เหตุการณ์ตรวจยึดจับกุมยาบ้า 1.5 ล้านเม็ดของเครือข่าย “เจ้เล็ก นครปฐม” ที่ จ.ปัตตานี ขณะลำเลียงสู่ชายแดนเพื่อส่งต่อประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งน่าจะใช้ช่องทาง จ.นราธิวาส เมื่อวันศุกร์ที่ 27 พ.ค.65 นั้น เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างเชิงประจักษ์ที่ พล.ท.เกรียงไกร ศรีรักษ์ แม่ทัพภาคที่ 4 สันนิษฐานว่า เหตุโจมตีสถานีตำรวจน้ำที่ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส เป็นการตอบโต้ของกลุ่มภัยแทรกซ้อน ค้าสิ่งของผิดกฎหมายเหล่านี้
แต่แม่ทัพภาคที่ 4 ก็ยอมรับว่า ผลตรวจพิสูจน์วัตถุพยานในที่เกิดเหตุบางส่วน ยืนยืนออกมาแล้วว่าเชื่อมโยงกับเครือข่ายกลุ่มก่อความไม่สงบที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดน ฉะนั้นจึงเชื่อว่าสองกลุ่มนี้เชื่อมโยงกัน และให้น้ำหนักการก่อเหตุไปที่การล้างแค้นตอบโต้เพราะถูกจับกุมสินค้าหนีภาษีและยาเสพติดถี่ยิบในระยะหลัง
@@ กระสุนโยง ผกร. เชื่อมกลุ่มเสียผลประโยชน์
“เรื่องเหตุการณ์ที่ตากใบ ตอนนี้เราก็ได้รวบรวมพยานหลักฐานจากผลการพิสูจน์ทราบทางนิติวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะในส่วนของอาวุธและกระสุนต่างๆ ที่ผู้ก่อเหตุใช้ รวมถึงระเบิดไปป์บอม ผลปรากฏว่ามีความเกี่ยวเนื่องกับกลุ่มผู้ก่อเหตุรุ่นแรงอยู่ เพราะว่าผลการพิสูจน์กระสุน คาบเกี่ยวกันอยู่แล้ว”
“แต่ในการดำเนินการเรื่องนี้ ส่วนหนึ่งมีผู้สูญเสียผลกระโยชน์ จากขบวนการค้ายาเสพติดก็ดี ค้าสิ่งของผิดกฎหมายก็ดี ซึ่งในคืนวันที่ 24 พ.ค.ที่ผ่านมา เรามีการกวาดล้าง 29 เป้าหมายในเขตพื้นที่นราธิวาส รวมทั้งเป้าหมายที่จับกุมที่ปัตตานีด้วย” แม่ทัพภาค 4 ลำดับความ
ถัดจากเหตุการณ์ที่แม่ทัพอ้างถึงเพียงไม่ถึง 24 ชั่วโมง ปรากฏว่าช่วงค่ำของวันพุธที่ 25 พ.ค. ก็เกิดเหตุโจมตีสถานีตำรวจน้ำทันที รวมทั้งอาคารด่านศุลกากรที่อยู่ใกล้กันด้วย
“กรณีที่มีการปฏิบัติต่อตำรวจน้ำตากใบ ขอนำเรียนว่าภัยแทรกซ้อน สิ่งเสพติด ขบวนการผลประโยชน์ การค้าตามแนวชายแดนที่เราต้องกวาดล้าง กันต่อไป” แม่ทัพ สรุป
@@ ไม่กระทบพูดคุยสันติสุข
แต่แม้จะมีความเชื่อมโยงกับกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง แต่ พล.ท.เกรียงไกร ในฐานะผู้นำกองทัพภาคที่ 4 ยืนยันว่าจะเดินหน้า “ข้อตกลงสันติสุข” ต่อไป
“อยากจะนำเรียนพี่น้องประชาชนว่า สันติสุขที่เราพูดคุยกันในห้วงเดือนรอมฎอนที่ผ่านมา 50 กว่าวัน ความสันติสุขเที่เกิดขึ้น เราจะเห็นว่าพี่น้องประชาชนมีความพึงพอใจ มีความต้องการเป็นอย่างสูง อยากจะเห็นสันติสุข อยากจะเห็นความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ลดลงเหมือนห้วง 50 กว่าวันที่ผ่านมา นี่คือสิ่งที่พี่น้องประชาชนต้องการ และเราก็ยืนยันว่าเราจะสานต่อนโยบายนี้ การพูดคุยสันติสุข การลดความรุนแรง เพราะเป็นความต้องการของพี่น้องประชาชน”
