เอ็นจีโอผิดหวัง - ฝ่ายการเมืองข้องใจ - ภรรยาทำใจ หลังศาลมีคำสั่งในสำนวนไต่สวนการตาย ยังไม่พบหลักฐานชี้ชัด “อับดุลเลาะ อีซอมูซอ” ถูกทำร้ายระหว่างถูกควบคุมตัวในค่ายทหาร จนสมองบวม เสียชีวิต
วันจันทร์ที่ 9 พ.ค.65 ศาลจังหวัดสงขลานัดฟังคำสั่งไต่สวนการตาย หรือ “สำนวนคดีชันสูตรพลิกศพ” ในคดีหมายเลขดำที่ ช.1/2563 กรณีนายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ หมดสติหลังจากถูกควบคุมตัวในค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ซึ่งต่อมาพบว่ามีอาการสมองบวมและเสียชีวิต
คดีนี้ นางสาวซูไมยะห์ มิงกะ ภรรยาของนายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ ร่วมกับทนายความจากศูนย์ทนายความมุสลิม และมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ได้ดำเนินการทางกฎหมายเพื่อตรวจสอบหาสาเหตุการตายมาตลอด 2 ปี มีการสืบพยานมากกว่า 21 ปาก ทั้งเจ้าหน้าที่ทหารในค่ายอิงคยุทธบริหาร, แพทย์, พยานที่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์ รวมไปถึงบุคลากรจากภาคประชาสังคม
ผลการไต่สวน ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า พยานหลักฐานต่างๆ ที่ทนายฝ่ายญาติของผู้เสียชีวิตเสนอต่อศาลนั้น ไม่เพียงพอต่อการบ่งชี้ได้ว่า นายอับดุลเลาะ เสียชีวิตจากการถูกทำร้ายร่างกาย จึงมีคำสั่งว่า นายอับดุลเลาะ เสียชีวิตเมื่อวันที่ 25 ส.ค.62 เวลา 04.03 น. เสียชีวิตจากการที่สมองขาดออกซิเจนและหัวใจหยุดเต้น และเสียชีวิตระหว่างที่ถูกควบคุมตัวภายในค่ายอิงคยุทธบริหารจริง
@@ “พรเพ็ญ” ผิดหวังกลไกตุลาการไม่ช่วยค้นหาความจริง
น.ส.พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวภายหลังรับฟังคำสั่งศาลว่า เหมือนกลไกตุลาการไม่ช่วยชาวบ้านค้นหาความจริง เพราะข้อมูลที่ได้จากคำสั่งศาล เท่ากับที่เคยได้จากแพทย์ตั้งแต่วันเกิดเหตุที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร ว่าสมองบวมเกิดจากการขาดอากาศหายใจ และ นายอับดุลเลาะ เสียชีวิตที่โรงพยาบาลในเวลาต่อมา แต่ทางญาติและสาธารณะต้องการคำตอบว่า มีใครทำให้อับดุลเลาะขาดอากาศหายใจจนสมองบวมหรือไม่ การไต่สวนของศาลไม่ได้ให้คำตอบนี้
“ถ้าศาลที่เป็นที่พึ่งสุดท้าย ทำหน้าที่ได้เท่านี้ ญาติต้องไปร้องเรียนที่ไหนอีก ใครต้องรับผิดชอบในการทำให้อับดุลเลาะเสียชีวิต เป็นการเสียชีวิตที่เกิดขึ้นในค่ายทหาร บอกแค่นั้นเหมือนกรณีตากใบ (การเสียชีวิตจากเหตุการณ์สลายการชุมนุม และเคลื่อนย้ายผู้ชุมนุม 78 ราย เมื่อวันที่ 25 ต.ค.2547) สมองบวมเพราะขาดออกซิเจน ตายเพราะขาดอากาศหายใจ ทั้งสองสิ่งไม่สามารถเกิดขึ้นเองได้ อ้างว่าญาติไม่มีข้อมูลให้ศาล แต่ศาลมีหน้าที่ไต่สวนให้ได้ความจริง ไม่ใช่เป็นหน้าที่ญาติในการแสวงหาหลักฐานมาให้ศาล” ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าว
@@ ภรรยาอับดุลเลาะ เผย ทำใจมาก่อนล่วงหน้า
ด้าน น.ส.ซูไมยะห์ มิงกะ ภรรยาของนายอับดุลเลาะ กล่าวว่า “ก็ต้องยอมรับในสิ่งที่ออกมา แต่ก็ทำใจมาก่อนแล้วว่าไม่มีวันที่จะชนะอยู่แล้ว เพียงแค่อยากสู้จนถึงที่สุดเท่าที่จะทำได้”
@@ ชวนสื่อ-ประชาชน ร่วมทวงถามความเป็นธรรม
มีความเคลื่อนไหวต่อเนื่องจากภาคประชาสังคมที่ขับเคลื่อนเรื่องนี้ โดยมีการรณรงค์ว่า คดีนายอับดุลเลาะได้รับความสนใจจากสังคมเป็นอย่างมากถึงสาเหตุของการเสียชีวิต พร้อมกับคาดหวังให้กองทัพออกมารับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มูลนิธิผสานวัฒนธรรม และ Muslim attorney centre foundation มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม จึงขอเชิญชวนให้สื่อมวลชนและประชาชนที่สนใจ ร่วมกันทวงถามความเป็นธรรมให้แก่นายอับดุลเลาะและครอบครัว เพื่อให้เกิดความโปร่งใส และสร้างบรรทัดฐานที่ดีในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ต่อไป
