ผมคิดว่ารัฐบาลควรพูดถึงปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้มากกว่านี้...
ปัจจุบันปัญหาภาคใต้ไม่ค่อยได้รับการเสนอในสื่อกระแสหลัก เพราะเป็นปัญหาซ้ำซาก ซ้ำเดิม เกิดมานานกว่า 18 ปี ยกเว้นมีเหตุรุนแรงขนาดใหญ่ก็จะฮือฮากันสักพักหนึ่ง ในแง่ของความร้ายแรงและความตื่นเต้นของเหตุการณ์ จากนั้นก็เงียบหายไป
ทั้งๆ ที่ปัญหาภาคใต้กำลังจะไม่ใช่ปัญหาซ้ำเดิมอีกต่อไปแล้ว แต่กำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อว่าเรา (รัฐไทย) จะรักษาดินแดนนี้ไว้ได้ในสภาพเดิม หรือต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการปกครอง หรือจะกลับมารบกันใหม่ (เพราะถึงอย่างไรไทยก็ไม่ยอมเสียดินแดนนี้ไปเป็นรัฐเอกราช)
เพราะขณะนี้รัฐบาลไทยส่งตัวแทนในรูป “คณะทำงาน” พูดคุยเจรจากับ “กลุ่มบีอาร์เอ็น” ที่เชื่อกันว่าเป็นขบวนการที่มีกองกำลังมากที่สุด และมีอิทธิพลต่อสถานการณ์ความไม่สงบตลอด 2 ทศวรรษที่ผ่านมามากที่สุด
เป็นการพูดคุยเจรจาแบบ “บนโต๊ะ - เป็นทางการ” โดยฝ่ายไทยยอมรับการมีตัวตนของ “บีอาร์เอ็น” และยอมรับว่ามีความขัดแย้งกันด้วยอาวุธในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้จริง
นี่คือจุดเปราะบางอย่างมาก แต่รัฐบาลกลับนิ่งเฉย ไม่อธิบาย ไม่ชี้แจงแถลงไข นอกจากแจกข่าวสั้นๆ เรื่องความสำเร็จของ “คณะพูดคุย” ซึ่งตีความได้หลากหลายว่าเป็นความสำเร็จจริงๆ เพราะไฟใต้ใกล้มอดดับแล้ว หรือกำลังเข้าทางอีกฝ่ายบนโต๊ะเจรจากันแน่
เมื่อวานซืนผมเพิ่งได้รับคลิปวีดีโอที่บันทึกภาพการรวมตัวกันของวัยรุ่นและเยาวชนมุสลิมนับหมื่นคน ที่ริมหาดวาสุกรี อ.สายบุรี จ.ปัตตานี พร้อมคำกล่าวปฏิญาณตน โบกธง ทำมือวันทยาหัตถ์คล้ายทหาร หรือกองกำลังอะไรสักอย่าง แล้วมีการเขียนคำอธิบายบนคลิปจากคนแชร์ที่อ้างแชร์กันกระหน่ำว่า “รัฐบาลมัวทำอะไรอยู่ครับ เค้าประกาศตั้งรัฐปัตตานีกันแล้ว”
จริงๆ เรื่องนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ต้นเดือน พ.ค. ช่วงเทศกาลฮารีรายอ แต่ไม่ค่อยเป็นข่าวบนสื่อกระแสหลักมากนัก ส่วนในพื้นที่มีไอโอสาดใส่กันเละเทะทั้งสองฝ่าย รวมถึงฝ่ายการเมืองที่ไปปรากฏตัวในเฟรมภาพของกิจกรรม
ด้านหนึ่งก็สาดข้อมูลว่าเยาวชนเหล่านี้คือมวลชนของขบวนการแบ่งแยกดินแดน ขณะที่อีกด้านก็สาดกลับว่า พวกเขาแค่รวมตัวแต่งชุดมลายูถ่ายรูปในเทศกาลฮารีรายอ เพื่อแสดงอัตลักษณ์ ไม่มีอะไรผิดกฎหมาย แต่กลับถูกฝ่ายทหาร ตำรวจไปเยี่ยมกดดันถึงบ้าน ซึ่งถือเป็นการคุกคาม ละเมิดสิทธิ์
หลังจากนั้นฝ่ายความมั่นคงก็เรียกคณะผู้จัดงานมาชี้แจงทำความเข้าใจกัน และมีข้อตกลงเชิงบังคับว่าหากจะมีการจัดกิจกรรมลักษณะนี้อีก ต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบก่อน ซึ่งก็ไม่มีหลักประกันอะไรว่าทางคณะผู้จัด หรือเยาวชนนับหมื่นคนเหล่านั้นจะเชื่อหรือไม่เชื่อ หรือเขาคิดจะแสดงพลังรูปแบบไหนอีก
