เรื่องราวของ “ตู้กรองน้ำครึ่งล้าน” ยังไม่จบ เพราะหลังจากติดตั้งไปนับร้อยจุดทั่วชายแดนใต้ตลอด 3-4 ปีที่ผ่านมา มีปัญหาร้องเรียนตลอด
สาเหตุที่ต้องเรียก “ตู้กรองน้ำครึ่งล้าน” ก็เพราะตู้กรองน้ำที่ว่านี้ราคาถึงครึ่งล้าน คือ 549,000 บาท
โครงการติดตั้งตู้กรองน้ำครึ่งล้าน เกิดขึ้นในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ถูกระบุว่าเป็น “พื้นที่ความมั่นคง” เวลาจะทำโครงการอะไรก็ไม่ต้องประกวดราคา หรือประมูลกันให้ยุ่งยาก ตู้กรองน้ำครึ่งล้านที่ว่านี้ก็เช่นกัน และเมื่อนำไปติดตั้งใช้งานจริง ปรากฏว่าชำรุด ขัดข้อง กดน้ำไม่ได้ กลายเป็นตู้ร้างในหลายพื้นที่
“ตู้กรองน้ำครึ่งล้าน” มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า “ตู้กรองน้ำพลังงานแสงอาทิตย์” จุดเด่นคือไม่ต้องใช้ไฟฟ้าให้เปลืองไฟ (แต่ก็สามารถเสียบปลั๊กใช้ไฟได้ถ้าจำเป็น) เพราะบนหลังคาตู้จะมีแผงโซลาร์เซลล์ไว้เก็บไฟ ภายในตู้ติดตั้งเครื่องกรองน้ำเพื่อให้ชาวบ้านกดน้ำไปดื่ม หรือกดไปใช้ในครัวเรือนได้อย่างสบาย
ปัญหาแรกอยู่ที่ “ราคา” เพราะราคาครึ่งล้าน หรือกว่า 5 แสนบาทนี้ ถ้าเทียบกับข้าวของอย่างอื่น เช่น รถกระบะ สามารถซื้อรถกระบะแบบพื้นฐานได้ 1 คัน รถอีโคคาร์ อาจจะเกือบ 2 คัน ซื้อคอมพิวเตอร์ หรือสื่อการเรียนการสอนได้มากกว่า 20 เครื่อง หรืออาจจะปลูกบ้านชั้นเดียวได้สัก 1 หลัง นำเงินไปแจกทุนการศึกษาเด็กยากจน ทุนละ 1,000 บาท ได้ 500 กว่าทุน
โครงการติดตั้งตู้กรองน้ำที่ว่านี้เป็นของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ผู้รับผิดชอบโครงการคือ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ซึ่ง ผอ.ศูนย์ ก็คือคนที่ทำโครงการ “เสาไฟโซลาร์เซลล์พันล้าน” จนถูก ป.ป.ช.ชี้มูลทุจริตนั่นเอง
โครงการนี้ แรกเริ่มเดิมทีใช้งบเหลือจ่ายของ ศอ.บต.ในปี 2559 นำมาตั้งเป็นงบจัดซื้อในปี 2560 จัดซื้อมาแล้ว 2 ล็อต 2 สัญญา
ล็อตแรก ตั้งงบเอาไว้ 11,500,000 บาท ติดตั้ง 19 จุด ราคากลางอยู่ที่จุดละ 610,000 บาท
ล็อตที่ 2 ปีเดียวกัน ตั้งงบเอาไว้อีก 45,000,000 บาท ติดตั้งอีก 82 จุด ราคากลางจุดละ 549,000 บาท
รัฐมนตรีที่ลงนามอนุมัติให้โยกงบประมาณเหลือจ่ายของ ศอ.บต.ในปีงบประมาณ 2559 มาจัดซื้อ "ตู้กรองน้ำครึ่งล้าน" ในปีงบประมาณ 2560 ไม่ใช่ใครที่ไหน คือ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ สมัยดำรงตำแหน่งอดีตรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ซึ่งกำกับดูแล ศอ.บต. นั่นเอง
เท่านั้นยังไม่พอ ในงบประมาณปี 2560 ยังมีการเตรียมใช้งบของ ศอ.บต.เอง ไม่ใช่ดึงงบเหลือจ่ายมาใช้ เพื่อทำแผนติดตั้ง "ตู้กรองน้ำพลังงานแสงอาทิตย์" อีก 101 จุด เตรียมงบไว้รวมๆ 56,500,000 บาท
แต่ช่วงนั้น “ศูนย์ข่าวอิศรา” และสื่ออีกหลายแขนง เสนอข่าวความแพงระยับของตู้กรองน้ำครึ่งล้านจนเป็นข่าวดัง สังคมรับไม่ได้ สุดท้ายจึงมีการระงับการจัดซื้อล็อต 3 อีก 101 จุด งบประมาณ 56,500,000 บาท คือไม่มีการจัดซื้อ
สรุปก็จัดซื้อไป 2 ล็อตแรกเท่านั้น!!
