แม้ประเทศไทยจะปลดล็อก “กัญชาเสรี” ด้วยการถอดชื่อ “กัญชา” ออกจากกฎหมายและประกาศที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดทั้งหมด ทำให้ตั้งแต่วันที่ 9 มิ.ย.65 การปลูก ผลิต ครอบครอง หรือแม้แต่สูบ เสพ รับประทานพืชกัญชา ล้วนไม่มีความผิดตามกฎหมาย
หลายฝ่ายเชื่อว่าจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวอย่างมหาศาล เนื่องจากประเทศไทยกลายเป็น “ฮับกัญชา” แห่งแรกของอาเซียน และอาจใช้กัญชาได้เสรีเกือบจะมากที่สุดในโลก
ขณะที่บางฝ่ายได้ออกมาท้วงติงว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกำลังขัดกับเจตนารมณ์เดิมในการปลดล็อกกัญชาเพื่อใช้ “ทางการแพทย์” แต่เมื่อปลดล็อกกันจริงๆ แล้วมีแนวโน้มใช้ในเชิง “สันทนาการ” มากกว่า
ส่วนกฎหมายที่จะนำมาควบคุมการใช้ คือ ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ... กลับเพิ่งถูกเสนอเข้าที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรวาระแรกเมื่อวันที่ 8 มิ.ย.ที่ผ่านมา ก่อนหน้าปลดล็อก “กัญชาเสรี” เพียง 1 วัน และที่ประชุมก็ลงมติรับหลักการด้วยเสียงท่วมท้น 373 ต่อ 7 เสียง และงดออกเสียง 23 เสียง
แต่ร่างกฎหมายยังต้องผ่านการพิจารณาวาระ 2 โดยคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง จำนวน 25 คน และกว่าจะผ่านวาระ 2 ต่อเนื่องถึงวาระ 3 แล้ว ยังต้องส่งให้วุฒิสภาพิจารณาอีก 3 วาระ ใช้เวลาอีกไม่ต่ำกว่า 3-4 เดือน ทำให้หลายฝ่ายกังวลว่าช่วงนี้จะเป็น “สุญญากาศ” หรือ “หลุมดำ” ในการใช้กัญชาอย่างเสรี ไม่มีการควบคุมใดๆ อาจทำให้มีการนำกัญชาไปเสพเป็นยาเสพติด โดยเฉพาะในหมู่เยาวชน
@@ ชายแดนใต้ปลุกกระแสต้าน
นอกจากนั้นยังมีกระแสในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ตรวจสอบการลงมติร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ของ ส.ส.มุสลิม จากทุกพรรคการเมือง เพื่อสร้างกระแสบอยคอต ส.ส.มุสลิมที่ลงมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง เพราะเท่ากับเป็นการสนับสนุน “กัญชาเสรี” ทั้งๆ ที่สำนักจุฬาราชมนตรี เคยฟัตวา (ตีความทางศาสนา) ว่า “กัญชา” เป็น “ฮารอม” หรือสิ่งต้องห้ามตามหลักศาสนา เนื่องจากมีโทษภัยเป็นยาเสพติด (ตรงกันข้ามกับ ฮาลาล ที่หมายถึงการได้รับอนุญาต)
ส.ส.ที่ถูกจับตาเป็นพิเศษ คือ ส.ส.จากพรรคภูมิใจไทย เพราะเป็นเจ้าของนโยบาย “กัญชาเสรี” และเป็นผู้เสนอร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ด้วย
@@ เชิดชู 7 ส.ส.ประชาชาติ - ปชป. โหวตคว่ำ
หากย้อนดูผลการลงมติร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง จะพบว่ามี ส.ส.ลงมติไม่รับหลักการเพียงแค่ 7 คนเท่านั้น และทั้ง 7 คนเป็น ส.ส.มุสลิม จาก 2 พรรคการเมือง แบ่งเป็น
พรรคประชาชาติ 6 คน ได้แก่ พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ, นายสมมุติ เบ็ญจลักษณ์ ส.ส.ปัตตานี เขต 4, นายกูเฮง ยาวอหะซัน ส.ส.นราธิวาส เขต 3, นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ ส.ส.นราธิวาส เขต 4, นายซูการ์โน มะทา ส.ส.ยะลา เขต 2, นายอับดุลอายี สาแม็ง ส.ส.ยะลา เขต 3
และ พรรคประชาธิปัตย์ 1 คน ได้แก่ พล.ต.ต.สุรินทร์ ปาลาเร่ ส.ส.สงขลา เขต 8 เลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย
ส.ส.กลุ่มนี้ได้รับการสนับสนุนและขอบคุณจากประชาชนในพื้นที่ มีกระแสชื่นชมในสื่อสังคมออนไลน์อย่างกว้างขวาง
@@ เปิดชื่อ ส.ส.มุสลิม ชูมือรับ “กัญชาเสรี”
ส่วน ส.ส.มุสลิมที่โหวตรับหลักการร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง มีทั้ง ส.ส.พรรคภูมิใจไทย และพรรคอื่นๆ ที่เป็นพรรครัฐบาล
- พญ.เพชรดาว โต๊ะมีนา ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย ลูกสาว นายเด่น โต๊ะมีนา อดีต รมช.มหาดไทย หลาน หะยีสุหลง อับดุลกอเดร์ ตระกูลประวัติศาสตร์ปัตตานี
- นายอับดุลบาซิ อาบู ส.ส.เขต 2 ปัตตานี พรรคภูมิใจไทย
- นายอนุมัติ ซูซารอ ส.ส.ปัตตานี พรรคประชาชาติ (หนึ่งใน ส.ส.งูเห่า โหวตหนุนรัฐบาล)
- นายประสิทธิ์ มะหะหมัด ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ
- นายวัชระ ยาวอหะซัน ส.ส.นราธิวาส พลังประชารัฐ
- นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย
- น.ส.กวินนาถ ตาคีย์ ส.ส.ชลบุรี พรรคพลังท้องถิ่นไท
นอกจากนั้นยังมีกลุ่ม ส.ส.มุสลิมที่ไม่ได้เข้าประชุม และไม่ได้เข้าร่วมโหวต ประกอบด้วย
-นายสัมพันธ์ มะยูโซ๊ะ หรือ ส.ส.บิลา ส.ส.นราธิวาส พรรคพลังประชารัฐ
-นายอันวาร์ สาและ ส.ส.ปัตตานี พรรคประชาธิปัตย์
-อาดีลัน อาลีอิสเฮาะ ส.ส.ยะลา พรรคพลังประชารัฐ
@@ จับตากระทบ “หมอเพชรดาว” ถูกวางตัวเขต 1 ปัตตานี
แต่คนที่ถูกวิจารณ์หนักที่สุด คือ พญ.เพชรดาว โต๊ะมีนา ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย เนื่องจากเป็นลูกสาวของ นายเด่น โต๊ะมีนา อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย อดีต ส.ส. และอดีต ส.ว.ปัตตานี ซึ่งถือเป็นนักการเมืองที่ได้รับการยอมรับ และเป็นเสมือนหนึ่งตัวแทนผู้นำทางจิตวิญญาญอย่าง หะยีสุหลง อับดุลกอเดร์ ที่ถูกทางการอุ้มฆ่าถ่วงน้ำ เพราะเรียกร้องสิทธิ์ในการปกครองตนเอง เมื่อปี พ.ศ.2497 โดย หะยีสุหลง ได้รับการยอมรับในฐานะนักต่อสู้ และ พญ.เพชรดาว ก็เป็นหลานของหะยีสุหลง ด้วย
พรรคภูมิใจไทยวางตัว พญ.เพชรดาว ลงสมัคร ส.ส.เขต 1 ปัตตานี ในการเลือกตั้งครั้งหน้า โดยเขตเลือกตั้งนี้ถือว่าเป็นเขตสัญลักษณ์ที่มีความสำคัญในทางการเมือง เป็นพื้นที่เขตเมืองที่มีความผสมผสานทั้งชุมชนมุสลิมเก่าแก่ และชุมชนพุทธ ทั้งยังเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) ด้วย และเป็นเขตเลือกตั้งที่ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ครองพื้นที่มาอย่างยาวนาน แม้ในการเลือกตั้งปี 62 ที่พรรคประชาธิปัตย์แพ้รวดทุกเขตในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้มาเพียงเขตเดียวจาก 11 เขต ก็คือเขต 1 ปัตตานี โดย นายอันวาร์ สาและ
แต่ นายอันวาร์ มีปัญหากับผู้บริหารพรรคประชาธิปัตย์ยุค นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ ที่ตัดสินใจนำพรรคเข้าร่วมรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำให้มีแนวโน้มว่า จะไม่ได้รับการสนับสนุนให้เป็นผู้สมัคร ส.ส.ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป ส่งผลให้เขต 1 ปัตตานีเปิดกว้างให้พรรคอื่น โดยเฉพาะพรรคภูมิใจไทยเข้าสอดแทรก จึงวางตัว พญ.เพชรดาว เอาไว้ ในฐานะลูกสาวนายเด่น โต๊ะมีนา ซึ่งเคยเป็นทั้ง ส.ส. และ ส.ว.ปัตตานี ด้วยคะแนนเสียงท่วมท้นมาตลอด
