ดราม่าเรื่อง “ชุดมลายู” ยังไม่จบ แม้จะผ่านมานานนับสัปดาห์แล้วก็ตาม...
หากยังจำกันได้ 4 พ.ค.65 มีการรวมตัวกันของเยาวชนชาย (เปอร์มูดอ) ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมใจกันแต่งกายด้วย “ชุดมลายู” ไปแสดงพลังและปฏิญาณตนกันที่ริมหาดวาสุกรี อ.สายบุรี จ.ปัตตานี นับหมื่นคน สร้างกระแสฮือฮาไปทั่ว
เสียงวิจารณ์ยังไม่จบดี และมีการทำไอโออย่างกว้างขวาง ปรากฏว่าถัดมาอีก 6 วัน คือ วันอังคารที่ 10 พ.ค.65 มีการรวมตัวของเยาวชนอีกกลุ่มหนึ่ง เป็น “เยาวชนหญิง” แต่งชุดมลายูเหมือนกัน โดยกลุ่มที่จัดกิจกรรมเป็นกลุ่มเดิม คือ CAP หรือ Civil Society Assembly For Peace แต่คราวนี้เป็น CAPWomen&Children (CAP ผู้หญิงและเด็ก)
ภาพการรวมตัวกันของ “เปอร์มูดอ และ เปอร์มูดี้” หรือ “เยาวชนมลายูทั้งชายและหญิง” ที่อธิบายกันว่าเป็นการประกวดภาพถ่ายชุดมลายู เนื่องในเทศกาลวันฮารีรายอ หลังสิ้นสุดเดือนแห่งการถือศีลอด หรือเดือนรอมฎอนนั้น มีความกังวลว่าจะกระทบกับความมั่นคงหรือไม่ เพราะกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐเพิ่งทำข้อตกลงหยุดยิงช่วงเดือนรอมฎอนกับคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ฝ่ายรัฐบาลไทย และผลออกมาเป็นที่น่าพอใจ
จึงเกรงว่ากิจกรรมนี้จะเป็นการ “แสดงพลัง” เพื่อสร้างอำนาจต่อรองทางการเมืองบนโต๊ะพูดคุยเจรจาในระยะต่อไป หลังจากโชว์ศักยภาพ “สั่งหยุดยิง” ให้ดูแล้ว
สัปดาห์ที่ผ่านมายังมีความเคลื่อนไหวที่สำคัญในเรื่อง “ชุดมลายู” อีก 2 ครั้ง
@@ โวยถูกคุกคาม - ฝาก ส.ส.เป็นปากเสียงแทนในสภา
วันเสาร์ที่ 21 พ.ค.65 เวทีสัญจร “พรรคการเมืองฟังเสียงคนจน” ครั้งที่ 4 “สันติภาพชายแดนใต้” ที่ห้องประชุมศรีวังสา คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ซึ่งมีตัวแทนพรรคการเมืองเข้าร่วมหลายพรรค ส่วนใหญ่เป็นพรรคฝ่ายค้าน ปรากฏว่า นายสูฮัยมี ลือแบซา ตัวแทนจากกลุ่มการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ได้กล่าวถึงเรื่องนี้กลางวงประชุม
“เป็นเรื่องของอัตลักษณ์ ที่ผ่านมาเรานัดรวมตัวกันของเยาวชนในช่วงวันฮารีรายอที่เทศบาลตะลุบัน อ.สายบุรี หลังจากเราจัดกิจกรรมรวมกลุ่มกันใส่ชุดมลายู กลับมาถึงบ้านโดนทหารตาม มีการคุกคาม มีการเรียกแกนนำไปรายงานตัวว่าจัดรวมตัวกันมีการทำอะไรบ้าง ทำไมไม่รายงาน เราเห็นว่าวันนั้นเป็นวันรื่นเริงของคนมลายูที่นับถือศาสนาอิสลาม เราแค่ไปรวมตัวกัน แต่ทำไมการแสดงถึงความเป็นอัตลักษณ์ความเป็นมลายูของถึงถูกคุกคาม”
“สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่ามันไม่เท่าเทียมกัน คนจีนเขายังสามารถใส่เสื้อในวันตรุษจีน คนคริสต์เขายังมีการแสดงออกในเชิงศาสนาศริสต์ได้เลย แต่ทำไมคนมลายูมุสลิมที่อยู่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้จะแต่งกายชุดมลายูแล้วไปรวมตัวกันแสดงออกไม่ได้ นี่เป็นสิ่งที่เราตั้งคำถาม และอยากจะให้ ส.ส.นำเรื่องการคุกคามเหล่านี้ ไปพูดแทนเสียงของพวกเราในสภาด้วย”
@@ พล.ท.ธิรา เรียกถก “แกนนำเยาวชน” จัดกิจกรรมแต่งชุดมลายู
ก่อนหน้านั้น ช่วงกลางสัปดาห์ คณะประสานงานระดับพื้นที่ของคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนใต้ (สล.3) นำโดย พล.ท.ธิรา แดหวา แม่ทัพน้อยที่ 4 และรองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (รอง ผอ.รมน.ภาค 4 สน.) ได้พบปะพูดคุยกับแกนนำกลุ่มเยาวชนที่มีบทบาทในการเคลื่อนไหวในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยการพบปะเกิดขึ้นที่โรงแรม ซี.เอส.ปัตตานี อ.เมือง จ.ปัตตานี
รายงานของฝ่ายความมั่นคง ระบุว่า แกนนำเยาวชนเข้าร่วมหารือจำนวน 5 คน ประกอบด้วย
1.นายมูฮำหมัดอาลาดี เด็งนิ ประธานสมัชชาประชาสังคมเพื่อสันติภาพ (CAP)/ประธานมูลนิธินูซันตาราเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (Nusantara)
2.นายฮาซัน ยามาดีบุ อายุ 34 ปีประธานกลุ่มบุหงารายา เพื่อการศึกษาปาตานี (BRG) / เลขานุการสมัชชาประชาสังคมเพื่อสันติภาพ (CAP)
3.นายมะยุ เจ๊ะนะ อายุ 37 ปี ผู้อำนวยการสมัชชาประชาสังคมเพื่อสันติภาพ (CAP) / รองประธานมูลนิธินูซันตาราเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (Nusantara)
4.นายชารีฟ สะอิ อายุ 33 ปี ประธาน/เลขาธิการเครือข่ายบัณฑิตอาสาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (INSouth)
5.นายอานัส พงค์ประเสริฐ อายุ 39 ปี ประธานกลุ่มสายบุรีลุคเกอร์ (Saiburi Looker)
สาระสำคัญของการพูดคุย ประเด็นการหารือถึงแนวทางการเคลื่อนไหวของกลุ่มเยาวชนที่มีการชุมนุมใหญ่ เมื่อวันที่ 4 และ 10 พ.ค.65 ที่ผ่านมา เพื่อให้เป็นไปอย่างถูกต้องและไม่เป็นการละเมิดกฎหมาย มีประเด็นสำคัญ คือ
@@ จัดกิจกรรมครั้งต่อไปต้องแจ้งฝ่ายความมั่นคงก่อน
