ส.ส.พรรคประชาชาติ ชำแหละงบบูรณาการดับไฟใต้ ซุกงบ กอ.รมน.ประเภท “รายจ่ายอื่น” ทำให้ตรวจสอบไม่ได้ มึนตั้งงบซื้อกล้องวงจรปิดตั้งแต่ปี 47 หมดไป 2 พันกว่าล้าน แถมยังขอต่อไปอีก 600 กว่าล้าน แต่เหตุรุนแรงยังเกิด กล้องเสียประจำ ไม่เว้นแม้ล่าสุดที่ตากใบ ขณะที่งบสร้างตลิ่งโผล่ งานข่าวกรองพุ่ง กระจาย 6 หน่วยงาน แต่เหตุร้ายยังเกิด ชาวบ้านยังยากจนเหมือนเดิม แนะลดอคติ เลิกระแวงเยาวชนแต่งชุดมลายู วอนสร้างสันติภาพเชิงบวก
การประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 วันที่ 2 เมื่อวันพุธที่ 1 มิ.ย.65 นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ ส.ส.นราธิวาส พรรคประชาชาติ ได้ลุกขึ้นอภิปรายเกี่ยวกับงบประมาณที่ตั้งไว้เพื่อแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และงบประมาณในส่วนของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือ กอ.รมน.
นายกมลศักดิ์ อภิปรายว่า ได้ศึกษาการจัดงบประมาณของฝ่ายบริหารในปีนี้แล้ว โดยเฉพาะแผนบูรณาการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ สรุปว่าไม่อาจรับหลักการในวาระที่ 1 ได้ ด้วยเหตุผลคือ
1.หลายหน่วยงาน หลายกระทรวงยังคงจัดงบประมาณไม่เป็นไปตามวินัยการเงินการคลัง ส่อให้เกิดความไม่โปร่งใส่ในการใช้งบประมาณ
2.ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์การใช้จ่ายที่สำนักงบประมาณกำหนด
3.การจัดงบประมาณเมื่อนำมาใช้จ่ายงบจริง หลายๆ ประเด็น หลายๆ เรื่องไม่เป็นไปตามที่นายกรัฐมนตรีแถลงต่อสภา และที่สำคัญที่สุดคือ การจัดงบประมาณของรัฐบาลปี 2566 ไม่ตรงตามความต้องการหรือแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนที่พี่น้องประชาชนประสบอยู่ในปัจจุบัน
@@ ซุกงบ กอ.รมน.ประเภท “รายจ่ายอื่น” ตรวจสอบไม่ได้
ส.ส.นราธิวาส พรรคประชาชาติ อภิปรายต่อว่า ตนขอสะท้อนให้เห็นถึงความต่อเนื่องของการจัดงบประมาณของ กอ.รมน. เหตุที่ต้องใช้คำว่า “ต่อเนื่อง” เพราะปีที่แล้ว ตนได้ตั้งข้อสังเกตุการจำแนกประเภทบประมาณของ กอ.รมน.ผิดประเภท ปีนี้ก็เช่นกัน กล่าวคือ ปี 66 กอ.รมน.ได้รับงบประมาณ 5,000 กว่าล้านบาท แต่ปรากฎว่าไปจัดสรรอยู่ในงบรายจ่ายอื่นถึง 90 กว่าเปอร์เซนต์ เป็นไปได้อย่างไรที่งบบุคลากรมีไม่ถึง 1 เปอร์เซนต์ที่มีการเสนอเข้ามาสู่สภา ตรงนี้ที่ทำให้ตนไม่อาจไว้เนื้อเชื่อใจการใช้งบประมาณ โดยเฉพาะของ กอ.รมน. เพราะว่าปีที่แล้วกรรมาธิการฯก็ได้มีการท้วงติงว่า การจัดงบประมาณอย่างนี้ไปเลี่ยงในข้อกฎหมายและไม่อาจตรวจสอบได้ สตง.ก็มีรายงานออกมา
@@ ทุ่มงบเน้นความมั่นคง ชาวบ้านยากจนลง
ในปีนี้รัฐบาลได้จัดงบประมาณแผนบูรณาการสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งหมด 6,250 กว่าล้านบาท ลดลง 9 เปอร์เซนต์กว่า สาเหตุที่ลดลงเพราะเป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี งบรายจ่ายประจำอย่างเดียว 3,100 กว่าล้านบาท งบรายจ่ายลงทุน 3,149 ล้านบาท หน่วยงานที่ได้รับงบประมาณมากที่สุด คือกระทรวงมหาดไทย 2,450 ล้านบาท, กอ.รมน. 1,448 ล้านบาท