ดูจากวิธีการรับมือของหน่วยงานรัฐก็จะเห็นว่ามีแต่เสียแต้ม ไม่มีได้แต้ม คนไทยนอกสามจังหวัดก็บอกว่าเจ้าหน้าที่รัฐละเลยจนเขาจะแยกดินแดนกันอยู่แล้ว ขณะที่ในพื้นที่ก็ถูกกล่าวหาว่าละเมิดสิทธิ์ ไม่เคารพอัตลักษณ์ความแตกต่าง
หากมองภาพใหญ่กว่าเหตุการณ์นี้ขึ้นมาอีกนิด ก็คือช่วงเดือนรอมฎอน (ก่อนการรวมตัวของเยาวชนนับหมื่น) มีการทำข้อตกลงบนโต๊ะพูดคุยเจรจาระหว่างรัฐบาลไทยกับกลุ่มบีอาร์เอ็น ว่าจะร่วมกันสร้าง “รอมฎอนสันติ” หรือเดือนแห่งการถือศีลอดที่ปลอดเหตุรุนแรง โดยทั้งสองฝ่ายลดปฏิบัติการทางทหารลง (แต่ฝ่ายรัฐไทยใช้คำว่า ลดการบังคับใช้กฎหมาย ปิดล้อม ตรวจค้น)
ปรากฏว่าเดือนรอมฎอนผ่านไป สถานการณ์สงบจริง ความหมายที่สื่อถึงคนทั่วไปก็คือ บีอาร์เอ็นคือของจริง ส่วนรัฐไทยต้องยอมไม่บังคับใช้กฎหมาย กลายเป็นว่าที่ผ่านมาเหมือนรัฐไทยไปกลั่นแกลังเขา ทำให้เขาต้องตอบโต้ด้วยความรุนแรงใช่หรือไม่
นัยก็คือ ถ้าถอนทหารออกไป พื้นที่นี้ก็สงบ นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นในแง่การรับรู้ แม้ว่าเนื้อแท้ความจริงอาจจะตรงกันข้ามก็ตาม
ถัดจากนั้นไม่กี่วัน ก็มีการรวมตัวกันของเยาวชนมลายูมุสลิมนับหมื่นคน (ข่าวที่เขาไอโอกันในพื้นที่คือ 3 หมื่นคน) เป็นเยาวชนชายล้วน พร้อมใจ พร้อมเพรียง สามัคคีเป็นหนึ่งเดียว
นัยก็คือ นี่คือมวลชนมลายูปัตตานีที่พร้อมรับการขับเคลื่อนแนวทางใหม่ๆ ในการเสนอข้อเรียกร้อง “เชิงรุก” ต่อรัฐไทย นั่นก็คือข้อเรียกร้องทางการเมือง (อยู่ในแผนช่วงกลางและท้ายของกระบวนการพูดคุยสันติสุข)
เพราะสุดท้ายของกระบวนการนี้ คือ การทำประชามติเพื่อสนับสนุนหรือรับรองข้อตกลงทางการเมือง ก่อนเสนอเข้ารัฐสภา หากรัฐไทยหลีกเลี่ยงการทำประชามติอย่างเป็นทางการที่มีผลทางกฎหมาย ฝ่ายโน้นเขาก็พร้อมจะทำให้ดู
ฉะนั้นเหตุรุนแรงที่ลดน้อยลงในช่วงที่ผ่านมา ไม่ได้แปลว่ารัฐบาลไทยแก้ไขปัญหาจนประสบความสำเร็จ แต่การต่อสู้ของฝ่ายที่เคลื่อนไหวต่อต้านรัฐไทยเขาทำอย่างเป็นระบบ เป็นขั้นตอน ขณะนี้มันจบขั้นตอนของการส่งสัญญาณด้วยการก่อเหตุรุนแรงแล้ว รัฐไทยยอมรับแล้วว่ามีกลุ่มต่อต้านรัฐไทย แถมให้การรับรองด้วย
ฉะนั้นการต่อสู้นับจากนี้คือ เจรจา ต่อรอง และใช้มวลชนกดดันเพื่อให้บรรจุผล คือ รูปแบบการปกครองที่ต้องการ
สรุปง่ายๆ แบบรวบรัดกับสิ่งที่เกิดขึ้นใน 2 ทศวรรษ ก็คือ ก่อเหตุรุนแรงเพื่อส่งสัญญาณว่าดินแดนนี้มีปัญหา สุดท้ายดึงรัฐไทยเข้าสู่โต๊ะเจรจาแบบ “บนโต๊ะ-ทางการ” เมื่อรัฐไทยรับรองการมีอยู่ของกลุ่มต่อต้านรัฐไทย (บีอาร์เอ็น) ก็หยุดยิงให้ดูเพื่อโชว์ว่ามีศักยภาพจริงเพื่อการต่อรอง แล้วก็โชว์ต่อเนื่องว่ามีมวลชนเป็น “คนรุ่นต่อไป” หรือ next generation พร้อมสนับสนุนข้อเรียกร้องทางการเมืองที่กำลังจะเสนอ
ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่รัฐบาลไม่เคยพูด ไม่เคยให้ความสำคัญ ทั้งๆ ที่มีความเปราะบางอย่างมากกับทั้งปัญหาไฟใต้ และความรู้สึกของคนไทยในภูมิภาคอื่น
ยิ่งไปกว่านั้นในพื้นที่ยังมีปัญหาซ้ำๆ เดิมๆ ที่รัฐบาลไม่เคยแสดงบทบาทเพื่อยุติความขัดแย้งให้เด็ดขาด ไม่ให้เป็นประเด็นทางความรู้สึกกันอีกต่อไป เช่น ปัญหาการแต่งกายตามหลักศาสนาอิสลามของนักเรียนโรงเรียนอนุบาลปัตตานี วัดนพวงศาราม ที่เรื่องบานปลายถึงศาล ขณะนี้ศาลปกครองยะลาตัดสินแล้วให้นักเรียนแต่งกายตามหลักศาสนาได้ แต่โรงเรียนยังยื่นอุทธรณ์ ทำให้เกิดการปั่นกระแส ปลุกม็อบย่อยๆ ในพื้นที่
ขณะที่ฝั่งคนพุทธ ฝั่งวัด พระ และโรงเรียน รู้สึกว่าถูกรุกคืบกดดันจนไม่เหลือที่ยืนในสามจังหวัด เพราะที่ตั้งโรงเรียนเกือบทั้งหมดอยู่บนที่ธรณีสงฆ์ ซึ่งกฎหมายให้เจ้าอาวาสมีอำนาจกำกับดูแลเรื่องกฎระเบียบต่างๆ ของโรงเรียน และไม่เคยมีปัญหาใดๆ มากว่าครึ่งศตวรรษ แต่วันนี้เมื่อมีปัญหา ก็เหมือนถูกปล่อยให้จมอยู่กับปัญหาอย่างโดดเดี่ยว แทบไม่มีผู้ใหญ่จากส่วนกลางไปช่วยจัดการ
ทั้งสองฝ่ายล้วนมีเหตุผลของฝ่ายตน และไม่มีคนกลางไกล่เกลี่ยทำความเข้าใจ รัฐบาลนิ่ง หน่วยงานอย่าง ศอ.บต.เอาแต่แจกของ เปิดป้าย เน้นเรื่องอาชีพ ปากท้อง แต่ละเลยเรื่องการทำความเข้าใจเพื่อยุติความขัดแย้ง (ซึ่งเป็นภารกิจหลักที่แท้จริงของ ศอ.บต.)
ล่าสุดยังมีปัญหานายอำเภอรือเสาะ จ.นราธิวาส ถูกย้าย เพราะถูกคนมุสลิม ผู้นำท้องที่ และผู้นำศาสนารวมตัวกันขับไล่ ปรากฏว่ากรมการปกครองย้ายไปช่วยราชการนอกพื้นที่ได้ไม่นาน จากนั้นก็ย้ายกลับมาเป็นนายอำเภอสุไหงปาดี จังหวัดเดียวกัน โดยไม่มีเหตุผล ไม่มีคำชี้แจงใดๆ
คนมุสลิมมองว่า นายอำเภอถูกชาวบ้านไล่ยังได้ย้ายกลับมา แสดงว่ารัฐไม่เคยสนใจความรู้สึกของประชาชน (โดยเฉพาะคนมุสลิม) แต่ฝั่งคนพุทธ หรือข้าราชการในพื้นที่มองว่านี่คือการใช้อารมณ์ขับไล่ มีการเมืองอยู่เบื้องหลัง เพราะนายอำเภอคนนี้เข้มแข็ง เคร่งครัดกฎระเบียบ โดยเฉพาะช่วงต่อสู้กับโควิด ก็ปฏิบัติตามมาตรการจนได้ผลลัพธ์ดีเยี่ยม แต่ความไม่ผ่อนปรนทำให้บางคนไม่ชอบและใส่ร้าย ฯลฯ
นี่คือตัวอย่างปัญหาย่อยในปัญหาใหญ่ที่รัฐบาลไม่เคยใส่ใจในการทำความเข้าใจ ทั้งๆ ที่ควรต้องทำตั้งนานแล้วทุกเรื่อง...
18 ปี 9 รัฐบาล 7 นายกฯ กลไกของรัฐไทยผ่านการปฏิบัติงานของกองทัพแทบไม่เคยทำให้คนในพื้นที่เข้าใจรัฐไทยมากขึ้น หรือมองรัฐไทยในแง่ดีขึ้นเลย วันนี้รัฐไทยกำลังเจอโจทย์ใหม่ที่ใหญ่กว่าเดิม คือการทำความเข้าใจกับคนไทยนอกสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะกระบวนการพูดคุยเจรจาจะนำไปสู่ “ข้อตกลงใหม่” ว่าเราจะอยู่ร่วมกันบนความแตกต่างหลากหลายได้หรือไม่ หรือจะต่างคนต่างอยู่แบบน้ำกันน้ำมัน
รอวันไฟลุกอีกรอบ!