“ชวน หลีกภัย” บรรยายพิเศษ 90 ปีรัฐสภา แฉนโยบาย “8 เม.ย.44” เก็บ-ฆ่าทิ้ง ขจก.เดือนละ 20 คน ต้นตอไฟใต้โชน เหตุผู้บริหารประเทศยุคนั้นเมินหลักนิติธรรม ใช้วิธีนอกกฎหมายแก้ปัญหาชายแดนใต้ จนเกิดวิกฤติต่อเนื่องจากปล้นปืนค่ายปิเหล็งจนวันนี้ยังไม่จบ
วันจันทร์ที่ 27 มิ.ย.65 โครงการจัดนิทรรศการและเสวนาทางวิชาการเนื่องในโอกาสครบรอบ 90 ปี รัฐสภา ที่อาคารรัฐสภา มีการบรรยายพิเศษเรื่อง “90 ปี รัฐสภา การเดินทางและความหวัง” โดย นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นองค์ปาฐก
นายชวน กล่าวตอนหนึ่งว่า วิกฤติที่ยังมีผลถึงทุกวันนี้ เมื่อตอนใช้รัฐธรรมนูญปี 40 ก็คือการที่ผู้บริหารประเทศใช้วิธีการบริหารด้วยการเลือกปฏิบัติ และใช้วิธีการนอกหลักนิติธรรม ตัวอย่างดีที่สุดคือปัญหาภาคใต้ มันเกิดเป็นวิกฤติและมีผลจนทุกวันนี้ จากความผิดพลาดของฝ่ายบริหารที่มาจากระบบการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย แต่ไม่ยึดหลักประชาธิปไตยในการบริหาร ไปใช้หลักนอกนิติธรรม ใช้วิธีการนอกกฎหมาย
นายชวน ขยายความว่า วิธีการนอกกฎหมาย ก็คือ นโยบาย 8 เม.ย.2544 เป็นวันที่เริ่มเกิดวิกฤติชายแดนภาคใต้ วันนี้คนที่รู้เรื่องนี้ก็ล้มหายตายจาก เกษียณหมดแล้ว แต่คนที่กล้าค้านเรื่องนี้มีชีวิตอยู่ที่นครศรีธรรมราช เป็นอดีตรองแม่ทัพภาคที่ 4 คือ พล.ต.เรวัติ แต่ผลจากที่คัดค้านเรื่องนี้ ท่านก็ถูกย้าย ถูก ผบ.ทบ.เชิญไปพบและตำหนิว่าไปทำอะไรให้นายกฯโกรธ (นายกฯในขณะนั้น นายทักษิณ ชินวัตร ; ข้อมูลจากกองบรรณาธิการ)
นโยบายอันเป็นวิกฤติที่ใช้วิธีการนอกหลักนิติธรรม คือ นโยบายเก็บฆ่าทิ้ง โดยสันนิษฐานว่า พื้นที่ชายแดนภาคใต้มี ขจก. (ขบวนการโจรก่อการร้าย) ไม่เกิน 50-60 คน เป็นพวกโจรกระจอก แล้วก็จัดการเสีย มีจำนวนแค่นี้ จัดการแค่เดือนละ 20 คน 3 เดือนก็หมด
“ผมถือว่าเป็นวิกฤติใน 90 ปี ไม่เคยต้องสูญเสียอย่างนี้ ถัวเฉลี่ยคนที่เสียชีวิตไปแล้วในขณะนี้ไม่น้อยกว่า 5-6 พันคน ต่อเนื่องจนทุกวันนี้ ทั้งที่ความจริงแล้วปัญหาในพื้นที่นั้นมีการเยียวยาแก้ไขต่อเนื่องมาตลอดตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 มีรัฐประศาสโนบาย ไปอ่านดู 6 ข้อยังทันสมัยอยู่ทุกข้อ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเสด็จฯทุกปี 40 กว่าปี จนพูดได้ว่าภาคใต้สงบ”
“พอนโยบาย 8 เม.ย.2544 ออกมาว่า จะแก้ปัญหาหมดภายใน 3 เดือน ด้วยวิธีเก็บเดือนละ 20 คน จึงเป็นเงื่อนไขอันเป็นที่มาของทุกวันนี้ นี่คือช่วงหนึ่งในรอบ 90 ปีที่ไม่มีครั้งใดสูญเสียมากเท่าเหตุการณ์ครั้งนี้ ถ้ามองในความมั่นคงของบ้านเมือง ความมั่นคงของภาคใต้ ส่วนหนึ่งก็คืออันนี้ วันนี้รัฐบาลต้องใช้เงินเป็นแสนๆ ล้านเข้าไปแก้ปัญหาที่สมทบกันอยู่แต่ละปี และปัญหาก็ยังไม่จบ ช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมาก็ยังมีปัญหาที่ยะลา ปัตตานี นราธิวาส มีอยู่เป็นระยะๆ คนร้ายยังอยู่”
“นโยบายพวกนี้ก่อให้เกิดการก่อตัวของคนกลุ่มหนึ่งขึ้นมา คือ กลุ่มมุสลิมรุ่นใหม่ ตั้งองค์กรเรียกว่า RKK แล้วปล้นปืน ถ้าเราศึกษาเรื่องนี้ วันที่ 8 เม.ย.44 เริ่มนโยบายเก็บ, 3 ปีต่อมา 4 ม.ค.47 คือการปล้นปืนที่ค่ายปิเหล็ง ปืนทั้ง 417 กระบอก คนร้ายเอาไปคืนเดียว ทหารตาย 4-5 คน นี่คือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วมีผลมาทุกวันนี้” นายชวน กล่าว