ถ้าดูการจัดสรรงบประมาณแผนบูรณาการสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปรากฏว่า ไปเน้นในเรื่องของความมั่นคง ไม่มีการเปลี่ยนแปลงเลย งบประมาณ 3 ปีที่แล้วเป็นอย่างไร ก็ยังเน้นในเรื่องของการลดเหตุความรุนแรง แต่แผนพัฒนาในแนวทางที่เสนอมา ปรากฏว่าไม่สามารถแก้ปัญหาความยากจนของพี่น้องในพื้นที่ได้เลย ความยากจนก็ยังคงอยู่
จากรายงานของทาง PBO หรือสำนักงบประมาณของรัฐสภา ปรากฏว่าได้มีการสำรวจแล้ว พี่น้องในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีความยากจน ทั้งปัตตานีและนราธิวาส มีรายได้ต่อหัวลดลง ทั้งๆ ที่มีงบบูรณาการและงบปกติลงไปในพื้นที่เป็นจำนวนมาก สิ่งต่างๆ เหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า การจัดสรรงบประมาณของรัฐบาลไม่ตรงตามความต้องการและความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนในพื้นที่เลย
@@ ทบทวนงบวงจรปิด - สงสัยงบสร้างตลิ่งแม่น้ำโก-ลกซ้ำซ้อน
“แผนการจัดสรรงบประมาณของ กอ.รมน. มีงบประมาณที่ผมไม่ไว้วางใจในการจัดสรรงบประมาณ คือมีการตั้งงบรายจ่ายอื่น เช่น กล้องวงจรปิด CCTV เป็นงบผูกพันตั้งแต่ปี 66 ถึงปี 70 จำนวน 610 ล้านบาท แต่เมื่อดูย้อนหลังแล้วมีการจัดซื้อกล้องวงจรปิดตั้งแต่ปี 47 เป็นต้นมา สิ้นงบประมาณไปแล้ว 2,000 กว่าล้านบาท ปัจจุบันนี้มีกล้องวงจรปิดอยู่ในพื้นที่ 6,665 ตัว ซึ่งทราบกันดีว่า จุดประสงค์ของการติดตั้งกล้องวงจรปิดเพื่อต้องการลดความรุนแรง แต่เหตุการณ์เมื่อวันที่ 24 พ.ค.65 ที่ตากใบ จ.นราธิวาส มีข่าวว่า กล้องวงจรปิดที่ติดตั้งใช้งานไม่ได้ แล้วก็มีการถอดออกก่อนเกิดเหตุหลายวัน จึงเห็นว่า การจัดสรรงบประมาณการติดตั้งกล้องวงจรปิด จะต้องมีการทบทวนการจัดประเภท เพราะว่าไปจัดอยู่ในหมวดงบรายจ่ายอื่นๆ”
ส.ส.กมลศักดิ์ อภิปรายต่อว่า ประเด็นที่ไม่สามารถรับหลักการได้เลยในส่วนของงบ กอ.รมน. ก็คือการจัดสรรงบประมาณในส่วนของงบรายจ่ายอื่น ในการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งแม่น้ำโก-ลก โผล่มาอีกแล้ว ปี 65 ก็มีมาแล้ว แต่ว่ายังอยู่ในประเภทของงบรายจ่ายอื่น ไม่ใช่งบค่าวัสดุหรือก่อสร้าง แต่เป็นงบผูกพันถึงปี 67 ตั้งแต่ปี 65 เป็นต้นมา จำนวน 519 ล้านบาท ตรงนี้ไม่ทราบว่า ซ้ำซ้อนกันอย่างไรกับการก่อสร้างตลิ่งที่อยู่ในแผนบูรณาการของกรมโยธาธิการและผังเมือง ซึ่งดูแล้วก็มีการก่อสร้างตลิ่งแถว อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส หลายที่ รวมทั้งหมดที่มีการก่อสร้างตลิ่งในแผนพัฒนาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประมาณกว่า 50 แห่ง
@@ งานข่าวกรอง 700 ล้าน 6 หน่วยงาน ถูกวิจารณ์ตลอด
ส.ส.พรรคประชาชาติ อภิปรายอีกว่า การแก้ปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เราต้องมองถึงการแก้ปัญหาสันติภาพเชิงลบและเชิงบวก สันติภาพเชิงลบคือ ลดเหตุความรุนแรง ส่วนสันติภาพเชิงบวกคือต้องลดความเหลื่อมล้ำและให้ความเป็นธรรมทั้งทางเศรษฐกิจและทางสังคมแก่พี่น้องในพื้นที่
แต่ปรากฎว่า การจัดสรรงบประมาณของ กอ.รมน.อีกประเด็นที่ไม่สามารถรับหลักการได้ คือ การทุ่มงบประมาณในเรื่องลดเหตุความรุนแรง และงบประมาณด้านการข่าว ซึ่งมีงบประมาณด้านการข่าวทั้งหมด 6 หน่วยงาน ทั้ง กอ.รมน. กระทรวงกลาโหม กองบัญชาการกองทัพไทย กระทรวงมหาดไทย กรมสอบสวนคดีพิเศษ และสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ รวมทั้งหมดแล้วโครงการเพิ่มประสิทธิภาพข่าวกรอง 739 ล้านบาทเศษ หน่วยงานที่ได้รับงบประมาณข่าวกรองมากที่สุดก็คือ กอ.รมน. 552 ล้านบาท
