้เอง เจ้าหน้าที่ตำรวจได้สังหารผู้ประท้วง อันเป็นการสูญเสียชีวิตแรกของการต่อต้านรัฐบาลที่เกิดขึ้น ทำให้การต่อต้านรัฐบาลทวีความเข้มข้นมากขึ้น แม้รัฐบาลต่อสู้ด้วยการใช้ “ม็อบชนม็อบ” โดยการเคลื่อนฝ่ายสนับสนุนออกมา แต่กลับส่งผลให้การต่อต้านรัฐบาลยิ่งรุนแรงขึ้น
และความขาดแคลนในด้านต่างๆ ก็รุนแรงมากขึ้น จนกลายเป็นวิกฤติใหญ่ทั้งสังคม รัฐบาลจึงพยายามใช้มาตรการปราบปรามต่อการชุมนุมประท้วง แต่ก็ไม่สามารถรั้งสถานการณ์ไว้ได้ จนในที่สุดผู้นำศรีลังกาต้องตัดสินใจหนีออกนอกประเทศไปยังมัลดีฟส์ อันเป็นการสิ้นสุดยุคของตระกูลราชปักษาที่ครองอำนาจในศรีลังกามาอย่างยาวนาน
หากมองถึงจุดเริ่มต้นของปัญหา เราจะเห็นถึงการบริหารที่ผิดพลาดของรัฐบาลเป็นประเด็นหลัก พร้อมกับการคอร์รัปชั่นที่เกิดขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะกับกลุ่มของนักการเมืองในตระกูลราชปักษา และการดำเนินนโยบายแบบประชานิยมแบบหาเสียง เช่น การลดภาษี ก็ยิ่งทำให้เศรษฐกิจของประเทศมีปัญหามากขึ้นด้วย
ความผิดพลาดของรัฐบาลเช่นนี้นำไปสู่ความขาดแคลนที่ส่งผลอย่างมีนัยสำคัญทางการเมือง ได้แก่
• ความขาดแคลนด้านอาหาร
• ความขาดแคลนด้านพลังงานและเชื้อเพลิง
• ความขาดแคลนแก๊สหุงต้ม
• ความขาดแคลนเวชภัณฑ์ โดยเฉพาะในสถานการณ์การระบาดของโควิด-19
• ความขาดแคลนเงินตราต่างประเทศ
ผลของความขาดแคลนที่เกิดเช่นนี้ ดันให้อัตราเงินเฟ้อของศรีลังกาทะยานสูงขึ้นอย่างน่าตกใจ พร้อมกับทำให้ราคาอาหารสูงมากขึ้น ส่งผลให้คนทุกชนชั้นและทุกกลุ่มประสบปัญหาในชีวิตประจำวันอย่างรุนแรง หรือในภาพรวมคือ การเกิดวิกฤติเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศนับตั้งแต่ได้รับเอกราชเป็นต้นมา
ในมุมมองของประชาชนนั้น รัฐบาลของตระกูลราชปักษาคือต้นรากของปัญหา เพราะเป็นตระกูลที่ควบคุมการเมืองของศรีลังกาอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2004/05 พร้อมกับเกิดการคอร์รัปชั่นขนาดใหญ่
นอกจากนี้ ความขาดแคลนเงินตราต่างประเทศ ทำให้โอกาสที่รัฐบาลจะใช้หนี้ระหว่างประเทศ เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ และทั้งรัฐบาลดำเนินโครงการเงินกู้ขนาดใหญ่จากรัฐบาลจีนในการก่อสร้างท่าเรือ ซึ่งได้กลายเป็นอีกปัญหาที่สำคัญ ทำให้ในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลศรีลังกาจำเป็นต้องหันไปพึ่งพาจีน แต่ส่งผลกระทบอย่างมากในทางยุทธศาสตร์กับอินเดีย เพราะมีความกังวลกับการขยายอิทธิพลของจีนในมหาสมุทรอินเดียมาโดยตลอด
ปัญหายังถาโถมจากการระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้รายได้จากการท่องเที่ยวต้องหดตัวลงอย่างมาก และยังเกิดผลกระทบจากสงครามยูเครน ซึ่งรัสเซียเป็นผู้นำเข้าชารายใหญ่จากศรีลังกา ทำให้การส่งออกชาต้องสะดุดลง และกระทบต่อรายได้ของประเทศ
วิกฤติเศรษฐกิจทำให้ประเทศตกอยู่ในภาวะล้มละลาย ประกอบกับความไร้เสถียรภาพอย่างมาก จนในที่สุดประชาชนต้อง “ลงถนน” เพื่อขับไล่รัฐบาลที่ถูกมองว่าเป็นต้นตอของปัญหา จนอยากจะเรียกชัยชนะครั้งนี้ว่าเป็นสภาวะ “ปักษาไร้รัง” ของตระกูลราชปักษา อันเป็นบทเรียนเสมอว่า การเมืองแบบอำนาจนิยมที่ถูกควบคุมโดยคนกลุ่มเดียว ตระกูลเดียว ไม่ได้เข้มแข็ง จนไม่อาจโค่นล้มได้
ดังนั้นการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยในศรีลังกาจึงมีประเด็นท้าทายอย่างมากว่า ใครจะเข้ามาเป็นรัฐบาลใหม่… รัฐบาลใหม่จะดำเนินการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศอย่างไร จะรับมาตรการของ ไอเอ็มเอฟ (กองทุนการเงินระหว่างประเทศ) อย่างไร จะจัดความสัมพันธ์กับรัฐมหาอำนาจทั้งสหรัฐ จีน อินเดียอย่างไร และจะดำเนินการอย่างไรกับตระกูลราชปักษา
โจทย์การเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยในศรีลังกาเป็น “โจทย์เชิงซ้อน” ทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงคู่ขนานกันอย่างน่าสนใจ ไม่ได้มีแต่เรื่องของการสร้างประชาธิปไตยทางการเมืองเท่านั้น!
วิกฤติศรีลังกาเป็นคำเตือนอย่างชัดเจนถึงความผิดพลาดในการบริหารประเทศที่มีรายได้ปานกลาง และรายได้ต่ำ การบริหารที่ผิดพลาดและการคอร์รัปชั่น คือ จุดเริ่มของวิกฤติใหญ่ของชาติ!
-------------------
ขอบคุณภาพจากเว็บไซต์ nation tv