“รมช.มนัญญา” เปิดงานมหกรรมแสดงสินค้าฮาลาลอาเซียน 2565 เผยกระทรวงเกษตรฯ พร้อมหนุนอุตสาหกรรมฮาลาลชายแดนใต้ให้เข้มแข็ง สร้างความเชื่อถือฮาลาลไทยสู่กลุ่มประเทศมุสลิมทั่วโลก
สถาบันฮาลาล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมกับศูนย์การค้าอาเซียนมอลล์ปัตตานี จัดงานมหกรรมแสดงสินค้าฮาลาลอาเซียน 2565 ระหว่างวันที่ 29 มิ.ย. – 3 ก.ค.65 ณ ศูนย์การค้าอาเซียนมอลล์ปัตตานี ต.บานา อ.เมือง จ.ปัตตานี เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้ผู้ผลิตสินค้าอุปโภค บริโภค และบริการด้านฮาลาลในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ สร้างเครือข่ายด้านธุรกิจฮาลาลกับกลุ่มประเทศอาเซียน ส่งผลให้สามจังหวัดชายแดนใต้กลายเป็นศูนย์กลางการผลิตสินค้าและบริการฮาลาลที่สามารถป้อนสู่ประเทศมุสลิมได้ในอนาคต
วันพฤหัสบดีที่ 30 มิ.ย.65 นางมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในพิธีเปิดมหกรรมงานแสดงสินค้าฮาลาลอาเซียน 2565 โดยมี ผศ.ดร.อัสมัน แตอาลี ผู้อำนวยการสถาบันฮาลาล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, รศ.อิ่มจิต เลิศพงษ์สมบัติ รองอธิการบดีวิทยาเขตปัตตานี และ Datuk Haji Jamal Mohd Amin ผู้บริหารศูนย์การค้าอาเซียนมอลล์ปัตตานี รวมทั้ง ผศ.ดร.สุกรี หลังปูเต๊ะ รองอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์และศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยฟาฏอนี, ดร.อับดลรอหมาน กาเหย็ม คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย, นายแวดือราแม มะมิงจิ ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี เข้าร่วมพิธีเปิดอย่างคึกคัก
นางมนัญญา กล่าวว่า สินค้าและบริการฮาลาลของประเทศไทยเป็นธุรกิจที่มีบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้โตขึ้นได้ในอนาคต เนื่องจากประเทศไทยมีศักยภาพในหลายๆ ด้านที่จะผลิตสินค้าและบริการฮาลาลที่มีคุณภาพตรงตามความต้องการของตลาด
“อาหารฮาลาลคือถูกหลักศาสนา สะอาด ไม่ว่าอะไรจะเปลี่ยนไป เรื่องของฮาลาลยังอยู่ในหลักของศาสนาอิสลาม ไม่มีใครจะมาเปลี่ยนแปลงได้ อยากให้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เพิ่มคณะวิทยาศาสตร์ฮาลาลอีกสักคณะ เพื่อผลิตนักศึกษาที่นำไปสู่บริษัทผลิตด้านฮาลาล”
“จากการไปทำอุมเราะฮ์ ได้พูดคุยกับนักศึกษาบอกว่า ไม่ได้กลับมาเมืองไทย มีครอบครัวอยู่ที่โน่น เพราะไม่รู้จะกลับมาประกอบอาชีพอะไร จริงๆ บุคลากรในไทยที่จะมาจัดการเรื่องอาหารฮาลาลยังขาดอีกมาก น่าเสียดาย อาหารฮาลาลเราส่งไปตะวันออกกลาง แต่เมื่อถึงที่โน่นจะถูกเปลี่ยนฉลากสินค้า ไม่ได้ใช้ไทยแลนด์ ใช้อินโดนีเซีย ใช้มาเลเซีย แสดงว่าผู้ที่เชื่อถือฮาลาลไทยยังน้อยอยู่ ทำอย่างไรให้มีผู้เชื่อถือฮาลาลไทยมากขึ้น เพราะคนไทยสามารถขายสินค้าได้มากขึ้น” รมช.เกษตรฯ กล่าว