@@ “โรม” เผยไม่ทราบสาเหตุการตาย เพราะญาติเข้าไม่ถึงหลักฐาน
ด้าน นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล กล่าวว่า สาเหตุที่ทำให้ญาตินายอับดุลเลาะมีหลักฐานในคดีเพียงเท่านี้ เนื่องจากเข้าไม่ถึงข้อมูลหลักฐานต่างๆ เพราะเมื่อเป็นการเสียชีวิตระหว่างการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ญาติต้องเป็นผู้พิสูจน์จนกว่าจะสิ้นสงสัย ทำให้เป็นภาระผู้เสียหาย ทั้งที่แทบเข้าไม่ถึงหลักฐานต่างๆ ได้เลย แม้แต่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเป็นใครบ้างก็ยังไม่สามารถทราบได้
“ในร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ที่ผ่านความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร วาระ 3 เมื่อเดือน ก.พ.65 ที่ผ่านมา ได้มีการเพิ่มเติมกลไกต่างๆ ที่ตรวจสอบเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการซ้อมทรมาน ดังนั้นเมื่อเกิดเหตุลักษณะนี้ขึ้นในค่ายทหาร อยากให้กองทัพนำมาใช้ทันที และใช้ย้อนหลังกับคดีต่างๆ ที่เกิดขึ้นในค่ายของกองทัพด้วย เพื่อยืนยันว่าจะเป็นกองทัพที่ปกป้องและไม่ละเมิดประชาชนเสียเอง” นายรังสิมนต์ กล่าว
@@ คณะทำงานยุทธศาสตร์ฯ ชี้คำสั่งศาลยังคลุมเครือ
นายรอมฎอน ปันจอร์ คณะทำงานยุทธศาสตร์และนโยบายชายแดนใต้/ปาตานี พรรคก้าวไกล แสดงความเห็นต่อกรณีศาลมีคำสั่งในสำนวนไต่สวนการตาย นายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ ว่า สาระของคำสั่งยังไม่อาจให้ความกระจ่างถึงสาเหตุการตายได้ ยังมีข้อเท็จจริงแวดล้อมที่น่ากังขาหลายประเด็น รวมไปถึงข้อจำกัดในการเข้าถึงหลักฐาน โดยเฉพาะบันทึกกล้องวงจรปิดในสถานที่เกิดเหตุ
“ผลการไต่สวนที่ออกมาดูเหมือนจะไม่ได้แตกต่างไปจากคำแถลงของเจ้าหน้าที่ที่มีมาก่อนหน้านี้ แต่คำสั่งของศาลในวันนี้ถือเป็นก้าวแรกๆ ของเส้นทางการต่อสู้เพื่อทวงถามความจริงและความยุติธรรม และเป็นการต่อสู้ที่จะวางบรรทัดฐานใหม่ให้กับสังคมไทยโดยรวม” นายรอมฎอน กล่าว
@@ เปิดไทม์ไลน์ “หมดสติในค่ายทหาร”
“ทีมข่าวอิศรา” รายงานข้อมูลเพิ่มเติมว่า นายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ ถูกควบคุมเมื่อวันที่ 20 ก.ค.62 โดยหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 44 และส่งตัวไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร ต.บ่อทอง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี
ต่อมาเวลาประมาณ 03.00 น.ของวันที่ 21 ก.ค. เจ้าหน้าที่พบว่านายอับดุลเลาะหมดสติอยู่ในหน่วยซักถามของหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 43 ภายในค่ายอิงคยุทธบริหาร จึงรีบให้การปฐมพยาบาลในเบื้องต้น ก่อนส่งตัวไปที่โรงพยาบาลค่ายอิงคยุทธบริหาร จากนั้นส่งไปรักษาตัวต่อที่อาคารผู้ป่วยวิกฤติ (ICU) โรงพยาบาลปัตตานี
ต่อมาวันที่ 22 ก.ค.62 นายอับดุลเลาะถูกส่งตัวไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ในสภาพเจ้าชายนิทรา และได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง โดยต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ กระทั่งเสียชีวิตเมื่อวันที่ 25 ส.ค.62 รวมเวลารักษา 35 วัน
