กลายเป็นคำถามเกี่ยวกับเหตุโจมตีสถานีตำรวจน้ำตากใบ ริมชายแดนไทย-มาเลเซีย ด้าน อ.ตากใบ จ.นราธิวาส ว่ามีมูลเหตุเกิดจากเรื่องใดกันแน่
เพราะช่วงเดือนรอมฎอน และห้วงเวลาของเทศกาลฮารีรายอต่อเนื่องมา พื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่ในบรรยากาศ “สงบ-สันติสุข” จากข้อตกลงร่วมกันระหว่างฝ่ายความมั่นคงกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐในนาม “บีอาร์เอ็น” ว่าด้วย “รอมฎอนสันติ”
พูดง่ายๆ คือ “หยุดยิงชั่วคราว” และเมื่อผลออกมาเป็นที่น่าพอใจ ก็กำลังจะมีการขยายเวลาไปจนถึงฮารีรายออิฎิลอัฎฮา หรือ “รายอฮัจยี” หรือ 60 วันนับจากฮารีรายออิฎิลฟิตรี หรือ “รายอปอซอ” (หลังสิ้นสุดเดือนรอมฎอน)
เมื่อเกิดเหตุร้ายขึ้นมา แถมเป็นเหตุรุนแรงขนาดใหญ่ ใช้อาวุธสงครามเต็มพิกัด จะตีความได้หรือไม่ว่า “ข้อตกลงสันติ” ล้มเลิกแล้ว
26 พ.ค.65 พล.ต.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (รองผอ.รมน.ภาค 4 สน.) และรองแม่ทัพน้อยที่ 4 เดินทางลงพื้นที่เกิดเหตุ ซึ่งกระจายกันปฏิบัติการถึง 4 จุดด้วยกัน
ประเด็นที่ พล.ต.ปราโมทย์ ให้ความสนใจ ไม่ได้แตกต่างจากคำถามที่ประชาชนคนไทยอยากรู้ นั่นก็คือ เกิดอะไรขึ้น ฝีมือใคร และกระทบกับ “ข้อตกลงสันติสุข” หรือไม่
พล.ต.ปราโมทย์ เริ่มต้นที่การอธิบายสถานการณ์
“จากที่เรามีกระบวนการพูดคุยในช่วงเดือนรอมฎอนที่ผ่านมา ซึ่งช่วงรอมฎอนและภายหลังเดือนรอมฎอนพบว่าแทบจะไม่มีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้นเลย แม้จะมีเกิดขึ้น 10 กว่าครั้ง แต่เป็นคดีความมั่นคงแค่ 2 ครั้ง โดยเป็นเหตุการณ์ในพื้นที่ อ.สายบุรี จ.ปัตตานี ที่เหลือก็เป็นเหตุการณ์ส่วนตัว ขณะเดียวกัน กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ได้พยายามที่จะสื่อสารในการสร้างบรรยากาศ โดยการหนุนเสริมกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุข ซึ่งเป็นความต้องการของประชาชนในพื้นที่”
แน่นอนว่าเมื่อภาพรวมสถานการณ์เป็นแบบนี้ สิ่งที่เป็นคำถามของสังคมคือ แล้วเหตุการณ์ที่ตากใบคืออะไร เกิดจากอะไร ซึ่ง พล.ต.ปราโมทย์ บอกว่า คงต้องใช้เวลาในการตรวจสอบพอสมควร แต่ในเรื่องของการวิเคราะห์ปัจจัยที่เป็นสาเหตุ มีการมองไว้ 2 ประเด็น
“ประเด็นแรกเป็นปัจจัยที่เกิดจากกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงที่ไม่เห็นด้วยกับกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุข อาจเกิดจากกลุ่มที่ตกขบวนพูดคุย”
“ประเด็นที่ 2 เจ้าหน้าที่ให้น้ำหนักในเรื่องของการตอบโต้ผลการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในการเข้าไปจัดการกับภัยแทรกซ้อนในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งที่ผ่านมาผลจากการพูดคุยในเรื่องความรุนแรง อาจเป็นช่องทางที่ทำให้กลุ่มพ่อค้ายาเสพติดและสินค้าผิดกฎหมายสามารถกระทำผิดได้มากขึ้น (เพราะลดความเข้มของการบังคับใช้กฎหมายลง) ทำให้แม่ทัพภาคที่ 4 ได้ย้ำว่าอำนาจการบังคับใช้กฎหมายเป็นสิ่งที่รัฐเองก็ไม่สามารถละเว้นได้เช่นกัน”
ทำให้ตั้งแต่ช่วงเดือน เม.ย.- พ.ค.เป็นต้นมา เรามีการเปิดแผนเข้ากวาดล้างธุรกิจผิดกฎหมายหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในพื้นที่ อ.ตากใบ ได้ตรวจค้นสินค้าหนีภาษี ไม่ว่าจะเป็นสุรา บุหรี่ หรือแม้กระทั่งน้ำมันหนีภาษี และล่าสุดได้มีการตรวจค้นพร้อมกัน 29 จุดใน จ.นราธิวาส ซึ่งเฉพาะในส่วนของ อ.ตากใบ เราสามารถตรวจค้น 7 จุด และการจับกุมแรงงานต่างด้าว 387 คน กับผู้นำพาอีก 10 คน ซึ่งน่าจะเป็นปัจจัยเร่งที่ทำให้กลุ่มที่เสียผลประโยชน์ใช้โอกาสในการสร้างสถานการณ์ความรุนแรง”
พล.ต.ปราโมทย์ สรุปว่า พื้นที่ชายแดนโดยเฉพาะ อ.ตากใบ เป็นพื้นที่ที่มีผลประโยชน์ในเรื่องของธุรกิจผิดกฎหมายค่อนข้างเยอะ ซึ่งหลายครั้งที่เจ้าหน้าที่เข้าทำการกวาดล้าง ก็มักจะมีการตอบโต้เป็นประจำ
แต่ก็ขอเวลาให้เจ้าหน้าที่ตำรวจได้รวบรวมวัตถุพยาน รวมทั้งตรวจสอบภาพจากกล้องวงจรปิดควบคู่ไปกับการตรวจสอบข้อมูลด้านการข่าวเชิงลึก เพื่อที่จะคลี่คลายและสรุปเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ว่าเกิดจากอะไร ซึ่งจะนำเรียนให้ประชาชนได้ทราบต่อไป
บทสรุปสุดท้ายเป็นอย่างไรยังไม่รู้ แต่ข้อสันนิษฐานเบื้องต้นของคนระดับรองแม่ทัพน้อย คือ เรื่องการตอบโต้จากกลุ่มภัยแทรกซ้อน ซึ่งแนวทางนี้ก็สอดคล้องกับที่ พล.ท.เกรียงไกร ศรีรักษ์ แม่ทัพภาคที่ 4 บอกกับ “ทีมข่าวอิศรา” ด้วยเช่นกัน
ฉะนั้น “ข้อตกลงสันติสุข” ยังคงอยู่ใช่หรือไม่ และฝ่ายความมั่นคงจะเร่งจัดการปัญหาภัยแทรกซ้อนอย่างไร เพราะะสมมติฐานนี้หมายความว่า กลุ่มภัยแทรกซ้อนมีศักยภาพก่อเหตุรุนแรงได้ไม่แพ้กลุ่มก่อความไม่สงบเลยทีเดียว
หรือพวกเขามีกองกำลังทับซ้อนกัน? นับเป็นคำถามที่ต้องเร่งหาคำตอบกันต่อไป