มีคดีมหากาพย์ข้ามทศวรรษอีก 1 คดีที่ยังไม่จบเสียที ก็คือคดีจัดซื้อเครื่องตรวจวัตถุระเบิดและสารเสพติด จีที 200 และ อัลฟ่า 6
ยุคหนึ่งหน่วยงานรัฐระดมซื้ออุปกรณ์ 2 ตัวนี้กันมามากมาย ทั้งๆ ที่มันคือ “ไม้ล้างป่าช้า” เป็นแท่งพลาสติกเสียบเสา ไม่มีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ใดๆ หลายประเทศทั่วโลกสั่งเลิกใช้ และเอาผิดบริษัทผู้ผลิต ติดคุกจนแทบจะออกมาแล้ว บ้านเราคดียังชี้มูลกันไม่จบ
เมื่อเร็วๆ นี้มีข่าวจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ระบุว่า ในการประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดใหญ่ มีวาระพิจารณาคดีเกี่ยวกับการจัดซื้อเครื่อง จีที 200 และอัลฟ่า 6 ใน 5 สำนวนสุดท้าย เพื่อชี้มูลความผิดผู้เกี่ยวข้อง แต่แล้วที่ประชุมก็ให้เลื่อนการพิจารณาออกไปหมดทุกสำนวน โดยให้เจ้าของเรื่องกลับไปดูแนวทางการลงโทษของคดีเดิมประกอบ
นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวว่า สาเหตุที่ต้องเลื่อนชี้มูลความผิดกรณีการจัดซื้อ จีที 200 และ อัลฟ่า 6 เป็นเพราะการประชุมวันนั้นมีวาระหลายเรื่อง พิจารณาไม่ทัน ส่วนเรื่องที่เสนอในที่ประชุมยังให้รายละเอียดไม่ได้
@@ ย้อนปูม 38 สัญญา ละลาย 700 ล้าน ทบ.หนักสุด
สำหรับคดีเกี่ยวกับการจัดซื้อเครื่อง จีที 200 และ อัลฟ่า 6 ในฐานะเครื่องตรวจระเบิดลวงโลก ที่อยู่ในความรับผิดชอบของ ป.ป.ช. มีทั้งสิ้น 25 สำนวน มีผู้ถูกกล่าวหากว่า 100 ราย และเมื่อวันที่ 19 ก.ค.64 คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดไปแล้ว 20 สำนวน ส่วนอีก 5 สำนวนที่เหลือให้ไต่สวนใหม่ ภายหลังกฎหมาย ป.ป.ช.ฉบับใหม่มีผลบังคับใช้ ไต่สวนใหม่มาเกือบปี ส่งกลับเข้ามา แต่ก็ยังชี้มูลไม่ได้
ที่ผ่านมามีหน่วยงานของรัฐอย่างน้อย 10 แห่งที่จัดซื้อเครื่อง จีที 200 และ อัลฟ่า 6 ได้แก่
กองทัพบก
กองทัพเรือ
กองทัพอากาศ
กรมราชองครักษ์
สถาบันนิติวิทยาศาสตร์
สถานีตำรวจภูธรจังหวัดชัยนาท
สำนักงานตำรวจแห่งชาติโดยกองกำกับการสนับสนุนทางอากาศตำรวจตระเวนชายแดน
อบจ.สระแก้ว
อบจ.สมุทรปราการ
และกรมศุลกากร
รวม 38 สัญญา 848 เครื่อง วงเงิน 767.106 ล้านบาท
นี่คือเงินงบประมาณที่ละลายไปกับ “เครื่องตรวจระเบิดลวงโลก” มีคนเตือนก็ไม่เชื่อ ต้องไปจัดทดสอบกัน ปรากฏว่ามีความแม่นในการตรวจระเบิดเท่ากับการ “เดาสุ่ม”
กองทัพบก เป็นหน่วยงานที่ขออนุมัติจัดซื้อมากที่สุดจำนวน 12 สัญญา จำนวน 757 เครื่อง วงเงิน 682.60 ล้านบาท ตามมาด้วย กองทัพเรือ จำนวน 8 สัญญา จำนวน 38 เครื่อง วงเงิน 39.30 ล้านบาท กองทัพอากาศ จำนวน 7 สัญญา จำนวน 26 เครื่อง วงเงิน 20.89 ล้านบาท เรียกว่าครบทั้ง 3 เหล่าทัพ บก เรือ อากาศกันเลยทีเดียว
ราคาเฉลี่ยมีทั้งแต่ 4-5 แสนบาทต่อเครื่อง ไปจนถึงหลักล้าน ทั้งๆ ที่ต้นทุนอยู่ที่หลักร้อยบาทเท่านั้น