การสร้างกระแสคดี "คุณแตงโม" ด้วยการนำเฟซบุ๊กและอินสตาแกรมของคุณแตงโมมาใช้ ทั้งๆ ที่เจ้าของบัญชีเสียชีวิตไปนานถึง 3 เดือนแล้ว เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ แต่เป็นปัญหา “มรดกโซเชียลมีเดีย” ที่กำลังเกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก
พันธ์ศักดิ์ อาภาขจร ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการสื่อสาร เขียนบทความแสดงความเห็น และให้ข้อมูลเรื่องนี้เอาไว้อย่างน่าสนใจ...
@@ มรดกโซเชียลฯ ตายแล้วไปไหน?
ตลอดเวลา 3 เดือนหลังจากการจากไปของ “คุณแตงโม” นักแสดงสาว มีเรื่องราวเกิดขึ้นมากมายเป็นข่าวให้เห็นแทบไม่เว้นวัน และมักเกิดจากฝั่งที่ไม่เชื่อมั่นการทำงานของเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบ และคนกลุ่มนี้มักนำหลักฐานต่างๆ ออกมาเปิดเผยอยู่เป็นระยะๆ จนทำให้ผู้คนสงสัยอยู่ตลอดเวลาถึงเงื่อนงำของคดีที่ยังไม่สามารถหาข้อยุติได้
การให้เบาะแสในคดีของคุณแตงโมไม่ได้มีความเคลื่อนไหวเฉพาะในโลกแห่งความจริงเท่านั้น แต่ในเฟซบุ๊กและอินสตาแกรมของคุณแตงโมก็ยังมีความเคลื่อนไหวจากการโพสต์ภาพและข้อความต่างๆ โดยเฟซบุ๊กชื่อ Happy Melon Patcharaveerapong ของ แตงโม ภัทรธิดา (นิดา) พัชรวีระพงษ์ ได้มีการโพสต์ข้อความพร้อมรูปภาพและคลิปหลายครั้งเพื่อปลุกกระแสทวงคืนความยุติธรรมให้แตงโมในโลกโซเชียลอีกครั้ง
รวมทั้งอินสตาแกรมแมวของคุณแตงโมก็มีการเคลื่อนไหวเช่นกัน จนทำให้เกิดเทรนด์บนบนทวิตเตอร์ต่อเรื่องดังกล่าวอย่างล้นหลาม และคดีกลับมาอยู่ในกระแสของสื่ออีกครั้ง จนเกิดคำถามจากผู้บริโภคข่าวทั่วไปว่าใครคือต้นตอของการเคลื่อนไหวโดยใช้บัญชีของคุณแตงโม ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊กหรืออินสตาแกรมแมว ทั้งที่คุณแตงโมได้เสียชีวิตไปแล้ว
ในโลกแห่งความจริงหากมีการเสียชีวิตผู้วายชนม์ มักจะทำพินัยกรรมไว้เพื่อยกมรดกให้กับผู้ใดผู้หนึ่ง หรือมีผู้จัดการมรดก แต่ในโลกออนไลน์ซึ่งผู้เสียชีวิตได้ทิ้งมรดกทางดิจิทัล (Digital Legacy) ไว้ในบัญชี ซึ่งมีทั้งภาพนิ่ง คลิปเสียง คลิปภาพ ข้อความต่างๆ ทั้งบนโซเชียลมีเดีย อีเมล ซึ่งอาจมีทั้งเรื่องบันเทิงหรือข้อมูลสำคัญทางการเงิน จนมักเกิดคำถามว่าจะมีการจัดการอย่างไรกับมรดกเหล่านี้ และเจ้าของแพลตฟอร์มควรจะดำเนินการอย่างไรต่อมรดกทางดิจิทัลเมื่อเจ้าของบัญชีได้เสียชีวิตไปแล้ว
@@ ตายแล้ว-บัญชียังอยู่ ช่องทางมิจฉาชีพหาประโยชน์