เมื่อเห็นตัวเลขทั้งงบประมาณกล้องวงจรปิด งบประมาณงานข่าวกรองแล้วรู้สึกเสียดายเงินงบประมาณ แนวทางการพัฒนาพี่น้องในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ น่าจะเจียดเงินเหล่านี้ไปแก้ปัญหาให้ตรงตามความต้องการและความเดือดร้อนของประชาชน พี่น้องในพื้นที่ตอนนี้ตกงาน รายได้ของเกษตรกรตกต่ำ เยาวชนไปทำงานต่างจังหวัดเป็นจำนวนมาก รายได้ครัวเรือนตกต่ำ สิ่งต่างๆ เหล่านี้ถ้าถามประชาชนว่า ต้องการให้ฝ่ายบริหารฝ่ายรัฐสร้างตลิ่ง ตั้งกล้องวงจรปิด หรือจัดงบประมาณในเรื่องงานด้านการข่าวหลายร้อยล้านอย่างนี้หรือไม่ หากถามพี่น้องจริงๆ เชื่อว่าคำตอบของเขาคือตรงกันข้าม
“18 ปีที่ผ่านมามองว่า ฝ่ายบริหารเองที่ไปแก้ปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ อาจจะเข้าใจหรือไม่เข้าใจไม่ทราบ แต่ท่านยังไม่เข้าถึงแก่นแท้จริงๆ ของความต้องการของพี่น้องในพื้นที่ เห็นงบประมาณข่าวกรองแล้วเสียดายงบประมาณ เหตุการณ์ตากใบสะท้อนให้เห็นหลายๆ อย่างของงานข่าวกรองว่าเป็นอย่างไร หลายๆ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ งานข่าวกรองก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์มาโดยตลอด ที่สำคัญไม่ทราบว่า นายกรัฐมนตรีจะรับฟังงานข่าวกรองของหน่วยงานไหน เพราะมี 6-7 หน่วยงาน”
@@ จี้ลดอคติ เลิกหวาดระแวง “เปอร์มูดอ” แต่งชุดมลายู
ส.ส.นราธิวาส พรรคประชาชาติ อภิปรายอีกว่า ที่น่าเศร้าที่สุดคือการจัดงานส่งเสริมอัตลักษณ์การแต่งกายชุดมลายูเมื่อวันที่ 4 พ.ค.65 เป็นการตื่นตัวของ “เปอร์มูดอ” หรือเยาวชนในพื้นที่ เพื่อต้องการฟื้นฟูประเพณีวัฒนธรรม มีการร่วมกลุ่มรวมตัวกันหลายหมื่นคน
“ผมก็อยู่ในเหตุการณ์ในช่วงเช้าที่บ้านตะโละมาเนาะ ลูโบะสาวอ จ.นราธิวาส ตอนบ่ายมีการรวมตัวกันที่หาดวาสุกรี อ.สายบุรี จ.ปัตตานี จริงๆ เป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องอนุรักษ์ฟื้นฟูวัฒนธรรมประเพณีของชุมชน แล้วก็ต้องจัดพื้นที่ให้กับคนเหล่านี้ด้วย ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 57 ปรากฏว่าหลังจากจัดกิจกรรมแล้วก็มีข่าวที่ไม่ค่อยรื่นหูนัก กลายเป็นความหวาดระแวงต่างๆ นานา ถึงขนาดมองว่า คนเหล่านี้คือคนรุ่นใหม่ที่ต้องการแบ่งแยกดินแดน”
“งานข่าวไปรายงานไปแปลคำสัตย์ปฏิญาณผิดเพี้ยนไปจากที่เขาให้คำสัตย์ปฏิญาณที่แท้จริง 4 ข้อ เขาเพียงต้องการรักษาอัตลักษณ์ความเป็นมลายูและขนบประเพณีวัฒนธรรมของพี่น้องมลายูในพื้นที่ เขาต้องการอยู่ดีกินดี ต้องการเรียกร้องความยุติธรรม ต้องการสิทธิมนุษยชนให้กับคนในพื้นที่ ปรากฏว่ามีการหวาดระแวงคนเหล่านี้ มีรายงานข่าวในลักษณะใส่ไข่”
“ตราบใดที่งานข่าวยังคงมีอคติ ผมว่าต้องไปเพิ่มประสิทธิภาพแนวคิดความคิดของหน่วยข่าวกรองทุกหน่วยงาน เลิกหวาดระแวง โดยเฉพาะกับคนรุ่นใหม่ สิ่งต่างๆ ที่เขาให้สัตย์ปฏิญาณ หรือกล่าว ‘อัลลอฮอักบัร’ 3 ครั้ง มันไม่ใช่การปลุกระดม แต่นั้นคือการสดุดีพระผู้เป็นเจ้า ท่านต้องเข้าถึงสิ่งเหล่านี้ ต้องเขาถึงจิตใจแก่นแท้ของความเป็นชาติพันธุ์มลายู อย่าจัดงบประมาณมองด้านเดียว มองความทุกข์ร้อนของพี่น้องในพื้นที่จริงๆ แล้วท่านจะแก้ปัญหาสันติภาพที่มีอยู่ในวันนี้ ทั้งสันติภาพเชิงลบและสันติภาพเชิงบวกควบคู่กันไป สันติภาพจึงจะเกิดในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้”