และว่า “ทุกคนสามารถใช้ดิฉันได้ ในพื้นที่มีหมอเพชรดาว (พญ.เพชรดาว โต๊ะมีนา ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย) ที่เป็นมุสลิมะฮ์ที่เก่งในสภา พยายามต่อสู้เพื่อพี่น้องมุสลิม ในครม.ชุดนี้ ดิฉันก็เป็นผู้หญิง ซึ่งมีน้อยมากในสภา แต่เราพยายามให้ฮาลาลทางใต้ไปทั่วโลกได้ ส่งเสียงให้รัฐบาลและทั่วโลกได้ยิน เราจะทำอย่างไร ทำให้ได้มากที่สุด ก้าวเดินในความเป็นมุสลิมะฮ์ ผู้หญิงมุสลิมมีความรู้ มีความคิด มีสิทธิมากมายที่ผู้ชายอาจไม่รู้ก็ได้ ทั้งที่เราสามารถเคียงข้างได้ไปพร้อมด้วยกันได้”
นางมนัญญา กล่าวอีกว่า อิสลามเป็นความสมบูรณ์แบบที่สุดแล้ว ชีวิต อาหารการกิน ถ้าท่านไม่มีคนถือธงนำหน้าให้บอกจะไปทำหน้าที่นี้ให้ ถ้าอาหารฮาลาลเกิดขึ้นในพื้นที่ชายแดนใต้จะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด ให้ความตั้งใจนี้นับหนึ่งแล้วมีสอง สามต่อไป ร่วมแรงร่วมใจให้อาหารฮาลาลเป็นอาหารของทั่วโลก รัฐบาลให้ความสำคัญกับอาหารฮาลาล
“กระทรวงเกษตรฯส่งเสริมตั้งแต่ต้นน้ำ โดย ครม.และรัฐบาลร่วมผลักดันอุตสาหกรรมฮาลาลอย่างเต็มที่ หากสิ่งที่รัฐบาลนำมาให้อาจไม่ตรงกับความต้องการของพื้นที่ บางครั้งไม่เป็นที่ยอมรับของชายแดนใต้ การส่งเสียงความต้องการจากพื้นที่มีความสำคัญว่าต้องการอะไร เราเป็นเจ้าของพื้นที่ ต้องบอก ต้องพูด ไม่อยากให้เป็นที่กังวลและหวาดกลัวของคนที่จะเข้ามาในพื้นที่ มาด้วยความรู้สึกปลอดภัย”
“งานฮาลาลเอกซ์โปในวันนี้ ทุกคนมาด้วยหน้าตาชื่นบาน อาหารฮาลาลเป็นอาหารที่อร่อย สะอาด ถูกสุขอนามัย คือถูกทางด้านวิทยาศาสตร์ ประเทศมุสลิมต้องการอาหารฮาลาลและควบคุมโดยมุสลิม หรือต้องมีมุสลิมเข้าไปเกี่ยวข้องจึงจะเป็นความเชื่อมั่น หากม.สงขลานครินทร์และมหาวิทยาลัยอื่นๆ ให้ผู้มีความรู้ความเข้าใจในศาสนาอิสลามอยู่ในโรงงานนั้นๆ จะเป็นความเชื่อมั่นของคนทั้งโลก”
รมช.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวด้วยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์พร้อมสนับสนุนและขับเคลื่อนอุตสาหกรรมฮาลาลของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้มีความเข้มแข็ง โดดเด่นและเป็นรูปธรรมชัดเจน พร้อมที่จะบูรณาการสินค้าฮาลาล ร่วมกับสถาบันฮาลาล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยกระทรวงเกษตรฯจะดูแลในส่วนของต้นน้ำในด้านการผลิต ทั้งด้านพืช ประมง และปศุสัตว์ ซึ่งมั่นใจว่าชาวมุสลิมจะต้องได้รับประทานอาหารที่ฮาลาล รวมทั้งสร้างความเชื่อมั่นในผลิตภัณฑ์ฮาลาลไทยให้แก่ผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศต่อไป
สำหรับกิจกรรมในงาน นอกจากบูธแสดงสินค้าแล้ว ยังมีการเสวนาจากวิทยากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านฮาลาลทั้งในและต่างประเทศ อาทิ เรื่อง “โอกาสของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ในการพัฒนาธุรกิจฮาลาลสู่ระดับสากล”, เรื่อง “โอกาสการขับเคลื่อนธุรกิจฮาลาลระหว่างไทย-มาเลเซีย”, เรื่อง “แนวทางการพัฒนาระบบการรับรองมาตรฐานฮาลาลของไทยและมาเลเซีย” การสาธิตการทำเมนูอาหารและเครื่องดื่มฮาลาล กิจกรรม Halal Pitch เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีงานแสดงสินค้าและนิทรรศการฮาลาลนานาชาติ จำนวน 136 ร้านค้า บูธจากประเทศไทย จำนวน 86 ร้านค้า และบูธนานาชาติ 50 ร้านค้า เช่น ประเทศมาเลเซีย ลาว และกัมพูชา จำหน่ายสินค้าประเภทอาหาร เสื้อผ้า และอื่นๆ