หลังเกิดเหตุหมดสติในค่ายทหาร "บิ๊กเดฟ" พล.ท.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ แม่ทัพภาคที่ 4 ในขณะนั้น ได้มอบหมายให้คณะกรรมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีตัวแทนภาคประชาสังคม เอ็นจีโอ และนักสิทธิมนุษยชนรวมอยู่ด้วย ตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ และคณะกรรมการฯสรุปผลสอบสวน พร้อมเปิดแถลงต่อสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 27 ส.ค. สรุปว่านายอับดุลเลาะน่าจะหมดสติและเสียชีวิตเพราะอาการเจ็บป่วยที่เป็นมาก่อนโดยไม่รู้ตัว มากกว่าที่จะถูกผู้อื่นทำให้ตาย (อ่านประกอบ : ผลสอบ"อับดุลเลาะ"ไม่พบหลักฐานถูกผู้อื่นทำให้ตาย - ให้น้ำหนักอาการเจ็บป่วย)
จากนั้นในวันที่ 3 ก.ย. ศอ.บต.ได้แถลงการจ่ายเยียวยาครอบครัวนายอับดุลเลาะ เป็นเงิน 500,000 บาท พร้อมการเยียวยาจิตใจ 30,000 บาท และชดเชยความเสียหายจากการถูกควบคุมตัว 6 วัน วันละ 400 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 532,400 บาท
ต่อมาคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติให้เยียวยาครอบครัวนายอับดุลเลาะ 1,568,400 บาท โดยเป็นการเยียวยาในรูปตัวเงิน
สำหรับในทางคดี พนักงานอัยการจังหวัดสงขลา ได้ยื่นคำร้องไต่สวนการตายกรณีนายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ ซึ่งเป็นผู้เสียชีวิตในการควบคุมตัว เป็นคดีไต่สวนการตาย ซึ่งศาลได้คำสั่งเมื่อวันที่ 9 พ.ค.65 ดังกล่าว
@@ เปิดขั้นตอน “ไต่สวนการตาย” อับดุลเลาะ
“ทีมข่าวอิศรา” ตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติม พบว่า การเสียชีวิตของนายอับดุลเลาะ ถือว่าเป็นการเสียชีวิตระหว่างถูกควบคุมตัวโดยเจ้าพนักงานที่อ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ (เสียชีวิตระหว่างถูกควบคุมตัวในศูนย์ซักถาม ภายในค่ายอิงคยุทธบริหาร) จึงเข้าข่ายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 150 ที่ต้องมีการทำสำนวนชันสูตรพลิกศพ ที่เรียกกันว่า "ไต่สวนการตาย" โดยศาล เพื่อให้ความเป็นธรรมกับผู้เสียชีวิต
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 วรรค 3, 4 และ 5 บัญญัติว่า ในกรณีที่มีความตายเกิดขึ้นโดยการกระทำของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ หรือตายในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ ให้พนักงานอัยการและพนักงานฝ่ายปกครองตำแหน่งตั้งแต่ระดับปลัดอำเภอหรือเทียบเท่าขึ้นไปแห่งท้องที่ที่ศพนั้นอยู่ เป็นผู้ชันสูตรพลิกศพร่วมกับพนักงานสอบสวนและแพทย์
เมื่อได้มีการชันสูตรพลิกศพแล้ว ให้พนักงานสอบสวนแจ้งให้พนักงานอัยการเข้าร่วมกับพนักงานสอบสวนทำสำนวนชันสูตรพลิกศพให้เสร็จภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง ถ้ามีความจำเป็นให้ขยายระยะเวลาออกไปได้ไม่เกิน 2 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 30 วัน แต่ต้องบันทึกเหตุผลและความจำเป็นในการขยายระยะเวลาทุกครั้งไว้ในสำนวนชันสูตรพลิกศพ
เมื่อได้รับสำนวนชันสูตรพลิกศพแล้ว ให้พนักงานอัยการทำคำร้องขอต่อศาลชั้นต้นแห่งท้องที่ที่ศพนั้นอยู่ เพื่อให้ศาลทำการไต่สวนและทำคำสั่งแสดงว่าผู้ตายคือใคร ตายที่ไหน เมื่อใด และถึงเหตุและพฤติการณ์ที่ตาย ถ้าตายโดยคนทำร้าย ให้กล่าวว่าใครเป็นผู้กระทำร้ายเท่าที่จะทราบได้ ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับสำนวน ถ้ามีความจำเป็นให้ขยายระยะเวลาออกไปได้ไม่เกิน 2 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 30 วัน แต่ต้องบันทึกเหตุผลและความจำเป็นในการขยายระยะเวลาทุกครั้งไว้ในสำนวนชันสูตรพลิกศพ
สำหรับกระบวนการ “ไต่สวนการตาย” คำสั่งของศาลแม้เป็นที่สุด แต่ไม่ได้ทำให้คดียุติ เพราะพนักงานสอบสวนยังสามารถดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐานต่อไปได้ในอายุความ ขณะเดียวกันก็ไม่ได้ตัดสิทธิ์ญาติของผู้ตายในการฟ้องร้องดำเนินคดีในชั้นศาล