กระแสต้านนายอำเภอวิชาญส่อบานปลาย ประธานเครือข่ายชาวพุทธยื่นหนังสือ ศอ.บต.เร่งจัดวงพบปะหารือระหว่างองค์กรคนพุทธกับอิสลาม สะสางปัญหา อ้างกดดันข้าราชการ ต่อต้านอำนาจรัฐ ด้าน ศอ.บต.ยอมรับทำอะไรไม่ได้ เจอ ม.44 ตัดอำนาจ ขณะที่ “บิ๊ก ขรก.นราฯ” แจงปมไล่นายอำเภอโยงการเมือง “พรรคพลังกับภูมิ” ไม่เกี่ยวศาสนา ส่วนแกนนำชาวพุทธชายแดนใต้ แนะรัฐเร่งทำความเข้าใจ
ความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการต่อต้าน นายวิชาญ ชัยเศรษฐสัมพันธ์ อดีตนายอำเภอรือเสาะ จนถูกสั่งย้ายออกจากพื้นที่ แต่แล้วก็มีคำสั่งย้ายกลับมาเป็นนายอำเภอสุไหงปาดี จังหวัดเดียวกัน คือ นราธิวาส แต่ก็มีกระแสต้านต่อเนื่อง โดยเฉพาะในโซเชียลมีเดีย ทำให้อธิบดีกรมการปกครองมีคำสั่งชะลอการรับตำแหน่งใหม่เอาไว้ก่อน ตามการเสนอของจังหวัดนราธิวาส
ล่าสุดเมื่อวันที่ 4 ม.ย.65 นายสมนึก ระฆัง ทนายความและประธานเครือข่ายชาวพุทธ คพศ. (เครือข่ายชาวพุทธเพื่อคุ้มครองส่งเสริมพระพุทธศาสนา) ได้ทำหนังสือถึงเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เรื่องขอให้ ศอ.บต.ร่วมแก้ปัญหาความไม่ชอบด้วยกฎหมายในการต่อต้านอำนาจรัฐของบุคคล ในกรณีย้ายนายอำเภอสุไหงปาดี จ.นราธิวาส โดยอ้างถึงคำสั่งกรมการปกครองที่สั่งย้าย นายวิชาญ ชัยเศรษฐสัมพันธ์ ทุกฉบับ
เนื้อหาของหนังสือ ระบุว่า “ตามที่มีกลุ่มชาวมุสลิมคณะหนึ่งต่อต้านคำสั่งย้าย นายวิชาญ ชัยเศรษฐสัมพันธ์ ในการไปดำรงตำแหน่งนายอำเภอสุไหงปาดี จนทำให้กรมการปกครองต้องระงับคำสั่งย้าย การกระทำดังกล่าวเป็นเรื่องต่อต้านอำนาจรัฐ ทำให้อำนาจรัฐสูญเสียไปเป็นความผิดกฎหมายมีโทษทางอาญา หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องต้องรัฐผิดชอบ เพื่อปกป้องอำนาจรัฐมิให้ถูกละเมิด เพื่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการบังคับใช้กฎหมาย
ข้าพเจ้าในฐานะคนไทยจึงเห็นว่า เรื่องนี้จะต้องได้รับการแก้ไขให้ถูกต้องชอบธรรม เพื่อมิให้เกิดขึ้นอีกในอนาคต เพราะต่อไปขวัญและกำลังใจของข้าราชการจะเกิดความสูญเสียอย่างรุนแรง การบริหาราชการจะเสียหายอย่างร้ายแรง ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของบุคคลที่เห็นตรงข้ามกับรัฐ อำนาจรัฐสั่นคลอนและประชาชนจะไม่มีความเชื่อมั่นต่ออำนาจรัฐได้
จึงขอให้ ศอ.บต.ได้โปรดเป็นหน่วยงานปฏิบัติราชการให้เป็นไปตามอำนาจรัฐ จัดประชุมองค์กรชาวพุทธและองค์กรอิสลามขึ้น โดยจะเชิญองค์กรชาวพุทธและองค์กรอิสลามที่เป็นผู้แทน หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องมาร่วมประชุมที่ ศอ.บต.วันที่ 10 มิ.ย.65 เวลา 10.00 น. ณ ห้องประชุม ศอ.บต. ถนนสุขยางค์ ต.สะเตง อ.เมือง จ.ยะลา ขอได้โปรดดำเนินการด้วย”
@@ ศอ.บต.อ้างโดน ม.44 ตัดอำนาจ
ด้านผู้บริหารที่มีอำนาจของ ศอ.บต. กล่าวกับ “ทีมข่าวอิศรา” ถึงหนังสือของนายสมนึก ระฆัง ว่า เรื่องนี้ต้องแจ้งประสานไปยังกรมการปกครอง ซึ่งวันนี้ได้ทำเสนอไปที่กรมการปกครองแล้ว คงต้องมีการค้นหาข้อเท็จจริงที่ถูกต้องเพื่อให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย คงต้องรอดูว่ากรมการปกครองจะมีแนวทางการปฏิบัติอย่างไร