แต่การสานต่อข้อตกลงลดความรุนแรง ไม่ได้หมายความว่าจะลดการบังคับใช้กฎหมายกับกลุ่มที่กระทำผิดกฎหมาย
“เราจะเดินหน้าผลักดันข้อตกลงสันติสุขให้ถึงที่สุด แต่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 25 พ.ค. (เหตุโจมตีตำรวจน้ำตากใบ) เราต้องแยกแยะ เราต้องติดตามจับกุม บังคับใช้กฎหมายต่อกลุ่มที่ปฏิบัติการต่อกองกำลังของเจ้าหน้าที่ ซึ่งมีความเชื่อมโยงกันแน่นอนระหว่างผู้สูญเสียผลประโยชน์กับผู้ก่อเหตุรุนแรง จากหลักฐานที่เราพิสูจน์ได้เราจะไม่ละเลย”
“ส่วนการพูดคุยสันติสุขเราก็ยังคงต้องเดินหน้า เพื่อให้พี่น้องประชาชนได้มีคุณภาพชีวิต มีความปลอดภัยในชีวิต ได้ใช้ชีวิตประจำวันปกติสุขต่อไป อันนี้เป็นสิ่งที่เรายืนยัน”
@@ เครือข่าย “อุสมาน สะแลแม็ง” จากเหนือสู่ใต้
นโยบายปราบปรามยาเสพติด แม่ทัพภาคที่ 4 ให้ความสำคัญไม่น้อยกว่านโยบายอื่นๆ ที่ขับเคลื่อนไปพร้อมกัน
“เรื่องการทำผิดกฎหมาย เราต้องดำเนินการ โดยเฉพาะเรื่องยาเสพติด ลองไปถามตรงไหนก็ได้ พี่น้องประชาชนไม่ปรารถนาให้เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เขาก็อาศัยช่องว่างตรงนี้ที่จะลำเลียงเข้ามา จะเห็นว่าเขาเองมีเครือข่ายเข้ามาอยู่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้มากมาย โดยเฉพาะในเครือข่ายของผู้ต้องหาคดียาเสพติดรายใหญ่ อุสมาน สะแลแม็ง เขาจะมีความโยงใยมาจากทางภาคเหนือของประเทศไทย ไหลลงสู่ภาคใต้ตอนล่างและส่งออก”
“จากการแถลงข่าวเราจับกุมสิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นระยะ และยึดทรัพย์มากมาย เฉพาะเดือนเดียว 840 กว่าล้านบาท เราก็ต้องบูรณาการกันอย่างมุ่งมั่น ปลดทุกข์ให้กับพี่น้องประชาชน ซึ่งเป็นทุกข์ที่เกิดจากขบวนการยาเสพติด รวมทั้งยืนยันว่าเราจะคงความมุ่งมั่นที่จะพูดคุยสันติสุขให้เกิดขึ้นในห้วงต่อไป”
@@ “แม่ทัพน้อย” โยนบีอาร์เอ็นทำลายบรรยากาศพูดคุย
ทางด้าน พล.ท.ธิรา แดหวา แม่ทัพน้อยที่ 4 ในฐานะเลขานุการคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ กลับให้น้ำหนักเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่าเกี่ยวโยงกับขบวนการบีอาร์เอ็น
“ไม่น่าเชื่อว่ากลุ่มบีอาร์เอ็นจะไม่สนใจความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่ที่ต้องการสันติและความสงบสุข สำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นไปได้ที่มีความต้องการทำลายบรรยากาศการพูดคุย และรอมฎอนสันติ แต่เราจะเดินหน้าต่อในการพูดคุยสันติสุข เพราะประชาชนทุกภาคส่วนต้องการ ผู้เห็นต่างในประเทศก็เห็นด้วย ส่วนใครเป็นอุปสรรคก็ให้สังคมลงโทษ รัฐบังคับใช้กฎหมายตามความต้องการของประชาชน”
ท่าทีของแม่ทัพใหญ่ กับแม่ทัพน้อย ในเหตุการณ์โจมตีที่ตากใบ นับว่าน่าสนใจไม่น้อยจริงๆ!