“กูเฮง” ส.ส.นราธิวาส พรรคประชาชาติ แนะนายกฯเปิดเวทีฟังผลกระทบ “กัญชาเสรี” จากประชาชนชายแดนใต้ แล้วจะทราบความจริง แฉกระทบเปิดด่านไทย-มาเลเซีย เหตุประเทศเพื่อนบ้านเข้มงวดหนัก โทษถึงประหาร ขณะที่คณะกรรมการอิสลาม 5 จังหวัดชายแดน แถลงจุดยืน “กฎหมายกัญชา - สุราก้าวหน้า - สมรสเท่าเทียม” ขัดหลักศาสนาอิสลาม ตามคำวินิจฉัยของจุฬาราชมนตรี
วันพฤหัสบดีที่ 23 มิ.ย.65 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร วาระปรึกษาหารือตามข้อบังคับการประชุมสภา นายกูเฮง ยาวอหะซัน ส.ส.นราธิวาส เขต 3 พรรคประชาชาติ ได้มีขอหารือต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร 2 เรื่อง โดยได้ลุกขึ้นอภิปรายว่า 1.ประเด็นผลกระทบจากกฎหมายกัญชาเสรี (ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง) ขอให้นายกรัฐมนตรีเปิดเวทีรับฟังปัญหาของประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เนื่องจาก “กัญชาเสรี” ขัดต่อหลักการศาสนาอิสลาม ซึ่งวันนี้องค์กรศาสนา โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม มหาวิทยาลัย และกลุ่มองค์กรการแพทย์ ได้ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านกฎหมายนี้ ซึ่งจะเห็นได้ว่าที่โรงพยาบาลมีผู้ป่วยสืบเนื่องจากกัญชาเพิ่มขึ้น และมีผลกระทบต่อการเปิดด่านพรมแดนไทย-มาเลเซีย เนื่องจากทางการมาเลเซียมีการตรวจค้นคนไทยอย่างเข้มงวด เพราะกฎหมายมาเลเซียมีโทษประหารชีวิตต่อผู้นำยาเสพติดเข้าประเทศ อีกทั้งส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการค้าชายแดน ทำให้ร้านค้าและผู้ประกอบอาชีพรับจ้างเรือข้ามฟากและจักรยานยนต์รับจ้างต้องหยุดงาน
2.สืบเนื่องจากที่เคยหารือเมื่อ 2 เดือนที่แล้ว เรื่องโรงพยาบาลจิตเวชในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ขอทราบความคืบหน้าผลการดำเนินงาน ประกอบกับปัจจุบันกฎหมายกัญชาเสรีเชื่อว่าน่าจะทำให้มีผู้ป่วยจิตเวชเพิ่มขึ้น จึงขอเน้นย้ำว่าจังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องมีโรงพยาบาลจิตเวช
@@ กก.อิสลาม 5 จังหวัดค้านกัญชา-สุราเสรี-สมรสเท่าเทียม
ขณะที่ความเคลื่อนไหวในการคัดค้านกัญชาเสรีในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ วันเดียวกันนี้ ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา จังหวัดนราธิวาส จังหวัดสงขลา และจังหวัดสตูล ได้ลงนามในแถลงการณ์ร่วมกันในนามสมาพันธ์คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดชายแดนภาคใต้ (PERMAI)
แถลงการณ์ระบุว่า สืบเนื่องจากสภาผู้แทนราษฎรได้ออกกฎหมายเกี่ยวกับ 1.ร่างพระราชบัญญัติกัญชา กัญชา 2.ร่างพระราชบัญญัติสุราก้าวหน้า และ 3.ร่างพระราชบัญญัติสมรสเท่าเทียม- คู่ชีวิต นั้น ทางสมาพันธ์คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดชายแดนภาคใต้ (PERMAI) ขอชี้แจงและทำความเข้าใจว่า สำหรับผู้นับถือศาสนาอิสลามแล้ว ไม่อาจปฏิบัติตามพระราชบัญญัติดังกล่าวได้ เนื่องจากขัดต่อหลักการของศาสนาอิสลามและเป็นข้อห้ามสำหรับผู้นับถือศาสนาอิสลามโดยเด็ดขาด
ในการนี้ทางสมาพันธ์คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดชายแดนภาคใต้ (PERMAI) ขอยึดแนวปฏิบัติตามคำวินิจฉัย (ฟัตวา) จุฬาราชมนตรีที่ 1/ 2563 และประกาศฝ่ายกิจการฮาลาล กรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ฉบับที่ 8/2564 ลงวันที่ 15 มิถุนายน 2564