“ในส่วนของ ศอ.บต. เคยมีอำนาจของสภาที่ปรึกษา ที่สามารถเสนอเลขาธิการ ศอ.บต. ให้ย้ายข้าราชการที่ประพฤติตนไม่เหมาะสมออกนอกพื้นที่ได้ แต่หลังจากมีคำสั่ง ม.44 หรือ คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 14/2558 เรื่อง คณะกรรมการที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และการกําหนดอํานาจหน้าที่ของกองอํานวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ปรากฏว่าได้ตัดอำนาจส่วนนี้ออกกไป เราโดนอำนาจกดไว้ จึงไม่สามารถดำเนินการอะไรได้เลย”
@@ “บิ๊ก ขรก.นราฯ” ยันปมย้าย นอภ.โยงการเมือง ไม่เกี่ยวศาสนา
ด้านข้าราชการระดับสูงในจังหวัดนราธิวาส ให้ข้อมูลกับ “ทีมข่าวอิศรา” ว่า เรื่องของนายอำเภอ ทางชมรมกำนัน และผู้นำท้องที่ได้ทำเรื่องร้องเรียนไปที่กรมการปกครองโดยตรง ต่อมาจึงมีการโยกออกไปที่กรม (วิทยาลัยการปกครอง) มีการตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง แต่ระหว่างที่สอบข้อเท็จจริงก็มีคำสั่งจากกรมการปกครองย้ายกลับมา ก็มีกระแสเกิดขึ้น ทางกรมฯจึงได้ยกเลิกคำสั่งนั้น ให้นายอำเภอประจำอยู่ที่เดิม ซึ่งกรณีลักษณะนี้ นายอำเภอรามันก็โดนเรื่องร้องเรียนจากชาวบ้านเหมือนกัน
ส่วนกรณีการร้องเรียนไปที่ ศอ.บต. คือการบรรจุแต่งตั้งไม่มีอำนาจของจังหวัดอยู่แล้ว เป็นอำนาจของส่วนกลาง ของกระทรวงมหาดไทย ในแง่ของนายอำเภอสุไหงปาดี มีกระแสไปที่กรม ร้องเรียนจากพื้นที่ว่าไม่ยอมรับ กรมฯก็ต้องมาพิจารณาทบทวนใหม่ แต่จังหวัดจะไปบอกว่าให้ลงมาหรือไม่ต้องลงมา จังหวัดไม่มีอำนาจ การแต่งตั้งโยกย้ายอยู่ในระดับของอธิบดีสั่งการ
“เราต้องเข้าใจก่อนว่าความขัดแย้งเรื่องนี้ ไม่ได้ขัดแย้งบนพื้นฐานของพุทธ-มุสลิม แต่เป็นปัญหาของตัวบุคคลของข้าราชการ ส่วนของเรื่องการตรวจสอบข้อเท็จจริงในประเด็นที่เป็นกระแส อันนั้นก็ต้องแยกออก เรื่องนี้เป็นเรื่องของคนกลุ่มหนึ่งที่เอามาอ้าง วันนี้เราไม่มีสิทธิ์ไปห้ามบุคคลที่จะไปร้อง ศอ.บต. แต่หน้าที่ของเราจะต้องทำความเข้าใจ ให้แยกประเด็นให้ออก กรณีของนายอำเภอ จะนำไปสู่ของความแตกแยกไหม ก็มองว่าไม่ เพราะมันจบตรงที่นายอำเภอไม่กลับเข้ามาในพื้นที่แล้ว ในส่วนข้อเท็จจริงมีมูล มีอะไรเป็นหลักฐานก็ว่าไปตามที่สอบข้อเท็จจริงไป”
“ส่วนประเด็นของคนที่ร้องไปที่ ศอ.บต. เขาก็โยงว่าเกิดความแตกแยกขึ้นมา โดยอ้างว่าการย้ายนายอำเภอเป็นการสร้างความแตกแยก เขาเป็นนายอำเภอคนพุทธใช่ไหม มันไม่ได้มีตรงนั้น พอเรากลับไปดูต้นตอมันไม่ได้มีเรื่องศาสนา อยากเรียนว่า ในข้อเท็จจริงของเรื่องนี้มันมีอะไรมากกว่า มีเรื่องการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เป็นเรื่องของพรรคพลังกับภูมิ อันนี้เรื่องใหญ่เลย”
“ตอนนี้อิทธิพลของผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น ทั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน มันไปโยงกับการเมืองหมด ใครเป็นคนของการเมืองฝั่งไหน ใครเป็นคนของใคร ชัดเจน ความจริงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ตอนนี้ไม่มีเหตุอะไรมากมายแล้ว มีอะไรหน่อยก็พยายามโยงๆ เอามาผูกๆ ไว้ พยายามให้เกิดปมไว้ มองว่า ปมหลายปมคลี่คลายไปเยอะแล้ว แต่ก็มีคนพยายามโยงเป็นภาพรวม”
