ในสถานการณ์ที่โลกของเราเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและล่อแหลม โจทย์ของโลก และโจทย์ของประเทศเราเองดูจะยากขึ้นเรื่อยๆ
ถามว่าฝ่ายความมั่นคงและรัฐราชการของไทยรับทราบสถานการณ์โลกหรือไม่ ต้องบอกว่ารับทราบเป็นอย่างดี และได้มีการจัดทำ “(ร่าง) นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ พ.ศ.2566-2570” ออกมา เพิ่งเสนอเข้าคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบไปเมื่อวันอังคารที่ 7 มิ.ย.65
(ร่าง) นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ พ.ศ.2566-2570 นี้ เรียกสั้นๆ ว่า “แผนความมั่นคง” ได้ฉายภาพสิ่งที่ไทยต้องเผชิญในห้วง 5 ปีข้างหน้า ทั้งในบริบทความมั่นคงระดับโลก ระดับภูมิภาค และระดับประเทศของเราเอง
@@ ร่างแผนความมั่นคง ประเมินความเปลี่ยนแปลงของบริบทความมั่นคงในระดับโลก 6 ด้านสำคัญ คือ
1.การแข่งขันขยายอิทธิพลระหว่างประเทศมหาอำนาจ
2.สถานการณ์การก่อการร้าย
3.การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีอย่างฉับพลัน
4.โรคติดต่ออุบัติใหม่ และโรคระบาด
5.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และภาวะโลกร้อน
6.การเปลี่ยนแปลงทางภูมิประชากรศาสตร์
@@ ส่วนความเปลี่ยนแปลงของบริบทความมั่นคงในระดับภูมิภาค ประกอบด้วย
1.การแข่งขันและขยายอิทธิพลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีสถานการณ์ย่อยคือ
-กรณีพิพาทในทะเลจีนใต้
-กรณีอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง
2.บทบาทของอาเซียน ซึ่งจะเผชิญบททดสอบ “ความเป็นเอกภาพ”
3.สถานการณ์ความมั่นคงในประเทศรอบบ้าน
4.ความมั่นคงทางชายแดน ไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน
-เรื่องเส้นเขตแดน
-อาชญากรรมข้ามชาติในพื้นที่ชายแดน
-แรงงานผิดกฎหมายลักลอบเข้าเมือง
-ปัญหาโรคระบาดตามแนวชายแดน
5.ความมั่นคงทางทะเล
-การแย่งชิงผลประโยชน์และการแข่งขันทางทะเล
-ความปลอดภัย และอาชญากรรมทางทะเล
-ปัญหาสิ่งแวดล้อมทางทะเล
6.ปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ
-การลักลอบค้ายาเสพติด
-การปลอมแปลงเอกสาร
-การลักลอบเข้าเมืองและค้ามนุษย์
-การฟอกเงิน
7.การก่อการร้ายในภูมิภาคอาเซียน
-มีความเสี่ยงที่จะเผชิญปัญหาการก่อการร้ายและปัญหาจากการบ่มเพาะแนวคิดสุดโต่งที่นิยมความรุนแรงโดยกลุ่มติดอาวุธในท้องถิ่น
-มีความพยายามเผยแพร่อุดมการณ์และแนวคิดสุดโต่งที่นิยมความรุนแรง ผ่านการใช้สื่อสังคมออนไลน์
-สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองภายในภูมิภาคตะวันออกกลางและในอัฟกานิสถานที่ยังไม่แน่นอน มีสัญญาณให้เกิดการเคลื่อนย้ายของนักรบก่อการร้ายต่างชาติ (Foreign Terrorist Fighters) เดินทางไปรวมกลุ่มในพื้นที่ หรือนำอุดมการณ์ที่นิยมความรุนแรงกลับมาก่อเหตุในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
-ทำเลที่ตั้งของไทยเป็นศูนย์กลางการเดินทางระหว่างประเทศที่สำคัญในภูมิภาค อาจถูกใช้เป็นทางผ่าน แหล่งพักพิง และแหล่งจัดหาวัสดุอุปกรณ์
-แนวโน้มการก่อเหตุของผู้ปฏิบัติการโดยลำพัง (Lone Actor) มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ซึ่งในระยะหลังบ่อยครั้งเป็นปฏิบัติการจากสตรีและเยาวชน
@@ ความเปลี่ยนแปลงของบริบทความมั่นคงในระดับประเทศ
1.ความมั่นคงของสถาบันหลักของชาติ
-สถาบันชาติ
-สถาบันศาสนา
-สถาบันพระมหากษัตริย์
2.สถานการณ์การเมืองภายในประเทศ
3.สถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้
4.ปัญหาผู้หลบหนีเข้าเมือง
5.ปัญหายาเสพติด
6.ปัญหาการค้ามนุษย์
7.ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ
8.ปัยหาการทุจริตคอร์รัปชั่น
9.สาธารณภัย และภัยพิบัติ
10.ปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
@@ เงื่อนไข 3 ระดับจุดไฟใต้
กล่าวเฉพาะสถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้ “แผนความมั่นคง” ระบุว่า มีการก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่มาอย่างต่อเนื่อง โดยเป็นผลมาจากเงื่อนไขที่มีความละเอียดอ่อน ซับซ้อน และเชื่อมโยงกัน ประกอบด้วย
1.เงื่อนไขระดับบุคคล โดยเฉพาะกลุ่มคนไทยบางกลุ่มที่เห็นต่างจากรัฐ ได้นำเงื่อนไขความแตกต่างทางชาติพันธุ์ ศาสนา และประวัติศาสตร์มาสร้างความชอบธรรมในการต่อสู่ตามเป้าหมาย/อุดมการณ์
2.เงื่อนไขระดับโครงสร้าง จากข้อจำกัดของโครงสร้างการบริหารจัดการภาครัฐ และ
3.เงื่อนไขระดับวัฒนธรรมที่ประชาชนในพื้นที่บางส่วนยังรู้สึกแปลกแยกจากสังคมไทย
@@ อ่านทิศทาง “รุนแรงลด - มุ่งข้อเรียกร้องการเมือง”
แนวโน้มสถานการณ์ระยะต่อไป คือ การก่อเหตุรุนแรงลดลง แต่จะมีความเคลื่อนไหวทางการเมืองมากยิ่งขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลสัมฤทธิ์ของการขับเคลื่อนงานและกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ในห้วงที่ผ่านมา และการปรับเปลี่ยนรูปแบบการเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ
นอกจากนี้ ปัญหาภัยแทรกซ้อนปัญหาทางด้านเศรษฐกิจและสังคม ปัญหาความหวาดระแวงและความเข้าใจระหว่างกัน ยังคงเป็นปัญหาที่เชื่อมโยงและส่งผลกระทบในพื้นที่อย่างมีนัยสำคัญ ขณะเดียวกัน สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยังส่งผลให้ปัญหาเศรษฐกิจมีความรุนแรง และมีความเหลื่อมล้ำมากยิ่งขึ้น
ดังนั้น ภาครัฐจึงจำเป็นต้องเสริมสร้างความปลอดภัยและความสันติสุขของประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมุ่งเน้นการลดเงื่อนไขต่างๆ โดยเฉพาะความหวาดระแวง ความเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน ข้อเรียกร้องต่างๆ ควบคู่กับการยุติเหตุความรุนแรงในพื้นที่ และขยายผลการพัฒนาให้สอดคล้องตามศักยภาพของพื้นที่ต่อไป