ทว่าเมื่อพรรคภูมิใจไทยเจอกระแสโจมตี โดยในพื้นที่เรียกว่า “พรรคกระท่อม พรรคกัญชา” เพราะเข้าใจว่านโยบาย “เสรีใบกระท่อม” ก็มาจากพรรคภูมิใจไทย (ทั้งๆ ที่เป็นนโยบายของ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม จากพรรคพลังประชารัฐ) ทำให้บทบาทของพรรคเริ่มถูกตั้งคำถาม และอาจส่งผลกระทบกับคะแนนนิยม จนต้องจับตาว่าพรรคภูมิใจไทยจะสามารถเพิ่มจำนวน ส.ส.ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ตามที่เคยประกาศไว้ได้จริงหรือไม่
@@ ย้อนผลการเลือกตั้งปี 62
สำหรับผลการเลือกตั้ง ส.ส.เมื่อปี 62 เฉพาะ ส.ส.เขตในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้มี ส.ส.ได้ 11 คน ปรากฏว่า ส.ส.กระจายอยู่ใน 4 พรรคการเมือง คือ พรรคประชาชาติ 6 คน พรรคพลังประชารัฐ 3 คน พรรคประชาธิปัตย์ และภูมิใจไทย พรรคละ 1 คน
ส่วนในการเลือกตั้งครั้งต่อไป สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เพิ่มจำนวน ส.ส.เป็น 12 คน ก็ต้องรอลุ้นว่าพรรคใดจะกวาดเก้าอี้ ส.ส.ได้มากที่สุด และนโยบายกัญชาเสรี ก็น่าจะเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ประชาชนในพื้นที่ใช้ในการตัดสินใจเลือกผู้สมัครด้วยเช่นกัน
@@ เสียงชาวบ้านรุมค้าน
“ทีมข่าวอิศรา” ลงพื้นที่สำรวจบรรยากาศตามชุมชนต่างๆ ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ พบว่าตามสภากาแฟ ร้านอาหาร ศาลาประชาคม แหล่งรวมตัวกันของผู้คนทั้งหญิงและชาย ได้วิพากษ์วิจารณ์เรื่อง “กัญชาเสรี” อย่างหนัก โดยเฉพาะการโจมตี ส.ส.มุสลิมที่ไปโหวตหนุนร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง และนโยบาย “กัญชาเสรี”
คนในพื้นที่ส่วนใหญ่มองว่า พืชกัญชา รวมถึงกระท่อม ที่มีการปลดล็อกไปก่อนหน้านี้ ยังมีฤทธิ์เป็นสารเสพติด มอมเมาเยาวชนได้ ซึ่งในพื้นที่ก็มีการระบาดของสารเสพติด 2 ชนิดนี้
นายยีมุ (สงวนนามสกุล) ชาวบ้านใน จ.ปัตตานี ให้ความเห็นว่า ทุกคนก็รู้ว่ากัญชาเป็นของมึนเมา เป็น “ฮารอม” แต่ ส.ส.มุสลิมหลายคนกลับเห็นด้วยกับ “กัญชาเสรี” ตนรู้สึกผิดหวัง ผิดกับ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ ซึ่งเป็นคนพุทธ แต่ยังเข้าใจมากกว่า เพราะผลที่เกิดขึ้นคือการทำลายเยาวชนอิสลามด้วยของมึนเมา หากคิดจะปลดล็อกหรือเปิดเสรีจริง ควรจัดเป็น “โซนนิ่ง” เหมือนที่อียิปต์ ไม่ใช่เปิดเสรีทั้งประเทศแบบนี้
นางยะ (สงวนนามสกุล) ชาวบ้าน จ.ยะลา กล่าวว่า ตนรับไม่ได้กับนโยบายนี้ และสงสัยว่า ส.ส.มุสลิมลืมหลักการศาสนากันหมดแล้วหรือ เพราะหลักศาสนายังห้ามอยู่ ถ้าจะมาอ้างว่าใช้ทางการแพทย์ หรือใช้เป็นยารักษาโรค ต้องถามว่าจริงๆ แล้วเป็นแบบนั้นหรือไม่ วัยรุ่นที่เสพอยู่ ใช้รักษาโรคจริงหรือ
“มั่นใจว่าเรื่องนี้เสียมากกว่าได้ แถมเปิดเสรีแบบไม่มีเงื่อนไขแบบนี้ มีแต่พัง” นางยะ กล่าว และฝากขอบคุณ ส.ส.มุสลิมที่ค้านเรื่องนี้ รวมถึง พ.ต.อ.ทวี ที่เป็นคนพุทธ และ พล.ต.ต.สุรินทร์ ปาลาเร่ ส.ส. สงขลา และเลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ที่ทำถูกต้องตามอุดมการณ์
นายมะแซ (สงวนนามสกุล) ชาวบ้าน จ.ยะลา ตั้งคำถามว่า อยากรู้ว่าขบวนการที่เคลื่อนไหวแบ่งแยกดินแดนใตภาคใต้จะมีท่าทีอย่างไร เพราะขบวนการเรียกร้องเรื่องหลักอิสลามเคร่งครัด นอกจากนั้นก็อยากทราบท่าทีของผู้นำศาสนา ว่าจะทำอย่างไรกับเรื่องนี้ เพราะอาชญากรรมจะเกิดมากขึ้นอย่างแน่นอน