อดีตข้าราชการระดับสูงในจังหวัดนราธิวาส บอกด้วยว่า หน่วยงานที่จะแก้ปัญหาสังคมจิตวิทยาแบบนี้ คือ ศอ.บต. แต่ถ้า ศอ.บต.บอกว่า ไม่เกี่ยว เป็นเรื่องของกรมการปกครอง ก็ต้องให้ ศอ.บต.ประสานไป
@@ แกนนำชาวพุทธแนะรัฐทำความเข้าใจ สกัดกฎหมู่
ด้านแกนนำคนพุทธจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวกับ “ทีมข่าวอิศรา” ว่า เรื่องนายอำเภอวิชาญ โยงไปถึงกรณีโรงเรียนอนุบาลปัตตานี สองเรื่องนี้คล้ายๆ กัน ต้องว่าไปตามระบบ ว่าไปตามกฎหมาย
“อย่างเรื่องอนุบาลปัตตานี เราก็มองออกว่าศาลปกครองสูงสุดก็จะะบอกว่าเป็นไปตามระเบียบกระทรวง พหุวัฒนธรรมมันต้องเป็นไปตามนั้นอยู่แล้ว ไหนๆ คุณก็เล่นกระบวนการทางกฎหมายไป อีกฝ่ายก็สามารถอุทธรณ์ได้ มันไม่ควรที่จะใช้คนกดดัน ถึงกับให้ ผอ.โรงเรียนลาออก หรือขับไล่ ขบวนการตรงนี้มองว่ามันโบราณ อมันป่าเถื่อน”
“กรณีเดียวกับนายอำเภอวิชาญ เขาย้ายมาสุไหงปาดี แล้วใช้กระบวนการโดยนำมวลชนกดดัน ใช้สื่อโซเซียลฯกดดัน ไม่ให้อยู่ในพื้นที่ ซึ่งมองว่ามันไม่แฟร์ อีกมุมหนึ่งมันสามารถทำให้คนต่างศาสนานิกมองได้ว่า มุสลิมสามจังหวัดเล่นยกพวก อะไรๆ หน่อยก็ยกพวก ใช้คนส่วนมากมาบีบ ต่อไปรัฐก็ไม่มีมาตรฐานในการโยกย้าย มันจะเป็นไปตามแรงกดดันทั้งหมด”
@@ ศอ.บต.-กอ.รมน. ห้ามลอยตัวเหนือความขัดแย้ง
แกนนำคนพุทธชายแดนใต้ บอกอีกว่า ไม่เห็นด้วยที่รัฐเองยอมแขวนระบบของรัฐ ในเมื่อมีคำสั่งย้ายไปสุไหงปาดี พอมวลชนออกมาว่าไม่เอาๆ ก็ระงับคำสั่ง อย่างนี้ไม่ถูกต้อง เรื่องแบบนี้ต้องสร้างให้เป็นบรรทัดฐาน ถ้ามีคำสั่งย้ายนายอำเภอมุสลิม ต่อไปเขาก็ต้องไม่ยอม ในกรณีนี้ถ้ามีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบก็เป็นเรื่องดี เรื่องนี้สำคัญในมิติของการนำศาสนามาเป็นประโยชน์ในการต่อรองกัน หรือในการทำให้เกิดความขัดแย้งกัน มันได้ผล จึงอยู่ที่ภาครัฐว่าจะทำอย่างไร
“ในส่วนของ ศอ.บต. เขาก็ไม่อยากให้มีปัญหา ศอ.บต.เขาก็คงไม่ทำอะไรหรอก เพราะเขาปรับการทำงานของเขามาทำเรื่องเศรษฐกิจอย่างเดียว เขาพยายามยืนในมิติของการพัฒนาอย่างเดียว เขาไม่แตะในเรื่องของกระบวนการสันติภาพ เรื่องของการทำพื้นที่ให้เอื้อต่อการพูดคุย เขาไม่แตะ เขาไม่สนใจ” แกนนำคนพุทธชายแดนใต้ กล่าว
และว่า ในส่วนของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ซึ่งมีบทบาทที่ดูแลพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ใช้อำนาจที่มีอยู่ในมือ โดยเฉพาะกฎหมายพิเศษสารพัด พอมีประเด็นแบบนี้ จะอยู่เหนือความขัดแย้งไม่ได้
“บทบาทของ กอ.รมน.คือต้องสร้างความเข้าใจ ทั้งเรื่องนายอำเภอกับเรื่องอนุบาลปัตตานีที่เกิดขึ้น มันคล้ายๆ กัน ที่สำคัญเลยอย่าไปบอกว่า เป็นเรื่องของสิทธิ ที่เขาสามารถทำได้ ศอ.บต.ก็มีเครือข่ายของเขาในพื้นที่ และคิดว่า ศอ.บต.เขาก็ยึดโยงกับปกครองอยู่ ข้าราชการใน ศอ.บต.ส่วนใหญ่มาจากฝ่ายปกครอง จะทำอย่างไรไม่ให้เกิดการใช้กฎหมู่ในพื้นที่บ้านเรา คือคำถามที่รัฐต้องตอบ”