ปัญหาที่ตามมา ซึ่งมีการเตือนจากหลายฝ่ายไว้ก่อนแล้ว ก็คือ
1.เมื่อหมดระยะประกัน การซ่อมแซมจะทำอย่างไร เพราะช่วงแรกบริษัทผู้ผลิตและติดตั้ง รับประกันให้ 6 เดือน แล้วต่อเวลาให้เป็น 2 ปี แต่บริษัทตั้งอยู่ย่านปทุมธานี ชานกรุงเทพฯ ไม่ได้อยู่ที่ภาคใต้ แล้วเวลาเครื่องเสีย ขัดข้อง ชำรุด ใครจะซ่อม
2.ใครจะรับผิดชอบค่าซ่อมเมื่อหมดระยะเวลาประกัน เพราะ ศอ.บต.ไม่ได้ตั้งงบเอาไว้ หากจะโอนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ก็ไม่มีใครอยากรับโอน เนื่องจากเกรงจะต้องมารับภาระค่าซ่อม
3.การติดตั้งหลายจุด ไม่มีชาวบ้านไปกดน้ำ เนื่องจากการสำรวจจุดติดตั้ง ไม่ได้สอบถามชาวบ้าน หรือทำประชาคมก่อนว่าต้องการหรือไม่ ส่วนใหญ่จึงไปติดตั้งตามมัสยิด หรือวัด ซึ่งจะว่าไปก็อยู่ห่างไกลชุมชน ไม่ได้อยู่ในชุมชน และไม่มีใครคอยดูแล หรือปรนนิบัติบำรุง
4.โซลาร์เซลล์เก็บไฟไม่พอ เนื่องจากพื้นที่ชายแดนใต้ฝนตกชุก บางจุดแผงโซลาร์เซลล์ก็มีปัญหา จึงต้องใช้ไฟฟ้าจากมัสยิดหรือบ้านเรือนที่อยู่ใกล้ๆ แทน ทำให้เกิดภาระค่าใช้จ่าย
มีรายงานว่า เมื่อเดือน ก.ย.2564 ซึ่งเป็นช่วงหมดระยะประกันไปแล้ว มีหนังสือจาก ศอ.บต. ส่งให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบางแห่งที่มีการติดตั้งตู้กรองน้ำครึ่งล้าน โดยให้ลงนามในหนังสือ “ยืม” ตู้กรองน้ำไปใช้ และต้องส่งคืนในสภาพที่สมบูรณ์ ทั้งๆ ที่ทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเหล่านั้นไม่เคยมีความต้องการตู้กรองน้ำครึ่งล้านเลย และไม่เคยส่งหนังสือไปขอยืมจาก ศอ.บต.ด้วย
ปัญหา “ตู้กรองน้ำครึ่งล้าน” ยังไม่จบ ล่าสุดชาวบ้านในพื้นที่ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส ทนไม่ไหว ร้องเรียนเข้ามาที่ “ทีมข่าวอิศรา” ว่า ตู้กรองน้ำในพื้นที่ ซึ่งตั้งอยู่ภายในมัสยิดนูรูลอิสลามยะลูตง ชำรุด ขัดข้อง ใช้การไม่ได้มานาน และไม่มีใครไปช่วยซ่อมแซม
มัสยิดแห่งนี้อยู่ริมถนนสายหลัก สายปัตตานี-นราธิวาส ไม่ได้อยู่ลึกลับ หรืออยู่ห่างไกลความเจริญ แต่ตู้กรองน้ำกลับใช้งานไม่ได้
ชาวบ้านบอกว่า รู้สึกเสียดาย ทำไมเอางบมาทิ้งแบบนี้ บอกว่าจะซ่อมแต่ก็ยังใช้ไม่ได้ ชาวบ้านจะกดน้ำไปดื่มก็ไม่มีน้ำ อยากให้มาซ่อม แจ้งไปแล้วก็ไม่มีใครมาซ่อม เสียดายของ เสียดายงบประมาณ
นายกอมารูดิง กะนิ ผู้ใหญ่บ้านยะลูตง ใน อ.บาเจาะ เล่าว่า ตู้กรองน้ำเสียบ่อย 2-3 เดือนก่อนก็พอใช้ได้ ตอนนี้ก็เสียแล้ว ไม่รู้เสียเพราะอะไร
ยังมีชาวบ้านที่ ต.บาโร๊ะ อ.ยะหา จ.ยะลา ร้องเรียนมาเช่นกันว่า ไม่อยากใช้แล้ว เสียบ่อยมาก ใช้ 1-2 เดือนเสีย พอเสียแล้ว ต้องรออีก 5 เดือนกว่าช่างจะมาซ่อม เมื่อซ่อมได้ไม่นานก็เสียอีก
“ตอนนี้ชาวบ้านไม่อยากใช้แล้ว อีกอย่างตู้ต้องเสียบไฟฟ้าของมัสยิดด้วย เพราะบ้านเราฝนตกบ่อย โซลาร์เซลล์เก็บไว้ไม่พอ ทำให้มีค่าใช้จ่ายด้วย เป็นภาระของมัสยิด” ชาวบ้านบาโร๊ะ กล่าว
ด้าน อบต. หรือ องค์การบริหารส่วนตำบลในพื้นที่ ก็ยืนยันว่า ไม่รับยืม และไม่ยอมเซ็นหนังสือยืมตู้กรองน้ำของ ศอ.บต. เพราะรับมาก็เป็นภาระแน่นอน รู้อยู่แล้วว่ามีปัญหาจะรับทำไม ก่อนทำโครงการทำไมไม่ป้องกันปัญหา พอมีปัญหาแล้วมาโยนให้ อบต. แบบนี้ไม่ถูกต้อง
นี่คือสารพัดปัญหาของ “ตู้กรองน้ำครึ่งล้าน” ซึ่งหมดงบไปแล้วกว่า 56 ล้านบาท แต่ไม่สามารถบริการประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพตามที่คาดหวัง...