@@ หวังโต๊ะพูดคุยดับไฟใต้ แต่จัดงบ 9 ล้าน
ส.ส.กมลศักดิ์ อภิปรายต่ออีกว่า ข้อขัดแย้งต่างๆ ที่เกิดขึ้น รัฐบาลกำลังพูดคุยบนโต๊ะเจรจา แต่เห็นการจัดสรรงบประมาณแล้วน้อยมาก เพียง 9 ล้านกว่าบาทเท่านั้น
“ท่านจะบอกว่า มีเงินลับ งบราชการลับ แต่การพุดคุยเพื่อสันติภาพต้องเป็นเรื่องที่โปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ ปี 65 ผมจำได้ว่า งบเจรจาเพื่อสันติภาพ 6 ล้านกว่าบาท มาปีนี้ 9 ล้านกว่าบาท เพิ่มขึ้นเพียง 3 ล้านกว่าบาท ยังมองไม่เห็นการบูรณาการการทำความเข้าใจกับคนทั้งประเทศถึงการเจรจาพูดคุยในเรื่องของสันติภาพ ความเป็นธรรม ความหวาดระแวง ความอคติของการรายงานข่าวมายังฝ่ายบริหาร”
ส..ส.กมลศักดิ์ อภิปรายทิ้งท้ายว่า อยากให้มีการทบทวน อย่าให้เกิดความรู้สึกเหล่านี้ตกทอดรุ่นต่อรุ่น ท่านไม่ต้องเสียงบประมาณอะไรเลย เพราะเยาวชนต้องการ 4 ข้อที่กล่าวปฏิญาณในวันนั้น ไม่มีเรื่องใดกระทบต่อความมั่นคงหรือมีเรื่องใดที่จะไปขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หวังว่าในชั้นกรรมาธิการการจัดสรรงบประมาณคงจะมีการเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาสอบถามให้จัดประเภทให้ถูกต้อง ให้เกิดความโปร่งใส่ โดยเฉพาะแผนบูรณาการสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เลิกสักทีสร้างตลิ่ง สร้างถนน มาแก้ปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ สังคม ปากท้องของพี่น้องในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้อยู่ดีกินดี และเลิกทำพินัยกรรมความไม่เป็นธรรมให้กับคนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
@@ “บิ๊กช้าง” แจงรัฐเน้นงานพัฒนามากกว่างานความมั่นคง
หลังจากนั้น พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ลุกขึ้นชี้แจงว่า รัฐบาลให้ความสำคัญในเรื่องของการแก้ปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ปัญหามีความหลากหลาย มีหลายมิติ ทั้งด้านสังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ การเมือง เรื่องอัตลักษณ์ เรื่องของการดำเนินการในพื้นที่ ซึ่งจะต้องดำเนินการด้วยความรอบคอบ สอดคล้องในทุกมิติ และมีเอกภาพ
เรื่องนี้ต้องเรียนว่า รัฐบาลให้ความสำคัญมาโดยตลอด ในแผนบูรณาการนั้นก็เน้นในเรื่องของการพัฒนามากกว่างานด้านความมั่นคงตามยุทธศาสตร์ที่กำหนดไว้ เพื่อสร้างความกินดีอยู่ดีให้กับพี่น้องประชาชน มีรายได้ที่สูงขึ้น ก็มีการดำเนินการตามแผน แต่ที่ผ่านมาในช่วงสถานการณ์โควิดทำให้ประชาชนได้รับความกระทบอยู่บ้าง อย่างไรก็ตาม งานด้านการพัฒนา ซึ่งมีศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) รับผิดชอบนั้น ก็ได้วางแผนเร่งรัดดำเนินการในการที่จะใช้งบประมาณในปี 66 นี้ผ่านแผนงานโครงการต่างๆ ที่จะเสริมสร้างให้พี่น้องประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นต่อไป