1.วัตถุประสงค์ของการจัดกิจกรรม การรักษาประเพณี วัฒนธรรม อัตลักษณ์ภาษามลายูกำลังจะถูกทำลายในอนาคต พร้อมกับการบรรยายความเกี่ยวโยงของประวัติศาสตร์ของปาตานีเกี่ยวกับการสร้างประตูชัยและการแต่งกายชุดมลายู รวมทั้งการโน้มน้าวให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมมีจุดร่วมต่อการการสร้างจิตสำนึก ให้รักษาวัฒนธรรม ประเพณีที่สืบทอดกันมาจากบรรพบุรุษ
2.มีการคัดกรองบุคคลหรือมือที่สามที่จะทำลายความไว้วางใจต่อกลุ่มเยาวชนสร้างความไม่เข้าใจต่อรัฐ เช่น การแปลคำปฎิญาณ, การชูธงสัญลักษณ์ BRN โดยนายมูฮำหมัดอาลาดี ให้ความเห็นว่า มีการคัดกรองอย่างรอบคอบ แต่ไม่คิดว่าจะมีภาพดังกล่าวตามที่เป็นสื่อในโลกออนไลน์ และเป็นที่จับตามองของฝ่ายรัฐในห้วงต่อมา
3.เรื่องคำปฏิญาณ ต้องการให้เยาวชนได้มีจิตสำนึกในการดูแลบ้านตัวเอง แต่ผู้จัดไม่ได้จัดเตรียมคำแปลที่ถูกต้องไว้ก่อน จึงทำให้ผู้อื่นแปลออกไปผิดเพี้ยนและเป็นไปในเชิงลบ พร้อมการแชร์ในโลกออนไลน์
4.ทิศทางการจัดกิจกรรมต่อไป จะเน้นประเด็นเรื่องภาษามลายู โดยเห็นว่าเด็กในพื้นที่มีความอ่อนแอเรื่องภาษามาก จึงต้องการให้เด็กได้เรียนรู้เรื่องภาษา โดยเฉพาะเรียนรู้ภาษามลายู ทางรัฐได้ดำเนินการเรื่องสถาบันภาษามลายูอยู่แล้ว และสามารถมาติดต่อร่วมกิจกรรมกันได้
5. ภาครัฐฝากให้ทางตัวแทนที่เข้าประชุมการดำเนินการต่อไปควรแจ้งประเด็น/วิธีการทำกิจกรรมกับฝ่ายความมั่นคงก่อน เพื่อจะได้ป้องกันปัญหาการเข้าใจในเชิงลบ
6.มุมมองการแก้ปัญหาภาครัฐได้ดำเนินการพูดคุยประสานกันทุกกลุ่มทั้งกลุ่มที่เป็นผู้นำศาสนา, กลุ่มปัญญาชนและกลุ่มเยาวชน เพื่อให้เรียนรู้/แลกเปลี่ยนระหว่างกัน เพื่อที่จะให้เกิดสันติสุขด้วยแนวทางที่สันติวิธี
@@ ยังไม่ดำเนินคดีใคร - ฝากอย่าเป็นเครื่องมือฝ่ายตรงข้าม
7. เรื่องกฎหมายต่อบุคคลที่เข้าร่วมกิจกรรม ยังไม่ดำเนินการใดๆ แต่ต่อไปจะต้องให้ส่วนที่เกี่ยวข้องทราบ เพื่อจะได้หนุนเสริมร่วมกัน ขอฝากไปยังกลุ่มเยาวชนได้ตระหนักความเป็นพหุวัฒนธรรมให้มาก
8.ปัจจุบัน กอ.รมน.ภาค 4 สน. ได้เปิดโอกาสและอำนวยความสะดวกกับกลุ่มคนที่เห็นต่างและต่อสู้กับรัฐในห้วงที่ผ่านมา เช่นที่เห็นผลสัมฤทธิ์ คือ “รอมฎอนสันติ” ต้องฝากให้กลุ่มเยาวชนช่วยกันคิดจะให้คนเหล่านี้ออกมา และอย่าไปเป็นเครื่องมือหรือแนวร่วมกับฝ่ายตรงข้าม รัฐเข้าใจ/รับรู้ยุทธศาสตร์ของ BRN ทั้งปีกการเมืองและการทหารอย่างเป็นอย่างดี ขอให้มาสู้ด้วยแนวทางการเมือง มาเป็นผู้นำท้องที่ ท้องถิ่นและเจ้าหน้าที่รัฐ มุสลิม จะได้พัฒนาพื้นที่ได้ตามวีถีชีวิตอย่างเต็มที่ แต่ไม่ใช่ต่อสู้ด้วยการใช้ความรุนแรง