จากการสำรวจของ UK YouGov เมื่อปี ค.ศ.2018 พบว่า ราว 7 เปอร์เซ็นต์ของผู้ตอบคำถามต้องการให้บัญชีโซเชียลมีเดียของตัวเองถูกเก็บไว้ แม้ว่าชีวิตจะหาไม่แล้วก็ตาม แม้ว่าตัวเลขนี้จะดูไม่มาก แต่หากคิดจากจำนวนผู้ใช้โซเชียลมีเดียแต่ละแพลตฟอร์มซึ่งมีนับพันล้านบัญชีแล้ว ตัวเลขนี้สามารถแสดงถึงผู้ที่มีความประสงค์ที่ต้องการให้เรื่องราวของตัวเองถูกจดจำหลังความตายน่าจะมีจำนวนนับร้อยๆ ล้านรายเลยทีเดียว
การเสียชีวิตของผู้ใช้โซเชียลมีเดียยังเปิดโอกาสให้ใครก็ตามสามารถเข้าไปหาผลประโยชน์จากผู้ตายอยู่เสมอ ไม่ว่าจะแสดงออกถึงเจตนาดี หรือเพื่อการต้มตุ๋นหลอกลวงก็ตาม
@@ บทเรียน USA ตัวตนผู้ตายถูกใช้ 2.5 ล้านคน
จากข้อมูลที่เปิดเผยโดยบริษัทป้องกันการการใช้ตัวตนเพื่อการหลอกลวง พบว่า ทุกๆ ปี ตัวตนของผู้เสียชีวิตชาวอเมริกันราว 2,500,000 คน ถูกใช้โดยมิจฉาชีพ ทั้งเพื่อสร้างบัญชีบัตรเครดิตปลอมเพื่อขอสินเชื่อ จนกระทั่งใช้ตัวตนของคนตายเปิดบัญชีโทรศัพท์มือถือและขอใช้บริการอื่นๆ และผู้ตายราว 800,000 คน จาก 2,500,000 คน คือเป้าหมายที่บรรจงคัดมาแล้วเป็นอย่างดี เท่ากับว่าชื่อผู้ตายถูกนำไปใช้ในทางมิชอบถึงวันละ 2,200 คน
@@ 8 วิธีหากินกับคนตาย
เมื่อปี ค.ศ.2020 สำนักงานสอบสวนกลางของสหรัฐอเมริกา (FBI) สำนักงาน เอลปาโซ (El Paso) ได้ส่งคำเตือนไปยังครอบครัวผู้ตายให้ระมัดระวังมิจฉาชีพที่หากินกับคนตาย โดยใช้เทคนิคต่างๆ ที่คนธรรมดาอาจคาดไม่ถึง เป็นต้นว่า
1.อ้างกับครอบครัวผู้ตายว่าผู้ตายมีหนี้สินที่ยังไม่ได้ชดใช้แก่ผู้กล่าวอ้างว่าเป็นเจ้าหนี้
2.เรี่ยไรเงินเพื่อจัดพิธีศพจากผู้เกี่ยวข้องหรือคนทั่วๆ ไป ทั้งๆ ที่ไม่มีงานศพใดๆ ถูกจัดขึ้นเลย
3.อ้างกับครอบครัวผู้ตายว่าผู้ตายยังไม่ได้ชำระเงินค่าบริการทางการแพทย์และขอเรียกเก็บเงินจากครอบครัว
4.อ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่เพื่อเรียกเก็บภาษีจากผู้ตาย
5.ปลอมตัวตนเป็นผู้ตายเพื่อสร้างความสัมพันธ์กับใครก็ตาม ทั้งในทางสร้างความสัมพันธ์ทางอารมณ์หรืออาจมีการเรียกร้องผลประโยชน์ในทางใดทางหนึ่ง
6.ติดต่อกับผู้ใกล้ชิดผู้ตาย แสดงความเสียใจต่อการสูญเสีย และอ้างว่าผู้ตายไม่ชำระค่าประกันชีวิต และมีการเรียกร้องให้ชำระค่าประกันชีวิต
7.เปิดบัญชีบัตรเครดิตในนามผู้ตาย
8.ทำเครื่องประดับเล็กๆ น้อยๆ เกี่ยวกับผู้ตายเพื่อหารายได้ให้กับครอบครัวผู้ตาย
@@ แนะญาติผู้ตายยื่นคำร้องเจ้าของแพลตฟอร์ม "ระงับบัญชี"
การปลอมตัวเป็นคุณแตงโมบนโซเชียลมีเดีย ไม่ว่าจะด้วยเจตนาใดก็ตาม ถือว่าเป็นการกระทำที่ไม่สุจริต ไม่ให้เกียรติผู้ตาย และถือเป็นวิถีหากินกับผู้ตายไม่ต่างจากมิจฉาชีพที่กระทำการหลอกลวงด้วยวิธีการต่างๆ เพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง
คุณแตงโมเสียชีวิตไปแล้วถึง 3 เดือน สร้างความเศร้าโศกเสียใจให้กับบุคคลรอบข้างและแฟนคลับของเธออย่างมากมาย เธอไม่สามารถทำกิจกรรมใดๆ ได้อีกแล้ว ไม่ว่าในโลกแห่งความจริงหรือโลกออนไลน์ การเคลื่อนไหวบัญชีเฟซบุ๊กและอินสตาแกรมแมวของเธอ หากบัญชีนั้นเป็นบัญชีจริงๆแสดงว่ามีความไม่ปกติเกิดขึ้นเพราะมีคนนำบัญชีของเธอไปหาผลประโยชน์ เพราะเมื่อเจ้าของบัญชีเสียชีวิต โดยปกติย่อมไม่มีใครนำบัญชีโซเชียลไปใช้งานได้
อย่างไรก็ตาม การลบหรือระงับบัญชีโซเชียลมีเดียสามารถดำเนินการได้โดยการส่งเอกสารเพื่อยืนยันว่าผู้ส่งเป็นสมาชิกในครอบครัวใกล้ชิด หรือผู้ดำเนินการแทนเจ้าของบัญชีดังกล่าวไปยังแพลตฟอร์มของบัญชีนั้นๆ เช่น ส่งไฟล์สแกนหรือรูปถ่ายของมรณบัตรของสมาชิกในครอบครัวไปยังเจ้าของแพลตฟอร์ม หรือมอบเอกสารยืนยันสิทธิ์การดำเนินการแทน และเอกสารที่ยืนยันว่าสมาชิกในครอบครัวถึงแก่กรรม ไปยังเจ้าของแพลตฟอร์มเพื่อให้ดำเนินการยกเลิกหรือระงับบัญชี ซึ่งแต่ละแพลตฟอร์มล้วนมีเงื่อนไขแตกต่างกันไป
กรณีของคุณแตงโมเข้าใจว่าครอบครัวยังมิได้ดำเนินการใดๆ ในการร้องขอให้ลบหรือระงับบัญชีโซเชียลมีเดีย จึงเป็นช่องว่างที่ทำให้ใครต่อใครที่รู้เบอร์บัญชีของเธอ สามารถนำบัญชีของผู้ตายไปใช้ตามอำเภอใจ ซึ่งไม่สามารถกระทำได้ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม และต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย
@@ จี้แพลตฟอร์มออกมาตรการ "ความเป็นส่วนตัว" มรดกโซเชียลฯ
นอกจากนี้มรดกทางดิจิทัลบนโซเชียลมีเดียทุกแพลตฟอร์มของคุณแตงโมที่เคยทำผลประโยชน์มากมายให้กับเจ้าของแพลตฟอร์มในฐานะคนเด่นคนดัง ซึ่งเป็นมรดกที่จับต้องไม่ได้ แต่มีคุณค่าในตัวเอง ครอบครัวควรต้องได้นำมรดกนี้ไปเก็บไว้หรือใช้ประโยชน์ และอาจนำมาเปิดเผยในบางโอกาสเพื่อการระลึกถึงเธอ หรืออาจเก็บไว้ในโลกดิจิทัลโดยไม่เปิดเผย เพื่อให้เป็นความลับไปพร้อมกับตัวตนของเธอ และควรต้องประกาศถึงความเป็นทรัพย์สินส่วนตัวของผู้วายชนม์หลังความตาย เพื่อไม่ให้ใครต่อใครนำข้อมูลส่วนที่สามารถค้นหาได้ไปหาประโยชน์ตามอำเภอใจ และสร้างความสับสนให้กับส่วนรวมได้อีกต่อไป
ในระหว่างนี้บริษัทโซเชียลมีเดียควรมี "มาตรการชั่วคราว" ที่ต้องไม่ยอมให้ใครต่อใครสามารถปลอมตัวเป็นคุณแตงโมไปใช้บัญชีของเธอได้อีก จนกว่าครอบครัวจะร้องขอมายังแพลตฟอร์มอย่างเป็นทางการ เพื่อกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งตามความประสงค์ของครอบครัว